ปวดข้อ อาการปวดข้อ (Arthralgia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ปวดข้อ(Joint pain หรือศัพท์แพทย์คือ Arthralgia) คืออาการเจ็บปวดที่เกิดกับเนื้อเยื่อส่วนใดของข้อก็ได้ที่รวมถึงเนื้อเยื่อรอบๆข้อ แต่ทั่วไปมักเกิดจากเนื้อเยื่อของข้อ เช่น เอ็น กระดูกอ่อน กระดูก กล้ามเนื้อ โดยอาจเกิดจากเนื้อเยื่อข้อเสื่อม, บาดเจ็บ, และ/หรืออักเสบ ซึ่งอาการอาจเพียงเล็กน้อยเกิดเฉพาะเมื่อ เคลื่อนไหวข้อรุนแรงหรือยกของหนัก หรืออาการเจ็บปวดมากจนเคลื่อนไหวข้อไม่ได้

ปวดข้อ/ อาการปวดข้อ ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการ(โรค-อาการ-ภาวะ)ที่พบได้ในบางโรค เช่น อาการไข้จากร่างกายติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัดใหญ่) หรือจากภาวะผิดปกติต่างๆของข้อ เช่น ข้อแพลงจากอุบัติเหตุ, ข้อเสื่อมตามอายุ

ปวดข้อ/อาการปวดข้อ อาจเกิดเพียงข้อเดียว หรือเกิดพร้อมกันหลายๆข้อ อาจเกิดเฉพาะข้อขนาดใหญ่(เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก), เฉพาะกับข้อขนาดเล็ก(เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า), หรือกับข้อทุกขนาดก็ได้, ทั้งนี้ขึ้นกับ สาเหตุ

ปวดข้อ/อาการปวดข้อ เป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย การบันทึกเป็นสถิติจึงมักเป็นการบันทึกสาเหตุ ไม่บันทึกระบุอาการ ดังนั้นจึงไม่มีรายงานสถิติของอาการปวดข้อในภาพรวมทุกสาเหตุที่แน่ชัด

ปวดข้อ/ อาการปวดข้อ เป็นอาการพบทุกวัย ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในทุกเพศ

ปวดข้อมีสาเหตุจากอะไร?

อาการปวดข้อ

สาเหตุที่ทำให้เกิดปวดข้อ/ อาการปวดข้อ มีหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ

  • อุบัติเหตุต่อข้อ เช่น การล้ม, อุบัติเหตุจากยานพาหนะ ซึ่งอาการปวดข้อจากสาเหตุนี้จะเกิดเฉพาะกับข้อที่ได้รับอุบัติเหตุเท่านั้น
  • การเสื่อมของข้อตามอายุ เช่น ข้อต่างๆเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งการปวดข้อจากสาเหตุนี้ มักปวดได้ทุกข้อทั่วร่างกาย แต่ที่พบบ่อย คือ ปวดข้อเข่าจากข้อเข่าเสื่อม และปวดหลังจากกระดูกสันหลังเสื่อม
  • การงานอาชีพที่ใช้ข้อต่างๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ งานเย็บปักถักร้อย ที่ส่งผลต่อการเจ็บปวด ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำ)
  • การเล่นกีฬาบางชนิดที่มีผลต่อการใช้ข้อซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น โรคของข้อศอกจากเล่นเทนนิส, โรคของข้อเท้าจากการเล่นฟุตบอล
  • ข้อนั้นๆรับน้ำหนักมากเกินไป เช่น การยก/แบกของหนัก หรือในคนโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ข้ออักเสบติดเชื้อ เช่น มีแผลที่ผิวหนังแล้วเชื้อลุกลามเข้าข้อที่อยู่ข้างเคียงผิวหนังส่วนเกิดแผลนั้น
  • เป็นอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการไข้ เช่น ไข้หวัดใหญ่, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค(เช่น โรคหนองใน)
  • เป็นอาการหนึ่งของการอักเสบโดยไม่ติดเชื้อของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่รวมทั้งเนื้อเยื่อข้อ เช่น โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี) โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคมะเร็งกระดูก หรือโรคมะเร็งอื่นๆที่แพร่กระจายมายังกระดูก เช่นแพร่มาจาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด(เช่น Isoniazid), ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด(เช่น ยา Simvastatin), และยาต้านฮอร์โมนบางชนิดที่รักษาโรคมะเร็งเต้านม (เช่น ยา Anastrozole)

มีอาการอื่นร่วมกับปวดข้อไหม?

ปวดข้อ/อาการปวดข้อ มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆได้เสมอ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • อาการไข้จากการติดเชื้อ
  • อาการอ่อนเพลีย
  • ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • อาการ บวม แดง ร้อน ของข้อ เมื่อเกิดจากข้ออักเสบติดเชื้อ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อปวดข้อ/มีอาการปวดข้อ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • อาการปวดข้อเกิดภายหลังอุบัติเหตุ
  • ข้อบวมมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ข้อ บวม ปวด ที่เกิดทันที อาจมีแดง ร้อน ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เพราะอาจเกิดจาก ข้ออักเสบติดเชื้อ ที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์
  • ปวดข้อเรื้อรัง นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือ อาการปวดข้อไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองนาน 1-2 สัปดาห์
  • ปวดข้อร่วมกับมีอาการ ไข้ ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ
  • ปวดข้อร่วมกับมีผื่นขึ้น และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกาย โต คลำได้ และ/หรือมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย
  • ปวดข้อร่วมกับมีอาการใช้ข้อผิดปกติ หรือ เจ็บปวดข้อมากเมื่อเคลื่อนไหวข้อจนต้องจำกัดการใช้ข้อ

***อนึ่ง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน หลังเกิดอุบัติเหตุแล้วมีอาการปวดข้อที่เกิดร่วมกับ

  • มีข้อบวมอย่างรวดเร็ว เพราะแสดงว่าอาจมีเลือดออกในข้อ
  • เคลื่อนไหวข้อไม่ได้เลย
  • ผิวหนังใกล้ข้อฉีกขาด หรือ เห็นกระดูกข้อ
  • รูปร่างข้อผิดปกติ
  • เจ็บปวดข้อมาก

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของปวดข้ออย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของปวดข้อ/อาการปวดข้อได้จาก

  • ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ การงาน/อาชีพ การเล่นกีฬา งานอดิเรก อุบัติเหตุต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจดูและคลำข้อต่างๆ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด เช่น ซีบีซี (CBC)ดู ภาวการณ์อักเสบ, ดูสารภูมิต้านทานของโรคต่างๆ
    • ตรวจน้ำ/ของเหลวภายในข้อด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    • ตรวจภาพข้อด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือ เอมอาร์ไอ
    • ส่องกล้องตรวจภายในข้อ อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาอาการปวดข้ออย่างไร?

แนวทางการรักษาปวดข้อ/อาการปวดข้อ คือ การรักษาสาเหตุ และ การรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. การรักษาสาเหตุ: คือ การรักษาโรคหรือภาวะ(โรค-อาการ-ภาวะ)ที่เป็นสาเหตุให้ปวดข้อ เช่น รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่ออาการปวดข้อเกิดจากไข้หวัดใหญ่, รักษาโรคหนองในเมื่ออาการปวดข้อเกิดจากโรคหนองใน

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • การ กิน ทา พ่นยา หรือ แปะ ยาแก้ปวด
  • กินยาคลายกล้ามเนื้อรอบๆข้อที่หดเกร็งซึ่งอาจเกิดร่วมกับการปวดข้อ
  • การทำกายภาพบำบัด โดยเฉพาะเมื่อมีอาการข้อติดร่วมกับการปวดข้อ และ
  • ในบางกรณี อาจต้องพักใช้ข้อที่มีอาการปวด

ปวดข้อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการปวดข้อ/ปวดข้อขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ถ้าอาการปวดเกิดจากการมีไข้ เมื่อไข้ลง อาการปวดข้อก็จะหายไปเอง
  • แต่อาการปวดข้อจะรุนแรงขึ้นเมื่อข้อได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และ
  • อาการปวดข้อจะรุนแรงมากเมื่อสาเหตุปวดข้อเกิดจากโรคมะเร็ง

ผลข้างเคียงที่เกิดจากอาการปวดข้อ คือ การจำกัดการใช้ข้อนั้นๆเนื่องจากอาการเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อ รวมทั้งอาจเกิดการยึดติดของข้อจนข้อนั้นๆใช้งานไม่ได้จน กลายเป็นคนพิการ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปวดข้อ?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดข้อ คือ

  • พักการใช้ข้อที่เจ็บ โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากอุบัติเหตุ ควรหาทางดามไม่ให้ข้อที่ได้รับอุบัติเหตุเคลื่อนไหว เพราะอาจทำให้ข้อเคลื่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกระดูกหักร่วมด้วย
  • การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อ เมื่อเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรประคบเย็นที่ข้อเพื่อ ลดอาการข้อบวม, ลดภาวะเลือดออก, และยังช่วยบรรเทาเจ็บปวดข้อได้ด้วย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง “ประคบร้อนประคบเย็น”)
  • ถ้าเป็นอาการปวดข้อเรื้อรัง การประคบอุ่น/ประคบร้อนที่ข้อที่ปวดครั้งละประมาณ 10 นาที วันละ 2-3 ครั้งอาจช่วยบรรเทาปวด ช่วยเพิ่มเลือดมาเลี้ยงข้อ อาจช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง “ประคบร้อน ประคบเย็น”)
  • นวดเบาๆบริเวณข้อที่ปวดสม่ำเสมอ
  • การพักใช้ข้อถาวร จะยิ่งเพิ่มการยึดติดของข้อ ดังนั้นจึงควรใช้ข้อ/เคลื่อนไหวข้อบ้าง เท่าที่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บ/ปวดข้อมากขึ้น และตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ
  • กินยาแก้ปวดพาราราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาแก้ปวดอื่นตามแพทย์แนะนำ
  • พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีโรคอ้วนและมีน้ำหนักตัวเกิน เมื่อมีการปวดข้อในส่วนข้อที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า และข้อสะโพก
  • ควรออกกำลังกาย เคลื่อนไหวข้อที่ปวดเสมอ โดยให้เหมาะสมกับสุขภาพตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัด
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อ
  • *ถ้าได้พบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง หรือไม่ดีขึ้น เช่น ปวดข้อมากขึ้น ข้อบวมมากขึ้น
  • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ข้อบวม-แดง
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้องมาก วิงเวียนศีรษะ อุจจาระเป็นเลือด
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันอาการปวดข้ออย่างไร?

การป้องกันปวดข้อ/อาการปวดข้อ คือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งในภาพรวมที่สำคัญ ได้แก่

  • ระมัดระวังอุบัติเหตุต่อข้อ และใช้เครื่องช่วยป้องกันที่ได้มาตรฐานเสมอ เช่น ใช้อุปกรณ์ต่างๆที่ช่วยพยุงการทำงานของข้อ เช่น การพยุงข้อเข่าด้วยKnee support หรือ การพยุงข้อเท้าด้วย Ankle support
  • รู้จักวิธี ที่ถูกต้องเมื่อมีการต้องใช้งานข้ออย่างต่อเนื่อง เช่น ในการทำงาน การกีฬา หรืองานอดิเรก (เช่น งานเย็บปัก ถักร้อย)
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อที่อาจส่งผลให้เกิดการปวดข้อ หรือ เกิดข้ออักเสบติดเชื้อ
  • มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย รู้จักการใช้ถุงยางอนามัยชาย และไม่สำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคที่ทำให้เกิดข้ออักเสบติดเชื้อร่วมด้วยได้ เช่น โรคหนองใน
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน, ไม่สูบบุหรี่, ไม่ดื่มสุรา, งด/เลิกบุหรี่ และเลิกสุราเมื่อบริโภคอยู่, เพื่อความแข็งแรงของเนื้อเยื่อทุกชนิดรวมทั้งของข้อ เพื่อชะลอไม่ให้เนื้อเยื่อต่างๆและเนื้อเยื่อข้อเสื่อมก่อนวัย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เพื่อข้อได้เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ ลดโอกาสเกิดภาวะข้อติด ที่จะส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อ
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ป้องกัน รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อ เช่น โรคกระดูกพรุน

บรรณานุกรม

  1. Chokkalingam, S. et al. (2003). Diagnostic acute monoarthritis in adults: a practical approach for the familial physician. Am Fam Physician. 68, 83-90.
  2. Richie, A., and Francis, M. (2003). Diagnosis approach to poly articular joint pain. Am Fam Physician. 68, 1151-1160.
  3. Pinals, R. (1994). Polyarthritis and fever. N Engl J Med. 330, 769-775.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Arthritis [2021,July31]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Arthralgia [2021,July31]
  6. https://patient.info/doctor/aching-joints-assessment-investigations-and-management-in-primary-care [2021,July31]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/336054-overview#showall [2021,July31]