โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease ย่อว่า KD) คือ โรคที่ทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบโดยเฉพาะหลอดเลือดแดงขนาดกลาง, พบบ่อยในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก), เคยมีชื่อเรียกที่บ่งบอกถึงอาการแสดงที่มีการโตของต่อมน้ำเหลืองและมีผื่นตามตัว คือ Mucocutaneous lymph node syndrome, และมีการอักเสบของหลอดเลือด คือ Infantile polyarteritis nodosa, และหลายท่านเรียกโรคนี้ว่า ‘กลุ่มอาการคาวาซากิ (Kawasaki syndrome)’

  โรคคาวาซากิ พบในเด็กทั่วโลก แต่พบมากในเด็กเอเชีย และที่ควรทราบ คือ 20-25% ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหัวใจ (Coronary arteries) คือมีการโป่งพองของหลอดเลือด (Aneurysm), ทั้งนี้โรคคาวาซากิทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจในเด็กของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นอันดับต้นๆ

โรคคาวาซากิ มักพบในเด็กเล็กอายุเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี โดยประมาณ 80% พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, แต่ก็พบในวัยรุ่นได้

อะไรเป็นสาเหตุของโรคคาวาซากิ?

โรคคาวาซากิ-01

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของโรคคาวาซากิ แต่จากการศึกษาทางระบาดวิทยาและลักษณะของโรคสนับสนุนว่า โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดไปตามภูมิภาคและมีอาการไข้ มีผื่นออก ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโตคล้ายกับการติดเชื้อ แต่อาการก็หายได้เองในที่สุด,  อีกทั้งยังไม่ค่อยพบในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งอาจเป็นเพราะแม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผ่านมาให้ลูกคล้ายกับการติดเชื้ออื่นๆที่แม่สร้างภูมิคุ้มกันฯแล้วภูมิคุ้มกันฯส่งผ่านมายังลูก  

อนึ่ง: โรคนี้มักไม่พบในผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่อเป็นเด็กอาจมีการติดเชื้อแล้วมีภูมิคุ้มกันฯ จึงป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้เมื่อโตขึ้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคคาวาซากิ?

ปัจจัยที่พบโรคคาวาซากิบ่อย ได้แก่

  • เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
  • เด็กผู้ชายพบบ่อยกว่าเด็กผู้หญิง
  • เด็กชาวเอเชีย เช่น ชาวญี่ป่น เกาหลี พบบ่อยกว่าเด็กชาติอื่น
  • ในเด็กที่มีพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ พบโรคนี้เป็น 2 เท่าของเด็กปกติ

พยาธิสภาพของโรคคาวาซากิเป็นอย่างไร?

พยาธิสภาพของโรคคาวาซากิ จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลาง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงหัวใจ ซึ่งจะมีผลต่อเนื้อเยื่อในชั้นต่างๆของผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างที่แข็งแรงของหลอดเลือดแดง ทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงโป่งพอง ขณะเดียวกันทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดจากก้อนลิ่มเลือดที่แข็งตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้หลอดเลือดแดงนั้นอุดตันในที่สุด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหัวใจ?

พบว่าผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดความผิดปกติของโรคหลอดเลือดแดงหัวใจในผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ได้แก่

  • เด็กที่อายุน้อย
  • เพศชาย
  • ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) พบเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลสูง
  • เกล็ดเลือดต่ำ
  • เอนไซม์ตับสูง
  • เกลือแร่โซเดียมในเลือดต่ำ
  • สารอัลบูมินในเลือดต่ำ
  • สารซี-รีแอคทีฟโปรตีน (C-reactive protein, โปรตีนชนิดเกี่ยวข้องกับการอักเสบ) สูง
  • เด็กเชื้อชาติเอเชีย หรือผู้ที่อยู่แถวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือเด็กกลุ่มฮิสแพนิก (Hispanic, เชื้อสายสเปน โปรตุเกต)
  • การมีไข้อยู่นานในโรคคาวาซากิ  ก็มักพบร่วมกับความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหัวใจด้วยเช่นกัน

โรคคาวาซากิมีธรรมชาติของโรคเป็นอย่างไร?

หากไม่มีการรักษา โรคคาวาซากิจะมีธรรมชาติ/การดำเนินของโรคเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะไข้เฉียบพลัน (Acute febrile phase): ซึ่งจะมีไข้สูงและมีอาการอื่นๆดังจะกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ร่วมด้วย โรคระยะนี้กินเวลา 1-2 สัปดาห์
  2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute phase): ในระยะนี้จะมีการลอกของผื่น, มีเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis), และในระยะนี้อาจมีการโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัวใจ (Coronary aneurysms) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วยอาจตายได้ในช่วงนี้จากภาวะหลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพอง ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
  3. ระยะพักฟื้น (Convalescent phase): ระยะนี้อาการต่างๆรวมทั้งความผิดปกติของเลือด/ซีบีซี กลับคืนสู่ปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังจากเริ่มอาการของความเจ็บ ป่วยจากโรคนี้

โรคคาวาซากิมีอาการอย่างไร?

  1. ไข้สูง: ไข้ในโรคคาวาซากิจะสูงมากกว่า 101 องศาฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit) หรือ 38.3 องศาเซลเซียส (Celsius) และไข้สูงไม่ลดลงแม้จะให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากไม่ได้รักษา ไข้จะสูง 1-2 สัปดาห์และอาจมีไข้สูงนานถึง 3-4 สัปดาห์
  2. นอกจากอาการไข้ จะมีอาการสำคัญหลักๆอีก 5 อาการ ได้แก่
    1. ตาแดงโดยไม่มีขี้ตาทั้งสองข้าง (Non-exudative bulbar conjunctival injection)
    2. ริมฝีปาก คอและเยื่อบุปาก แดง ลิ้นเป็นตุ่มแดงนูนดูคล้ายผิวสตรอเบอร์รี (Strawberry tongue) และริมฝีปากแตก
    3. มือเท้าบวมแดงในเวลาต่อมา, ในประมาณสัปดาห์ที่2และ3 ปลายมือ-เท้าอาจลอก
    4. มีผื่นลักษณะต่างๆกันขึ้นตามตัวและอาจขึ้นมากบริเวรขาหนีบ
    5. ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ โต คลำได้, ขนาดต่อมน้ำเหลืองมักโตมากกว่า 1.5 ซม.,  ไม่เจ็บ หรือเจ็บแต่น้อย

นอกจากนั้น อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในโรคคาวาซากิ เช่น    

ก. อาการทางหัวใจและหลอดเลือด: เช่น

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว,  มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ,  ของเยื่อหุ้มหัวใจ, และ ลิ้นหัวใจผิดปกติ
  • มีความผิดปกติที่หลอดเลือดแดงหัวใจ
  • มีการโป่งพองของหลอดเลือดแดงขนาดกลางที่ไปเลี้ยงส่วนอื่นๆของร่างกาย
  • มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย(แขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า)ทำให้ปลายนิ้วขาดเลือดไปเลี้ยง

ข. อาการทางระบบทางเดินหายใจ: เช่น

  • น้ำท่วมปอด/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, ปอดอักเสบ/ ปอดบวม

ค. อาการทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น

  • ปวดกระดูก และปวดกล้ามเนื้อ

ง. อาการทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น

  • มีอาการ ท้องเสีย อาเจียน  ปวดท้อง
  • การทำงานของตับผิดปกติ
  • มีน้ำและมีอาการบวมในถุงน้ำดี (Hydrops of gallbladder)

จ. อาการทางระบบประสาท: เช่น

  • มีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย อย่างมาก
  • มี เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ (Aseptic meningitis)
  • สูญเสียการได้ยิน/หูดับ

ฉ. อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น

  • มีการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ

ช. อาการอื่นๆ: เช่น

  • ตัวแดง, ม่านตาอักเสบ, มีผื่นลอกของผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ, มีการ บวม  นูนของบริเวณที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG/วัคซีนป้องกันวัณโรค)

มีโรคอะไรบ้างที่มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิซึ่งต้องแยกจากกัน?

โรคที่มีอาการคล้ายกันและต้องแยกจากโรคคาวาซากิ:  เช่น

  • โรคติดเชื้อไวรัส เช่น อดีโนไวรัส (Adenovirus), เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus), โรคหัด (Measles), เอบสไตน์-บาร์ไวรัส (Epstein-Barr virus)/โรคติดเชื้ออีบีวี, ซึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมักจะมีอาการไข้ ออกผื่น และต่อมน้ำเหลืองโตได้ แต่ในแต่ละโรคก็อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เช่น
    • โรคหัด: จะมีไข้สูงมาก ไอมาก ตาแดงแบบตาแฉะ มีน้ำมูก ประมาณ 3 วันจะมีผื่นขึ้น โดยผื่นจะขึ้นบริเวณไรผม หน้าด้านข้างคอ แล้วค่อยๆไล่ลงมาที่ลำตัวแล้วลงไปที่ขาจนถึงตาตุ่ม ใช้เวลา 2-3 วัน ไข้จะลง ยกเว้นมีอาการแทรกซ้อนไข้จะไม่ลง เมื่อผื่นจะหายไป (ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังผื่นขึ้น) ผิวหนังจะเป็นขุยแล้วหลุดลอกออก แพทย์รุ่นก่อนๆคุ้นเคยกับโรคหัดเพราะพบบ่อย หากได้ยินเสียงผู้ป่วยไอและมีไข้สูง ตาแดง แพทย์จะขอให้เด็กอ้าปากดูข้างกระพุ้งแก้มหากเห็นจุดขาวบนพื้นกระพุ้งแก้มที่แดง (ภาษาในหนังสือจะอธิบายว่าเหมือนไข่มุกบนพื้นกำมะหยี่สีแดง) แพทย์จะวินิจฉัยได้ตั้งแต่ผื่นยังไม่ออกและจะขอให้แยกผู้ป่วยไปไกลจากคนอื่นก่อน เนื่องจากอยู่ในระยะติดต่อ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันจึงพบผู้ป่วยน้อยลงมากและวัคซีนทำให้มีภูมิคุ้มกันบางส่วน โรคก็จะมีอาการน้อยลง วินิจฉัยยากขึ้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever), โรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซีส /Leptospirosis), การติดเชื้อแบคทีเรียที่ต่อมน้ำเหลือง
    • ไข้อีดำอีแดง: เกิดจากพิษ (Erythrogenic toxin) ของเชื้อแบคทีเรีย ชื่อสเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงหรือต่ำก็ได้ มีเจ็บคอ ลิ้นแดง บริเวณใกล้ปลายลิ้นมักเห็นตุ่มนูนแดงทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายผิวสตรอเบอรี  และผิวหนังจะขึ้นผื่นแดง เมื่อลูบจะรู้สึกว่าสาก  ซึ่งมีการอธิบายว่าเหมือนลูบหนังห่าน (Goose skin) ผื่นจะหายประมาณวันที่ 6-7 มีขุยสีน้ำตาล เวลาลอก มีปลายมือ ปลายเท้าลอก
    • โรคฉี่หนู: เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวชนิดเลปโตสไปรา (Spiral-shaped bacteria of the genus Leptospira) ซึ่งพบได้ทั่วโลก แต่พบบ่อยในแถบร้อนชื้น (Tropical area) เชื้อกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในตัวของสัตว์กัดแทะ เช่นหนู และยังพบในวัว ควาย หมู เชื้อจะขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์ดังกล่าว คนจะสัมผัสกับเชื้อนี้โดยการไปย่ำน้ำหรือไปทำนาทำไร่ เมื่อได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด หรือมีอาการมากโดยมี ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดขา ดาแดง และอาจมีผิวหนังขึ้นผื่นได้
  • โรคระบบรูมาโตโลยี (Rheumatologic disease): เช่น Systemic-onset juvenile idiopathic arthritis ซึ่งจะมีอาการปวดข้อร่วมกับอาการอักเสบไม่ติดเชื้อในอวัยวะระบบต่างๆของร่างกายด้วย
  • โรคอื่นๆ: เช่น
    • ภาวะช็อกจากพิษ (Toxic shock syndrome) ซึ่งมักเกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ สแตฟฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) แล้วมีอาการที่ผิวหนังเหมือนถูกน้ำร้อนลวก (Staphylococcal scalded skin syndrome-4S)
    • ปฏิกิริยาจากการแพ้ยา (Drug hypersensitivity reactions)
    • กลุ่มอาการสตีเวน จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อเด็กมีไข้สูง ร่วมกับอาการอื่นๆดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’ เช่น ตาแดง มีผื่น ริมฝี ปากแดง มือ เท้า บวม ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรกๆของอาการ อย่านิ่งนอนใจให้แต่ยาลดไข้และอยู่บ้าน เนื่องจากไข้สูงในเด็กเป็นอาการของโรคหลายโรคที่ต้องหาสาเหตุ เพื่อการรักษาสาเหตุอย่างถูกต้องทันการ

สำหรับโรคคาวาซากิ จะมีปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนเรื่องหลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพองได้บ่อย การรักษาที่ถูกต้องทันเวลา จะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ตามมาในภายหลังได้เป็นอย่างมาก

แพทย์วินิจฉัยโรคคาวาซากิอย่างไร?

ในโรคคาวาซากิชนิดที่ธรรมชาติของโรคตรงไปตรงมา (Classic Kawasaki disease) แพทย์จะวินิจฉัยโรคได้จาก อาการ คือ

  • มีไข้สูงอย่างน้อย 4 วัน ร่วมกับมีอาการอื่นๆอีก 4 ใน 5 อาการที่สำคัญดังได้กล่าวไปแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’

ในผู้ป่วยบางคนโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถ้ามีไข้ในระยะสั้นกว่า 4 วัน แต่อาการอื่นๆเข้าได้กับโรคนี้ชัดเจน แพทย์จะรีบให้การวินิจฉัยและรีบรักษาทันทีเพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดแดงหัวใจ ซึ่งจะมีโอกาสเกิดสูงในเด็กเหล่านั้น

อาการต่างๆนอกเหนือจากข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยโรคคาวาซากิ มักเกิดภายใน 10 วันหลังการเริ่มมีอาการผิดปกติ โดย

  • อาการทางระบบทางเดินอาหารพบได้ประมาณ 65%
  • ขณะที่อาการทางระบบทางเดินหายใจพบได้ประมาณ 30% ของผู้ป่วย
  • อาการข้ออักเสบมักจะเกิดในสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 เกิดได้กับทั้งกับข้อเล็กๆ และข้อใหญ่ๆ ส่วนการปวดข้อที่ไม่มีอาการบวม แดง ร้อน (Arthralgias) อาจเกิดอยู่นานหลายสัปดาห์

อาการทางหัวใจพบมากที่สุดในโรคคาวาซากิ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดมากกับผู้ป่วยในระยะที่มีไข้เฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีหัวใจเต้นเร็วโดยไม่ได้สัดส่วนกับไข้ (โดยปกติไข้สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น 10-20 ครั้ง) ในโรคนี้พบว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าอัตราส่วนนั้น ร่วมกับมีการทำงานของหัวใจห้องล่างข้างซ้ายผิดปกติ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง จึงทำให้ผู้ป่วยบางคนมีภาวะช็อก และในระยะไข้เฉียบพลันอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และ/หรือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจได้

หนึ่งในสี่ของผู้ป่วย จะมีลิ้นหัวใจไมทรัล (Mitral valve,ลิ้นกั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย) ปิดไม่สนิท (Mitral regurgitation) เล็กน้อย แต่จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ยก เว้นในรายที่มีการโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัวใจหรือกรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาการมักจะไม่ดีขึ้น

ประมาณ 25% ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับรักษา จะเกิดภาวะโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัว ใจ ซึ่งมักเกิดในประมาณสัปดาห์ที่ 2 หรือสัปดาห์ที่ 3 ของการเจ็บป่วย แพทย์จะทราบได้จากการตรวจเอคโคหัวใจ   ในผู้ป่วยที่มีการโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัวใจขนาดใหญ่มากกว่า 8 มิลลิเมตร (ขนาดของเส้นผ่าศูนย์ กลางด้านในของหลอดเลือด) จะมีความเสี่ยงสูงต่อการแตก หรือต่อการมีลิ่มเลือดอุดกั้น หรือต่อการตีบของหลอดเลือดแดงนั้นๆ และต่อการมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

หลอดเลือดแดงที่ รักแร้ ข้อพับเข่า หรือหลอดเลือดที่เลี้ยงช่วงล่างของลำตัว อาจมีการโป่งพองด้วย โดยแสดงให้เห็นเป็นก้อนเฉพาะที่ และมองเห็นการเต้นของก้อนไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจ

นอกจากนี้ คือ การตรวจวินิจฉัยจากการตรวจอื่นๆ และเนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะสำหรับโรคนี้ แต่จะมีผลตรวจบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงทำให้แพทย์นึกถึงโรคนี้ แพทย์จึงตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจเลือดดูลักษณะของการอักเสบ เช่น ตรวจซีบีซีดูจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น และดูภาวะโลหิตจาง, ตรวจเลือดดูสารซี-รีแอคทีฟโปรตีนสูงขึ้น, มีไข่ขาว (Albumin) ในเลือดต่ำหรือไม่,  และมีเกลือแร่/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจเลือดซีบีซีดูจำนวนเกล็ดเลือด พบว่าจะมีเกล็ดเลือดสูงขึ้น บางคนสูงมากเป็นล้านต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร (ค่าปกติไม่เกิน 400,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) ซึ่งการมีเกล็ดเลือดสูงมากจะเกี่ยวข้องกับการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหัวใจ เกล็ดเลือดสูงมักพบหลังมีอาการประมาณหนึ่งสัปดาห์ไปแล้ว แต่ผู้ป่วยเด็กเล็กบางรายมีเกล็ดเลือดต่ำ และมีภาวะลิ่มเลือดกระจายไปทั่วในหลอดเลือด (ดีไอซี/DIC: Disseminated intravascular coagulation)
  • ตรวจการทำงานของตับ จะมีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ
  • ตรวจหาความผิดปกติในระบบอื่นๆที่แพทย์สงสัยมีความผิดปกติ เช่น
    • การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง (ซีเอสเอฟ/CSF) ทางห้องปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์ว่ามีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
    • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่
  • ตรวจหัวใจโดยทำเอคโคหัวใจ เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและดูหลอดเลือดหัวใจดังได้กล่าวแล้ว

การตรวจเอคโคหัวใจจะทำเมื่อใด?

เนื่องจากการโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัวใจพบได้บ่อย และเป็นพยาธิสภาพที่สำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากแก่ผู้ป่วย แพทย์จะทำการตรวจสอบด้วยเอคโคหัวใจเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่จะตรวจเมื่อเริ่มวินิจฉัย เพื่อตรวจดูขนาดของหลอดเลือดแดงหัวใจไว้เป็นพื้น ฐานสำหรับการเปรียบเทียบขนาดของหลอดเลือดแดงหัวใจว่า จะมีการโป่งพองหรือไม่ ซึ่งอาจทำซ้ำเมื่อมีอาการได้ 2-3 สัปดาห์ และเมื่อ 6-8 สัปดาห์

แพทย์จะทำเอคโคหัวใจเพื่อติดตามอาการต่อไปนานเท่าใด ขึ้นกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป แต่ปกติอาจทำหลังจากผู้ป่วยหายเป็นปกติแล้วอีก 1 ปี บางคนอาจต้องติดตามต่อไปทุก 5 ปี ทั้งนี้โดยแพทย์ระบบโรคหัวใจ

แพทย์ทำอย่างไรเมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคาวาซากิ?

เนื่องจากโรคคาวาซากิ จะมีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆได้หลายโรค แต่แพทย์ก็จะมีแนว ทางในการวินิจฉัยตั้งแต่ การซักถามประวัติอาการ, การตรวจร่างกาย, และตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง, โดยจะมีแนวทางการปฏิบัติเรียกว่า Algorithm หมายถึง แพทย์จะดำเนินตามแนวทางซึ่งได้มีการศึกษาและชี้แนะว่า หากอาการเป็นอย่างไร ควรจะตรวจอะไรต่อ หากมีหรือไม่มีอาการอะไรจะตรวจขั้นตอนไหนต่อไป เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว มีผู้ศึกษาจนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคนี้ได้

แพทย์รักษาโรคคาวาซากิอย่างไร?

ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าในการรักษาโรคคาวาซากิมาก ในผู้ที่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสม (ภายใน 10 วันหลังจากเริ่มอาการ) จะลดอาการที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดงหัวใจจากประมาณ 20-25 % ของผู้ป่วยลงเหลือเพียงประมาณ 2-4%

ยาหลักที่ใช้และยอมรับโดยทั่วไป คือ ยาอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำ, และยาแอสไพริน, ส่วนยาอื่นๆ ก็จะดูตามความเหมาะสม คือตามอาการของผู้ป่วย

เมื่อแพทย์ให้เด็กกลับบ้านได้แล้ว และในระยะยาวควรดูแลเด็กอย่างไร?

แพทย์จะนัดติดตามเพื่อตรวจดูว่าเด็กมีปัญหาหลอดเลือดแดงหัวใจผิดปกติหรือไม่ จึงควรนำเด็กพบแพทย์ตามนัดเสมอ

ส่วนการเลี้ยงดูเด็ก ให้เลี้ยงดูเหมือนเด็กปกติ เพื่อที่เด็กจะเติบโตเช่นเด็กปกติ มีความเป็นตัวของตัวเอง และช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนเด็กปกติ

ป้องกันโรคคาวาซากิได้ไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคคาวาซากิ จึงยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่เป็นโรคที่รักษาได้ การรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว จะป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งที่สำคัญ คือ หลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพองได้มาก, ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ให้เข้าใจธรรมชาติของโรคเพื่อการร่วมมือกันในการรักษาผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. Son MBF, Newburger JW. Chapter 160: Kawasaki Disease. In: Kliegman RM, Stanton BF, Schor NF, St. Geme JW, Behrman RE. Nelson Textbook of Pediatrics, 19th, Philadelphia, PA.Elsevier Saunders, 2011. p.1601-13
  2. Newburger JW, Takahashi M, Gerber MA, et al. Diagnosis, theatment and long-term management of Kawasaki disease. Pediatrics 2004; 114:1708-33.
  3. Claudius I, Baraff LJ. Pediatric Emergencies Associated with Fever. Emerg Med Clin N Am. 2010; 28:67-84.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Kawasaki_disease  [2022,Aug13]