ท้องผูก (Constipation)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 มกราคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ท้องผูกเกิดได้อย่างไร?
- ท้องผูกมีปัจจัยเกิดจากอะไร?
- ท้องผูกมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุท้องผูกได้อย่างไร?
- รักษาอาการท้องผูกได้อย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากท้องผูกไหม?
- ท้องผูกรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันท้องผูกอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรมาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- แผลรอยแยกขอบทวารหนัก แผลปริขอบทวารหนัก (Anal fissure)
- การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ (Prevention of elderly constipation)
- การดูแลผู้สูงอายุท้องผูก (Care of constipation in older people)
- อาหารสำหรับคนท้องผูก (Foods for constipation)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
บทนำ
ท้องผูก(Constipation) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ได้แก่ อาการไม่ถ่ายอุจจาระตามปกติ ซึ่งโดยคำนิยามทางการแพทย์ ‘ท้องผูก’ หมายถึง ความผิดปกติในการขับถ่ายอุจจาระที่ต้องประกอบด้วย
- ต้องขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ลักษณะของอุจจาระต้อง แห้ง แข็ง
- การขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่ง หรือใช้มือช่วยล้วง และ
- ภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่า อุจจาระไม่สุด
ท้องผูก เป็นอาการพบบ่อยมาก ประมาณ 15% ของประชากรทั้งโลก พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็ก(จากกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่ายในเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่) และในผู้สูงอายุ(จากกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่ายเสื่อมตามอายุ รวมทั้งผู้สูงอายุยังขาดการเคลื่อนไหว และมักมีโรคประจำตัวที่ส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อการขับถ่าย) และผู้หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นผลจากฮอร์โมนเพศที่แตกต่างกัน
ท้องผูกเกิดได้อย่างไร?
ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
ก. สาเหตุที่พบบ่อย เช่น
- เกิดจากลำไส้เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ หรือ บีบตัวลดลง ทั้งนี้เพราะ ขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ จากมีลำอุจจาระเล็ก เช่น จากกินอาหารที่ขาดใยอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลง อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า
- จากขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัว เคลื่อนตัวช้า
- จากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือการไม่มีเวลาพอในการขับถ่าย จึงส่งผลถึงการทำงานของลำไส้ ลดการบีบตัวลง
ข. สาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อยกว่า เช่น
- มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อลำไส้ และ/หรือเส้นประสาทลำไส้ จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวลดลง กากอาหาร/อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้าลง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน และไตวาย
- มีโรคของระบบสมองและระบบประสาท จึงส่งผลถึงการทำงานเคลื่อนไหวบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลดลง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งสมอง เนื้องอกสมอง หรือ โรคไขสันหลัง
- โรคของกล้ามเนื้อเอง/โรคกล้ามเนื้อ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวลดลง เช่น โรคหนังแข็ง(Scleroderma)
- กินยาบางชนิดที่ลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาคลายเครียดบางชนิด ยาโรคกระเพาะอาหารบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด หรือ ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ
- โรคของลำไส้เอง ก่อให้เกิดการอุดกั้นลำไส้/ทางเดินของอุจจาระ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ท้องผูกมีปัจจัยเกิดจากอะไร?
ปัจจัยต่อการเกิดอาการท้องผูกที่พบบ่อย คือ
- กินอาหารมีกากใย/ใยอาหารต่ำ (กิน ผัก ผลไม้ น้อย)
- ดื่มน้ำน้อย
- ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย และ/หรือ การออกกำลังกาย
- มีโรคเรื้อรังประจำตัว ทำให้ต้องจำกัดการออกแรง และ/หรือ การออกกำลังกาย หรือ โรคส่งผลต่อเส้นประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้
- กินยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน
- โรคของลำไส้เองที่ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นในลำไส้ เช่น การมีก้อนเนื้อ (เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆของโรค)
ท้องผูกมีอาการอย่างไร?
อาการของท้องผูกที่พบบ่อย เช่น
- ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ลักษณะของอุจจาระ แห้ง แข็ง
- การขับถ่าย ใช้แรงเบ่ง หรือใช้มือช่วยล้วง และ
- ภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่า อุจจาระไม่สุด
- ปวดท้องตำแหน่งทั่วๆไปเสมอๆ รวมถึงปวดบริเวณลิ้นปี
- ปากทวารหนักมักมีรอยฉีกขาดจากอุจจาระบาด
- ผายลมมักมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
- บางครั้งมีอุจจาระเป็นน้ำ/เหลวหลุดเล็ดออกมาโดยไม่รู้ตัว
- ท้องอืด แน่นท้อง พุงป่องจากอุจจาระค้างในลำไส้
- บางคนอาจเป็นสาเหตุให้ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สุขสบาย กระวนกระวาย
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุท้องผูกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยอาการท้องผูก และหาสาเหตุ ได้จาก
- ประวัติอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ ซึ่งที่สำคัญคือ จำนวนครั้ง และลักษณะของอุจจาระ
- ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน
- ประวัติกินยา/ใช้ยาต่างๆ
- การตรวจทางทวารหนัก
- อาจเอกซเรย์ช่องท้อง หรือ
- อาจส่องกล้องตรวจลำไส้
- และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง เป็นต้น
รักษาอาการท้องผูกได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการท้องผูกที่สำคัญ คือ
- การเพิ่มมวลอุจจาระและทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มเคลื่อนที่ได้ง่าย ซึ่งคือ การกินอาหารมีใยอาหารสูง(ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ) และดื่มน้ำสะอาดวันละมากๆเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม(เช่น โรคหัวใจล้มเหลว)อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย ทุกวัน
- ถ้าอาการท้องผูกยังคงมีอยู่ ไม่ดีขึ้นหลังปรับเปลี่ยน อาหาร ดื่มน้ำ และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย อาจใช้ยาแก้ท้องผูกโดยปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอถ้าซื้อยากินเอง
- เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกนานเกิน 5-7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ และเพราะการใช้ยาแก้ท้องผูกบ่อยๆ จะยิ่งกลับมาท้องผูกมากขึ้น และต้องเพิ่มปริมาณใช้ยามากขึ้นๆ จนอาจก่ออันตรายได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ปวดท้อง
- นอกจากนั้น คือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเป็นสาเหตุของท้องผูก เป็นต้น
มีผลข้างเคียงจากท้องผูกไหม?
โดยทั่วไป ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากอาการท้องผูก นอกจากความไม่สุขสบาย นอกจากนั้น คือ
- เป็นสาเหตุเกิดโรคริดสีดวงทวารจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำ และ/หรือ
- อาจเกิดแผลแตกรอบๆทวารหนัก จากก้อนอุจจาระที่แข็งกดครูด
- อาจเกิดไส้เลื่อนได้ จากการเพิ่มแรงเบ่งอุจจาระตลอดเวลา จึงส่งผลให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้นจนเป็นสาเหตุของไส้เลื่อน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะการเพิ่มแรงเบ่งอุจจาระตลอดเวลา จะส่งผลให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานที่ใช้ในการขับถ่ายปัสสาวะทำงานเสื่อมลง
- เนื้อเยื่อทวารหนักปลิ้นออกมานอกปากทวาร(Rectal prolapse)จากการเพิ่มแรงเบ่งฯตลอดเวลาจะส่งผลให้กล้ามเนื้อทวารหนักและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่ใช้ในการขับถ่ายอุจจาระทำงานเสื่อมลง
- ในบางครั้ง เมื่อท้องผูกเรื้อรังมากจนก้อนอุจจาระแข็งมาก อาจก่ออาการลำไส้อุดตันได้ (อาการคือ ปวดท้องมาก รุนแรง อาเจียนมาก ไม่ผายลม) ซึ่งเป็นอาการที่ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน
- และในบางครั้งเมื่อท้องผูกเรื้อรังมากจนก้อนอุจจาระแข็งมาก อาจก่ออาการลำไส้อุดตันได้ ( อาการ เช่น ปวดท้องมาก รุนแรง อาเจียนมาก ไม่ผายลม) ซึ่งเป็นอาการที่ควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน
ท้องผูกรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป อาการท้องผูกไม่รุนแรง เมื่อปรับพฤติกรรมการกิน/ดื่มน้ำ และเคลื่อนไหวออกกำลังกายเพิ่มขึ้น อาการท้องผูกจะหายไปเอง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วย
ดังนั้น เมื่อเกิดอาการท้องผูกโดยไม่เคยเป็นมาก่อน และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ
แต่เมื่อใช้ยาแก้ท้องผูกแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 5-7 วันหลังใช้ยา เพื่อหาสาเหตุ และเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาแก้ท้องผูกถ้าใช้ยานานกว่านี้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ’การรักษาฯ’
ดูแลตนเองอย่างไร?ป้องกันท้องผูกอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรมาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อท้องผูก เช่นเดียวกับ การป้องกันท้องผูก คือ
- กินอาหารมีใยอาหารสูงในทุกมื้ออาหาร
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- เคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกายเสมอทุกวัน ไม่นั่งๆนอนๆ
- ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล
- ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา ควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก และมีเวลาให้ในการขับถ่าย ไม่รีบเร่ง
- ไม่กลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย เมื่อปวดถ่ายควรรีบเข้าห้องน้ำเสมอ
- ควรปรึกษาแพทย์เรื่องท้องผูกโดยไม่ควรใช้ยาแก้ท้องผูกเอง แต่ถ้าจะใช้ยาแก้ท้องผูกเอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
- ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว ยังท้องผูก
- ใช้ยาแก้ท้องผูก ประมาณ 5-7 วันแล้วท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ท้องผูกเกิดโดยไม่เคยมีอาการมาก่อน
- มีอาการท้องผูกเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์
- ท้องผูกสลับท้องเสียโดยไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อุจจาระมีลักษณะเล็กแบนเหมือนริบบิ้นต่อเนื่องโดยไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่า อาจมีลำไส้ใหญ่ตีบ ซึ่งอาจจากมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่
- มีเลือดออกหลังอุจจาระบ่อย เพราะอาจเป็นอาการของ โรคริดสีดวงทวาร หรือ มีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
- กังวลในอาการ
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อมีท้องผูกร่วมกับ
- ปวดเบ่งเมื่อถ่ายมาก
- ปวดท้องมาก ไม่ผายลม และ/หรือ คลื่นไส้อาเจียน เพราะอาจเป็นอาการของลำไส้อุดตัน
- อุจจาระเป็นเลือด
บรรณานุกรม
- Arce, D., Ermocilla, C., and Costa, H. (2002). Evaluation of constipation. Am Fam Physician, 65, 2283-2291
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Constipation [2018,Dec22]
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/constipation/definition-facts [2018,Dec22]
- https://www.uptodate.com/contents/constipation-in-adults-beyond-the-basics [2018,Dec22]