คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ลมพิษ
ลมพิษ (Urticaria หรือ Hives) เป็นกลุ่มอาการ ไม่ใช่โรค แต่มักเรียกว่าเป็นโรค โดยเป็นอาการที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่ง/สารที่ก่อการแพ้ อาจมีเฉพาะอาการซึ่งแสดงออกทางผิวหนัง หรือมีอาการทางเนื้อเยื่อ/อวัยวะระบบอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของสาเหตุ เช่น บวม แน่นหน้าอก หรือ ความดันโลหิตต่ำ/หน้ามืด โดยลักษณะอาการทางผิวหนัง จะเป็นผื่นบวมนูน สีออกขาว ล้อมรอบด้วยผื่นสีแดง ผู้ป่วยมักมีอาการคันถึงคันมากในตำแหน่งผิวหนังบริเวณเกิดผื่น หรือถ้าเป็นมากจะรู้สึกแสบร้อนที่ผื่น แต่ผื่นมักหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
- แบ่งโดยอาศัยระยะเวลาที่เป็นโรค - ถ้ามีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์ จัดเป็นลมพิษเฉียบพลัน แต่ถ้ามีอาการต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ จัดเป็นลมพิษเรื้อรัง
- แบ่งตามสาเหตุ โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการลมพิษที่พบบ่อย ได้แก่
- สาเหตุทางกายภาพ (physical) ผู้ป่วยบางรายผื่นลมพิษอาจเป็นผลจากปฏิกิริยาต่อความร้อน ความเย็น การสั่นสะเทือน การกดทับ การขูดขีดที่ผิวหนัง แสงแดด การออกกำลังกาย เป็นต้น
- การแพ้สารที่สัมผัส เช่น การแพ้ยาง (latex) ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากการโดนผึ้งหรือต่อต่อย
- การกินอาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล อาหารรสจัด สารกันเสีย สีผสมอาหารบางชนิด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้แอสไพริน หรือ ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ
- โรคบางชนิด เช่น โรคระบบต่อมไร้ท่อ (โรคไทรอยด์) โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
- ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
- บางครั้ง แพทย์หาสาเหตุไม่พบ
มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบความเกี่ยวเนื่องระหว่างระบบประสาท-ระบบต่อมไร้ท่อ-ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ที่อาจเป็นสาเหตุของลมพิษ โดยพบว่าความเครียดทำให้มีการหลั่งของสารเคมีบางชนิด และสารเคมีนั้นๆ จะไปกระตุ้นเซลล์ชนิดหนึ่งในร่างกายที่อยู่ในเนื้อเยื่อผิวหนังและในเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งเรียกว่า เซลล์มาสต์ (Mast cell) ทำให้เซลล์นี้แตกตัวหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งสารฮิสตามีนเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดลมพิษ
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาลมพิษคือ ต้องพยายามหาและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ ดังนั้นสิ่งที่มีความสำคัญมากคือ ข้อมูลจากผู้ป่วย อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษได้แน่นอน ถึงแม้ว่าจะถามประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว ดังนั้นมักต้องใช้ยาในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการคันของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะเริ่มต้นจากยาทาประเภทคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ซึ่งเป็นแป้งน้ำผสมเมนทอลเพื่อให้เย็น เพื่อลดอาการคัน หรือทาแป้งเย็นหรือประคบผ้าเย็นก็ได้ ถ้ายังมีผื่นขึ้นอยู่ก็กินยาต้านฮิสตามีน โดยกินชนิดที่ไม่ง่วงในตอนเช้าเพื่อไม่รบกวนการทำงาน และกินชนิดที่ทำให้ง่วงในตอนกลางคืนเพื่อจะได้ไม่เกาเวลานอนหลับ ถ้ายังไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการทางเนื้อเยื่อ/อวัยวะระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดท้องหรือถ่ายเหลว เป็นลมหน้ามืด ควรปรึกษาแพทย์ หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน