โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คนเรามีไต 2 ข้าง อยู่บริเวณด้านหลังของช่องท้องระดับเอว ไตประกอบด้วยหน่วยกรองที่ทำหน้าที่กรองของเสียในเลือดทิ้งไปทางปัสสาวะข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย ปัสสาวะที่ออกจากไตจะไหลต่อไปยังท่อไต 2 ข้างและถูกเก็บรวบรวมไว้ในกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อเรารู้สึกปวดปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวให้ปัสสาวะออกจากร่างกายโดยผ่านทางท่อปัสสาวะ

หน้าที่หลักของไตคือ การกำจัดของเสียซึ่งเกิดจากการเผาผลาญอาหารและการสลายของสารต่างๆในร่างกาย โดยในแต่ละวัน ไตจะทำหน้าที่กรองของเสียและขับน้ำส่วนเกินออกจากเลือดที่ผ่านหน่วยกรองเพื่อขับทิ้งไปทางปัสสาวะ และดูดกลับสารที่ร่างกายต้องการใช้ประ โยชน์กลับเข้าสู่กระแสเลือด ไตช่วยรักษาระดับของเกลือแร่และกรด - ด่างในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ไตยังสร้างสารและฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกาย ได้แก่

1. อิริโธรโพอิติน (Erythropoietin) เป็นสารที่กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง การ ขาดสารนี้ทำให้เกิดภาวะซีด

2. เรนนิน (Renin) เป็นสารที่ควบคุมปริมาตรน้ำในร่างกายและมีผลต่อระดับความดันโล หิต (ความดันเลือด)

3. วิตามินดี ในรูปที่พร้อมออกฤทธิ์ ซึ่งช่วยการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟตจากอา หารในลำไส้ ทำให้กระดูกแข็งแรง

*อนึ่ง: ในการประเมินการทำงานของไต สามารถประเมินจาก

  • ค่าอัตราการกรองของไต (Glomerular filtration rate; ซึ่งนิยมเรียกย่อว่า GFR/จีเอฟอาร์) ซึ่งค่าปกติอยู่ในช่วง 90 -120 มิลลิลิตร (มล.) ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตารางเมตร (ตร.ม.)
  • และจากปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ โดยเมื่อไตถูกทำลายจะทำให้พบปริมาณโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มขึ้น

โรคไตเรื้อรังคืออะไร?

โรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีการทำลายไตนานกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งทราบได้จาก

  • การตรวจเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ)
  • การเอกซเรย์ และ/หรือ
  • ตรวจพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อไต(การตรวจทางพยาธิวิทยา)

ทั้งนี้ โรคไตเรื้อรังถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพราะจากการศึกษาพบว่า 4.6 - 17.5% ของประชาชนไทยมีโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ทำให้เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดตามมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยตายได้

โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็นกี่ระยะ?

โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะตามระดับความรุนแรงดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1: พบมีการทำลายไตเกิดขึ้น โดยพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ และ/หรือพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อไต โดยที่อัตราการกรองของไตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติกล่าวคือ มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 2: พบมีการทำลายไตร่วมกับเริ่มมีการลดลงของอัตราการกรองของไตเล็กน้อยคืออยู่ในช่วง 60 - 89 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 3: มีการลดลงของอัตราการกรองของไตปานกลางคืออยู่ในช่วง 30 - 59 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 4: มีการลดลงของอัตราการกรองของไตรุนแรงคืออยู่ในช่วง 15 - 29 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 5: มีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 15 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.)

โรคไตเรื้อรังมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่

  • เบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • กรวยไตอักเสบเรื้อรัง
  • นิ่วระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต
  • โรคถุงน้ำหลายถุงในไต
  • โรคหัวใจ
  • โรคเกาต์
  • และการได้รับสารหรือยาที่ทำลายไต เช่น
    • ยาแก้ปวดบางชนิด
    • และยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น

มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังหรือไม่?

คุณเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง ถ้าคุณมีโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังดังกล่าว โดย เฉพาะโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ , ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง, ผู้ที่เคยเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน, และผู้ที่มีญาติในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง, พบมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ควรรับ การตรวจเลือด และการตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโรคไตเรื้อรัง ตั้งแต่เมื่อทราบว่าเป็นโรคเหล่านั้น

โรคไตเรื้อรังมีอาการอย่างไร?

โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ ทำให้ไตผิดปกติทั้งสองข้าง

  • ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ
  • เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นอาจมีอาการต่างๆเนื่องจากไตทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการคั่งของเกลือแร่ น้ำส่วนเกิน และของเสียในเลือด อาการต่างๆ เช่น
    • ปริมาณปัสสาวะลดลง
    • ความดันโลหิตสูงขึ้น
    • ซีด
    • เหนื่อยง่ายขึ้น
    • เบื่ออาหาร
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • นอนไม่หลับ
    • คันตามตัวโดยไม่มีผื่นขึ้น
    • มีอาการบวมที่ ใบหน้า ขา และลำตัว
    • การรู้สึกตัวลดลง
    • หรืออาจมีอาการชัก เป็นต้น

มีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง?

สัญญาณที่สำคัญ 6 ประการ ซึ่งบ่งบอกว่าอาจเป็นโรคไตเรื้อรัง ได้แก่

1. ความดันโลหิตสูง

2. การตรวจพบ เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ และ/หรือ โปรตีนในปัสสาวะ

3. ระดับของเสียในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันนิยมตรวจวัดสารบียูเอ็น (BUN; blood urea nitrogen) และสารครีอะตินีน (Creatinine) ซึ่งเมื่ออัตราการกรองของไตลดลง จะทำให้ระดับสารทั้งสองในเลือดสูงขึ้นกว่าค่าปกติ

4. อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 60 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

5. ปัสสาวะผิดปกติ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะตอนกลางคืน ปริมาณปัสสาวะลดลง ปัสสาวะลำบาก หรือปวดเวลาปัสสาวะ

6. มีอาการบวม อาจบวมบริเวณหนังตา ลำตัว หลังมือ หลังเท้า และขา

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง?

การตรวจพบและให้การรักษาโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะแรกๆทำให้สามารถชะลอการเสื่อมของไตเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

การที่จะทราบว่ามีโรคไตเรื้อรังหรือไม่ และอยู่ในระยะใด สามารถทำได้โดย

  • การตรวจวัดความดันโลหิต
  • การตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ และการมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
  • และการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับสาร ครีอะตินีน ซึ่งปกติจะถูกไตกำจัดออกไปทางปัสสาวะและถูกนำมาใช้ในการคำนวณอัตราการกรองของไต
  • ในผู้ป่วยบางรายจะได้รับ
    • การทำเอกซเรย์ ของระบบทางเดินปัสสาวะ
    • และตรวจชิ้นเนื้อไตเพิ่มเติม (การตรวจทางพยาธิวิทยา)

ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอย่างไร?

จุดประสงค์ของการดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังคือ เพื่อชะลอการเสื่อมของไต และป้องกันภาวะแทรกซ้อน (ทั้งนี้เพราะเมื่อไตเสียไปแล้วจะเสียเลยไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้) ซึ่งประ กอบด้วยหลักการต่างๆ ดังนี้

  • การรักษาเฉพาะเจาะจงตามชนิดของโรคไตเรื้อรัง เช่น คุมระดับน้ำตาลในเลือดในกรณีเป็นเบาหวาน กำจัดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต เป็นต้น
  • ประเมินและรักษาโรคหรือภาวะอย่างอื่นที่พบร่วมด้วย
  • ชะลอการเสื่อมของไต
  • ป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคหัวใจ2)
  • ป้องกันและรักษาผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำงานของไตลดลง
  • เตรียมผู้ป่วยสำหรับกรณีไตวายเรื้อรังรวมถึงเตรียมการรักษาทดแทนไต
  • ให้การบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้องหรือการปลูกถ่ายไตเมื่อมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังจะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้โดย

  • ในรายที่มีระดับความดันโลหิตสูง ควรลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท โดยการรับประทานอาหารรสจืด ไม่เค็ม ออกกำลังกาย และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ โดยเฉพาะในรายที่ยังไม่มีหรือเริ่มมีโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ จึงจะสามารถป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตได้
  • ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย เช่น รักษาการอักเสบที่ไต กำจัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รักษาโรคเก๊าต์ หยุดยาที่ทำลายไต เป็นต้น
  • ควรหยุดสูบบุหรี่เพราะบุหรี่ทำลายไตและเพิ่มระดับความดันโลหิต
  • ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้ที่การทำงานของไตลดลงมาก จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับ ประทานอาหารที่มีปริมาณโปรตีนต่ำกว่าปกติ เพราะการเผาผลาญโปรตีนจะทำให้ได้ของเสียเพิ่มขึ้นในร่างกายซึ่งไตจะต้องกำจัดออก ดังนั้นการกินโปรตีนสูงจึงเพิ่มภาระงานให้ไต
  • นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อประเมินการทำงานของไต และรักษาผลแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไตเรื้อรัง

รักษาผลแทรกซ้อนหรือโรคที่เกิดร่วมกับโรคไตเรื้อรังได้อย่างไร?

เมื่อไตทำงานลดลงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่หลายชนิดในเลือด อาทิ ระดับโปแตสเซียมและฟอสเฟตในเลือดสูงขึ้น ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง และมีภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาและแนะนำให้ผู้ป่วยปรับการรับประทานอาหารตามผลของระดับเกลือแร่ในเลือด เช่น ลดอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม มะเขือเทศ ฟักทอง ปลาทูน่า และโยเกิร์ต และลดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง เช่น นม ถั่วเมล็ดแห้ง และไข่แดง เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายมีภาวะไขมันในเลือดสูงซึ่งควรควบคุมอาหารไขมัน ออกกำลังกาย และแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาลดไขมัน การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงช่วยป้องกันการเกิดหลอดเลือดตีบตันโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

เมื่อไตทำงานลดลงทำให้ขาดสารอิริโธรโพอิติน ไขกระดูกจึงสร้างเม็ดเลือดแดงลดลงและเกิดภาวะซีดขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย แพทย์จะให้การรักษาด้วยการฉีดสารอิริโธรโพอิตินที่สังเคราะห์ขึ้นทดแทน

โรคไตเรื้อรังทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เนื่องจากขาดวิตามินดีในรูปที่พร้อมทำงาน และมีอัตราการสลายกระดูกมากกว่าอัตราการสร้างกระดูก แพทย์จะแนะนำอาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง และให้ยาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

เราจะเป็นอย่างไรเมื่อโรคไตเรื้อรังรุนแรงมากขึ้น?

แม้จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบางรายอาจมีการดำเนินของโรคแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป จนในที่สุดเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทำให้มีน้ำและของเสียคั่งในร่าง กาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการบวม หอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ในรายที่เป็นมากอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สับสน ซึมลง และชักได้ เมื่อถึงระยะนี้ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและอายุผู้ป่วยยืนยาวขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคไต/โรคไตเรื้อรัง การดูแลตนเองคือ

  • การปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง เคร่งครัด
  • รักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
  • และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัดเสมอ
  • โดยควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคไตเรื้อรังได้อย่างไร?

การป้องกันโรคไตเรื้อรัง คือ

  • การหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ลดโอกาสเกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • นอกจากนั้นคือ การตรวจสุขภาพประจำปีรวมทั้งตรวจการทำงานของไต เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคไตตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะดังได้กล่าวแล้วว่าโดยทั่วไปในระยะแรกของโรคไตผู้ ป่วยมักยังไม่มีอาการ

บรรณานุกรม

1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย.แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2552. กรุงเทพ, 2552,1- 46.

2. Chittinandana A, Chailimpamontree W, Chaloeiphap P. Prevalence of chronic kidney disease in Thai adult population. J Med Assoc Thai 2006 ;89 Suppl 2:S112-20.

3. Domrongkitchaiporn S, Sritara P, Kitiyakara C, Stitchantrakul W, Krittaphol V, Lolekha P, Cheepudomwit S, Yipintsoi T.. Risk factors for development of decreased kidney function in a southeast Asian population: a 12-year cohort study. J Am Soc Nephrol 2005;16:791-9.

4. Ingsathit A, Thakkinstian A, Chaiprasert A, Sangthawan P, Gojaseni P, Kiattisunthorn K, Ongaiyooth L, Vanavanan S, Sirivongs D, Thirakhupt P, Mittal B, Singh AK; Thai-SEEK Group. Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrol Dial Transplant 2010;25:1567-75.

5. K/DOQI clinical practice guidelines for chronic kidney disease: evaluation, classification, and stratification. Am J Kidney Dis 2002; 39:S1.

6. Ong-Ajyooth L, Vareesangthip K, Khonputsa P, Aekplakorn W. Prevalence of chronic kidney disease in Thai adults: a national health survey. BMC Nephrol 2009;10:35.

7. Perkovic V, Cass A, Patel AA, Suriyawongpaisal P, Barzi F, Chadban S, Macmahon S, Neal B; InterASIA Collaborative Group. High prevalence of chronic kidney disease in Thailand. Kidney Int 2008 ;73:473-9.

8. Schieppati, A, Pisoni, R, Remuzzi, G. Pathophysiology and management of chronic kidney disease. In: Primer on Kidney Diseases, Greenberg, A (Ed), Elsevier Saunders, Philadelphia, 2005, p. 444.