logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยาแก้อักเสบ

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยาแก้อักเสบ

การอักเสบ (Inflammation) คือ การตอบสนองของหลอดเลือด (Vascular tissue) ต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายส่งผลให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นเกิดอาการ บวม แดง ร้อน เจ็บ/ปวด และอาจมีอาการไข้เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักของการอักเสบมี 2 สาเหตุคือ สาเหตุจากการติดเชื้อโรคและสาเหตุจากที่ไม่ใช่การติดเชื้อโรค

1. ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์ (Glucocorticoid หรือ Corticosteroid) หรือมักเรียกสั้นๆว่า “สเตียรอยด์” เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากต่อมหมวกไต (Adrenal cortex) นอกจากจะมีฤทธิ์ต้านอักเสบ (Anti-inflammatory effects) แล้วยังมีผลต่อระบบเมแทบอลิซึม/การเผาผลาญใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic effects) เช่น การสร้างน้ำตาลกลูโคสจากกรดอะมิโน มีฤทธิ์สลายโปรตีน ไขมัน (Catabolic effects) และกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Immunosuppressive)

2. ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSIAD: Non-steroidal anti-inflammatory drug) หรือมักเรียกสั้นๆว่า “เอ็นเสด” เป็นยาที่ใช้ต้านอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ แต่ลักษณะอาการอักเสบจะคล้ายกับการอักเสบจากติดเชื้อ ได้แก่ อาการบวม แดง ร้อน เจ็บ/ปวด และอาจมีไข้ เป็นยาที่มีคุณสมบัติต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ส่งผลให้เลือดแข็งตัวได้ช้า ลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือด แพทย์จึงมักใช้ยากลุ่มนี้ในการป้องกันและรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น เอ็นเสดสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Non-specific COX inhibitors (Traditional NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟ่น และ กลุ่ม COX-2 inhibitors เช่น เซเลค็อกสิบ (Celecoxib) อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib) ซึ่งเป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยากลุ่ม Non-specific COX inhibitors

ข้อควรระวังหลักในการใช้ยาสเตียรอยด์

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคจิต โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน และโรคติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อ
  2. เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงมาก จึงควรใช้ยาในขนาดที่น้อยที่สุดและในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะควบคุมโรคได้
  3. ใช้ยาเฉพาะที่ เช่น ยาพ่นในการรักษาโรคหืดแทนการใช้ยากินหรือยาฉีด
  4. บ้วนปากหลังการใช้ยาแบบพ่นคอหรือพ่นจมูก เพื่อลดการเกิดเชื้อราใช้ช่องปาก
  5. เมื่อเห็นผลการรักษาแล้วต้องค่อยๆ ลดขนาดยาลง ไม่หยุดยาทันทีเพราะจะทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดสเตียรอยด์

ข้อควรระวังหลักในการใช้ยาเอนเสด

  1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ รวมถึงแพ้ยาที่มีโครงสร้างหลักคล้ายกัน
  2. ห้ามใช้ในผู้ที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร) หรือมีแผลทะลุต่างๆ เพราะเอ็นเสดจะก่อให้เกิดการระคายเคืองและเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นการกินเอ็นเสดจึงต้องกินหลังอาหารทันทีและมักกินคู่กับยาเคลือบกระเพาะอาหาร
  3. ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง
  4. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก
  5. ควรระวังในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ เพราะยากลุ่ม COX-2 inhibitors อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด