logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ คลื่นไส้ + เวียนหัว

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : คลื่นไส้ + เวียนหัว

คลื่นไส้เป็นอาการที่อยากจะอาเจียน ส่วนอาเจียนคือการที่อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กตอนบนถูกขับออกมาอย่างรุนแรงจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กตอนบน ผ่านทางหลอดอาหารเข้าสู่ช่องปาก โดยเกิดขึ้นจากแรงบีบตัวทันทีของกล้ามเนื้อของกะบังลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทรวงอก และของหน้าท้อง ซึ่งสมองที่ควบคุมอาการคลื่นไส้ คือ สมองใหญ่ (Cerebral cortex) และสมองที่ควบคุมการอาเจียน คือ ก้านสมอง (Brain stem) โดยสาเหตุของอาการคลื่นไส้ อาเจียน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

ก. จากความผิดปกติในช่องท้อง เช่น การติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้องจากไวรัสหรือแบคทีเรีย การอุดตันในทางเดินอาหาร การอักเสบของกระเพาะอาหาร

ข. จากความผิดปกตินอกช่องท้อง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคต่างๆ ของหูชั้นใน โรคทางสมอง

ค. สาเหตุอื่นๆ: เช่น จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด สารพิษบางชนิด ในบางภาวะหรือบางโรคของต่อม

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการคลื่นไส้อาเจียน ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • รุนแรงน้อยเมื่อเกิดจากการจินตนาการ
  • รุนแรงปานกลางเมื่อเกิดจากลำไส้อุดตัน
  • รุนแรงมากเมื่อเกิดจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง

ส่วนผลข้างเคียงจากคลื่นไส้อาเจียน เช่น

  • ขาดอาหาร กรณีอาเจียนต่อเนื่อง
  • อ่อนเพลีย จาก กิน ดื่ม และพักผ่อนได้น้อย
  • ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากอาเจียนจนเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะน้อย ใจสั่น วิงเวียน เป็นลม

ถ้าอาเจียนรุนแรง อาจอาเจียนเป็นเลือดได้จากหลอดเลือดในกระเพาะอาหารหรือในหลอดอาหาร

  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • ในขณะมีอาการไม่ควรนอนราบ ควรนอนเอนตัวเพื่อป้องกันการสำลักอาหารจากอาเจียนเข้าหลอดลมและปอด
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ โดยจิบน้ำ หรือ น้ำผลไม้บ่อยๆ
  • กินอาหารครั้งละน้อยๆ โดยเพิ่มมื้ออาหาร ไม่ควรกินในช่วงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาหารควรเป็นอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว หรืออาหารน้ำ
  • ควรอยู่ในสถานที่ถ่ายเทอากาศได้ดี สะอาด ไม่มีกลิ่น ไม่สว่างมาก ไม่ร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะเวลานอนและขณะกิน
  • สังเกตตัวกระตุ้นอาการเสมอเพื่อหลีกเลี่ยง
  • สังเกตลักษณะของอาเจียน เช่น ขม (จากมีน้ำดีปน) หรือมีเลือดปน เพื่อแจ้งแพทย์ พยาบาล เพราะแพทย์ใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุอาการเพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง
  • กินยาบรรเทาอาการตามที่แพทย์แนะนำ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่ออาการอาเจียนไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังดูแลตนเอง หรือมีไข้สูง ปวดท้องมาก อาเจียนเป็นเลือด ปวดศีรษะมาก คอแข็ง แขนขา อ่อนแรง (อาการของโรคทางสมอง)