งูสวัด (Herpes zoster)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคงูสวัดคือโรคอะไร? เกิดได้อย่างไร?

โรคงูสวัด(Herpes zoster หรือ Shingles หรือบางคนเรียกสั้นๆว่า Zoster) คือ โรคผื่น/ตุ่มน้ำใส ที่มักเกิดรวมเป็นกระจุกตามแนวยาวของเส้นประสาท เจ็บมาก ที่เกิดตามผิวหนังตำแหน่งใดก็ได้ทั่วตัว แต่มักเกิดที่ลำตัว บริเวณเอว และที่สะโพก/แก้มก้น โดยเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุโรคอีสุกอีใส ได้แก่ ‘วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือ เรียกย่อว่า VZV/วีซีวี ไวรัส)’

ทั้งนี้ เมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้ว จะยังคงมีเชื้อไวรัสนี้หลงเหลือซุกซ่อนอยู่ในปมประสาทต่างๆ โดยเฉพาะของลำตัว รอเวลาที่ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง เช่น ผู้สูงอายุ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือ กินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เชื้อไวรัสที่หลบอยู่นี้จึงเจริญเติบโตและก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้

โรคงูสวัด เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ มักพบในคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)มาก่อน และหลังจากโรคอีสุกอีใสหายแล้วนานเป็น เดือน ปี หลายปี หรือเป็น 10 ปี จึงเกิดโรคงูสวัดตามมาเมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลง เช่น เมื่อสูงอายุ มีความเครียด หรือเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง

สถิติโรคงูสวัดใกล้เคียงกันทั่วโลก มีรายงานพบในคนปกติทั่วไป 1.2-3.4 รายใน1,000 แสนคนในแต่ละปี และพบในผู้อายุมากกว่า 65ปี 3.9-11.8 รายใน1,000คนต่อปี

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด?

งูสวัด

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ จากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และมักมีโรคประจำตัว
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคออโตอิมมูน
  • ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคออโตอิมมูน โรคปอด(เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) โรคมะเร็ง
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหืด
  • ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ได้รับยาเคมีบำบัด เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง
  • แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่า โรคนี้เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ทั้งกับชนิดถ่ายทอดได้ หรือกับ ชนิดไม่ถ่ายทอด

โรคงูสวัดมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคงูสวัด ได้แก่

  • มีอาการคล้ายไข้หวัด/ โรคหวัด นำก่อน ประมาณ 2-3 วัน เช่น
    • มีไข้(มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) หรือ ไม่มีไข้
    • อาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ตากลัวแสง และ
    • มักเจ็บในบริเวณติดเชื้อมาก(ยังไม่มีผื่นขึ้น) หลังจากนั้น 2-3วัน จึงขึ้นผื่น
  • ผื่นจะมีลักษณะ เป็นผื่นแดง คัน เป็นทางยาว และไม่กว้างมากนัก มักเป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาทของร่างกาย โดยมักเริ่มในแนวใกล้ๆกลางลำตัวตามแนวปมประสาท เช่น ตามประสาทของ ลำตัว แขน ขา ตา และหู และมักเกิดเพียงด้านเดียว โดยทั่วไปมักพบที่ลำตัวบ่อยที่สุด
  • ผู้ป่วยจะมีอาการ คันในบริเวณขึ้นผื่น เจ็บปวดมาก อาจร่วมกับปวดแสบปวดร้อน บางคนร่วมกับอาการชาในบริเวณนั้นๆ
  • อาการปวดมักนำมาก่อนเกิดผื่นแดง และเมื่อเกิดผื่นแล้ว อาการปวดก็ยังคงอยู่ และบ่อยครั้ง เมื่อโรค และผื่นหายแล้ว ก็ยังปวดได้ต่อเนื่อง อาจเป็นปีๆ แต่อาจปวดมาก หรือ น้อยไม่เท่ากันในทุกราย ซึ่งอาการปวดในบางราย(ทั้งระหว่างเกิดโรค หรือ ภายหลังโรคหายแล้ว) อาจปวดมากจนต้องรักษาอาการปวดด้วย ยาแก้ปวดในกลุ่มยาเสพติด หรือ ใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือ ฉีดยาชาเข้าเส้นประสาท

ทั้งนี้มีการศึกษา พบอาการปวดเส้นประสาทตามตำแหน่งรอยโรคหลังโรคนี้หาย

  • หลังเกิดผื่นได้ประมาณ 1-2 วัน ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพอง/ตุ่มน้ำใส ตุ่มพองมักเกิดใหม่ตลอดระยะเวลา 2-3 วัน โดยมีน้ำใสๆในตุ่ม แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นตุ่มสีเหลือง อาจเป็นน้ำเลือด ในที่สุด จะตกสะเก็ดเป็นสีดำ และสะเก็ดค่อยๆหลุดจางหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ อาจหายโดยไม่มีแผลเป็น หรือ เป็นแผลเป็นเมื่อตุ่มพองเกิดติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
  • อย่างไรก็ตาม มีบางคนแต่พบได้น้อยมาก มีอาการทุกอย่างดังกล่าว ยกเว้นไม่มีผื่นขึ้น(โรคงูสวัดชนิดไม่มีผื่น/Zoster without herpes) ซึ่งเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก

โรคงูสวัดติดต่อได้ไหม?

โรคงูสวัด เป็นโรคติดต่อได้จากการสัมผัส ผื่น หรือ ตุ่มพองของโรค โดยผู้สัมผัส ไม่เกิดเป็นงูสวัด แต่จะเกิดเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือ ไม่เคยฉีด วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือ บางครั้งแม้เคยฉีดวัคซีนนี้มาแล้วก็ตาม(พบได้น้อย)

แพทย์วินิจฉัยโรคงูสวัดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคงูสวัดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเป็นโรคอีสุกอีใส ประวัติการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจลักษณะของผื่น
  • แต่ในคนไม่มีผื่น เมื่อแพทย์สงสัย จะใช้การเจาะเลือดตรวจสารภูมิต้านทาน/ แอนติบอดี(Antibody)ของโรคนี้

รักษาโรคงูสวัดได้อย่างไร?

การรักษาโรคงูสวัด คือ

  • การใช้ยาต้านไวรัส (เช่นยา Aciclovir) ซึ่งจะได้ผลดี ลดความรุนแรงของอาการ และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นเมื่อได้รับยาภายใน 3 วันหลังเกิดผื่น ที่มีทั้ง ยาทา ยากิน และ ยาฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
  • นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะ
    • ยาแก้ปวด และ
    • ยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน

โรคงูสวัดรุนแรงไหม?

โดยทั่วไป โรคงูสวัด เป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักรักษาหายภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่ค่อยเกิดเป็นซ้ำ(แต่เมื่อเกิดเป็นซ้ำ มักไม่ค่อยเกิน 3 ครั้ง)

  • แต่เมื่อเกิดกับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง(ไม่มีใครรู้ว่านานเท่าไร)
  • เมื่อเกิดที่ตา อาจรุนแรงส่งผลให้กระจกตาอักเสบ และ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจส่งผลถึงการมองเห็นได้
  • เมื่อเกิดกับประสาทหู อาจหูหนวกได้
  • กรณีโรครุนแรงที่มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้ออาจแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต
    • เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) หรือ
    • ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ หรือ
    • ปอดอักเสบ หรือ
    • ตับอักเสบ
  • นอกจากนั้น ภายหลังรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยประมาณ20% ยังอาจมีอาการปวดเรื้อรังได้เป็นปีๆในตำแหน่งเกิดโรค ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’อาการฯ’

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล เมื่อเป็นงูสวัด หรือสงสัยเป็นงูสวัด ได้แก่

  • สวมใส่เสื่อผ้าที่หลวมสบาย
  • ทาน้ำยาคาลามาย(Calamine lotion) บรรเทาอาการคัน อาจร่วมกับกินยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน และยาแก้ปวด(เมื่อซื้อยาเอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา)
  • ประคบบริเวณที่ปวดด้วยความเย็น/การประคบเย็น (ระวังความสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนของผื่น และตุ่มน้ำ)
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ
    • มีอาการปวดมาก หรือ มีผื่นขึ้นมาก
    • ตุ่มพองเป็นหนอง เพราะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้การรักษาโดยแพทย์
    • มีไข้สูง ไข้ไม่ลงหลังกินยาลดไข้ 1-2 วัน
    • เมื่อมีความกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อ
    • มีอาการของสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง สับสน แขน/ขาอ่อนแรง ร่วมกับมีไข้
    • มีอาการผิดปกติกับตา เช่น ปวด เคือง ตาแดง มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • การได้ยินลดลง

ป้องกันโรคงูสวัดอย่างไร? มีวัคซีนไหม?

การป้องกันโรคงูสวัด คือ หลีกเลี่ยงสัมผัสผื่นและตุ่มโรคของผู้ป่วยโรคนี้ รวมถึงโรคอีสุกอีใส โดยเฉพาะเมื่อไม่เคยฉีด วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือ ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส มาก่อน

บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (วัคซีนคนละชนิดกับ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่เป็นวัคซีนที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย)ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในประเทศเรา เมื่อสนใจวัคซีนตัวนี้ ควรปรึกษาแพทย์(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘วัคซีนงูสวัด’)

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Shingles [2019,Feb16]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1132465-overview#showall [2019,Feb16]
  4. https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/herpesviruses/herpes-zoster [2019,Feb16]