ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต (Hashimoto thyroiditis) หรือ โรคฮาสชิโมโต (Hashimoto’s disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต(Hashimoto thyroiditis ย่อว่า HT) คือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรัง ที่เกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันฯที่ผิดปกติต่อต่อมไทรอยด์/โรคภูมิต้านตนเองหรือโรคออโตอิมูนชนิดหนึ่ง ส่งผลให้เซลล์ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบเรื้อรังถาวร จนในที่สุดเซลล์ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถทำงานปกติได้ ส่งผลสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้น้อยลง ส่งผลบั้นปลายให้ร่างกายเกิด ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ อย่างถาวร

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อ ตั้งอยู่ด้านหน้าลำคอในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือกหรือกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) ต่อมนี้มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่คือ กลีบด้านซ้ายและกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อกันด้วยเนื้อเยื่อต่อมไทรอย์บางๆที่เรียกว่า ‘อิสธ์มัส (Isthmus)’ ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18 -30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 2 - 3 ซม. และส่วนหนาสุดประมาณ 0.8 - 1.6 ซม. ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่สามารถคลำพบได้

โรคฮาสชิโมโต พบบ่อยทั่วโลก ประมาณ 0.3-1.5รายต่อประชากร 1,000 คน พบทุกอายุ แต่พบสูงขึ้นในช่วงวัยกลางคน พบทุกเพศ แต่พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายประมาณ 8 -15 เท่า

อนึ่ง:

  • ฮาสชิโมโต ที่มาของชื่อโรค เป็นชื่อแพทย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัลยแพทย์และแพทย์ทั่วไป นพ. Hakaru Hashimoto ที่รายงานโรคนี้เป็นคนแรกเมื่อปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455)
  • ชื่ออื่นของโรคนี้ ได้แก่
    • โรคฮาสชิโมโต(Hashimoto’s disease)
    • Chronic lymphocytic thyroiditis
    • Chronic autoimmune thyroiditis
    • Lymphadenoid goiter Hashimoto
    • Hypothyroidism-Hashimoto
    • Type II polyglandular autoimmune syndrome-Hashimoto(ย่อว่า PGA II-Hashimoto)
    • Struma lymphomatosa

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตเกิดได้อย่างไร?

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต/โรคฮาสซิโมโต เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯที่ผิดปกติต่อเซลล์ต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้เซลล์ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ ทั้งนี้การอักเสบนี้จะค่อยๆอักเสบไปเรื่อยๆ เรื้อรัง เป็นเดือน หลายเดือน หรือเป็นปี จนในที่สุดเซลล์ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังถาวร จนไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน (ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์)ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ จึงก่อให้ร่างกายเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำอย่างถาวร ตลอดชีวิต

ดังนั้น โรคฮาสชิโมโต จึงจัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคออโตอิมมูน’ ที่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่า ทำไมร่างกายจึงสร้างภูมิคุ้มกันฯที่ผิดปกติที่ต่อต้านตนเอง/อวัยวะต่างๆของร่างกายที่รวมถึงต่อต่อมไทรอยด์

อนึ่ง: โรคฮาสชิโมโต อาจเกิดร่วมกับโรคออโตอิมมูนชนิดอื่นๆได้ ถึงแม้จะพบได้น้อยมาก ซึ่งเรียกโรคในกลุ่มนี้ว่า ‘Type II Polyglandular autoimmune syndrome (PGA II)’ และเรียกโรคฮาสชิโมโตจากสาเหตุนี้ว่า ‘Type II polyglandular autoimmune syndrome-Hashimoto ย่อว่า PGA II-Hashimoto.

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคฮาสชิโมโต ได้แก่

  • หญิงวัยกลางคน เพราะพบโรคนี้ได้สูงในคนกลุ่มนี้
  • พันธุกรรม: โดยพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในคนที่เป็นโรคออโตอิมมูน หรือที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคออโตอิมมูน
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นฐานที่มีปริมาณรังสี(Radiation)ในบรรยากาศ/ในสิ่งแวดล้อมสูง

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคฮาสชิโมโต คือ

ก. ในระยะแรกของโรค: ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ

ข. เมื่อมีการดำเนินโรค ซึ่งจะเป็นไปช้าๆ อาจเป็น เดือน หลายเดือน หรือเป็นปี จนเซลล์ต่อมไทรอยด์อักเสบ บาดเจ็บ เสียหาย มากขึ้น จนสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้ลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น

  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: อาการพบบ่อย เช่น
    • ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย
    • ท้องผูก
    • ง่วงนอนทั้งวัน
    • เชื่องช้า
    • อ้วนฉุ/น้ำหนักตัวเพิ่ม
    • เสียงแหบ
    • ผิวแห้ง ผิวหยาบ
    • ผมร่วง
    • ทนอากาศเย็นไม่ได้
    • เหนื่อยล้า
    • อาจมีบวม รอบตา และที่มือ-เท้า
    • ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ
    • มีบุตรยาก
    • โรคเส้นประสาท
  • ในหญิงวัยมีประจำเดือน จะมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ และแต่ละรอบเดือนมักมีเลือดประจำเดือนออกมาก
  • อาจเจ็บที่ต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะขณะกลืน ที่รวมถึงกลืนน้ำลาย
  • และกรณีไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วยอาจเกิด
    • ภาวะหัวใจวาย จากกล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวผิดปกติ จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • อาจมีต่อมไทรอยด์โตจนมองเห็นหรือคลำพบและ/หรือมีก้อนเนื้อเกิดในต่อมไทรอยด์ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการ เช่น
    • รู้สึกเสียภาพลักษณ์ในบางคน
    • เมื่อต่อมไทรอยด์/ก้อนเนื้อโตมาก จนกดเบียด ทับ เนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง เช่น ลำคอ กล่องเสียง ท่อลม หลอดอาหาร ซึ่งงอาจส่งผลให้เกิดระคายเคืองต่ออวัยวะข้างเคียงเหล่านั้น จนอาจเกิดอาการ
      • ไอเรื้อรัง จากก้อนก่อการระคายเคืองต่อท่อหลอดลม
      • ท่อลมตีบ/หายใจลำบาก จากก้อนกดเบียดท่อลม
      • สำลักเวลากลืน จากก้อนกดเบียดหลอดอาหาร
      • กลืนลำบาก จากก้อนกดเบียดหลอดอาหาร

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการผู้ป่วย เพศ ประวัติใช้ยาต่างๆ ประวัติตั้งครรภ์ ประวัติเจ็บป่วยในรอบ 1-3 เดือนที่ผ่านมา ประวัติโรคประจำตัว ประวัติโรคของคนในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำต่อมไทรอยด์
  • การตรวจเลือดดูค่า ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์(ไทรอยด์ฮอร์โมน)
  • อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน หรือ สารก่อภูมิต้านทานที่แพทย์สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอาการผู้ป่วย
    • อาจตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วย
      • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ
      • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า Radioactive thyroid scan หรือ Thyroid scan
    • และเพื่อแยกจากมะเร็งต่อมไทรอยด์
      • อาจมีการตรวจเซลล์ต่อมไทรอยด์/จากก้อนเนื้อ/ต่อมไทรอยด์ที่โตด้วยเทคนิคที่เรียกว่า การตรวจทางเซลล์วิทยา
      • อาจตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต คือ

ก. ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีอาการอาการ: การรักษา คือ

  • การเฝ้าติดตามอาการ โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยเป็นระยะๆ อาจทุก 2-3 เดือน โดยแพทย์จะ
    • ซักถามอาการต่างๆของผู้ป่วย
    • ตรวจร่างกาย
    • ตรวจคลำต่อมไทรอยด์
    • ตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
    • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
      • การตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนการทำงานของต่อมใต้สมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไทรอยด์

ข. กรณีมีอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: การรักษาคือ

  • การให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนชดเชย เป็นยากิน เช่นยา Levothyroxine
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ กรณีก้อนเนื้อกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง, และ/หรือก้อนเนื้อโตขึ้นหรือโตเร็ว

มีผลข้างเคียงจากต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต เช่น

  • กรณีไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ: ผู้ป่วยจะมีอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ดังได้กล่าวในหัวข้อ “อาการฯ “
  • นอกจากนั้น คือ
    • การเสียภาพลักษณ์ของบางคน กรณีมีต่อมไทรอยด์โต หรือมีก้อนในต่อมไทรอยด์
    • เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคฮาสชิโมโต คือ เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่แพทย์สามารถรักษาควบคุมอาการโรคให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องมาพบแพทย/มาโรงพยาบาลเพื่อรับยารักษาสม่ำเสมอตลอดชีวิตตามแพทย์นัด

อนึ่ง:

  • การขาดยารักษา จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด
    • มะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ประมาณ 1-2 %ในกรณีเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์/ไม่มีก้อนเนื้อเกิดในต่อมไทรอยด์
    • แต่ถ้าโรคนี้ก่อให้เกิดก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์จนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด จะพบร่วมกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ประมาณ 25-40%
    • และยังมีรายงานพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ต่อมไทรอยด์ในโรคฮาสชิโมนโตได้ แต่พบน้อยมาก ประมาณน้อยกว่า 1%ของโรคฮาสชิโมโตทั้งหมด

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะโรคนี้ เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ทั้งนี้โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อป่วยด้วยต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโต ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น บวมที่ รอบตา มือ เท้า
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก
  • ก้อนในต่อมไทรอยด์โตขึ้น และ/หรือโตเร็ว
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิติประจำวัน เช่น ใจสั่นมาก, อารมณ์แปรปรวน
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันต่อมไทรอยด์อักเสบฮาสชิโมโตอย่างไร?

เนื่องจากโรคฮาสชิโมโต เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ และเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม จึงเป็นโรคที่ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่การได้รับการรักษาโรคนี้จากแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด สามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเช่นเดียวกับคนทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. Slatosky,J. et al. Am Fam Physician, 2000;61(4): 1047-1052
  2. Sweeney, L., et al. Am Fam Physician,2014;90 (6):389-396
  3. https://academic.oup.com/jcem/article/98/2/474/2833048[2019,July27]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Hashimoto's_thyroiditis[2019,July27]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/120937-overview#showall[2019,July27]
  6. https://diagnosticpathology.biomedcentral.com/articles/10.1186/1746-1596-8-116[2019,July27]
  7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5617515/[2019,July27]