วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 มิถุนายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือวัคซีนอะไร?
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีกี่ชนิด?
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้จริงหรือ?
- ใครควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก? เริ่มฉีดเมื่ออายุเท่าไร?ผู้ชายฉีดได้ไหม?
- ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกกี่เข็ม? ต้องฉีดกระตุ้นอีกไหม?
- วัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงไหม?
- ใครห้ามฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก?
- ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในคนท้องได้ไหม? ถ้ายังฉีดวัคซีนฯไม่ครบแล้วเกิดท้องจะทำอย่างไร?
- ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้วยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกไหม?
- ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะดูแลตนเองอย่างไร?
- ถ้าอยากฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะทำอย่างไร?
- วัคซีนมะเร็งปากมดลูกป้องกันโรคอื่นๆอะไรได้บ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง(Cancer)
- มะเร็งปากมดลูก(Cervical cancer)
- มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
- โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal cancer)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
- หูดหงอนไก่(Condyloma acuminata)
- เอชพีวี: โรคติดเชื้อเอชพีวี(HPV infection)
- แป๊บสเมียร์(Pap- smear หรือ Pap test)
- การตรวจภายใน (Per vaginal examination)
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือวัคซีนอะไร?
วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีนเอชพีวี คือ วัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อใช้ป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อไวรัส เอชพีวี (HPV หรือ Human papilloma virus/ฮิวแมนแป๊บปิลโลมาไวรัส) ซึ่งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพราะทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังจนสามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีกี่ชนิด?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวี ปัจจุบันมี 3 ชนิดคือ
- วัคซีนชื่อการค้า“Cervarix”: ป้องกันได้เฉพาะไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกที่พบบ่อยมาก 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 16, และ 18 ซึ่งป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70% (ไวรัสเอชพีวีที่เป็นต้นเหตุมะเร็งปากมดลูกมี หลากหลายสายพันธุ์ย่อยไม่น้อยกว่า40 สายพันธุ์)
- วัคซีนชื่อการค้า “Gardasil”: ป้องกันไวรัสเอชพีวีได้ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ย่อยคือ
- สายพันธุ์เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูก 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16, และ 18)
- และสายพันธ์เป็นสาเหตุของหูดอวัยวะเพศอีก 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 6, และ 11 ซึ่งวัคซีนนี้ป้องกันหูดอวัยวะเพศได้ประมาณ 90%)
- วัคซีนชื่อการค้า “Gardasil 9”: ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) ได้รับรองประสิทธิภาพ วัคซีนตัวใหม่ที่มีชื่อการค้าว่า “Gardasil 9” ซึ่งป้องกันเอชพีวีไวรัสสายพันธุ์ย่อยได้เพิ่มอีก 5 สายพันธุ์ รวมจากของเดิม 4 สายพันธุ์เป็นทั้งหมด 9 สายพันธุ์คือ เอชพีวี/HPV 6, 11, 16, 18, (ของเดิม) และ อีก 5 สายพันธุ์ใหม่ คือ 31, 33, 45, 52, 58 ดังนั้น วัคซีนตัวใหม่ Gardasil 9 นี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพิ่มอีกประมาณ 20% กล่าวคือ สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมดประมาณ 90%
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้จริงหรือ?
เชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกมีหลายสายพันธุ์ย่อย(มากกว่า40 สายพันธุ์ย่อย) แต่สายพันธุ์ย่อยที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ได้จากการ ศึกษาของประเทศทางตะวันตกคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 เพราะประมาณ 70% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในประเทศตะวันตกเกิดจากไวรัส 2 สายพันธุ์ย่อยนี้
แต่ในประเทศไทย ได้มีการศึกษาจากสถาบันจุฬาภรณ์ที่เผยแพร่เมื่อ กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2556(ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ 13 ก.พ. 2556, 05:15น.) พบว่า สายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 52 รองลงไปคือ สายพันธุ์ 16
ดังนั้นการใช้วัคซีนปากมดลูก 2 ตัวยาเดิมคือ Cervarix และ Gardasil ในหญิงไทยจึงอาจลดประสิทธิภาพลงไปอีก เพราะไม่สามารถป้องการการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากสายพันธุ์ 52 ได้ ป้องกันได้เพียงจากสายพันธุ์ 16, 18 แต่วัคซีน “Gardasil 9” ป้องกันเอชพีวีสายพันธุ์ที่พบในหญิงไทยบ่อยที่สุดได้คือ สายพันธุ์ 52 วัคซีนตัวใหม่นี้จึงสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึง100%
ใครควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก? เริ่มฉีดเมื่ออายุเท่าไร?ผู้ชายฉีดได้ไหม?
ผู้ที่สมควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวีที่ทั่วโลกยอมรับ คือ ผู้หญิง
- ประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีในเด็กนักเรียนหญิงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่5 โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
- ศูนย์ป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา/ซีดีซี(CDC: Centers for disease control and prevention) แนะนำ เริ่มฉีดวัคซีน Gardasil 9 ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายเมื่ออายุ 11-12ปี(แต่เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 9ปี)
อนึ่ง:
- การป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนนี้ตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย(ยังไม่ติดเชื้อเอชพีวี) รวมถึงในช่วงวัยรุ่นที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อไวรัสเอชพีวีได้ดี
- ซีดีซี สหรัฐอเมริกา: แนะนำเพิ่มเติม ดังนี้
- วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดในช่วงอายุ 9-14ปี โดยสามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็มเท่านั้น
- ช่วงอายุ 15-26ปี ต้องฉีดวัคซีนนี้ถึง 3 เข็มจึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี แต่ประสิทธิภาพจะด้อยกว่าการฉีดในช่วงอายุ 9-14 ปี
- ถ้าต้องการฉีดวัคซีนนี้ในช่วงวัยที่สูงกว่า 26 ปี ควรปรึกษาแพทย์เป็นกรณีๆไป
- ผู้ชาย: แนะนำการฉีดวัคซีน Gardasil 9 ในเด็กชายช่วงอายุ 11 - 12 ปี(โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี) เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่, มะเร็งทวารหนัก, และอาจช่วยลดอัตราเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชาย และมะเร็งคอหอยส่วนปาก ส่วนชายอายุที่มากกว่านี้มีรายงานว่า วัคซีนให้ผลป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้จนถึงอายุประมาณ 26 ปี แต่ประสิทธิภาพการป้องกันฯอาจลดลงได้
- ส่วนการฉีดวัคซีนเอชพีวีในผู้ชายเพื่อหวังผลป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง กำลังอยู่ในการศึกษา
ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกกี่เข็ม? ต้องฉีดกระตุ้นอีกไหม?
การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวีเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพนอกจากขึ้นกับการมีเพศสัมพันธ์และอายุที่เริ่มต้นฉีดวัคซีนแล้ว ยังควรต้องฉีดฯให้ครบถ้วน
- เมื่อเริ่มฉีดที่อายุ 9-14 ปี สามารถฉีดวัคซีนนี้เพียง 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน
- เมื่อเริ่มฉีดที่อายุ 15-26ปี ต้องฉีด3เข็ม, เข็มที่2ห่างจากเข็มแรก 1-2เดือน, และเข็มที่3ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน
*อนึ่ง: ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลว่าหลังการฉีดวัคซีนนี้อย่างครบถ้วน ภูมิคุ้มกันโรคจะอยู่ได้นานเท่าไร มีหลายการศึกษายืนยันว่า ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่อการติดเชื้อเอชพีวีหลังฉีดวัคซีนนี้ไปแล้วประมาณ 10 ปียังคงสูงในระดับมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนนี้เพื่อการกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอการศึกษาในระยะยาวกว่านี้ เพราะวัคซีนนี้เพิ่งนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2006-2007
วัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงไหม?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวี ผลิตจากชิ้นส่วนของไวรัส จึงไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีไม่ว่าจะเป็นกรณีใดทั้งสิ้น แต่ชิ้นส่วนหรือสารประกอบอื่นๆที่มีอยู่ในวัคซีน อาจก่ออาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนได้ ซึ่งอาการแพ้ทั่วไปไม่รุนแรง พบได้น้อย และอาการจะหายได้เองภายใน 1 - 2 วันโดยไม่ต้องรักษา
ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น
- บริเวณที่ฉีดยาอาจ เจ็บ บวม แดง
- วิงเวียน
- มึนงง
- เป็นลม
- คลื่นไส้
- มีไข้
- ปวดหัว
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- อ่อนเพลีย
- แต่มีบางคนเป็นส่วนน้อยมาก อาจแพ้รุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้(พบน้อยมาก)เมื่อ เคยมีประวัติแพ้ยา/แพ้วัคซีนอื่นๆ/แพ้สารต่างๆมาก่อน ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์/พยาบาลเสมอถึงประวัติการแพ้ต่างๆก่อนฉีดวัคซีนนี้
*อนึ่ง เพื่อป้องกัน อาการวิงเวียนเป็นลม แนะนำให้นั่งหรือนอนขณะฉีดวัคซีนนี้ และให้นั่งหรือนอนพักต่อไปหลังฉีดนานประมาณ 15 นาที
ใครห้ามฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก?
ข้อห้ามการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวี คือ
- ห้ามฉีดในคนที่แพ้วัคซีนนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบต่างๆของวัคซีนนี้
- ผู้ที่เคยแพ้วัคซีนนี้ในเข็มแรกมาแล้ว
ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในคนท้องได้ไหม? ถ้ายังฉีดวัคซีนฯไม่ครบแล้วเกิดท้องจะทำอย่างไร?
การศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนนี้ในคนท้อง ยังมีระยะติดตามผลการศึกษาที่ยังไม่นานพอ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่แตกต่างไปจากที่กล่าวแล้วในหัวข้อวัคซีนมีผล ข้างเคียงไหม? และยังไม่พบว่าส่งผลให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารก หรือเพิ่มโอกาสการแท้งบุตร แต่ผลในระยะยาวต่อทารกที่เกิดมายังไม่ทราบ
ดังนั้น:
- แพทย์ทุกท่านจึงเห็นตรงกันคือ ยังเป็นข้อห้ามฉีดวัคซีนนี้ขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ในอนาคตระยะยาว
- แต่ส่วนเมื่อฉีดวัคซีนฯไปแล้ว1 - 2เข็มแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา แพทย์จะให้ชะลอการฉีดวัคซีนฯเข็มถัดไปไปก่อน รอจนกว่าจะคลอดแล้วจึงพิจารณาใหม่เป็นกรณีไป
อนึ่ง: จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีรายงานว่า วัคซีนนี้ก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์หรือมีผลต่อการแท้งบุตรเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไปๆหลังการฉีดวัคซีนนี้
ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้วยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกไหม?
ข้อนี้สำคัญที่สุด ทุกคนต้องตระหนักถึงข้อนี้คือ วัคซีนนี้รักษามะเร็งปากมดลูกไม่ได้ แต่ใช้เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ป้องกันได้ไม่100%โดยขึ้นกับชนิดของวัคซีนที่ฉีดว่าครอบคลุมเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูกกี่ชนิด(เฉลี่ยป้องกันได้ประมาณ 70%-90%) ผู้หญิงทุกคนที่ฉีดวัคซีนนี้แล้ว ยังคงต้องเลิกปัจจัยเสี่ยงต่างๆอื่นๆต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก(แนะนำอ่านรายละเอียดในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งปากมดลูก’) และยังต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก(วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)สม่ำเสมอบ่อยตามแพทย์แนะนำโดยเริ่มการตรวจคัดกรองฯตั้งแต่อายุ21ปี หรือไม่เกิน 3ปีหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะดูแลตนเองอย่างไร?
ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวี ก็ยังมีวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ผู้หญิงทุกคนจึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์หรือแพทย์ทุกคนเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก(วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) โดยเริ่มเมื่ออายุ 21 ปี หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้วอย่างน้อย3ปีขึ้นกับว่าเวลาใดถึงก่อน หลังจากนั้นความถี่ในการตรวจคัดกรองฯขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
นอกจากนั้น ดังกล่าวแล้วว่า การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยชายในทุกครั้งของการมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นอีกวิธีที่ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆทางเพศสัมพันธ์ทุกโรครวมทั้งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีและไวรัสเอชไอวี/HIV(โรคเอดส์)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าอยากฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะทำอย่างไร?
เมื่อต้องการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวี ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์หรือแพทย์โรค มะเร็งทั้งรังสีรักษาแพทย์ หรืออายุรแพทย์ด้านแพทย์มะเร็งวิทยา และต้องระลึกอยู่เสมอว่าวัคซีนนี้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เฉพาะที่เกิดจากเอชพีวีสายพันธุ์ย่อยที่วัคซีนนั้นๆป้องกันได้ (2 – 9 สายพันธุ์ขึ้นกับชนิดของวัคซีน)
วัคซีนมะเร็งปากมดลูกป้องกันโรคอื่นๆอะไรได้บ้าง?
ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวีสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70 - 90%ขึ้นกับชนิดของวัคซีนฯ
นอกจากนี้ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวีทุกชนิดยังสามารถป้องกันมะเร็งชนิดอื่นที่เกิดจากอวัยวะนั้นๆติดเชื้อเอชพีวี ดังนี้
- มะเร็งทวารหนัก: ได้ประมาณ 80%
- มะเร็งช่องคลอด: ได้ประมาณ 60%
- มะเร็งอวัยวะเพศหญิง: ประมาณ 40%
- มะเร็งอวัยวะเพศชาย: ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดถึงอัตราการป้องกันโรค
- มะเร็งคอหอยส่วนปาก: ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดถึงอัตราการป้องกันโรค
*อนึ่ง เฉพาะวัคซีนฯชนิด Gardasil and Gardasil 9 ยังสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ หรือหูดอวัยวะเพศได้อีกด้วย(ประมาณ 90%)เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเอชพีวีสายพันธ์ 6, และ 11
บรรณานุกรม
- https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-vaccine-fact-sheet [2020,June20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/HPV_vaccine [2020,June20]
- https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/hpv/index.html [2020,June20]
- http://hpc4.anamai.moph.go.th/mobile_detail.php?cid=19&nid=245 [2020,June20]
- https://www.thairath.co.th/content/326308 [2020,June20]