ยาปลูกผม (Medication for hair loss)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาปลูกผม

ยาปลูกผมหมายความอย่างไร?

ยาปลูกผม หรือ ยาแก้ผมร่วง หรือยารักษาผมร่วง (Medication for hair loss) คือ ยาที่ใช้รักษาภาวะผมร่วง ยากลุ่มนี้จะช่วยให้จำนวนของเส้นผมเพิ่มขึ้น ผมหนาขึ้น คุณภาพผมดีขึ้น หลุดร่วงช้าลง และนอกจากยาจะช่วยให้มีเส้นผมปกคลุมบริเวณหนังศีรษะแล้ว ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความพึงพอใจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อีกด้วย

แบ่งยาปลูกผมเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาปลูกผม แบ่งได้เป็นกลุ่ม/ประเภท ดังนี้

ก. ยากระตุ้นการเจริญของเส้นผม (Hair growth promoters): เช่นยา ไมนอกซิดิล (Minoxidil)

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens): เช่นยา ฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride), ดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride)

ค. ยาพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin analogues): เช่นยา ไบมาโตพรอส (Bimatoprost), ลาทาโนพรอส (Latanoprost)

ง. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids): แบ่งตามรูปแบบของยาได้ดังนี้

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดฉีดเข้าบริเวณรอยโรค (Intralesional corticosteroids): เช่นยา ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone), ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดใช้ทาภายนอก (Topical corticosteroids): เช่นยา เดสออกซิเมทาโซน (Desoximetasone), เบต้าเมาธาโซน (Betamethasone), โคลเบตาซอล (Clobetasol)
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic corticosteroids) ซึ่งอยู่ในรูปแบบยาใช้รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: เช่นยา เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone)

จ. ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Topical immunotherapy): เช่นยา ไดฟีนิลไซโคลโพรพิโนน (Diphenylcyclopropenone, DPCP)

ยาปลูกผมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาปลูกผม เช่น

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาโลชั่น (Lotion)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาโฟม (Foam)
  • ยาเจล (Gel)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาปลูกผมอย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยาปลูกผม เช่น

  • ยา Minoxidil, ยากลุ่ม Antiandrogens, และยากลุ่ม Prostaglandins: ใช้รักษาภาวะผมร่วงจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia, AGA)
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ และ Diphenylcyclopropenone: ใช้รักษาภาวะผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata)

มีข้อห้ามใช้ยาปลูกผมอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาปลูกผม เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยา Minoxidil รูปแบบยาทาบนหนังศีรษะ ในผู้ที่มีความผิดปกติของ ผิวบริเวณหนังศีรษะ เช่น ผิวไหม้จากแสงแดด, โรคสะเก็ดเงิน, มีบาดแผล, เพิ่งโกนผม, และห้ามใช้ทาผิวหนังบริเวณอื่นๆนอกเหนือจากหนังศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาปลูกผมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาปลูกผม เช่น

  • ควรระวังการใช้ยา Minoxidil รูปแบบยาเม็ดรับประทาน ในผู้ป่วยที่มีภาวะ หัวใจล้มเหลว, หัวใจขาดเลือด, โรคไต และเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • ยา Minoxidil ในรูปแบบยาทาเฉพาะที่เป็นยาที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ถ้ายาเข้าตาหรือบาดแผล อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง ดังนั้นให้ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
  • ยา Diphenylcyclopropenone เป็นยาที่ใช้ทาบริเวณหนังศีรษะ ควรทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมงแล้วค่อยล้างออก หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดขณะที่ทายา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • ยา Diphenylcyclopropenone เป็นยาที่ระคายเคืองผิวหนัง หากยาถูกผิวหนังบริเวณอื่นๆ หรือรอบดวงตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก

การใช้ยาปลูกผมในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาปลูกผมในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ ให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Antiandrogens ในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์หรือในผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ เพราะยานี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์
  • ห้ามให้หญิงมีครรภ์หรือในผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์สัมผัสเม็ดยากลุ่ม Antiandrogens ทั้งรูปแบบแคปซูลหรือยาเม็ด เพราะยามีโอกาสแตกหรือหัก ผงยาจะยาถูกดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาปลูกผมในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาปลูกผมในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยสูงอายุสามารถใช้ยาปลูกผมได้เช่นเดียวกันกับวัยอื่นๆ แต่ต้องแจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาที่ใช้เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ตัวอย่างเช่นยา Minoxidil รูปแบบยาเม็ดรับประทานสามารถออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ด้วย ดังนั้นการใช้ยานี้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่น อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะบวมน้ำในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้

การใช้ยาปลูกผมในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาปลูกผมในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • การใช้ยาปลูกผมในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก สามารถใช้ยากลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกที่มีความแรงปานกลางได้ ตัวอย่างเช่นยา Betamethasone ในรูปแบบโฟมหรือโลชั่น

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปลูกผมอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปลูกผม เช่น

  • ยา Minoxidil ในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ทำให้ความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นเร็ว, บวมน้ำ, ภาวะเส้นขนยาว (Hypertrichosis) ซึ่งพบบริเวณหน้าผาก ขมับ ขนตา ไรผม, เป็นต้น
  • ยา Minoxidil ในรูปแบบยาทาเฉพาะที่ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวที่สัมผัสยา, ผิวแห้ง แดง คันบริเวณที่ใช้ยา, ปวดศีรษะ, ลักษณะของเส้นผมหรือสีผมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
  • ยากลุ่ม Antiandrogens ทำให้มีความต้องการทางเพศลดลง, ปริมาณน้ำอสุจิลดลง, อวัยวะเพศไม่แข็งตัว, เต้านมโตขึ้น, เจ็บเต้านม, มีภาวะซึมเศร้า, วิตกกังวล
  • ยากลุ่ม Prostaglandin analogues เป็นยาที่ผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี พบอาการไม่พึงประสงค์จากยาน้อย เช่น ผื่นแดงและคัน
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
    • รูปแบบ Intralesional corticosteroids ทำให้ผิวหนังยุบตัวลงในบริเวณที่ฉีดยา, ผิวบาง, ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายตัว, อาการไม่พึงประสงค์ฯเหล่านี้อาจลดลงได้โดยการลดปริมาตรของยา, ลดจำนวนครั้งที่ฉีด, และหลีกเลี่ยงการฉีดบริเวณผิวหนังที่ตื้นเกินไป
    • รูปแบบ Topical corticosteroids อาการที่พบได้บ่อย คือ รูขุมขนอักเสบ, อาการที่พบได้น้อย คือ ผิวบางบริเวณที่ใช้, ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายตัว
    • รูปแบบ Systemic corticosteroids ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง(เบาหวาน), กระดูกพรุน, ต้อกระจก, ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่าย, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, เป็นสิว, และกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing syndrome)
  • ยา Diphenylcyclopropenone ทำให้เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง, ตุ่มน้ำใส, รูขุมขนอักเสบ, หนังศีรษะแห้ง, ผิวมีสีอ่อนลงหรือสีเข้มขึ้น, ต่อมน้ำเหลืองโต, มีไข้

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาปลูกผม) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. เศารยะ เลื่องอรุณ, “การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อวัน ระยะเวลา 24 สัปดาห์ ในการรักษาภาวะผมบางจากพันธุกรรมในเพศชาย,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2556).
  2. Abdullah Alkhalifah et al., “Alopacia areata update,” J Am Dermatol 62 (February 2010): 191-202.
  3. Galván, V.S. and Camacho, F., “New Treatments for Hair Loss,” Actas Dermo-Sifiliográficas 108 (April 2017): 212-218.
  4. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Hair loss. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/diagnosis-treatment/drc-20372932 [2019,Aug3]