คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : ลมชัก
โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การพัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติ อุบัติเหตุที่ศีรษะ โรคเนื้องอกสมอง โรคติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคพยาธิตัวตืด การดื่มเหล้าปริมาณมากหรือการหยุดดื่มเหล้าทันทีในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ทั้งนี้ ยาที่มีผลข้างเคียงอาจก่อการชัก เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด (เช่น ยาเพนนิซิลลินขนาดสูง) ยาทางจิตเวช ยาสลบ ยาเสพติด และยาขยายหลอดลม เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคลมชัก 80-90% ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยากันชัก มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก มักใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากเนื้องอกสมอง และกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ (Tempo ral lobe) โดยประมาณ 70% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสามารถควบคุมอาการชักได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักและไม่เหมาะกับการผ่าตัด บางส่วนจะตอบสนองต่อการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation) ไว้ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 โดยมีเครื่องควบคุมการปล่อยกระแสไฟฟ้าอยู่ภายนอกสมองเพื่อควบคุมอาการชัก
อนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับยากันชักประมาณ 2 ปี หรือมากกว่า หลังจากควบคุมอาการชักได้ เพื่อลดโอกาสในการชักซ้ำ และเมื่อจะหยุดยากันชัก ก็จะต้องค่อยๆ หยุดยาโดยใช้เวลาค่อยๆ ลดยานานประมาณ 6-12 เดือน
- การกินยากันชัก มีความสำคัญมากในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการชักอีก ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง เมื่อมีอาการไม่สบาย ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ และควรบอกแพทย์ว่าเป็นโรคลมชัก กินยาอะไรอยู่ เพราะยากันชักนั้นมีโอกาสทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆ ได้ง่าย
- เพื่อป้องกันการชักซ้ำและเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสม เช่น กรณีมีไข้สูงให้รีบเช็ดตัวลดไข้หรือกินยาลดไข้พาราเซตามอล อย่าอดนอน ผ่อนคลายความทุกข์ความเครียด งดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนชากาแฟอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ (ผู้ป่วยต้องสังเกตผลกระทบในแต่ละกรณีของอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ด้วยตนเอง) และควรพกบัตรแสดงตนว่าเป็นโรคลมชักเสมอเมื่อออกจากบ้าน
- ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการชัก ได้แก่ หยุดกิจกรรมที่กำลังทำทันทีเมื่อรู้สึกว่ากำลังจะมีอาการชัก และนอนราบบนพื้นที่ไม่มีสิ่งกีดขวางกระแทกร่างกาย สำหรับบุคคลที่ช่วยเหลือผู้ที่กำลังชัก การช่วยเหลือที่ถูกต้องคือการป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลัก โดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย ดันคางให้ยกขึ้น คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใดๆ ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้อง หรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย
- การดำรงชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชักขณะที่ไม่มีอาการชักก็เหมือนคนทั่วไป เช่น การเรียน การเล่นกีฬา แต่ควรเลี่ยงกิจกรรมบางชนิด เพราะเมื่อเกิดอาการชัก ผู้ป่วยจะหมดสติและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ทำงานบนที่สูง ทำงานกับเครื่องจักร การขับรถ การอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือเตาไฟ การว่ายน้ำในทะเลหรือสระที่ไม่มีคนดูแล การดำน้ำ เป็นต้น