การมองเห็นผิดปกติเหตุไมเกรน หรือ ออคคิวลาร์ไมเกรน (Ocular migraine)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 3 มิถุนายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- เรียกอาการตามัวลงข้างเดียวแล้วหายเองว่าโรคอะไร?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนมีอาการอย่างไร?
- อาการมองเห็นผิดปกตินั้นเป็นนานเท่าไหร่?
- นอกจากการมองเห็นผิดปกติแล้วมีอาการอื่นอีกหรือไม่?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนเกิดจากสาเหตุใด?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนต้องแยกจากอาการผิดปกติอื่นอะไรอีกบ้าง?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนต่างกับปวดศีรษะไมเกรนชนิดมีอาการนำทางตาอย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดออคคิวลาร์ไมเกรน?
- พบออคคิวลาร์ไมเกรนบ่อยไหม?
- อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนอันตรายไหม?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยออคคิวลาร์ไมเกรนอย่างไร?
- การรักษาออคคิวลาร์ไมเกรนทำอย่างไร?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอัมพาตหรือไม่?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ออคคิวลาร์ไมเกรนรักษาหายหรือไม่?
- ดูแลตนเองและป้องกันออคคิวลาร์ไมเกรนอย่างไร?
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- โรคของจอตา โรคจอตา (Retinal disease)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ไมเกรน (Migraine)
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
- เลือดหนืด หรือ ภาวะเม็ดเลือดแดงมากปฐมภูมิ (Polycythemia vera)
- ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
บทนำ
ผมได้รับคำถามจากผู้อ่านทางบ้านมาหลายท่านที่มีอาการมองเห็นผิดปกติ เป็นๆหายๆ คือ มีอาการตามัวลง หรือเห็นแสงเหมือนแฟลซในลูกตา เป็นอยู่ไม่นานก็หายได้เอง บางคนก็มีอาการ ปวดหัวตามมาภายหลัง บางคนก็ไม่มีอาการปวดศีรษะ ทุกคนที่มีอาการดังกล่าวจะตก ใจมาก เพราะว่ามีอาการผิดปกติของการมองเห็น กลัวว่าจะตาบอดหรือไม่ กลัวว่าจะเป็นอัมพาตหรือไม่ แล้วมันเป็นอะไรกันแน่ เราลองมาหาคำตอบจากบทความนี้ครับ
เรียกอาการตามัวลงข้างเดียวแล้วหายเองว่าอย่างไร?
อาการตามัวลงแล้วหายได้เองภายในเวลาไม่นาน เป็นเพียงข้างเดียว บางครั้งก็มีอาการปวดศีรษะตามมา บางครั้งก็ไม่มีอาการปวดศีรษะ เรียกความผิดปกติ/อาการดังกล่าวนี้ว่า “Ocular migraine/ออคคิวลาร์ไมเกรน” หรือ “Retinal migraine/เรตินาไมเกรน” หรือ “Ophthalmic migraine/ออฟทัลมิคไมเกรน” หรือ “Visual migraine/วิสชวลไมเกรน” ถ้าจะเรียกเป็นภาษาไทย (ยังไม่มีบัญญัติชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ) ผมไม่มั่นใจแต่คิดว่า น่า จะเรียกว่า “การมองเห็นผิดปกติเหตุไมเกรน” คือ อาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีอาการเตือนหรืออาการนำที่เรียกว่า ออรา (Aura) เป็นอาการทางตาคือ การมองเห็นที่ผิดปกติโดยมีหรือไม่มีอา การปวดศีรษะ
ออคคิวลาไมเกรนมีอาการอย่างไร?
อาการการมองเห็นผิดปกติจาก Ocular migraine/ออคคิวลาร์ไมเกรนที่พบได้บ่อยมีดังนี้
1. มองเห็นแสงแฟลซในลูกตา
2. มองเห็นเส้นซิกแซกในลูกตา
3. มองภาพบิดเบี้ยวไปจากปกติ
4. มีจุดมืดในลูกตา
5. เห็นภาพค่อยๆมืดลงหรือกระพริบเหมือนดวงดาวในลูกตา
อนึ่ง อาการทั้งหมดดังกล่าวจะเกิดเป็นกับตาเพียงตาข้างเดียว โดยเราจะรู้ว่าเป็นเพียงข้างเดียวจากลองปิดตาข้างหนึ่ง ถ้าเราปิดตาข้างปกติก็จะมีอาการดังกล่าว แต่ถ้าปิดตาข้างผิด ปกติก็จะไม่มีอาการ
อาการมองเห็นผิดปกตินั้นเป็นนานเท่าไหร่?
อาการมองเห็นผิดปกตินั้นจะเป็นนานประมาณ 10 - 20 นาที โดยจะค่อยๆดีขึ้นได้เอง หรือเมื่ออยู่ในห้องมืด ทั้งนี้อาการมักเป็นไม่นานเกิน 1 ชั่วโมง
นอกจากการมองเห็นผิดปกติแล้วมีอาการอื่นอีกหรือไม่?
บางครั้งอาจมีอาการปวดตา อาเจียน หรือปวดหัว ตามมาภายหลังได้ คล้ายกับในผู้ ป่วยไมเกรนทั่วไปชนิดที่มีอาการนำทางตา
ออคคิวลาร์ไมเกรนเกิดจากสาเหตุใด?
สาเหตุที่แน่ชัดของออคคิวลาร์ไมเกรนยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจาก 2 กลไกได้แก่
1. การหดตัวผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตา
2. การไหลเวียนของเลือดผิดปกติจากมีการหนืดของเลือด (Hyperviscosity) จึงส่งผลให้จอตาทำงานผิดปกติจึงมองเห็นภาพผิดปกติ
ออคคิวลาร์ไมเกรนต้องแยกจากอาการผิดปกติอื่นอะไรอีกบ้าง?
อาการผิดปกติที่มีอาการคล้ายๆกันที่ต้องแยกจากออคคิวลาร์ไมเกรนคือ
1. ภาวะขาดเลือดมาเลี้ยงหลอดเลือดที่ตาชั่วคราว (Amaurosis fugax)
2. โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ (Temporal cell arteritis)
3. อาการมองเห็นชนิดลานสายตาผิดปกติจากมีรอยโรคในสมอง (Visual field defect ชนิด Hemianopia) เช่น เนื้องอกสมอง/ มะเร็งสมอง
4. ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
5. การอุดตันหลอดเลือดตาจากลิ่มเลือดขนาดเล็กๆ (Embolism)
ออคคิวลาร์ไมเกรนต่างกับปวดศีรษะไมเกรนชนิดมีอาการนำทางตาอย่างไร?
อาการจากออคคิวลาร์ไมเกรนนั้นจะมีอาการทางตาเพียงข้างเดียว (แต่ถ้าเป็นไมเกรนทั่ว ไปจะมีอาการทั้ง 2 ตา) แล้วจึงตามด้วยอาการปวดศีรษะ แต่ถ้าเป็นไมเกรนทั่วไปชนิดมีแค่อา การนำที่ไม่มีอาการปวดศีรษะ (Aura without headache) ก็แยกกันยากมาก
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดออคคิวลาร์ไมเกรน?
ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดออคคิวลาร์ไมเกรนได้แก่
1. ผู้หญิง
2. กลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี
3. คนที่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรน
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, ภาวะ/โรคเลือดหนืด เป็นต้น
พบออคคิวลาร์ไมเกรนบ่อยไหม?
ออคคิวลาร์ไมเกรนเป็นภาวะ/อาการที่พบได้ไม่บ่อยคือ ประมาณ 1 ใน 200 คนของผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนทั่วไป แต่อุบัติการณ์จริงๆของอาการนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดออคคิวลาร์ไมเกรนที่พบได้คือ
1. ความเครียด
2. การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. การออกกำลังกายอย่างหนัก
4. ความดันโลหิตที่สูงมาก
5. ทานยาเม็ดคุมกำเนิดนานหลายปี
6. การงอคอ/ก้มคอมากๆ การกดนวดหรือบิดหมุนคอ ที่ส่งผลต่อหลอดเลือดบริเวณคอ
7. ผู้อยู่ในที่สูงๆนานๆ
8. ภาวะอดอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ
9. มีภาวะขาดน้ำ
ออคคิวลาร์ไมเกรนอันตรายไหม?
ถ้าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการของออคคิวลาร์ไมเกรน จะเป็นอาการที่ไม่มีอันตราย อาการจะหายได้เองดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการเป็นนานเท่าไร
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ โดยเป็นกรณีเป็นความผิดปกติครั้งแรกนั้น ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะมีกลุ่มอาการหรือสาเหตุร้ายแรงที่ต้องรีบหาสาเหตุและให้การรักษา (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ต้องแยกจากโรคอะไร)
แต่ถ้าเคยพบแพทย์จากมีอาการเหล่านี้และตรวจหาสาเหตุแล้วว่า ไม่มีสาเหตุจากภาวะอื่นๆ เป็นจากออคคิวลาร์ไมเกรน ก็ไม่ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ยกเว้นจะมีอาการผิด ปกติอย่างอื่นๆเกิดร่วมด้วย และ/หรืออาการที่เกิดขึ้นไม่หายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยออคคิวลาร์ไมเกรนอย่างไร?
การตรวจ/การวินิจฉัยว่าเป็นออคคิวลาร์ไมเกรนคือ การสอบถามข้อมูลประวัติอาการว่ามีอาการที่เข้าได้กับภาวะ/อาการออคคิวลาร์ไมเกรนนี้หรือไม่ และไม่มีอาการผิดปกติของกลุ่มอา การอื่นๆที่ต้องแยกออกจากกัน (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การแยกโรค) ร่วมกับการตรวจร่างกาย ทั้งระบบทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท ที่ไม่พบความผิดปกติใดๆ การตรวจฟังเสียงหลอดเลือดบริเวณด้านข้างของคอ (Carotid artery) ด้วยหูฟัง ตรวจคลำหลอดเลือดบริเวณขมับ (Temporal artery) อาจพิจารณาส่งตรวจเลือดในบางรายที่สงสัยการอักเสบของหลอดเลือด (หลอดเลือดอักเสบ) อาจมีการตรวจตาร่วมด้วยจากจักษุแพทย์ และโดยส่วนมากแล้วไม่จำเป็นต้องส่งตรวจ/การตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมอะไร
การรักษาออคคิวลาร์ไมเกรนทำอย่างไร?
การรักษาออคคิวลาร์ไมเกรนก็เป็นไปตามกลไกการเกิดโรคคือ การให้ยา
1. แอสไพริน เพื่อลดการหนืดตัวของเลือด (ยาต้านเกล็ดเลือด) ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
2. ยาที่มีฤทธิ์ไม่ให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดคือ ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blocker) เช่น ยาไนเฟ็ดดิปีน (Nifedipine)
3. ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
ออคคิวลาร์ไมเกรนเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอัมพาตหรือไม่?
ออคคิวลาร์ไมเกรนไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง และยังไม่เคยมีรายงานว่าออคคิวลาร์ไมเกรนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ตาบอด
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ผู้ที่มีอาการของออคคิวลาร์ไมเกรน ถ้ามีอาการทางตานานกว่าที่ควรจะเป็นเช่น นานมาก กว่า 1 ชั่วโมงแล้วไม่หาย หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก หรือปวดหัวนานมากกว่า 72 ชั่ว โมงกรณีไม่ได้ทานยา หรือถ้าทานยาแก้ปวดแล้วไม่ตอบสนองต่อยาที่ทาน หรือมีอาการแขน -ขาอ่อนแรงควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาล
ออคคิวลาร์ไมเกรนรักษาหายหรือไม่?
ออคคิวลาร์ไมเกรนสามารถรักษาหายได้ด้วยการทานยารักษาข้างต้น
ดูแลตนเองและป้องกันออคคิวลาร์ไมเกรนอย่างไร?
เมื่อเคยมีอาการของออคคิวลาไมเกรน อาการอาจเกิดเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งการดูแลตนเองและ การป้องกันการเกิดออคคิวลาร์ไมเกรนจะเช่นเดียวกันคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นการเกิด ซึ่งที่สำคัญได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
- กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- รักษาควบคุมโรคไมเกรนให้ได้ดี
- ควบคุมรักษาโรคประจำตัวอื่นๆให้ได้ดี
- รักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่เครียด
- ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงควันบุหรี่
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ออกกำลังกายหักโหม
- ไม่ขึ้นไปอยู่ในที่สูงๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ
- ไม่อดอาหารจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า
- สังเกตเสมอว่า กิน (รวมถึงอาหารและทุกอย่างที่บริโภค) ดื่มอะไรแล้วเกิดอาการ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆเช่นที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การพบแพทย์ก่อนนัด
* ท้ายสุดนี้ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะมีความสบายใจขึ้นถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าว