พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ หรือ รองช้ำ (Plantar fasciitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- พังผืดฝ่าเท้าอักเสบเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง?
- สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เจ็บส้นเท้า และ/หรือฝ่าเท้า
- พังผืดฝ่าเท้าอักเสบมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยพังผืดฝ่าเท้าอักเสบอย่างไร?
- รักษาพังผืดฝ่าเท้าอักเสบอย่างไร?
- พังผืดฝ่าเท้าอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันพังผืดฝ่าเท้าอักเสบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- เอ็นบาดเจ็บ (Tendon injury) เอ็นอักเสบ (Tendinitis) เอ็นเสื่อม (Tendinosis)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- ประคบร้อน (Warm compression) ประคบเย็น (Cold compression)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ : กายภาพบำบัด (Physical Therapy for Plantar Fasciitis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ หรือ พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ(Plantar fasciitis) ซึ่งคนไทยมักเรียกว่า ‘โรครองช้ำ ’คือ โรค/ภาวะที่มีอาการเจ็บ/ปวดเรื้อรังที่ส้นเท้า(Heel pain) และ/หรือ เจ็บ/ปวดเรื้อรังที่ฝ่าเท้า โดยเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง หรือ การเสื่อมของแผ่นพังผืด/แผ่นเอ็นกระดูกที่รองรับฝ่าเท้า ซึ่งอาการมักเป็นกับเท้าข้างเดียว แต่ในบางคนพบเกิดอาการทั้ง 2 เท้าได้
พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบประมาณ 1 ใน10 หรือ 4%-7% ของประชากรทั้งหญิงและชาย มักพบในวัยกลางคน ช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายเล็กน้อย
อนึ่ง พังผืดฝ่าเท้า(Plantar fascia) คือแผ่นเอ็นกระดูกที่มีลักษณะบางแต่แข็งแรงเป็นแผ่นขยายรองใต้ฝ่าเท้าทั้งหมด โดยเริ่มยึดเกาะจากกระดูกส้นเท้าไปสิ้นสุดที่ต้นกระดูกนิ้วเท้าทุกนิ้ว ซึ่งพังผืดฯนี้มีหน้าที่รองรับฝ่าเท้าเพื่อช่วยลดแรงกดและแรงที่ใช้เคลื่อนไหวฝ่าเท้า/กระดูกเท้าทั้งหมด โดยเฉพาะในการ ยืน เดิน วิ่ง ดังนั้นแผ่นพังผืดนี้จึงมีการใช้งานซ้ำๆต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้พังผืด/แผ่นเอ็นฯนี้เกิดการเสื่อม ร่วมกับมีการบาดเจ็บ ที่นำไปสู่การอักเสบเรื้อรังจนก่อให้เกิด อาการเจ็บ/ปวดส้นเท้า และ/หรือเอ็นฝ่าเท้า หรือบางคน(พบน้อยกว่า)ที่มีอาการเจ็บ/ปวดตรงกลางฝ่าเท้า
พังผืดฝ่าเท้าอักเสบเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง?
พยาธิสรีรวิทยา/กลไกการเกิดพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ แพทย์เชื่อว่า เกิดจากการใช้งานหนัก/การใช้งานซ้ำๆต่อเนื่องของเท้า/เอ็น/พังผืดฝ่าเท้า ร่วมกับการเสื่อมของพังผืดนี้ตามอายุที่มากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงเกิด พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ ที่พบบ่อย คือ
- การใช้งานเท้าอย่างหนัก ซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น อาชีพที่ต้องเดินทั้งวัน (เช่น พนักงานเสิร์พอาหาร นักกีฬาวิ่ง การเต้นแอโรบิค ทหาร)
- ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบนผิดปกติ
- ผู้มีฝ่าเท้า/อุ้งเท้า โค้งสูงผิดปกติ
- ผู้มีความยาวเท้า/ขาสองข้างไม่เท่ากัน
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะส่งผลให้เท้า/พังผืดฝ่าเท้าต้องรองรับน้ำหนักตัวสูงต่อเนื่อง
- อาชีพที่ต้อง ยืน เดิน วิ่ง ต่อเนื่อง
- มีอาการหดเกร็งของเอ็นร้อยหวาย/เอ็นกล้ามเนื้อเหนือส้นเท้าและ/หรือกล้ามเนื้อเท้าต่อเนื่อง
- สวมร้องเท้าไม่เหมาะสม เช่น ส้นเตี้ยแบบไม่มีส้น หรือเดินเท้าเปล่าเสมอ
- คนที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือผู้ป่วยนอนติดเตียง
- หญิงตั้งครรภ์ เพราะพังผืดฝ่าเท้าต้องรองรับน้ำหนักตัวที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
- อายุ: วัยที่มีการเสื่อมของเซลล์ร่างกายทุกชนิดรวมพังผืดฝ่าเท้า
*อนึ่ง การมีกระดูกส้นเท้างอก(Heel spur หรือ Calcaneus spur) ไม่ใช่สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงเกิดพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ เป็นเพียงการพบพ้องกัน กล่าวคือ
- ประมาณ 10%ของผู้ป่วยพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ พบมีกระดูกส้นเท้างอกร่วมด้วย และ
- ประมาณ 5% ของผู้มีกระดูกส้นเท้างอก จะมีพังผืดฝ่าเท้าอักเสบร่วมด้วย
อนึ่ง: สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เจ็บส้นเท้า และ/หรือ ฝ่าเท้า:
เจ็บ/ปวดส้นเท้าและ/หรือฝ่าเท้า เป็นอาการพบบ่อย และมีได้หลากหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่พบบ่อย ได้แก่
- *พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ที่พบได้ประมาณ 80%-90% ของการเจ็บส้นเท้า/เจ็บฝ่าเท้า
- เอ็นร้อยหวาย บาดเจ็บ หรือ อักเสบ
- กระดูกส้นเท้างอก
- ถุงลดเสียดสีของเอ็นกล้ามเนื้อของ ข้อเท้า และ/หรือเท้าอักเสบ
- กระดูกเท้าร้าว(Stress fracture)
- ข้อกระดูกเท้าอักเสบจากสาเหตุต่างๆ เช่น ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์
- โรคเส้นประสาทของเท้า
พังผืดฝ่าเท้าอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ ทั่วไปมักเกิดกับฝ่าเท้าข้างเดียว ซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดได้เท่ากันขึ้นกับลักษณะการถนัดใช้เท้าซ้ายหรือขวาของแต่ละคน แต่บางคนอาจเกิดอาการทั้ง 2 ข้างก็ได้ ซึ่งอาการพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ได้แก่
ก. อาการพบบ่อย ประมาณ 80%-90%ของผู้ป่วย: คือ
- เจ็บใต้เท้า/เจ็บฝ่าเท้า/ใต้ฝ่าเท้า และ/หรือ เจ็บใต้ส้นเท้า
- อาการเจ็บมักเริ่มเกิดตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าลงจากเตียงเมื่อตื่นนอนเช้า หรือหลังจาก พักใช้เท้าเป็นระยะเวลานานๆ เช่น หลังจากก้าวแรกจากการนั่งรถนานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง ซึ่งอาการเจ็บที่เกิดขึ้นนี้จะค่อยๆดีขึ้นหลังจากการเดินได้ 2-3นาทีไปแล้ว คือ เมื่อมีการยืดของพังผืดฝ่าเท้า แต่จะกลับมาเจ็บมากขึ้นเมื่อใช้เท้ามากขึ้น
- อาการเจ็บจะมากขึ้นหลังเพิ่งหยุดใช้งานเท้า (ไม่ใช่ระหว่างใช้งานเท้า)
- อาการเจ็บคงอยู่ต่อเนื่องเป็นเดือน หรือหลายเดือน
ข. อาการที่พบน้อยกว่าอาการดังกล่าวใน ‘ข้อ ก.’:
- เจ็บกลางฝ่าเท้า
- อาการเจ็บอาจร้าวขึ้นมาถึงหลังเท้า
ค. อาการพบน้อย: มีรายงานพบเพียงในบางผู้ป่วยประปราย เช่น
- บวมฝ่าเท้า และ/หรือ มีเสียงใต้ฝ่าเท้าเมื่อเคลื่อนไหวเท้า ในกรณีพังพืดฯนี้แตก/ฉีก
- ชาฝ่าเท้า
- ปวดเสียวฝ่าเท้า
ง. อาการที่ ’ไม่พบในโรคนี้: ’ คือ
- มีไข้
- หนาวสั่น
- มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
- เหงื่อออกกลางคืน
- สีของเท้า/ฝ่าเท้าผิดปกติ เช่น คล้ำลง หรือแดงเป็นจ้ำๆ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’และดูแลตนเองแล้วไม่ดีขึ้นใน 2-3สัปดาห์ หรือเมื่ออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะให้ผลการรักษาได้ผลดีกว่า
แพทย์วินิจฉัยพังผืดฝ่าเท้าอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัย โรคพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/ รองช้ำ ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ อาชีพการงาน ประเภทกีฬา/การออกกำลังกาย อายุผู้ป่วย ลักษณะรองเท้าที่สวมประจำ
- การตรวจร่างกายทั่วไป และที่รวมถึงการตรวจเท้าของผู้ป่วยซึ่งเป็นการตรวจเทคนิคเฉพาะเพื่อการวินิจฉัยโรคนี้ เช่น เทคนิคท่าต่างๆในการงอ/เหยียดฝ่าเท้า, ข้อเท้า, และนิ้วเท้า
- อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจภาพเท้าด้วย เอกซเรย์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- ตรวจเลือดดูค่า สารภูมิต้านทาน และ/หรือสารก่อภูมิต้านทาน กรณีสงสัยสาเหตุอาจมาจากโรคข้ออักเสบจากสาเหตุต่างๆ
รักษาพังผืดฝ่าเท้าอักเสบอย่างไร?
การรักษาภาวะ/โรคพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ เป็นทั้งการบำบัดรักษาอาการ และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ได้แก่ การรักษาตามอาการ, การทำกายภาพบำบัด, และการรักษาบำบัดทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ
ก. การรักษาตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวด/เจ็บส้นเท้า/ฝ่าเท้า ที่สำคัญ คือ
- พักใช้งานเท้า ลดการ ยืน เดิน วิ่ง
- ปรับเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสมตาม แพทย์ศัลยกรรมกระดูก หรือนักกายภาพบำบัด แนะนำ
- ประคบเย็นฝ่าเท้า(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ประคบร้อนประคบเย็น’)เป็นระยะๆ นานครั้งละประมาณ 15-20นาที วันละประมาณ 3-4 ครั้ง
- การรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์(ยาเอ็นเสด/ NSAIDs) ตามแพทย์แนะนำ หรือ ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาเสมอเมื่อซื้อยาใช้เอง
ข. การทำกายภาพบำบัด: ตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ: กายภาพบำบัด’)
ค.การรักษาทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ(Orthopedics): ซึ่งมีหลากหลายวิธีตามความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
- การใช้อุปกรณ์ยืดเหยียดเอ็นฝ่าเท้าในช่วงเวลานอนกลางคืน
- การฉีดยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ เข้าฝ่าเท้าบริเวณที่มีอาการเจ็บ
- การผ่าตัดรักษาการบาดเจ็บ/อักเสบของพังผืดฝ่าเท้า ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง และอาการไม่ดีขึ้น/อาการเลวลง หลังจากการใช้ทุกวิธีการที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งในข้อ ก., ข., และค.
พังผืดฝ่าเท้าอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี โดยทั่วไปภายหลังการรักษาตามอาการ และอาจรวมกับการทำกายภาพบำบัด อาการมักดีขึ้นภายใน 6 เดือนโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดพังผืดฯ แต่บางคนอาจมีอาการได้เป็นปี ทั้งนี้ เมื่อเลิกดูแลตนเองตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ อาการโรคก็จะกลับมาเป็นอีกได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ/รองช้ำ ควรต้องดูแลตนเองต่อเนื่องตลอดไปเพื่อป้องกันไม้ให้อาการเลวลง และ/หรือย้อนกลับเป็นซ้ำอีก ซึ่งเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ การรักษาฯ’ ในหัวข้อย่อย ‘การรักษาตามอาการ และการดูแลรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดเท้าด้วยตนเอง’ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ปรับพฤติกรรม กิจกรรม ที่ต้องใช้เท้าซ้ำๆต่อเนื่อง ต้องหาเวลาพักการใช้เท้าเป็นระยะๆ
- ปรับเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสม
- ทำกายภาพบำบัดเท้าด้วยตนเองสม่ำเสมอ ตลอดไป (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ: กายภาพบำบัด’)
ป้องกันพังผืดฝ่าเท้าอักเสบอย่างไร?
การป้องกัน พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ/ พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ/ รองช้ำ สามารถทำได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ปรับพฤติกรรม กิจกรรม ที่ต้องใช้เท้าซ้ำๆต่อเนื่อง ต้องหาเวลาพักการใช้เท้าเป็นระยะๆ
- การปรับเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสมกับลักษณะเท้าและการใช้งาน
- ทำกายภาพบำบัดเท้าด้วยตนเองสม่ำเสมอ ตลอดไป (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ: กายภาพบำบัด’)
บรรณานุกรม
- Goff, J. and Crawford, R. Am Fam Physician. 2011;84(6):676-682
- https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/plantar-fasciitis-and-bone-spurs [2020,May16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Plantar_fasciitis [2020,May16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Plantar_fascia [2020,May16]