ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- ผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก (Paederus dermatitis)
- ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
- ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
ผิวหนังอักเสบ หรือผื่นผิวหนังอักเสบ(Dermatitis) เป็นคำที่มีความหมายรวมการอักเสบของผิวหนัง/ผิวหนังอักเสบจากทุกสาเหตุที่ไม่ใช่อักเสบจากการติดเชื้อ(แต่เมื่อเกิดการอักเสบแล้ว อาจมีการติดเชื้อที่รอยโรคตามมาได้) โดยเป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นนอก/หนังกำพร้า ทั้งนี้ บางท่านจะเรียก Dermatitis ว่า Eczema ซึ่งผิวหนังอักเสบมีได้หลาก หลายโรคและหลากหลายสาเหตุ
อนึ่ง
- ผิวหนังอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดที่รวมถึงการสัมผัส รอยโรค สารคัดหลั่ง เครื่องใช้ผู้ป่วย หรือการคลุกคลีกับผู้ป่วย
- ผิวหนังอักเสบ พบได้บ่อยทั่วโลก ทุกอายุ และทุกเพศ
สาเหตุ:
ผิวหนังอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย เช่น
- ผิวหนังสัมผัสกับสารก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง(Contact dermatitis) เช่น สารเคมีต่างๆ เครื่องสำอาง ยาบางชนิด(เช่น ยาเคมีบำบัด) โลหะบางชนิด(เช่น โลหะที่นำมาทำเครื่องประดับ ) สารก่อภูมิแพ้ พิษจากแมลง เป็นต้น
- ผิวแห้ง
- ผิวมัน เช่น ในโรค Seborrheic dermatitis
- การไหลเวียนโลหิตไม่ดี(Stasis Dermatitis) เช่น ผิวหนังอักเสบที่ขาในโรคหลอดเลือดดำขาขอด
- อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น ยากันชักบางชนิด ยากลุ่มซัลฟา
- พันธุกรรม
- บางครั้ง หรือ บางโรค แพทย์ไม่ทราบสาเหตุ
อาการ:
อาการของผิวหนังอักเสบจะขึ้นกับชนิดของโรคผิวหนังอักเสบนั้นๆ เช่น โรค Seborrheic dermatitis, Allergic dermatitis, Contact dermatitis, Paederus dermatitis, Atopic dermatitis
อย่างไรก็ตาม อาการที่มักพบได้เหมือนๆกันในผื่นผิวหนังอักเสบทุกโรค ได้แก่ รอยโรคจะมีลักษณะ เป็นผื่น บวม แดง คัน มีตุ่มพอง มีของเหลวซึมจากรอยโรค(Oozing) และเมื่อผื่นแห้งจะตกสะเก็ด(Crust)และสะเก็ดจะหลุดลอกได้
แนะนำ อ่านรายละเอียดของแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น Seborrheic dermatitis, Paederus dermatitis, Contact dermatitis
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผิวหนังอักเสบ:
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผิวหนังอักเสบ ได้แก่
- เด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ
- อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีตัวกระตุ้นให้ผิวหนังอักเสบ เช่น ฝุ่นละอองมาก มีแมลงมาก สัมผัสสารเคมีต่างๆง่ายตลอดเวลา ชุมชนแออัด
- มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคที่ทำให้ผิวมันมาก แห้งมาก โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ที่รวมถึงโรคหืด โรคที่ทำให้การไหลเวียนโลหิตไม่ดี(เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด) โรคที่มีของเสียคั่งในร่างกายมาก (เช่น โรคไต โรคตับ)
- พันธุกรรม คือ คนที่ในครอบครัวมีประวัติผิวหนังอักเสบ
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ:
ผิวหนังอักเสบ มักมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ หรือที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ปัจจัยพบบ่อย เช่น
- ความเครียด
- การพักผ่อนน้อย นอนไม่หลับ
- การได้รับหรือสัมผัสสาร/สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ กลิ่น(เช่น เครื่องหอมบางกลิ่น) อาหาร/เครื่องดื่มบางประเภท( เช่น ผลไม้บางชนิด กาเฟอีน) ซึ่งตัวกระตุ้นนี้จะต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตเพื่อการหลีกเลี่ยง
- สิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ควันต่างๆ สถานที่แออัด อุณภูมิที่ร้อน อบอ้าว หรือเย็นเกินไป
- พันธุกรรมชนิดที่ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้ง่าย จากที่มักพบอาการนี้ในคนที่มีประวัติครอบครัวมีอาการนี้
การวินิจฉัย:
แพทย์วินิจฉัยผิวหนังอักเสบได้จาก ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ การตรวจดูรอยโรคด้วยตาเปล่า และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูน้ำตาลในเลือด ดูค่าการทำงานของไต ของตับ สารภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิต้านทาน และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษา:
การรักษาผิวหนังอักเสบ คือ
ก. การดูแลตนเอง: ที่สำคัญ คือ
- ดูแลผิวหนังให้สะอาดตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นต้นเหตุ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น/ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ
- การใช้ยาต่างๆตามอาการ เช่น ยาแก้คัน ยาแก้แพ้ ยาแก้อักเสบ ตามแพทย์แนะนำ
ข. การรักษาทางแพทย์: จะขึ้นกับแต่ละชนิดโรค เช่น การใช้ยาทา ยารับประทาน
การใช้วิธีการรักษาทางโรคผิวหนัง เช่นการฉายแสงที่รอยโรค เป็นต้น ทั้งนี้แนะนำ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น Seborrheic dermatitis, Paederus dermatitis, Contact dermatitis
การพยากรณ์โรค:
ทั่วไป ผิวหนังอักเสบมักไม่รุนแรง แพทย์รักษาควบคุมโรคได้แต่ต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ผิวหนังอักเสบมักทำให้ผู้ป่วยเสียคุณภาพชีวิตจากมีรอยโรคที่ผิวหนังที่ส่งผลด้านความสวยงาม และมักมีอาการคัน รวมถึงยังเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลตนเองตลอดเวลา
การป้องกัน:
การป้องกันผิวหนังอักเสบ ได้แก่
- รักษาผิวหนังให้สะอาดเสมอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ ที่รวมถึง สารฆ่าเชื้อต่างๆที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น สบู น้ำยา ครีม เจล
- หลีกเลี่ยง สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง ตัวกระตุ้น ต่างๆ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวแห้ง ผิวมัน
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dermatitis [2018,May5]
- https://www.healthline.com/symptom/dermatitis [2018,May5]