โรคปริทันต์ หรือ โรครำมะนาด (Periodontal Disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 ตุลาคม 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคปริทันต์เกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคปริทันต์?
- โรคปริทันต์มีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคปริทันต์ได้อย่างไร?
- โรคปริทันต์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคปริทันต์อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคปริทันต์ไหม?
- ป้องกันโรคปริทันต์ได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ฟันผุ (Dental caries)
- เหงือกอักเสบ (Gingivitis)
- ปวดฟัน (Toothache)
- กลิ่นปาก (Bad breath)
- น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปาก (Gargle)
- วิธีแปรงฟัน (Brushing teeth)
- ฟลูออไรด์ (Fluoride)
- กลุ่มอาการเมตาโบลิก กลุ่มอาการผิดปกติในการสันดาป (Metabolic syndrome)
- มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคปริทันต์ หรือ โรครำมะนาด(Periodontal Disease) คือ โรคอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อทุกชนิดที่อยู่ล้อมรอบฟันซึ่งเรียกว่า ‘เนื้อเยื่อปริทันต์ที่รวมเหงือกด้วย(ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป ’เนื้อเยื่อปริทันต์คืออะไร?’) ’ ส่งผลให้เกิดปัญหาของ เหงือก, ฟัน, เหงืออักเสบจนอาจถึงขั้นเป็นหนอง, ฟันโยกคลอน, ฟันหัก, จน ในที่สุดอาจลุกลามเป็นกระดูกกรามอักเสบติดเชื้อ, และโรคนี้ยังสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดอาการรุนแรงของโรคอื่นๆที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease / โรคหัวใจ2 ในเว็บhaamor.com), โรคเบาหวาน, สุขภาพมารดาขณะตั้งครรภ์ที่รวมถึงทารกในครรภ์, และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก
โรคปริทันต์ เป็นโรคพบบ่อย ประมาณ 20-50%ของประชากรทั่วโลก พบทุกเพศ แต่พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง พบบ่อยในช่วง วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ พบน้อยในวัยเด็ก
เนื้อเยื่อปริทันต์คืออะไร?:
เนื้อเยื่อปริทันต์ (Periodontium) คือ กลุ่มเนื้อเยื่อหลายชนิดที่อยู่ล้อมรอบๆฟัน ได้แก่
- เหงือก
- เนื้อเยื่อเอ็นที่ยึดฟันให้ติดกับกระดูกเบ้าฟัน/กระดูกกรามส่วนที่รองรับฟัน(Periodontal fiber ย่อว่า PDL)
- ซีเม็นตัม/ สารเคลือบรากฟัน(Cementum, สารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมที่ทำหน้าที่เป็นซีเม็นที่เคลือบรากฟันเพื่อช่วยการยึดเกาะของฟันกับเบ้ากระดูกกราม)
- และส่วนของกระดูกกรามที่มีหน้าที่รองรับฟัน(Alveolar process หรือ Alveolar bone)
ทั้งนี้ หน้าที่ของเนื้อเยื่อปริทันต์ คือ เพื่อช่วยให้ฟันมีประสิทธิภาพในการทำงานบดเคี้ยวอาหาร และช่วยไม่ให้ฟันเกิดการโยกคลอน โดย
- ช่วยพยุงฟันและช่วยการยึดติดของฟันกับกระดูกกราม
- ช่วยฟันรับน้ำหนักจากการบดเคี้ยว
- เป็นทางผ่านของหลอดเลือดที่เลี้ยงเหงือกและฟัน
- เป็นเนื้อเยื่อส่วนรับรู้ความรู้สึก เมื่อมีปัญหากับเหงือกและฟัน เช่น เจ็บ ปวด
อนึ่ง:
- Periodontium มาจากภาษากรีก โดย Peri แปลว่า รอบๆ ส่วน odon แปลว่า ฟัน
- ชื่อภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปใช้เรียกโรคนี้ คือ โรคเหงือก(Gum disease)
- เมื่อโรคนี้มีการอักเสบติดเชื้อที่รุนแรง จะเรียกว่า ‘ปริทันต์อักเสบ (Periodontitis)’ หรือชื่อทั่วไป คือ ‘โรครำมะนาด’ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554ให้ความหมายว่า ‘ชื่อโรคชนิดหนึ่ง เกิดตามรากฟัน ทำให้เหงือกบวมเป็นหนอง’
โรคปริทันต์เกิดได้อย่างไร?
ในช่องปากของเรามีเชื้อโรคชนิดต่างๆมากมายอาศัยอยู่ร่วมกับเราเป็นปกติ เรียกว่าเป็นเชื้อโรคประจำถิ่น(Normal flora)ทั้ง แบคทีเรีย เชื้อไวรัส (โรคติดเชื้อไวรัส) และ เชื้อรา (โรคเชื้อรา)
อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียในช่องปากเป็นเชื้อหลักเกือบทั้งหมดที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ทั้งนี้แบคทีเรียบางชนิดจะเจริญได้ดีในสภาพเป็นกรด ซึ่งอาหารที่บูดเน่าโดยเฉพาะแป้งและน้ำตาลเป็นอาหารกลุ่มที่จะทำให้เกิดกรดได้สูงเมื่อบูดเน่า อาหารบูดเน่าเหล่านี้เมื่อสะสมในช่องปากมักจะตกค้างอยู่ที่เนื้อเยื่อปริทันต์ ส่งผลให้เกิดเป็นคราบแบคทีเรียเกาะจับอยู่ตามเนื้อเยื่อเหล่านี้ที่เรียกว่า แผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือไบโอฟิล์ม/Biofilm(หรือทั่วไปเรียกว่า หินปูน/คราบหินปูน/หินน้ำลาย หรือ พลาค/Dental plaque)ที่ส่งผลก่อให้เนื้อเยื่อปริทันต์เกิดการอักเสบ
นอกจากนี้ แร่ธาตุต่างๆทั้งในน้ำลายและในอาหารที่รวมถึงแคลเซียม/หินปูนจะเข้าไปจับในแผ่นคราบจุลชีพหรือจุลินทรีย์นี้ เกิดเป็นคราบหินปูนที่ยิ่งช่วยก่อการระคายเคือง การอักเสบ และการทำลายต่อเนื้อเยื่อปริทันต์จนส่งผลให้เกิด ‘โรคปริทันต์’ คือ การอักเสบเรื้อรังต่อเนื้อเยื่อปริทันต์ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา จุลินทรีย์และคราบหินปูนจะค่อยๆทำลายเนื้อเยื่อปริทันต์, ฟัน, และรากฟัน จนเกิดการหลุดร่วงของฟัน นอกจากนั้น แบคทีเรียที่ก่อโรคปริทันต์นี้ สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการอักเสบรุนแรงของโรคต่างๆอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ที่อาจเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด(โรคหัวใจ2ในเว็บhaamor.com) เป็นต้น
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคปริทันต์?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคปริทันต์มีหลากหลาย ที่สำคัญได้แก่
- อายุตั้งแต่ 60ปีขึ้นไป: เนื่องจากมีการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ทุกชนิดรวมทั้งเซลล์เนื้อเยื่อปริทันต์
- เพศ: พบโรคนี้ในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง อาจเพราะ เพศชายมัก ดื่มสุรา สูบบุหรี่
- พันธุกรรม: พบว่าบางคนมีพันธุกรรมที่เกิดหินปูนได้ง่ายและในปริมาณมาก แต่บางคนเกิดได้น้อย หรือน้อยมากๆ
- สูบบุหรี่: เพราะสารพิษจากควันบุหรี่ก่อการระคายเคือง/การอักเสบต่อเนื่องต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในช่องปากที่รวมถึงเนื้อเยื่อปริทันต์ และยังช่วยเพิ่มปริมาณ แบคทีเรียในช่องปาก
- ดื่มสุรา: เพราะแอลกอฮอล์ก่อ การระคายเคือง การอักเสบ ของเนื้อเยื่อปริทันต์
- กินอาหารไม่มีประโยชน์เป็นประจำ
- สุขภาพช่องปากและฟันไม่ดีจากขาดการดูแลสุขอนามัยช่องปาก
- ความเรียด: เพราะในภาวะเครียด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะลดต่ำลง เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายรวมถึงเนื้อเยื่อปริทันต์
- โรคเบาหวาน: เพราะตัวโรคมีผลทั้งต่อการมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และยังส่งผลในเนื้อเยื่อทุกชนิดมีการอักเสบต่อเนื่อง
- โรคอ้วน: เพราะในคนอ้วนมักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- ปากคอแห้งมากเรื้อรัง
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ที่ทำให้ปากแห้งมาก เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด
โรคปริทันต์มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคปริทันต์ มีได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ที่พบบ่อย เช่น
- เหงือก บวม แดง เลือดออกง่าย สังเกตจากมักมีเลือดออกที่เหงือกขณะแปรง ฟัน
- เหงือกบวม เป็นๆหายๆบ่อย
- มีแผลที่เหงือก เจ็บ อาจเลือดออก และแผลไม่หาย/ไม่ดีขึ้นใน 1-2สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง หรือแผลเลวลงเรื่อยๆ
- มีกลิ่นปากเรื้อรัง
- เสียวฟันมากผิดปกติโดยเฉพาะเมื่อดื่มน้ำเย็น หรือน้ำอุ่น ของรสเปรี้ยว และเป็นอาการที่เกิดต่อเนื่องถึงแม้จะดูแลตนเองแล้ว
- เหงือกร่นมาก
- มีร่องระหว่างเหงือกและฟัน/ซอกฟันหลวม เศษอาหารตกค้างง่าย
- ปวดฟันบ่อย ปวดฟัน เจ็บเหงือกผิดปกติเมื่อเคี้ยวของแข็ง
- ฟันแตกง่าย
- ปากคอแห้งมากเรื้อรัง โดยเฉพาะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย
- ฟันโยกคลอน
- กรณีอาการรุนแรง/ติดเชื้อรุนแรง จะมี
- ใบหน้าบวม และ
- อาจมีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำๆ
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์/ทันตแพทย์ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อการตรวจช่องปาก เพื่อแพทย์/ทันตแพทย์ให้คำปรึกษา แนะนำ และดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มเกิดโรค
แพทย์วินิจฉัยโรคปริทันต์ได้อย่างไร?
แพทย์/ทันตแพทย์วินิจฉัยโรคปริทันต์ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น อาการ การกินอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มสุรา โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ ฯลฯ
- การตรวจช่องปากด้วยกระจกส่อง และการใช้เครื่องมือต่างๆเพื่อช่วยตรวจความแข็งแรงของเนื้อเยื้อปริทันต์ เช่น เครื่องมือที่ใช้แหย่เข้าไปตามซอกต่างๆ(Probe)เพื่อตรวจดูความแข็งแรงและความผิดปกติ/ความหลวมของซอกฟัน
- อาจมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์/ทันตแพทย์ เช่น
- การเอกซเรย์ฟัน หละ/หรือเอกซเรย์กระดูกกราม
- หรือบางกรณีอาจต้องตรวจช่องปากด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ เป็นต้น
โรคปริทันต์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร ?
โรคปริทันต์จัดเป็นโรคเรื้อรังที่ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคจะรุนแรง และมีการพยากรณ์โรคไม่ดี จะเกิดปัญหา
- โรคของช่องปาก
- ฟันหัก/สูญเสียฟันก่อนเวลาอันควร และ
- เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค/อาการโรคที่รุนแรงได้หลายโรคที่เป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต, โรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคหัวใจ2) , มะเร็งช่องปาก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพบทันตแพทย์ตั้งแต่แรกหรือพบทันตแพทย์ดูแลช่องปากและฟันสม่ำเสมอ โรคปริทันต์ก็เป็นโรคที่รักษาควบคุมได้เป็นอย่างดี
ความรุนแรงของโรคปริทันต์
ความรุนแรงของโรคปริทันต์ แบ่งตามความรุนแรงของการลุกลามของโรค, และแบ่งตามอัตราความเร็วในการเกิดการลุกลามของโรค
ก. แบ่งตามความรุนแรงของการลุกลามของโรคได้เป็น 4 ระยะ(Stage) ได้แก่
- ระยะที่1: ระยะเริ่มต้น/ความรุนแรงน้อย/ โรครุนแรงน้อย: โพรงซอกฟันลึกมากกว่า3มิลลิเมตร(มม.)แต่ไม่เกิน5มล. เมื่อตรวจด้วยProbeจะมีเลือดออกเสมอ, เอกซเรย์พบรากฟันเสียหายมากกว่า2มล. แต่ไม่เกิน3มม., และฟันคลอนจากเบ้าฟัน1-2มม.
- ระยะที่2: ความรุนแรงปานกลาง:โพรงซอกฟันลึกตั้งแต่5มม.ขึ้นไปแต่น้อยกว่า7มม., เมื่อตรวจด้วยProbeจะมีเลือดออกเสมอ, เอกซเรย์พบรากฟันเสียหายมากกว่า3มม.แต่ไม่เกิน5มม., ฟันคลอนจากเบ้าฟัน 3-4มม.
- ระยะที่3: ความรุนแรงสูง: โพรงซอกฟันลึกตั้งแต่7มม.ขึ้นไป, เมื่อตรวจด้วยProbeจะมีเลือดออกเสมอ, เอกซเรย์พบรากฟันเสียหายมากกว่า5มม., ฟันคลอนจากเบ้าฟันตั้งแต่ 5มม.ขึ้นไป
- ระยะที่4: ความรุนแรงสูงมาก: ความรุนแรงมากกว่าระยะ3, และฟันมีโอกาสหัก/หลุดสูง
ข.แบ่งตามอัตราการลุกลามของโรคได้เป็น 3 อัตรา(Grade) คือ
- Grade A: โรคใช้ระยะเวลาลุกลามรุนแรง(เปลี่ยนระยะ/Stage อย่างช้าๆ)โดยในระยะ5ปีหลังเกิดโรคไม่พบการสูญเสียมวลกระดูกของ รากฟัน, เบ้าฟัน, และ/หรือกระดูกกราม
- Grade B: โรคใช้เวลาในการเปลี่ยนระยะความรุนแรงรวดเร็วขึ้น คือ พบการสูญเสียมวลกระดูกฯแต่ขนาดน้อยกว่า 2 มม.ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เกิดโรค
- Grade C: โรคใช้เวลาเปลี่ยนระยะความรุนแรงรวดเร็วขึ้นเป็นอย่างมากจนถึงขีดอันตราย คือมีการสูญเสียมวลกระดูกฯมากกว่า 2 มม.ในช่วงระยะเวลา 5 ปี
ความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์กับโรค/ภาวะต่างๆของร่างกาย
โรคปริทันต์มักเกิดสัมพันธ์กับโรค/ภาวะต่างๆของร่างกายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ความตายได้ ซึ่งแพทย์เชื่อว่า กลไกการเกิดโรค/ภาวะต่างๆเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ
โรค/ภาวะผิดปกติอื่นๆที่มีความสัมพันธ์กับโรคปริทันต์: ที่พบบ่อย คือ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease/ โรคหัวใจ2 จากเว็บ haamor.com): การศึกษาต่างๆรายงานตรงกันว่า โรคปริทันต์เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงประมาณ20% และจะสูงขึ้นเป็นประมาณ 40%ในคนอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้รวมไปถึงการเกิด อัมพาติ/ โรคหลอดเลือดสมอง
- กลุ่มอาการเมตาโบลิก: การศึกษาพบว่าโรคในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคปริทันต์
- โรคข้อรูมาตอยด์: เพราะโรคข้อรูมาตอยด์มีสาเหตุจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ ผู้ป่วยจึงเกิดโรคปริทันต์ได้ง่าย และมักเป็นชนิดรุนแรงเพราะมักส่งผลให้เกิดกระดูกเบ้าฟันถูกทำลายและฟันโยกคลอน จนเกิดฟันหลุดได้สูง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง : การศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคปริทันต์ได้สูงกว่าคนทั่วไป และในขณะเดียวกันก็พบว่าผู้ป่วยโรคปริทันต์เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังด้วย ซึ่งแพทย์เชื่อว่า แบคทีเรียที่ก่อโรคปริทันต์และแบคทีเรียที่ก่อการติดเชื้อในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีความสัมพันธ์กันหรืออาจเป็นกลุ่มเดียวกัน
- โรคไตเรื้อรัง: หลายการศึกษาพบว่า โรคปริทันต์เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไตเรื้อรัง และโรคไตเรื้อรังก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคปริทันต์ รวมถึงเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังและเกิดโรคปริทันต์ขึ้นพบว่า โรคปริทันต์จะเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยโรคไตฯได้สูงกว่าในผู้ป่วยโรคไตฯที่ไม่มีโรคปริทันต์
- โรคสมอง: การศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคสมองกับโรคปริทันต์ โดยพบว่า โรคปริทันต์ที่มีการอักเสบเรื้อรังก่อให้เกิดโปรตีนผิดปกติบางชนิดที่จะไปจับในเนื้อเยื่อสมองที่ส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
- มะเร็งช่องปาก: โรคปริทันต์เกิดจากมีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อปริทันต์ ซึ่งการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อทุกชนิดรวมถึงเนื้อเยื่อปริทันต์เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เนื้อเยื่อ/เซลล์ที่อักเสบเหล่านั้นกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ คือ มะเร็งช่องปากนั่นเอง
- การตั้งครรภ์: การศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศในระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ลดลง เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคปริทันต์ แต่ปัจจัยเสี่ยงนี้จะค่อยๆลดลงหลังคลอดเมื่อฮอร์โมนเพศกลับมาปกติ นอกจากนี้ ในขณะตั้งครรภ์ การเกิดโรคปริทันต์ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ การเกิดการติดเชื้อของมารดาได้ง่ายที่รวมถึงโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, การคลอดก่อนกำหนด, และรวมไปถึง ภาวะทารกน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
มีแนวทางรักษาโรคปริทันต์อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคปริทันต์ คือ การรักษาควบคุมสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง, การรักษาเนื้อเยื่อปริทันต์ที่อักเสบ, และ การดูแลรักษาช่องปากและฟันเพื่อไม่ให้เกิดโรคปริทันต์ซ้ำ และ/หรือเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามรุนแรงจนต้องสูญเสียฟันและ/หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดเป็นโรคต่างๆที่เป็นอันตรายดังได้กล่าวใน’ หัวข้อ ความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์กับโรค/ภาวะต่างๆของร่างกาย’
ก. การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง: จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงวิธีรักษาเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com)
ข. การรักษาเนื้อเยื่อปริทันต์ที่อักเสบ: มีหลากหลายวิธี ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์/ทันตแพทย์ ซึ่งการรักษาโรคปริทันต์ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานหลายสัปดาห์ และต้องเป็นการรักษาต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์/ทันตแพทย์ การรักษาต่างๆ เช่น
- การใช้ยาปฏิชีวนะ
- การขูดหินปูน
- การรักษาเหงือกอักเสบ
- การรักษารากฟัน, และ
- ในที่สุดอาจรวมไปถึงหัตการทางศัลยกรรมช่องปาก
ค. การดูแลรักษาโรคกลับเป็นซ้ำหรือเมื่อโรคปรับเปลี่ยนมีความรุนแรงโรคสูง: ได้แก่ การดูแลรักษาตามแพทย์/ทันตแพทย์แนะนำ และรวมถึงการดูแลตนเอง(จะกล่าวในหัวข้อถัดไป)
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคปริทันต์ ได้แก่
- ดูแลช่องปากและฟันตามคำแนะนำของทันตแพทย์ที่รวมถึงการใช้น้ำยาบ้วนปาก
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ลดอาหารหวาน อาหารแป้ง และไม่กินจุบจิบโดยเฉพาะ อาหารหวานและอาหารแป้ง
- รักษาความสะอาดช่องปากและฟันตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ซึ่งทั่วไปคือ
- แปรงฟันให้ถูกวิธีวันละ2ครั้งคือ เมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
- ร่วมกับใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังอาหารมื้อหลัก หรืออย่างน้อยก่อนแปรงฟันเข้านอน
- ดูแล ควบคุม รักษาโรค/ภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง(ดังได้กล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)การเกิดโรคปริทันต์ ให้ได้ดี
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
- เมื่อมีผลข้างเคียงต่างๆที่เกิดกับช่องปากจากการใช้ยาต่างๆ เช่น ปากคอแห้งมาก, ช่องปากเป็นแผลเรื้อรัง, ต้องรีบพบแพทย์/ทันตแพทย์เสมอ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้ยา และเพื่อการดูแลรักษาช่องปาก/ฟัน แต่เนิ่นๆ
- พบทันตแพทย์สม่ำเสมอทุก 6เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์นัด
มีการตรวจคัดกรองโรคปริทันต์ไหม?
การตรวจคัดกรองโรคช่องปากที่รวมถึงโรคปริทันต์ คือ การพบทันตแพทย์สม่ำเสมอ ประมาณทุก 6 เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ
ป้องกันโรคปริทันต์ได้อย่างไร?
โรคปริทันต์ เป็นโรคที่ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการป้องกัน เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’
บรรณานุกรม
- Muhammad Ashraf Nazir. International Journal of Health Sciences. 2017;11(2):72-80
- https://en.wikipedia.org/wiki/Periodontium[2019,Oct5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Periodontal_disease[2019,Oct5]
- https://www.nidcr.nih.gov/health-info/gum-disease/more-info [2019,Oct5]
- https://www.fippdentalearning.org/fiip/wp-content/uploads/2018/06/New- Classification-for-Periodontal-Diseases-2017.pdf[2019,Oct5]
- https://www.nhs.uk/conditions/gum-disease/[2019,Oct5]