โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคทางเดินอาหารมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหาร?
- โรคทางเดินอาหารมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคทางเดินอาหารได้อย่างไร?
- รักษาโรคทางเดินอาหารอย่างไร?
- โรคทางเดินอาหารรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคทางเดินอาหารไหม?
- ป้องกันโรคทางเดินอาหารได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
บทนำ
โรคทางเดินอาหาร หรือ โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease หรือ Digestive disorder หรือ Gastrointestinal disease ที่ย่อว่า GI disease) คือ ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ ช่องปาก ช่องคอ/ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนัก และยังรวมทั้งเนื้อเยื่อ /อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำย่อยอาหารด้วย ได้แก่ ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน
ทั้งนี้:
- เมื่อเป็นการกล่าวถึงเฉพาะ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กตอนบน (ส่วนที่เรียกว่า ดูโอดีนัม/Duodenum) แพทย์หลายท่านจะเรียก ทางเดินอาหารในช่วงอวัยวะเหล่านี้รวมกันว่า “ทางเดินอาหารตอนบน หรือทางเดินอาหารตอนต้น (Upper GT tract)”
- และจะเรียก ลำไส้เล็กตอนล่างที่ต่อจากดูโอดีนัมลงไป ลำไส้ใหญ่ ลงไปถึง ทวารหนัก รวมกันว่า “ทางเดินอาหารตอนล่าง หรือ ทางเดินอาหารตอนปลาย (Lower GI tract)”
(หมายเหตุ: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการแบ่งส่วนต่างๆของระบบทางเดินอาหารได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร”
โรคทางเดินอาหาร เป็นโรคพบบ่อยบ่อยมากโรคหนึ่ง โดยอาการสำคัญของโรคระบบนี้ที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดท้อง รองลงไป คือ ท้องเสีย ทั้งนี้พบโรคในระบบนี้ได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน
ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารประมาณ 34 ล้านคน โดยประมาณ 43% จะมีอาการได้หลายครั้ง เป็นๆหายๆ และประมาณ 8% จะป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารเรื้อรัง ซึ่งโรคทางเดินอาหารนี้ เป็นสาเหตุประมาณ 15%ของการหยุดงานสำหรับคนอเมริกันวัย 17-64 ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตประมาณ 8-9% ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดย 60%ของผู้เสียชีวิตเกิดจากโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆในระบบทางเดินอาหาร และ40% ที่เหลือเกิดจากโรคอื่นๆที่ไม่ใช่ โรคมะเร็ง
โรคทางเดินอาหาร เป็นโรคที่เกิดซ้ำได้หลายครั้งในชีวิต โดย
ก. โรค/อาการเกิดได้อย่างเฉียบพลัน (Acute disease): อาการเกิดขึ้นรวดเร็ว ทันที และสามารถรักษาให้หายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ส่วนใหญ่ภายใน 1-3 สัปดาห์ หรือ
ข. โรค/อาการเรื้อรัง (Chronic disease): โรค/อาการที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่มีอาการต่อเนื่องนานเกิน 3-6 เดือน โดยบางครั้งอาจเกิดต่อเนื่องจากอาการเฉียบพลัน หรือมีธรรมชาติของโรคเรื้อรังตั้งแต่เริ่มเกิดโรค เช่น โรคทางพันธุกรรม เป็นต้น และยังอาจมีอาการเฉียบพลันเกิดทับซ้อนได้เป็นระยะๆ
โรคทางเดินอาหารมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของโรคทางเดินอาหารมีได้หลากหลาย ที่พบได้บ่อย คือ
ก. การติดเชื้อ: ที่เรียกโดยทั่วไปว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร/โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อไวรัส โรคจากพยาธิ และที่พบได้น้อย คือการติดเชื้อราซึ่งมักพบได้สูงขึ้นในคนที่มีภูมิคุ้มต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น
- สาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อย เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคบิด โรคติดเชื้อเอชไพโลไร โรคแผลเปบติค โรตไส้ติ่งอักเสบ
- ส่วนโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้น้อย เช่น โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โรคฝีคัณฑสูตร เป็นต้น
- สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ และ
- สาเหตุจากติดเชื้อพยาธิ เช่น พยาธิตัวกลม(เช่น พยาธิไส้เดือน) พยาธิตัวแบน(เช่น ตืดหมู ตืดวัว) พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น
ข. จากการทำงานแปรปรวนของกระเพาะอาหาร ลำไส้: เช่น โรคอาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ โรคลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ค. จากพันธุกรรม เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่
ง. จากนิ่ว เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี
จ. จากดื่มสุรา เช่น โรคตับแข็ง
ฉ. จากอุบัติเหตุ เช่น ถูกยิง ถูกแทง หรืออุบัติเหตุจากรถยนต์
ช. โรคมะเร็ง ที่พบได้บ่อย คือ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งหลอดอาหาร ที่พบได้บ้าง คือ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งทวารหนัก และโรคมะเร็งถุงน้ำดี
ซ. อื่นๆ เช่น โรคริดสีดวงทวาร โรคไส้เลื่อน โรคกรดไหลย้อน และโรคแผลรอยแยกขอบทวารหนัก โรคฝีคัณฑสูตร
โรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
โรคทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย คือ
- โรค/ภาวะจากการแปรปรวนของการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคอาหารเป็นพิษ และ
- จากโรคมะเร็ง ซึ่งที่พบบ่อยคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหาร?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหาร ที่สำคัญที่สุด คือ ขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำดื่ม น้ำใช้ รวมทั้งการไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และขาดสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) นอกจากนั้น ได้แก่
- กินอาหารไม่สะอาด ปรุงดิบ หรือสุกๆดิบๆ หรือ อาหารค้าง อาหารแช่แข็งที่ไม่ปรุงให้สุก
- เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
- กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินควร
- กินอาหารรสจัด
- กินอาหารขาดใยอาหาร
- ดื่มสุรา
- สูบบุหรี่
โรคทางเดินอาหารมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญและที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางเดินอาหาร คือ ปวดท้อง นอกนั้นได้แก่
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- อาเจียนเป็นเลือด
- อุจจาระเป็นเลือด
- ตัว ตาเหลือง
- ไม่ผายลมเมื่อมีลำไส้อุดตัน
- ตับโตคลำได้ อาจร่วมกับอาการเจ็บใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่งที่อยู่ของตับ) เมื่อมีโรคตับ
*นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆร่วมได้อีกซึ่งขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- มีไข้เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ
- ภาวะขาดน้ำเมื่อท้องเสียมาก
- คลำได้ก้อนในท้องเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง หรือเนื้องอก หรือ
- มีน้ำในท้อง เมื่อมีโรคมะเร็งลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง หรือมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
แพทย์วินิจฉัยโรคทางเดินอาหารได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคทางเดินอาหารได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจอุจจาระ
- การตรวจภาพอวัยวะในช่องท้องด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- และบางครั้งอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ขึ้นกับ อาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานต่างๆเพื่อช่วยการวินิจฉัยชนิดของการติดเชื้อ
- หรือการตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระ
- หรือการตรวจวิเคราะห์น้ำย่อยอาหาร
- หรือการส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือ ทางเดินน้ำดี
- หรือการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคทางเดินอาหารอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคทางเดินอาหาร คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาตามสาเหตุ: เช่น
- การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อโรคเกิดจากติดเชื้อรา
- การรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดและยาปฏิชีวนะ
- หรือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด อาจร่วมกับรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด หรือยารักษาตรงเป้า
ข. การรักษาปะคับประคองตามอาการ: เช่น
- ยาลดไข้
- ยาแก้ปวดท้อง
- การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกินไม่ได้หรือในภาวะขาดน้ำจากอาเจียนหรือท้องเสียมาก
- หรือการให้เลือดเมื่อมีอาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด จนเกิดภาวะซีด
*อนึ่ง: แพทย์ที่ให้การรักษาโรคทางเดินอาหาร คือ แพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ และ/หรือแพทย์โรคมะเร็ง ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ และความซับซ้อนรุนแรงของโรค
โรคทางเดินอาหารรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรง และผลข้างเคียงจากโรคทางเดินอาหาร ได้แก่
ก.ความรุนหรือการพยากรณ์โรคของโรคทางเดินอาหารขึ้นกับ สาเหตุ เช่น
- โรคไม่รุนแรงเมื่อเกิดจากลำไส้แปรปรวน แต่มักส่งผลให้มีอาการเรื้อรังจึงอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิต
- หรือเมื่อเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่โรคหายได้จากการดูแลตนเอง แต่การติดเชื้อบางโรคอาการรุนแรง อาจเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ เช่น อหิวาตกโรค หรือโรคไทฟอยด์
- และความรุนแรงโรคจะสูงขึ้นมากเมื่อเป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น
ข. ผลข้างเคียงจากโรคทางเดินอาหาร คือ
- ภาวะขาดน้ำเมื่อท้องเสีย หรืออาเจียนมาก
- ภาวะซีดเมื่อมีอุจจาระเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
- ภาวะลำไส้ทะลุ เช่น จากการมีแผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือในลำไส้
- และการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ที่เกิดจากมีการติดเชื้อรุนแรงในทางเดินอาหาร มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือมีกระเพาะอาหารหรือ ลำไส้ทะลุ
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ ‘อาการฯ’ และเมื่ออาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลงหลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางเดินอาหาร การดูแลตนเอง การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง เมื่อมียา ต้องกินให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
- รักษาความสะอาดในเรื่องของอาหาร และน้ำดื่ม
- กินอาหารอ่อน รสจืด (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
- พักผ่อนให้ได้เต็มที่ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
- อาการต่างๆเลวงลง หรือ
- มีอาการผิดไปจากเดิม หรือ
- มีภาวะขาดน้ำ
- กิน/ดื่มได้น้อย
- ปวดท้องมาก
- มีไข้
- ท้องเสียมาก
- อาเจียนเป็นเลือด
- อุจจาระเป็นเลือด หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองโรคทางเดินอาหารไหม?
โรคในระบบทางเดินอาหารที่มีการตรวจคัดกรอง ที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้สามารถลดอัตราเสียชีวิตจากโรคได้ คือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)
มีการตรวจคัดกรองโรคทางเดินอาหารไหม?
การป้องกันโรคทางเดินอาหารที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดของโรคทางเดินอาหาร ซึ่งการป้องกัน เช่น
- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- การปรับปรุงชุมชนที่อยู่อาศัยให้มีสุขอนามัยพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ และการมีส้วมที่ถูกหลักอนามัย
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- เลิก และไม่ดื่มสุรา
- เลิก และไม่สูบบุหรี่
- กินอาหารปรุงสุก สะอาด ไม่ค้างคืน
- รักษาความสะอาดอาหารและน้ำดื่ม
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคทางเดินอาหารที่มีวัคซีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เช่น
- วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ-บี
- และเมื่อจะเดินทางไปยังประเทศ หรือท้องถิ่นที่มีการระบาดของโรคทางเดินอาหาร ควรศึกษาว่ามีโรคทางเดินอาหารที่เป็นโรคประจำถิ่นอะไรบ้างที่มีวัคซีนป้องกัน เช่น อหิวาตกโรค โรคไทฟอยด์ หรือ ไวรัสตับอักเสบ-เอ เป็นต้น เพื่อการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนเดินทางอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้อย่างเพียงพอก่อนการเดินทาง
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gastrointestinal_disease [2018,Dec22]
- https://www.healthguidance.org/entry/6328/1/Digestive-Diseases-The-Facts.html [2018,Dec22]
- https://medlineplus.gov/ency/article/007447.htm [2018,Dec22]
- https://my.clevelandclinic.org/health/articles/7040-gastrointestinal-disorders [2018,Dec22]