ข้อเข่าเสื่อม: กายภาพบำบัด (Physical therapy for knee osteoarthritis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัจุบัน โรคข้อเข่าเสื่อม(Knee osteoarthritis) เข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรสูงขึ้น และการค่อยๆขยับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันอันใกล้ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ การรักษา รวมถึงการป้องกันโรคนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้กายภาพบำบัดได้เข้ามามีสำคัญอย่างมากในการ บรรเทาอาการ และชะลอความเสื่อมของข้อเข่าอักเสบที่จะเพิ่มขึ้น

โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร?

ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย พบได้ในทั้งสองเพศ แต่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มักพบในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายและผู้สูงอายุ เกิดจากการที่ผิวของกระดูกข้อต่อ(Bone Cartilages) มีการเสื่อมสภาพ ขรุขระ ไม่เรียบเสมอกัน ในผู้ป่วยบางรายอาจจะพบว่ามีหินปูน หรือกระดูกชิ้นเล็กๆ (Bone Spur) งอกออกมา กระดูกใต้ผิวข้อหนา และแข็งตัวขึ้น นอกจากนี้ยังมีถุงน้ำเกิดขึ้นในเนื้อกระดูกได้อีกด้วย สาเหตุของข้อเข่าเสื่อมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ตามสาเหตุการเกิด คือ

1. เกิดจากการใช้งาน (Primary Osteoarthritis): เป็นภาวะที่การเสื่อมเกิดขึ้นตามวัย มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกมาย เช่น

  • อายุมากกว่า 40 ปี
  • เพศหญิงมีโอกาสเกิดมากกว่าเพศชายเพราะการทำงานของระบบฮอร์โมน
  • น้ำหนักตัวมาก
  • ท่าทางในกิจวัตรประจำวันที่เกิดแรงเสียดสีต่อข้อเข่า
  • และมีการใช้งานข้อเข่าซ้ำๆ รวมถึงกรรมพันธุ์

2. เกิดจากสาเหตุอื่นซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม (Secondary Osteoarthritis): เช่น

  • โครงสร้างในข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นตัวข้อต่อเอง หรือเส้นเอ็น
  • การบาดเจ็บเรื้อรังจากการเล่นกีฬา
  • ข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง
  • และโรคข้ออักเสบรูมาตอย์

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง?

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะใหญ่ๆ คือ

1. ระยะเริ่มเสื่อม:

  • มีอาการปวดในข้อเข่าเป็นๆ หายๆ ปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน เช่น เดิน ยืน หรือขึ้น-ลงบันได
  • เมื่อได้พักอาการจะดีขึ้น
  • ขณะเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งอาจจะรู้สึกฝืดๆในข้อ
  • ในบางรายอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบซึ่งเกิดจากการเสียดสีกันของผิวข้อด้วย

2. ระยะมีการเสื่อมของผิวข้อต่อมาก:

  • อาการปวดเข่ารุนแรงขึ้น อาจจะปวดตลอดเวลาจนรบกวนการนอนหลับ
  • อาจคลำพบกระดูกเล็กๆที่งอกออกมาบริเวณด้านข้างของข้อเข่า
  • เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขา จะมีอาการเจ็บบริเวณใต้ลูกสะบ้า
  • ในบางรายที่อาการรุนแรงมาก
    • ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าจะลดลง
    • เหยียดเข่าได้ไม่สุด
    • กล้ามเนื้อต้นขาลีบ
    • ขาโก่งผิดรูปทำให้มีความยากลำบากได้การทำกิจวัตรประจำวันอย่างมาก

การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของโรคข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่เข้ารับการรักษากายภาพบำบัดที่คลีนิคกายภาพบำบัดมักถูกส่งต่อมาจากแพทย์เฉพาะทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ แพทย์จะวินิจฉัยด้วย

  • กายถ่ายภาพเอ็กซเรย์ข้อเข่า
  • ร่วมกับผลการตรวจร่างกายอื่นๆ
  • รวมถึงประวัติที่คนไข้ให้กับแพทย์ เช่น
    • น้ำหนักตัวมาก
    • อายุมากกว่า50 ปี
    • มีอาการฝืดแข็งของข้อต่อในตอนเช้าน้อยกว่า 30 นาที

และเมื่อมาถึงคลีนิคกายภาพบำบัด สิ่งที่นักกายภาพบำบัดจะประเมิณเป็นอันดับแรกๆ คือ

  • ระดับความเจ็บปวด
  • ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ/ข้อเข่า
  • และความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน

การประเมิณความเจ็บปวด: นักกายภาพอาจจะถามเป็นตัวเลขให้คนไข้เลือกตอบตั้ง แต่ 0-10 คะแนน 0 คือไม่ปวดเลย, 10 คือปวดจนทนไม่ไหว

การประเมิณช่วงการเคลื่อนไหว: ทำได้โดยการวัดด้วยเครื่องมือวัดองศาข้อต่อ (Goniometer) นักกายภาพ ขอให้ผู้ป่วยค่อยๆ งอ-เหยียดเข้อเข่าก่อนจะบันทึกองศาการเคลื่อนไหวไว้

การประเมิณความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน: นักกายภาพอาจจะเลือกใช้แบบสอบถามและถามข้อมูลจากผู้ป่วยหรือญาติ นอกจากนี้การสังเกตท่าทางขณะเข้ารับบริการทางกายภาพบำบัด เช่น การเดิน การนั่งก็สามารถใช้เป็นข้อมูลได้

นอกจากนี้ การสังเกตการอักเสบที่บริเวณข้อเข่าของผู้ป่วยก็มีความสำคัญ เช่น รูปร่างของข้อเข่า, อาการบวม แดง ร้อน ซึ่งบ่งชี้ถึงการอักเสบ, ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจร่างกายของนักกายภาพฯ จะถูกนำไปรวมกับประวัติที่ได้รับจากแพทย์ เพื่อนำไปตั้งเป้าหมายของการรักษาและใช้ประเมิณผลการรักษาอีกที

ถ้าการรักษาทางกายภาพบำบัดไม่ได้ผล นักกายภาพบำบัดจะพิจารณาส่งผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออีกครั้ง เพื่อแพทย์พิจารณาการให้การรักษาทางยา หรือการผ่าตัดต่อไป

การรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง?

การรรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย ในที่นี้จะขอกล่าวถึง 3 การรักษาสำคัญ และตัวอย่างที่อาจจะพบได้เมื่อเดินทางไปรับการรักษาที่คลีนิคกายภาพบำบัด

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีด้วยกัน 2 ข้อหลักๆ คือ ควบคุมอาการปวด, และคงช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าไม่ให้ลดลง วิธีการ คือ

1. การลดปวดด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด: มีเครื่องมือทางกายภาพบำบัดหลายชนิดที่เป็นที่นิยมใช้เพื่อลดอาการปวดข้อเข่า ในที่นี้จะขอกล่าวถึง การรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound Therapy), และรังสีคลื่นสั้น (Shortwave Therapy) การรักษาทั้ง 2 วิธีเริ่มจากให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางที่สบาย เช่น นอนหงาย

สำหรับอัลตราซาวนด์: นักกายภาพบำบัดจะใช้เจลทาลงบนผิวของคนไข้ ก่อนก็จะหมุนหัวของเครื่องอัลตราซานด์ไปรอบๆบริเวณข้อเข่า ใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ5-7นาที ขึ้นกับความกว้างของบริเวณที่มีอาการปวด ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้สึกเลย หรือรู้สึกอุ่นเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไปเท่านั้น

สำหรับเครื่องรังสีคลื่นสั้น: นักกายภาพบำบัดจะวางหัวของอุปกรณ์คร่อมข้อเข่าข้างที่มีอาการปวด ตลอดการรักษาจะให้ความรู้สึกอุ่นสบาย ด้วยทั่วไปใช้เวลารักษาประมาณ 20 นาที ขณะรักษาด้วยวิธีนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปรณ์อิเลกทรอนิกส์ และถ้ารู้สึกร้อนเกินไป ควรรีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที

2. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า: ในทางกายภาพบำบัดแล้ว มีวิธีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่เป็นที่นิยมของผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อม คือ

  • การออกกำลังกายในน้ำ (Hydrotherapy) เพราะแรงลอยตัวของน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ลดแรงกระทำที่จะเกิดขึ้นกับข้อเข่าขณะออกกำลังกายกาย นอกจากนี้ยังอาศัยน้ำเป็นแรงต้านขณะออกกำลังกายได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีคลีนิคกายภาพหลายแห่งประยุกต์การออกกำลังกายในน้ำโดยที่ไม่ต้องใช้สระน้ำขนาดใหญ่และให้คนไข้ลงไปในสระทั้งตัว ใช้เพียงถังน้ำอุ่นวน(Whirl pool bath) ซึ่งนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายในน้ำแล้ว การไหลวนวนของน้ำยังเหมือนการนวดเบาๆ ช่วยลดอาการบวม เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และอุณหภูมิของน้ำอุ่น ก็ช่วยให้กล้ามเนื้อหรือโครงสร้างที่หดรั้งมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย

3. การเลือกอุปกรณ์พยุงข้อเข่าและอุปกรณ์ช่วยเดิน: ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการผิดรูปของข้อเข่า หรือมีอาการปวดจนรบกวนการทรงตัว นักกายภาพบำบัดอาจจะแนะนำอุปกรณ์พยุงข้อเข่าให้ ซึ่งมีหลากหลายแบบเหมาะกับอาการที่แตกต่างกัน

แต่โดยทั่วไปแล้ว จะเป็นแบบสวมขึ้นมาจากข้อเท้า แล้วดึงให้รัดประคองเหนือและใต้ข้อเข่าประมาณ15 เซนติเมตร ซึ่งข้อควรระวังคือ

  • เวลาใส่ต้องไม่รัดแน่นเกินไป
  • ระวังไม่ให้เกิดรอยพับหรือย่นของอุปกรณ์เพราะจะทำให้การไหลเวียนเลือดเป็นไปได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดอาการบวมได้
  • อาจใส่ไว้ได้ตลอดทั้งวัน แต่ไม่แนะนำให้ใส่นอน

อุปกรณ์ช่วยเดินสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่นิยมมากที่สุดคือ ไม้เท้าก้านเดียว (Single Cane) ความสูงที่พอเหมาะคือ เมื่อถือและวางปลายไม้เท้าห่างจากนิ้วก้อยเท้าออกไปประมาณหนึ่งฝ่ามือ ความสูงของไม้เท้าจะอยู่ประมาณปุ่มกระดูกของสะโพก (Trochanters)เมื่อข้อศอกงอเล็กน้อย เหมือนอยู่ในท่าล้วงกระเป๋า

ก่อนออกจากคลีนิคกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะแนะนำวิธีการเดินที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงวิธีการเดินขึ้น-ลงบันได, การวางและการกดไม้เท้าขณะลุกขึ้นยืนด้วย

การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?

การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ส่งเสริมให้มีการเสียดสีของข้อเข่ามากขึ้น เช่น นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง
  • ควรนั่งบนเก้าอี้ขณะทำกิจกรรมต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการ ยืน เดินนานๆ ถ้าจำเป็นอาจจะต้องใช้อุปรณ์พยุง เช่น ไม้เท้า หรือผ้ารัดข้อเข่าเพื่อลดแรงกระทำที่เกิดขึ้นกับข้อเข่าด้วย
  • เลือกการออกกกำลังกายให้เหมาะสม งดการวิ่งหรืออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกเยอะๆ การออกกำลังกายที่แนะนำ เช่น
    • การเดินในน้ำ
    • การเดินช้าๆบนบก
    • หรือการปั่นจักรยานฟิตเนสเบาๆ เพื่อคงช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อไว้ไม่ให้ติดขัดมากขึ้น
  • หากมีอาการปวดเข่าร่วมกับมีอาการอักเสบ ซึ่งสังเกตได้จากการมีอาการ บวม แดง ร้อน ร่วมด้วย แนะนำให้ประคบด้วยความเย็น/ประคบเย็น โดยใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก ห่อด้วยผ้าขนหนู ประคบไว้ 15-20 นาที
  • หากมีเพียงอาการปวดเข่าเท่านั้น แนะนำให้ประคบด้วยความร้อน/ประคบร้อน อาจจะใช้แผ่นประคบร้อนไฟฟ้า หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นอุณหภูมิ 43.5-45.5 องศาสเซลเซียส(Celsius, ๐C) ประคบไว้ประมาณ 20 นาที
  • ทั้งการประคบร้อนและประคบเย็นสามารถทำได้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า เพื่อให้ช่วยประคองข้อเข่าให้มั่นคงก็เป็นสิ่งจำเป็น ทำได้โดย
    • การนั่งบนเก้าอี้
    • ใช้ถุงทรายสำหรับออกกำลังกายรัดไว้ที่ข้อเท้าข้างที่ต้องการออกกำลังกาย
    • ออกแรงงอ-เหยียดข้อเข่า ขณะเหยียดข้อเข่าขึ้นตึง ให้ค้างไว้ ร่วมกับค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้น แล้วค่อยผ่อนข้อเท้าลง งอเข่ากลับลงวางที่พื้น
    • ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต ทำได้วันละ2 รอบ
    • ถ้ามีอาการปวดเพิ่มขึ้นให้หยุดทำทันที
  • ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสม จะสามารถช่วยลดแรงกระทำที่จะเกิดขึ้นกับเข่าได้ เมื่อแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อเข่าน้อยลง อาการปวดและการสึกหรอที่มากขึ้นของผิวข้อก็จะลดน้อยลงด้วย โดยรองเท้าที่ดีควรมี
    • พื้นนุ่มสบาย
    • รองรับอุ้งเท้าได้พอดี
    • ไม่รัดหรือหลวมจนเกินไป

สรุป

ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ไม่ร้ายแรง สามารถบรรเทาอาการและความรุนแรงได้หากเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมในชีวิติประจำวัน

หากสงสัยว่าเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม การเข้าพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดโดยเร็ว เพื่อหาทางป้องกัน และหลีกเลี่ยงความพิการที่จะเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

บรรณานุกรม

  1. วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท และคณะ. คู่มือโรคข้อเข่าเสื่อม. หน่วยข้อสะโพกและข้อเข่า ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี.
  2. EMHM Vogels, HJM Hendriks, ME van Baar et al. Clinical practice guidelines for physical therapy in patients with osteoarthritis of the hip or knee. KNGF-guidelines for physical therapy in patients with osteoarthritis of the hip or knee.2003
  3. Royal Dutch Society for Physical Therapy. KNGF Guideline for Physical Therapy in patients with Osteoarthritis of the hip and knee. Supplement to the Dutch Journal of Physical Therapy Vol.120. 2010
  4. American Academy of Orthopaedic Surgeons. TREATMENT OF OSTEOARTHRITIS OF THE KNEE EVIDENCE-BASED GUIDELINE 2ND EDITION. May 2013