คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน โรคมือเท้าปากอาจช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 กรกฎาคม 2559
- Tweet
จากการศึกษาในอดีต เป็นที่ทราบกันดีว่า การติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆในช่วงวัยเด็กเล็ก อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเลือดขาวในเด็กเมื่อโตขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อไวรัสชนิด เอนเทโรไวรัส(Enterovirus) กับการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ทั้งนี้ในเด็กเล็กโดยเฉพาะอนุบาล มักมีการติดเชื้อไวรัสนี้ และเกิดเป็นการระบาดอยู่เนืองๆในโรงเรียนอนุบาลจากโรค มือเท้าปาก และโรคที่คล้ายคลึงกันที่เรียกว่า โรคเฮิร์บแองจินา(Herpangina)ที่มีสาเหตุจากร่างกายเด็กติดเชื้อเอนเทโรไวรัส โดยเป็นการศึกษาจากประเทศไต้หวัน จากคณะแพทย์ที่นำโดย Jiun-Nong Lin ซึ่งศึกษาข้อมูลจาก the National Health Insurance Research Database (NHIRD) และการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์โรคมะเร็ง Lancet Oncology เมื่อ ตุลาคม ค.ศ 2015(พ.ศ. 2558)
การศึกษานี้ ศึกษาจากข้อมูลเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในช่วง 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ถึง 31ธันวาคม ค.ศ. 2007 โดยแบ่งศึกษาผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือ เด็กกลุ่มติดเชื้อ เอนเทโรไวรัส และกลุ่มไม่ติดเชื้อ และคัดเลือกผู้ศึกษาด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อให้ได้เด็กทั้ง 2 กลุ่มที่มีข้อมูลพื้นฐานทางการแพทย์ที่ใกล้เคียงกัน เช่น อายุ เพศ ถิ่นพักอาศัย เศรษฐานะของผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อแยกแยะรายละเอียดที่สอดคล้องกันทั้ง 2 กลุ่มแล้ว เด็กกลุ่มติดเชื้อเอนเทโรไวรัสมีทั้งหมด 282,360 ราย และ มีเด็ก 282,355 รายไม่ติดเชื้อไวรัสนี้
ผลการศึกษาพบว่า เด็กที่ เคยติดเชื้อเอนเทโรไวรัสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวคิดเป็นตัวเลขทางสถิติ 3.26 รายต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่เด็กที่ ไม่เคยติดเชื้อเอนเทโรไวรัสพบเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวคิดเป็นตัวเลขทางสถิติ 5.84 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.0001
คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การติดเชื้อเอนเทโรไวรัสในช่วงวัยเด็กเล็ก น่าจะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังพบว่า ผลนี้เป็นจริงทั้งในมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocytic (p<0.0001) และ ชนิด Myeloid(p<0.04)
จากการศึกษาครั้งนี้ ถ้านำไปศึกษาต่อเนื่องถึงกลไกว่าการลดลงของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดได้อย่างไร น่าจะทำให้แพทย์สามารถนำความรู้มาใช้ในการลดอัตราเกิด หรืออาจถึงระดับป้องกันการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กได้ เช่น การผลิตวัคซีนเพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก เป็นต้น
บรรณานุกรม
http://www.thelancet.com/journals/lanonc/article/PIIS1470-2045(15)00060-1/abstract [2016,March18].