คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน บุหรี่กับมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 13 กันยายน 2564
- Tweet
มีการศึกษาเล็กๆหลายการศึกษาที่ให้ผลตรงกันว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง ดังนั้นคณะนักวิทยาศาสตร์จากยุโรปและสหรัฐอเมริกานำโดย ดร. Edoardo Botteri จาก Section for Colorectal Cancer Screening, Cancer Registry of Norway, Oslo, Norway จึงต้องการศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่มากพอทางสถิติว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรงจริงหรือไม่และอย่างไร และได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ AJG (the American Journal of Gastroenterology) ฉบับประจำเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2020
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ การวิเคราะห์อภิมาน(Meta-analysis) โดยทบทวนการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Systemic review)ในช่วง ค.ศ. 1958-2018 ซึ่งมีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ตรงกับความต้องการของคณะผู้ศึกษาทั้งหมด 188 การศึกษารวมเป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรงทั้งหมด 383,154 ราย และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่กับกลุ่มผู้ป่วยที่สูบบุหรี่
ผลการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง โดยปัจจัยเสี่ยงจะขึ้นกับจำนวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันและระยะเวลาต่อเนื่องที่สูบบุหรี่ และยังพบว่าเมื่อเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย25ปีขึ้นไปปัจจัยเสี่ยงจะลดลงอย่างมาก นอกจากนั้นยังพบว่าการที่บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมาก เพราะสารพิษจากบุหรี่มีผลต่อสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ(DNA)ในเซลล์ลำไส้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายของลำไส้ จึงส่งผลให้เซลล์ลำไส้ฯกลายพันไปเป็นมะเร็งฯได้
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า จากทุกการศึกษาที่รวมและความสำคัญทางสถิติพบว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง โดยปัจจัยเสี่ยงจะขึ้นกับปริมาณบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันและระยะเวลาต่อเนื่องในการสูบบุหรี่ แต่ถ้าเลิกบุหรี่ต่อเนื่องนานหลายๆปีก็สามารถลดการเป็นปัจจัยเสี่ยงนี้ลงได้
แหล่งข้อมูล:
- Am J Gastroenterol 2020;115(12):1940–1949