รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์(พิเศษ) นาวาอากาศโท แพทย์หญิง ธัญญา เชฏฐากุล
- 20 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- เบาหวานคือโรคอะไร?
- น้ำตาลในร่างกายมาจากไหน?
- ระดับน้ำตาลในเลือดในคนปกติเป็นเท่าไร?
- เบาหวานเกิดได้อย่างไร?
- เบาหวานมีกี่ชนิด?
- รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน?
- มีวิธีใดที่ช่วยวินิจฉัยเบาหวานได้รวดเร็ว?
- ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานคืออะไร?
- ใครที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน?
- เบาหวานป้องกันได้หรือไม่?
- น้ำตาลในเลือดสูงแล้วเกิดอะไรขึ้น?
- จุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานเพื่ออะไร?
- ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคแทรกซ้อนของเบาหวานได้?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- เด็กอ้วน เด็กน้ำหนักตัวเกิน (Pediatric obesity and overweight)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
เบาหวานคือโรคอะไร?
เบาหวาน (Diabetes mellitus ย่อว่า ดีเอม/DM, อีกชื่อคือ Diabetes) คือ โรค/ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต หรือเบาหวานลงปลายประสาท หรือในบางครั้งผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการโรคหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ) หรือโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) เป็นต้น
ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนเกินความสามารถของไตในการดูดกลับ น้ำตาลส่วนที่สูงเกิน 180 มก./ดล. (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)นั้นจะล้นออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน จึงเรียกว่า “เบาหวาน” โรคนี้เป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 3,000 ปี โดยมีการสังเกตเห็นว่า ปัสสาวะของผู้ป่วยโรคนี้จะมีมดขึ้นเนื่องจากมีรสหวานนั่นเอง
น้ำตาลในร่างกายมาจากไหน?
คนทั่วไปมักเข้าใจว่าน้ำตาลในร่างกายมาจากอาหารอย่างเดียว แต่ที่จริงมาจาก 2 แหล่ง ดังนี้
- จากอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ที่เรารับประทานเข้าไป
- จากการสร้างของตับภายในร่างกายเราเอง ในช่วงที่เราไม่ได้รับประทานอาหาร เช่น ตอนกลางคืนที่เราหลับอยู่
ระดับน้ำตาลในเลือดคนปกติเป็นเท่าไร?
ถ้าอดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมงจะอยู่ระหว่าง 60 แต่น้อยกว่า 100 มก./ดล. แต่ถ้าตรวจหลังอาหาร 2 ชั่วโมงจะน้อยกว่า 140 มก./ดล. (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1: ค่าน้ำตาลในเลือด (มก./ดล.)
น้ำตาลในเลือดเมื่องดอาหาร | น้ำตาลในเลือดหลังอาหาร | |
---|---|---|
คนปกติ | 60 - น้อยกว่า 100 | น้อยกว่า 140 |
ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน | 100 - น้อยกว่า 126 | 140 - น้อยกว่า 200 |
เบาหวาน | 126 ขึ้นไป | 200 ขึ้นไป |
เบาหวานเกิดได้อย่างไร?
ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องใช้น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในการทำให้เกิดพลังงาน ถ้าขาดน้ำตาลเราจะอยู่ไม่ได้ จะหมดสติและตาย แต่น้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไม่สามารถซึมเข้าไปในเซลล์ได้โดยตรง จำเป็นต้องมีตัวพาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจ ซึ่งตัวที่พาน้ำตาลเข้าเซลล์นี้เป็นฮอร์โมนที่สร้างจาก’ตับอ่อน’ ชื่อ “ อินซูลิน (Insulin)”
ในคนปกติ เมื่อเรารับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรต จะมีการกระตุ้นลำไส้เล็กให้สร้างฮอร์โมนอินครีติน (Incretin) ออกมา ฮอร์โมนอินครีตินจะไปกระตุ้นตับอ่อนให้สร้างฮอร์โมนอินซูลินให้ออกมาพากลูโคสเข้าเซลล์ ขณะเดียวกันจะกดการสร้างฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากตับอ่อนซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการสร้างน้ำตาลจากตับให้ทำงานน้อยลง
เมื่อไม่ได้รับประทานอาหาร เช่น ขณะนอนหลับ ตับจะสร้างน้ำตาลปริมาณเล็กน้อยออกมา ส่วนตับอ่อนก็จะสร้างฮอร์โมนอินซูลินปริมาณที่เหมาะสมมาพาน้ำตาลเข้าเซลล์ทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติตลอดเวลา
แต่ในคนที่เป็นเบาหวาน แม้น้ำตาลในเลือดจะสูง แต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้เนื่องจาก
- จำนวนฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ:
- ในเบาหวานชนิดที่ 1: เนื่องจากตับอ่อนถูกทำลาย หรือ ประสิทธิภาพตับอ่อนเสื่อม
- ในเบาหวานชนิดที่ 2: จากภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินในเลือดไม่สามารถพาน้ำตาลเข้าเซลล์ได้อย่างสมดุล จึงเป็นเหตุให้น้ำตาลคั่งในกระแสเลือด
- เกิดความผิดปกติในการทำงานของตับ: ตับไม่ยอมหยุดสร้างน้ำตาล แม้น้ำตาลในเลือดจะสูงอยู่แล้ว เป็นการซ้ำเติมน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นไปอีก
เบาหวานมีกี่ชนิด?
เบาหวานมีหลายชนิดแต่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดซึ่งจะกล่าวถึงในที่นี้ คือ
- ก. เบาหวานชนิดที่ 1: พบประมาณ 5% มักพบในเด็ก เกิดจากการที่ตับอ่อนถูกทำลายอย่างมาก (90% เกิดจากภาวะ/โรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับตับอ่อน) จนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอที่จะนำน้ำตาลเข้าเซลล์ ทำให้เซลล์ขาดน้ำตาลทั้งๆที่มีน้ำตาลคั่งในกระแสเลือด, ร่างกายจึงต้องมีการสลายไขมันและกล้ามเนื้อให้เป็นน้ำตาล, ขณะเดียวกันก็เกิดสารคีโตน (Ketone) ซึ่งเป็นเหมือนสารพิษออกมาด้วย, ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบเหนื่อย ต้องรักษาโดยการฉีดยาอินซูลิน ใช้ยากินยารักษาไม่ได้
- ข. เบาหวานชนิดที่ 2: พบประมาณ 95% ของเบาหวานทั้ง2ชนิด มักพบในผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ไนปัจจุบันพบได้ในเด็กที่อ้วน, เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจาก 'ภาวะดื้ออินซูลิน' คือ ปริมาณฮอร์โมนอินซูลินไม่ขาด/มีเพียงพอแต่ประสิทธิภาพไม่ดี ทำให้ต้องใช้อินซูลินปริมาณมากในการพาน้ำตาลเข้าเซลล์ ดังนั้นตับอ่อนจึงต้องทำงานหนักในการผลิตอินซูลินให้เพียงพอที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดปกติ, ภาวะดื้ออินซูลินนี้อาจเกิดก่อนที่จะตรวจพบเบาหวาน 10 - 20 ปี และในปัจจุบันก็พบว่า ภาวะดื้ออินซูลินเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดแดง เช่น โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ทั้งๆที่ยังไม่พบเบาหวาน
ต่อมา เมื่อตับอ่อนล้าสร้างอินซูลินได้น้อยลง ถ้าตรวจน้ำตาลในเลือดหลังกินอาหารจะพบว่าสูงกว่าปกติ ขณะที่น้ำตาลฯเมื่องดอาหารยังปกติ, ทำให้ในการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป จึงตรวจไม่พบเบาหวาน, จนกระทั่งตับอ่อนเสื่อมไปประมาณครึ่งหนึ่งจึงจะสามารถตรวจพบน้ำตาลสูงเมื่ออดอาหาร, ดังนั้นการวินิจฉัยเบาหวานอาจช้าไป 5 – 10 ปี ส่งผลให้พบว่าเมื่อวินิจฉัยว่าเป็น เบาหวาน, ผู้ป่วยประมาณ 50% มีโรคแทรกซ้อนของเบาหวานแล้ว เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต หรือ ชาปลายเท้า
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน?
แพทย์วินิจฉัยเบาหวานได้จาก
- มีอาการของเบาหวานถ้าน้ำตาลสูงมากจนเกินกว่า 180มก./ดล. ซึ่งเกินความสามารถของไตที่จะดูดซึมน้ำตาลกลับหมด น้ำตาลจะถูกขับมาทางปัสสาวะโดยจะดึงน้ำตามมาด้วย ผลคือ ผู้ป่วยจะมีอาการของเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำ หิวของหวาน กินจุแต่ผอมลง อ่อนเพลีย
- ถ้าน้ำตาลสูงไม่มากซึ่งพบประมาณ 50% ของผู้ป่วย จะไม่มีอาการ ดังนั้นต้องรู้จากการตรวจเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางครั้งกว่าจะตรวจพบเบาหวานอาจมีโรคแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว
มีวิธีใดที่ช่วยวินิจฉัยเบาหวานได้รวดเร็ว?
เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่มีอาการ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานจึงควรตรวจคัดกรองเบาหวานทุกปี การคัดกรองเพื่อวินิจฉัยเบาหวานมี 4 วิธีโดยให้ตรวจซ้ำถ้าผลผิดปกติดังนี้
- งดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมง แล้วตรวจน้ำตาลในเลือด, ถ้าสูง 126 มก./ดล.ขึ้นไปถือว่าเป็นเบาหวาน
- ตรวจเลือดโดยไม่ได้งดอาหารแล้วพบน้ำตาลสูง 200 มก./ดล.ขึ้นไป ถ้ามีอาการเบาหวานอยู่แล้วไม่ต้องตรวจซ้ำ ถ้าตรวจพบโดยไม่มีอาการน่าจะเป็นการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น แต่ไม่ถือเป็นมาตรฐาน เนื่องจากขึ้นกับชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานก่อนตรวจ
- งดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมง แล้วให้ดื่มกลูโคส 75 กรัม ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมงพบน้ำตาล 200 มก./ดล.ขึ้นไป ส่วนมากใช้ในงานวิจัยเนื่องจากมีหลายขั้นตอน แต่น่าจะเป็นการวินิจฉัยที่เร็วที่สุด และได้มาตรฐานที่สุด
- ตรวจค่าเบาหวานสะสม (ฮีโมโกลบินเอวันซี/Hemoglobin A1C) ได้ 6.5% ขึ้นไป วิธีนี้น่าจะวินิจฉัยเบาหวานได้เร็วเช่นกัน และสะดวกไม่ต้องอดอาหารแต่ค่าใช้จ่ายสูง
ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานคืออะไร?
ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หมายถึง ผู้ที่มีระดับน้ำตาลผิดปกติแต่ไม่ถึงระดับที่เรียกว่าเป็นเบาหวาน เช่น เมื่องดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมงตรวจพบน้ำตาลในเลือด 100 - 125 มก./ดล., หรือตรวจน้ำตาลขณะที่ไม่ได้งดอาหารได้ 140 - 199 มก./ดล., ผู้มีระดับน้ำตาลเช่นนี้ แม้ยังไม่เป็นเบาหวานแต่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงกว่าคนทั่วไป ถ้าไม่ควบคุมเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงไปบ้างแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ก่อนเป็นเบาหวานเสียอีก
ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ควรได้รับการคัดกรองโดยวิธีพิเศษ เช่น ตรวจค่าเบาหวานสะสม หรือ ตรวจน้ำตาลหลังอาหาร ซึ่งจะทำให้สามารถวินิจฉัยได้แต่เนิ่นๆ
ใครที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน?
ความชุกของโรคเบาหวานทั่วโลกพบมากขึ้นเรื่อยๆจนเปรียบเหมือนโรคระบาด สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานยังไม่แน่นอน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน เช่น
- กรรมพันธุ์: ผู้มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้สูงกว่าคนทั่วไป
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: คนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนผอม โดยเฉพาะอ้วนลงพุง เนื่องจากโรคอ้วนทำให้ฮอร์โมนอินซูลินมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง, ประมาณ 60 - 80% ของโรคเบาหวานในผู้ใหญ่เกิดในคนอ้วน, ผู้ชายไทยที่เส้นรอบพุง 90 ซม.ขึ้นไป หรือผู้หญิงไทยที่เส้นรอบพุง 80 ซม. ขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดรวมทั้งโรคเบาหวานด้วย
- เชื้อชาติ: เชื้อชาติที่เสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน เช่น ชาวอาเซีย และชนพื้นเมืองในอเมริกา
- มีโรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (โรคไขมันในเลือดสูง): ผู้ป่วยเบาหวานมักมีไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง และไขมัน เอช-ดี-แอล (HDL) ต่ำนำมาก่อน
- การตั้งครรภ์: ผู้หญิงตั้งครรภ์หลายครั้ง รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยมีน้ำตาลสูงขณะตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน
- ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่วมกับการขาดการออกกำลังกาย
- อายุ: พบว่ายิ่งอายุมากขึ้น จะมีโอกาสพบโรคเบาหวานมากขึ้น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาจำพวกสเตอรอยด์ถ้าใช้ไปนานๆมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้
เบาหวานป้องกันได้หรือไม่?
มีงานวิจัยในหลายประเทศที่พบว่า เบาหวานป้องกันได้ แม้ว่าจะเป็นเบาหวานแฝงหรือกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ
- การควบคุมอาหาร
- การออกกำลังกาย
- ลดน้ำหนักในผู้ที่น้ำหนักตัวเกิน เพียงลดน้ำหนักลงประมาณ 7 - 10% ของน้ำหนักปัจจุบันก็เพียงพอ
นอกจากนี้ ที่ได้ผลรองลงไป คือ การใช้ยาบางชนิดซึ่งควรปรึกษาแพทย์เสมอ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง เช่น ยาลดการดูดซึมอาหารคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารไขมัน, และยาที่ลดภาวะดื้ออินซูลิน
อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยปละละเลยไม่ดูแลตนเองดังกล่าว โอกาสเป็นเบาหวานก็จะสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และตามปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
น้ำตาลในเลือดสูงแล้วเกิดอะไรขึ้น?
น้ำตาลในเลือดที่สูงแม้เพียงเล็กน้อยก็จะเป็นพิษต่อหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงอักเสบ เกิดการพอกตัวของไขมันชนิดเลว และเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายตีบตันในที่สุด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทั้งหลอดเลือดแดงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ตาบอด ไตวาย ถูกตัดขา หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ตีบ (โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง)
จุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานเพื่ออะไร?
จุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อ
- มิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป จนเกิดอันตรายถึงชีวิต
- ป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆจากโรคเบาหวานดังได้กล่าวแล้ว
- ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับผู้ที่มิได้เป็นเบาหวาน
- เพื่อให้มีอายุยืนยาวเท่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน
อนึ่ง: การจะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ไขมันในเลือด, และความดันโลหิตให้ได้ตามแพทย์แนะนำ/ตารางที่ 2, และต้องตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 - 20 ปี หรือตามแพทย์แนะนำ, เพื่อค้นหาโรคแทรกซ้อนของหลอดเลือดที่เกิดจากเบาหวานและรักษาก่อนที่จะเป็นมาก
ทำอย่างไรจึงจะป้องกันโรคแทรกซ้อนของเบาหวานได้?
การจะอยู่อย่างเป็นสุขกับโรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จักและรู้ทันโรคเบาหวาน การดำรงชีวิตเราจะเหมือนคนปกติ โดยเราจะต้องควบคุมปัจจัยต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ของสมาคมเบาหวานอเมริกาและยุโรปดังนี้ (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2: เป้าหมายการควบคุมโรคเบาหวาน
การตรวจต่างๆ | เป้าหมาย |
---|---|
1. การควบคุมน้ำตาล
|
|
2. ความดันโลหิต |
|
3. ระดับไขมันในเลือด (โรคไขมันในเลือด)
|
|
จะเห็นว่า ระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตคุมได้ไม่ยากนักด้วยยา, ระดับน้ำตาลก็เช่นกันคุมได้ไม่ยากเช่นกัน ‘หากรู้จักและรู้ทันโรคเบาหวาน’ เราจะสามารถควบคุมมันได้ เราจะสามารถกินอะไรและทำอะไรได้เหมือนคนไม่เป็นเบาหวาน
บรรณานุกรม
- Diabetes Care, volume 34, supplement 1,January 2011.
- International expert committee report on the role of the A1c assay in the diagnosis of diabetes. Diabetes Care, volume 32, number 7, July 2009.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diabetes [2022, Aug20]
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diabetes [2022, Aug20]