logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ โรคชิคุนกุนยา

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : โรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส (Chikungunya virus / CHIK V) ชนิดมีแมลงเป็นพาหะโรค (Arbovirus) โดยรังโรค คือ ลิง หนู นก และอาจเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์อะไรอีกบ้าง แต่ในช่วงมีการระบาดของโรค รังโรคคือคน

แมลงที่เป็นพาหะโรคชิคุนกุนยา คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และ ยุงลายสวน (Aedes albopictus skuse) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก หรือ โรคเดงกี แต่โรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงมากกว่า โดยยุงลายทั้งสองสายพันธุ์ มักเป็นยุงที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมืองและในต่างจังหวัดโดยเฉพาะตามสวน เป็นยุงหากินกลางวัน มีลายขาวดำตามลำตัวและตามขา ชอบวางไข่ในน้ำสะอาด (โดยเฉพาะน้ำฝน) ที่ขังอยู่ในภาชนะต่างๆ เช่น กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ โอ่งเก็บน้ำ โดยไข่จะเป็นตัวยุงภายใน 7-10 วัน ยุงพวกนี้ชอบอาศัยในบ้าน ใกล้ๆ บ้าน ในโรงเรียน ในสถานที่ที่มีแสงแดดน้อย หรือ มีร่มเงา และมีอากาศเย็น

เป็นอาการเฉียบพลันเกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (ถูกยุงลายมีเชื้อกัด) ประมาณ 1-12 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ส่วนใหญ่ประมาณ 2-5 วัน โดยมีอาการหลัก คือ

  • มีไข้ ไข้สูงทันที (อุณหภูมิมักสูงถึง 40 องศาเซลเซียส) แต่บางคนอาจมีไข้ต่ำได้
  • ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อมาก ทยอยปวดทีละข้อ ซึ่งปวดได้หลายข้อ มักเป็นกับข้อเล็กๆ เกิดทั้งข้อด้านซ้ายและด้านขวา
  • มีผื่นแดงคล้ายไข้เลือดออกขึ้นในบริเวณลำตัว แต่บางครั้งอาจพบที่แขนขาได้ด้วย
  • ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง ตากลัวแสง (เห็นแสงสว่างแล้วน้ำตาไหล) แต่ไม่มาก และอ่อนเพลีย

โดยทั่วไป จะมีไข้อยู่ประมาณ 2 วัน แล้วไข้ลงทันที แต่อาการอื่นๆ จะคงอยู่ต่ออีกประมาณ 5-7 วัน โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือนหรือบางคนเป็นหลายปี

ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้ แต่การปวดข้อและข้ออักเสบส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เช่น เป็นอุปสรรคในการทำงาน ความรุนแรงของอาการขึ้นกับอายุ โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ และระยะเวลาในการเจ็บป่วยจากข้ออักเสบก็ขึ้นกับอายุเช่นกัน โดยในเด็กและวัยหนุ่มสาวอาการต่างๆ มักหายภายใน 5-15 วัน วัยกลางคนอาการมักหายภายใน 1-2.5 เดือน แต่ในผู้สูงอายุจะมีอาการอยู่นานกว่านี้ เป็นหลายเดือนหรือเป็นปีๆ

  • การป้องกันยุงกัด เช่น ในถิ่นระบาดควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว การทายากันยุง ใช้ยาไล่ยุง ใช้มุ้งกับเด็กๆ ที่นอนในบ้านแม้เป็นช่วงกลางวัน
  • การกำจัดยุง ต้องร่วมมือกันทั้งในครอบครัวและในแหล่งชุมชน และต้องปฏิบัติสม่ำเสมอตลอดไป โดยเพิ่มความเข้มในช่วงหน้าฝนและหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงยุงวางไข่ เช่น กำจัด หรือ คว่ำภาชนะทุกชนิดที่ก่อให้เกิดน้ำขัง ทั้งในบ้าน นอกบ้านและในชุมชน การเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้/กระถาง ทุก 7 วันเพื่อกำจัดลูกน้ำ ไม่รดน้ำต้นไม้มากจนก่อให้เกิดน้ำขัง จัดสวน หรือ ปลูกต้นไม้ให้โปร่ง แสงแดดส่องถึง และการกักเก็บน้ำบริโภคต้องปิดฝามิดชิด ป้องกันยุงวางไข่ เป็นต้น