ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย
- 7 มีนาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม?
- โรคข้อเสื่อมมีอาการอย่างไร?
- มีวิธีดูแลโรคข้อเสื่อมเบื้องต้นอย่างไร?
- เมื่อใดควรไปพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคข้อเสื่อมอย่างไร?
- แพทย์มีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมอย่างไร? ค่ารักษาแพงหรือไม่?
- ป้องกันไม่ให้เกิดอาการจากโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร?
- ป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเสื่อมอย่างไร?
- เนื้อความสรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- เอ็นบาดเจ็บ (Tendon injury) เอ็นอักเสบ (Tendinitis) เอ็นเสื่อม (Tendinosis)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) คือ อาการปวดข้อเรื้อรังที่มักร่วมกับมีการติดขัดเมื่อใช้ข้อ บางครั้งจะกดเจ็บเนื้อเยื่อบริเวณข้อร่วมด้วย โดยอาการเจ็บปวดข้อจะมากขึ้นเมื่อใช้ข้อนั้นๆ ซึ่งพบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น หรือเคยมีประวัติอุบัติเหตุที่ข้อนั้นๆ
ข้อเสื่อม เป็นโรคข้อเรื้อรังที่พบมากที่สุด พบเกิดได้กับทุกๆข้อ พบบ่อยที่ ข้อเข่า ข้อมือ และข้อสะโพก พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย การเสื่อมของข้อจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ การดำเนินโรค(ธรรมชาติของโรค)ใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะเริ่มแสดงอาการปวด
โรคข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ข้อเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและทางชีวกลศาสตร์ภายในข้อและภายในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการถูกทำลาย เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อมีเลือดมาเลี้ยงน้อย เซลล์กระดูกอ่อนได้รับสาร อาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์สารต่างๆที่จำเป็นในการซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักที่เกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันได้
กระดูกอ่อนผิวข้อนอกจากมีเลือดมาเลี้ยงน้อยแล้วยังไม่มีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บ ปวดอยู่ด้วย ผู้ที่มีข้อเสื่อมในระยะแรกจึงไม่เกิดอาการปวดจนกว่าข้อที่เสื่อมจะเกิดกระบวนการในการอักเสบ มีหลอดเลือดและเส้นประสาทงอกเข้าไป หรือผิวข้อสึกรุนแรงมากจนถึงเนื้อกระดูกใต้กระดูกอ่อนผิวข้อ ผู้ป่วยจึงจะเกิดอาการปวด
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อ (เข่า สะโพก มือ) เสื่อมหรือทำให้โรคลุกลามมากขึ้น ได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมาก
- เพศหญิง มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย
- ระดับการทำกิจกรรมในแต่ละวันสูง การเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมาก
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆมาก่อน
- แนวกระดูกที่ประกอบเป็นข้อผิดรูปเช่น มีเข่าโก่ง
- กรรมพันธุ์
- เยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรัง
โรคข้อเสื่อมมีอาการอย่างไร?
ผู้ที่มีข้อเสื่อมอาจมีอาการต่อไปนี้ คือ
- อาการปวดข้อเป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดเป็นๆหายๆ ยกเว้นช่วงที่ข้ออยู่ในระยะ อักเสบจะมีอาการปวดข้อตลอดเวลา อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นขณะนั่งยองๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบเป็นเวลานาน เมื่อลุกขึ้นจะเกิดอาการปวดข้อมาก
- อาจได้ยินเสียงลั่นในข้อ
- ข้อติดขยับข้อได้ยากโดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อขยับข้อนั้นๆสักพักก็สามารถขยับข้อได้เป็นปกติ
- ข้อบวมขึ้นเนื่องจากมีน้ำเลี้ยงข้อเพิ่มขึ้นในระยะที่ข้ออักเสบ
- ถ้าข้อเสื่อมรุนแรงอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบในข้อเวลาที่มีการเคลื่อนไหวข้อนั้นๆ
- ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลงเนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ
มีวิธีดูแลโรคข้อเสื่อมเบื้องต้นอย่างไร?
การดูแลรักษาเบื้องต้นของโรคข้อเสื่อม ที่สำคัญ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อเช่น การนั่งยองๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ
- งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ
- กินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
เมื่อใดควรไปพบแพทย์?
ควรไปพบแพทย์ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้
- ข้อบวมมาก
- ข้อติดเนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ
- อาการปวดข้อไม่บรรเทาหรือรุนแรงมากขึ้น
- ข้อผิดรูปเช่น เข่าโก่ง
แพทย์วินิจฉัยโรคข้อเสื่อมอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคข้อเสื่อมโดยอาศัยสิ่งต่อไปนี้คือ
- ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยได้แก่ อายุ เพศ รูปร่าง ประวัติอาการของผู้ป่วย ก็สามารถวินิจฉัยได้เป็นส่วนใหญ่
- การตรวจร่างกาย ได้ยินเสียงลั่นในข้อหรือพบเข่าโก่งร่วมด้วยก็ทำให้การวินิจฉัยง่ายขึ้น
- ภาพเอกซเรย์ โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นในการวินิจฉัยเนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์กับอาการปวด ภาพเอกซเรย์มีประโยชน์ช่วยบอกว่าข้อถูกทำลายมากน้อยเพียงใด เข่าโก่งผิดรูปมากน้อยเพียงใด และเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรค
- ทั้งนี้ การตรวจเลือด และ การตรวจอื่นๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน), เอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (เอมอาร์ไอ/MRI, และอัลตราซาวด์ข้อ ไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค จะมีความจำเป็นเฉพาะเมื่อแพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่นหรือไม่เท่านั้น
แพทย์มีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมอย่างไร? ค่ารักษาแพงหรือไม่?
การรักษาโรคข้อเสื่อมแบ่งเป็น 3 วิธีขึ้นกับระดับอาการและความรุนแรงของโรคได้แก่
ก. การรักษาโดยไม่ใช้ยา: ประกอบด้วย
- การให้คำแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับโรค ปัจจัยเสี่ยง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น
- การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
- ลดน้ำหนักตัว
- การใช้เครื่องช่วยเดินในการเดินเช่น ไม้ค้ำยัน/ไม้เท้า
- การประคบร้อนในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการปวด และประคบเย็นหลังเกิดอาการ 48 ชั่วโมง เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและราคาถูก ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง
- การรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ การกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนัง เลเซอร์และ/หรือ ฝังเข็ม มีประสิทธิผลน้อยและค่าใช้จ่ายสูง
ข. การรักษาด้วยยา: เช่น
- ยาแก้ปวด: ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นตัวเลือกอันดับแรกเพราะมีประ สิทธิผลใกล้เคียงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์แต่มีความปลอดภัยและราคาถูก
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (เอ็นเสด/NSAIDs) เมื่อใช้พาราเซตามอลไม่ได้ผล ข้อห้ามใช้คือ ผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคตับ (เช่น โรคตับแข็ง), หรือโรคไต (เช่น โรคไตเรื้อรัง) ซึ่งเป็นข้อห้ามใช้
- กลุ่มยาออกฤทธิ์ช้าเพื่อชะลอความเสื่อมมีหลายชนิด เช่นยา กลูโคซามีน ซัลเฟต (Glucosamine sulphate), คอนดรอยติน ซัลเฟต (Chondroitin sulphate), ไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic acid)} และไดอะเซอรีน (Diacerein) ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดปวดได้บ้างและทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมได้มากขึ้น แต่ยามีราคาสูง
- การฉีดยาเข้าข้อเข่า ได้แก่ การฉีดยาสเตอรอยด์เพื่อลดการอักเสบระยะเฉียบ พลัน, หรือการฉีดยาไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งมีหลายชนิดต้องทำการฉีด 3 - 5 ครั้ง ขึ้นกับชนิดของยา ยากลุ่มนี้มีประสิทธิผลปานกลางแต่มีราคาสูงมาก
- ยาอื่นๆ เช่นยา แคลซิโตนิน (Calcitonin) และ ไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) เป็นยาที่อยู่ในระหว่างการศึกษาประสิทธิผลเท่านั้น
ค. การผ่าตัด:
- การผ่าตัดเพื่อล้างข้อ ไม่มีประโยชน์และไม่แนะนำ
- การผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูก มีข้อบ่งชี้ในกรณีข้อเสื่อมปานกลาง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม มีข้อบ่งชี้ในกรณีข้อเสื่อมรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ข้อเสื่อมรุนแรงหรือมีการผิดรูปของข้อมาก เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลมากแต่ยังมีราคาสูง
ป้องกันไม่ให้เกิดอาการจากโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร?
ป้องกันเกิดอาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อมโดยหลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยง เช่น
- กิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด เช่น การนั่งยอง คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ
- งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ
ป้องกันโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร?
โรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่เป็นโรคเกิดตามอายุ จึงเป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้ แต่อาจช่วยชะลอการเกิดและ/หรือลดความรุนแรงของอาการโดย
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะจะเพิ่มแรงกดและการรับน้ำหนักของข้อต่างๆ ข้อจึงเสื่อมได้เร็วขึ้น
- ไม่ใช้งานข้อต่างๆอย่างหักโหมต่อเนื่อง
- ออกกำลังเคลื่อนไหวข้อและกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้อจะช่วยการทำงานของข้อ) ต่างๆสม่ำเสมอ
- นั่ง นอน เดิน ลุกขึ้น ยกของ ให้ถูกวิธี โดยขอคำปรึกษาวิธีการที่ถูกต้องจากแพทย์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัด
เนื้อความสรุป
ข้อเสื่อมพบบ่อยที่ข้อเข่า ข้อมือ และข้อสะโพก พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย สาเหตุข้อเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและชีวกลศาสตร์ภายในข้อ และร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทัน ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักที่เกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมหรือทำให้โรคลุกลามมากขึ้นได้แก่ อายุ เพศหญิง กิจกรรมที่ทำให้ข้อรับน้ำหนักมาก โรคอ้วนฯ เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆมาก่อน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเป็นสำคัญ อาจมีเสียงลั่นในข้อ ข้อติด บวม เคลื่อนไหวข้อลดลง
การรักษาเบื้องต้นที่สำคัญได้แก่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดเช่น การนั่งยอง คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ กินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
ควรไปพบแพทย์ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ข้อบวมมาก ข้อติด เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ อาการปวดไม่บรรเทาหรือรุนแรงมากขึ้น ข้อผิดรูปเช่นเข่าโก่ง
วิธีการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค ประกอบด้วยการรักษาที่ไม่ใช้ยา การรักษาด้วยยากินหรือยาฉีด และการผ่าตัด
บรรณานุกรม
1. Bijlsma JW, Berenbaum F, Lafeber FP. Osteoarthritis: an update with relevance for clinical practice. Lancet 2011; 377: 2115-26.