การดูแลผู้สูงอายุท้องผูก (Care of constipation in older people)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:สถิติเกิดท้องผูก

ท้องผูก (Constipation) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศและทุกวัย อุบัติการณ์การเกิดท้องผูกในคนไทยพบได้ 3 - 20% และพบเพิ่มขึ้นเป็น 20 - 25% ในผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงมีความจำเป็นยิ่งทั้งตัวผู้สูงอายุเองและคนที่อยู่รอบข้างที่ดู แลผู้สูงอายุ

ท้องผูก เป็นเพียงอาการไม่ใช่เป็นโรค(โรค-อาการ-ภาวะ) และท้องผูกไม่ได้เป็นสาเหตุถึงกับเสียชีวิต (ตาย) แต่ทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ท้องผูกเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันและจัดการกับภาวะท้องผูกได้ หากเรารู้วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาท้องผูก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ) หรือหากเกิดท้องผูกขึ้นแล้วจะจัดการอย่างไรที่ไม่ทำให้มีปัญหาอื่นแทรกซ้อนตามมาได้

บทความนี้ขอนำเสนอการดูแลผู้สูงอายุเมื่อท้องผูก เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการดูแลตน เองของผู้สูงอายุรวมทั้งคนในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาท้องผูก อันจะนำไปสู่การจัด การปัญหาท้องผูกได้ง่ายๆ

อะไรเป็นสาเหตุของท้องผูกในผู้สูงอายุ?

การดูแลผู้สูงอายุท้องผูก
 

สาเหตุของท้องผูกในผู้สูงอายุได้แก่

  1. อาหาร/การรับประทานอาหาร: ส่วนใหญ่สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะท้องผูก เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย ใยอาหารมีบทบาทสำคัญในการดูดและเก็บ/อุ้มน้ำในอุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มและมีปริมาตรมาก จึงกระตุ้นการเคลื่อนไหวลำไส้ใหญ่เป็นผลให้เกิดการขับถ่ายอุจจาระ แต่เมื่อได้รับใยอาหารไม่เพียงพอจึงทำให้มีอุจจาระแข็ง และมีการตกค้างของอุจจาระในลำไส้ใหญ่อยู่นานจึงทำให้เกิดท้องผูก
  2. การดื่มน้ำ: การดื่มน้ำน้อยกว่าวันละประมาณ 1,500 มิลลิลิตรเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท้องผูก เนื่องจากการได้รับน้ำน้อยทำให้อุจจาระขาดความอ่อนนุ่ม ส่งผลให้อุจจาระแข็งและปริมาตรลดลงจึงถ่ายลำบาก/เกิดท้องผูก
  3. การออกกำลังกาย: เมื่อผู้สูงอายุไม่ได้ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 วันเป็นสาเหตุส่งเสริมให้ท้องผูกได้ การออกกำลังกายกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เมื่อการบีบตัวของลำไส้ลดลงจึงมีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานกว่าจะขับออกมาได้
  4. นิสัยการถ่ายอุจจาระ: การชอบกลั้นอุจจาระไว้ไม่ได้ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาหรือไม่ได้ถ่ายอุจจาระทุกวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้า จึงมีการสะสมอุจจาระในลำไส้มากขึ้นและเกิดภาวะท้องผูกในที่สุด

ดูแล/จัดการท้องผูกในผู้สูงอายุอย่างไร?

การป้องกันท้องผูก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ)เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ แต่เมื่อเกิดภาวะท้องผูกแล้วจึงจำเป็นต้องดูแล/จัด การแก้ไขท้องผูกด้วยวิธีการต่างๆดังนี้

  1. อาหาร: เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการขับถ่าย โดยผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงเช่น ประเภทผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชต่างๆเช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลี เพื่อเป็นการกระตุ้นการขับถ่าย โดยเพิ่มการรับประทานที่มีใยอาหารเสริมในแต่ละมื้อจากอาหารที่ผู้สูงอายุเคยรับประทานเป็นประจำทุกมื้อหรือรับประทานเป็นอาหารว่าง เช่น                                        
  • ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม มะม่วงสุก แอปเปิ้ล อย่างละ 1 ผล หรือมะละกอสุกประมาณ 6 - 7 ชิ้น
  • เงาะ มังคุด อย่างละประมาณ 3 - 5 ผล หรือ ชมพู่ประมาณ 4 ชิ้น  
  • หรือ การรับประทานรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 1 - 2 แก้วดื่มก่อนนอน                                                                                                                                                           

ทั้งนี้การเสริมใยอาหารเหล่านี้ต้องพิจารณาสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่สามารถรับประทานอาหารที่มีใยอาหารได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่น ไม่มีปัญหาโรคไต ไม่มีโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล ในการเพิ่มอาหารเสริมเหล่านี้ว่าเหมาะสมกับผู้สูงอายุหรือไม่โดย เฉพาะในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว                                     

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกประการสำหรับอาหารในผู้สูงอายุที่มีภาวะท้องผูกอยู่แล้วคือ ควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้   เช่น                                                                                         

  • อาหารที่มีแป้งมาก เช่น ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป                               
  • อาหารรสจัด เผ็ดจัด เค็มจัด
  • ชา กาแฟ สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัดเช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น  
  1. การดื่มน้ำและเครื่องดื่ม: เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ ผู้สูง อายุควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละประมาณ 1,500 - 2,000 มิลลิลิตร (ถ้าไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม) ผู้สูงอายุสามารถจัดโปรแกรมการดื่มน้ำแต่ละวันได้เช่น ให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) หลังตื่นนอนหรือก่อนอาหารเช้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำหลังอาหารมื้อละ 250 - 500 มิลลิลิตรและระหว่างมื้อ หรือจิบเป็นระยะๆ หรือดื่มน้ำทันทีเมื่อรู้สึกกระหายน้ำ รวมทั้งดื่มน้ำ-เครื่องดื่มที่ช่วย กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระเช่น ผสมเม็ดแมงลักกับน้ำหวานแต่ให้หวานน้อย หรือน้ำลูกพรุนอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ดื่มวันละ 1 แก้วตามเวลาที่สะดวก ทั้งนี้อาจดื่มน้ำในรูปแบบอื่นๆเพิ่มได้อีกเช่น น้ำมะขามเติมน้ำผึ้งแท้วันละ 1 - 2 แก้ว นมเปรี้ยว น้ำว่านหางจระเข้ ครั้งละประมาณ 50 มิลลิลิตรวันละ 3 ครั้ง เครื่องดื่มเหล่านี้ล้วนมีสรรพคุณในทางกระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระได้คล่องช่วยแก้ไขปัญหาท้องผูกได้
  2. การออกกำลังกาย: เป็นการส่งเสริมให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหวกระตุ้นการขับถ่ายอุจาระออก มากได้สะดวก การออกกำลังกายมีหลายประเภท ควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูง อายุและคำนึงถึงความปลอดภัย การออกกำลังกายอาจเริ่มการเดินเป็นระยะทางสั้นๆประมาณ 15 เมตร หรือใช้เวลาประมาณ 5 นาที วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานแข็งแรงเพิ่มแรงบีบตัวของลำไส้ขณะที่ผู้สูงอายุถ่ายอุจจาระ การบริหารควรทำท่าละ 10 ครั้งในตอนเช้า กลางวัน และทำซ้ำเมื่อมีเวลา ท่าที่ใช้ในการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน เช่น
  • นอนหงายให้ไหล่และขาสองข้างแนบกับพื้น ยกขาทั้งสองข้างขึ้นตรงเท่าที่จะยกได้ ไม่งอเข่าค้างไว้นับ 1 - 10
  • นอนหงายวางแขนแนบลำตัว ใช้มือดันแล้วยกสะโพกขึ้นนับ 1 - 10 และวางสะโพกลงตาม เดิมนับ 1 - 10
  • นอนหงายแขนสองข้างวางทาบบนอก ขาวางราบกับพื้น พยุงตัวลุกนั่งโดยไม่ยกเข่านับ 1 -10

*อนึ่ง: ท่าบริหารเหล่านี้ขณะทำถ้าเกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บสะโพก, เจ็บหลัง, ไม่ควรฝืนทำ และควรนำไปปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลในการพบแพทย์พยาบาลครั้งต่อไป

  1. การฝึกการขับถ่ายอุจจาระ: ควรถ่ายอุจจาระในเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อสร้างความคุ้นชินกับการทำงานของลำไส้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายอุจจาระควรเป็นหลังรับประทานอาหารเช้า เพราะอาหารที่เข้าไปในกระเพาะอาหารจะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ผู้สูงอายุอยากถ่ายอุจจาระ หรือผู้สูงอายุบางรายจะถ่ายอุจจาระตามแบบแผนที่เคยปฏิบัติตามปกติก็ได้ นอกจากนั้น ไม่เร่งรีบเกินไปในการถ่ายอุจจาระควรใช้เวลาประมาณ 5 - 15 นาที ถ้ายังไม่ถ่ายอุจจาระ ให้ปฏิบัติซ้ำอีกในวันต่อไปเรื่อยๆร่างกายก็จะปรับตัวตามมาได้เอง

นอกจากนี้การนวดบริเวณหน้าท้องด้านขวาที่ใต้สะดือแล้ววนลงมาที่หน้าท้องด้านซ้าย ให้ทำประมาณ 10 ครั้งก่อนถ่ายอุจจาระประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ให้ขับอุจจาระออกมาได้ง่ายขึ้น

และยังควรควรคำนึงถึงสถานที่ในการถ่ายอุจจาระทีมีความเป็นส่วนตัว ช่วยให้เกิดความรู้ สึกคุ้นชินและอยากถ่ายอุจจาระ รวมทั้งท่านั่งที่ส่งเสริมการถ่ายอุจจาระควรเป็นท่านั่งที่โน้มตัวไปด้านหน้าให้หน้าท้องชิดกับหน้าขาจะทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวขับอุจจาระออกมาได้ดีขึ้น

  1. การใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก: เป็นวิธีสุดท้ายที่ผู้สูงอายุอาจจะเลือกใช้ในการจัดการท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ การใช้ยาระบายไม่ได้แก้ไขสาเหตุของท้องผูกที่แท้จริง แต่เป็นการบรรเทาอาการท้องผูกเป็นครั้งคราวเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเกิดผลเสีย หากใช้ยาระบายต่อเนื่องเป็นเวลานานเพราะจะทำให้มีภาวะท้องผูกเรื้อรังตามมาได้

***6. หากผู้สูงอายุมีปัญหาท้องผูกเป็นประจำ แนะนำให้ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและปลอดภัย

*อนึ่ง: จากการศึกษาโปรแกรมการจัดการท้องผูกในผู้สูงอายุที่ได้ผลดี ที่ผู้สูงอายุสามารถขับถ่ายอุจจาระได้เพิ่มขึ้น/ลดการเกิดท้องผูกและลดการใช้ยาระบายลงได้  โปรแกรมดังกล่าวได้แก่

  • ให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่มีใยอาหารในมื้อเช้า
  • ดื่มน้ำวันละประมาณ 1,500 มิลลิลิตร
  • บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  • ให้ถ่ายอุจจาระหลังอาหารเช้า
  • และใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระประมาณ 5 - 15 นาที   

เมื่อไหร่ต้องรีบพบแพทย์?

         ควรต้องรีบให้ผู้สูงอายุพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือมาโรงพยาบาลด่วน(ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ) ทั่วไปคือ เมื่อผู้สูงอายุมีอาการดังต่อไปนี้

  • ไม่ถ่ายอุจจาระต่อเนื่องนานตั้งแต่3วันขึ้นไปโดยไม่เคยเป็นมาก่อน และโดยเฉพาะเมื่อมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดท้องต่อเนื่องหรือปวดท้องรุนแรง, ไม่ผายลม
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • แน่นอึดอัดท้อง ท้องเฟ้อ
  • อุจจาระเป็นเลือด/อุจจาระปนเลือด

สรุป

ท้องผูก เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ  การป้องกันภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็นมากกว่าการแก้ไขภาวะท้องผูกที่เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม การดูแล/การจัดการท้องผูกที่ถูกวิธี และเหมาะสมกับผู้สูงอายุกรณีมีอาการท้องผูก คือ

  • การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารที่เพียงพอในทุกวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มีปริมาณเหมาะสม
  • รวมทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานเป็นประจำ
  • รวมทั้งนิสัยการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา

 ซึ่งการปฏิบัติตัวตามแนวทางเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมการขับถ่ายอุจจาระของผู้สูงอายุให้เป็นไปตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาระบาย/ยาแก้ท้องผูก และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุในสังคมผู้สูงวัยต่อไป

บรรณานุกรม

  1. โบตั๊น แสนสุขสวัสดิ์ พรรณวดี พุธวัฒนะ และสุภาพ อารีเอื้อ. (2550).การป้องกันและการจัดการอาการท้องผูกใน ผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ.รามาธิบดีพยาบาลสาร. (พฤษภาคม-สิงหาคม):106-123.
  2. Eliopoulos,C.(2010). Gerontological Nursing. (7th ed). Philadelphia: Wolters Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Perry, A.G; Potter ,P.A & Ostendorf, W.R. (2014).Clinical Nursing Skills & Techniques. (8thed). St. Louis: Elsevier Mosby.
  4. Management of Constipation in Older Adults.(1999). The Joanna Briggs Institute. Best Practice: Evidence Based Practice Information Sheets for Health Professionals. 3 (1), 1-6.
  5. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000120.htm  [2021,Nov27]