ตากะปริบ โรคหนังตากระตุก (Blepharospasm)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 25 มีนาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- โรคตากะปริบคืออะไร?
- โรคตากะปริบเกิดจากอะไร?
- โรคตากะปริบพบบ่อยหรือไม่? ใครมีโอกาสเป็นได้บ้าง?
- อาการเริ่มต้นของโรคตากะปริบคืออะไร?
- โรคตากะปริบมีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น?
- โรคตากะปริบถ้าเป็นนานๆ จะลืมตาไม่ขึ้นหรือไม่?
- เมื่อมีอาการ เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
- แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคตากะปริบ?
- โรคนี้ต่างจากการกะพริบตาบ่อยๆอย่างไร?
- โรคตากะปริบทำให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง? ทำให้ตาบอดได้ไหม?
- โรคตากะปริบรักษาอย่างไร?
- ใครควรรักษาอย่างไร?
- การรักษาด้วยการฉีดยาโบทูไลนุม ทอกซินได้ผลดีอย่างไร?
- ถ้าอาการไม่หายด้วยการรักษา 2 วิธีข้างต้นจะทำอย่างไร?
- ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาสม่ำเสมอนานเท่าไหร่?
- ยาที่ใช้รักษาโรคตากะปริบ มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง?
- กรณีใดบ้างที่ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด?
- สามารถไปรักษาที่คลินิกทั่วไปเพื่อฉีดโบทูไลนุม ทอกซินได้หรือไม่?
- ถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น?
- เมื่อเป็นโรคตากะปริบควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ขณะตากำลังกะปริบควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันโรคตากะปริบได้ไหม?
บทนำ
หลายคนคงสงสัยว่าอยู่ดีๆ เปลือกตา (หนังตา) ก็กะพริบเอง ทำให้ลืมตาลำบากมาก ยิ่งเวลาดูทีวี หรือออกแดดมองไม่เห็นอะไรเลย จะเป็นอาการเตือนของอัมพาตหรือไม่ จะรักษาหรือดูแลตนเองให้ดีทำอย่างไร ติดตามหาคำตอบได้จากบทความนี้ครับ “โรคตากะปริบ (Bleb pharospasm)” ทั้งนี้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พศ. 2542 กระปริบ หมายถึง กะ พริบถี่ๆ ดังนั้น โรคตากะปริบ คือโรคที่ตาหรือเปลือกตา (หนังตา) กะพริบถี่ๆ
โรคตากะปริบคืออะไร?
โรคตากะปริบ คือ โรคที่มีอาการกะพริบตาหรือหลับตาทั้ง 2 ข้าง อย่างแรงและถี่มาก กว่าปกติ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเอง ไม่สามารถควบคุมได้ โดยบางคนมีอาการกะพริบตาอย่างเดียว บางคนมีอาการเกร็งของเปลือกตา/หนังตาด้วย ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น มองไม่เห็น
โรคตากะปริบเกิดจากอะไร?
โรคตากะปริบ เกิดจากมีการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบตา (Orbicularis oculi) แบบควบคุมไม่ได้ เกิดจาก 2 กลุ่มสาเหตุ คือ
- ชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Essential blepharospasm) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด และ
- ชนิดทราบสาเหตุ เช่น โรคพาร์กินสัน ผลข้างเคียงจากยากลุ่มที่รักษาโรคจิตเภท โรคสารทองแดงสะสมเกินในร่างกาย (Wilson’s disease) โรคสมองขาดเลือดมาเลี้ยงในบริเวณก้านสมอง
โรคตากะปริบพบบ่อยหรือไม่? ใครมีโอกาสเป็นได้บ้าง?
โรคตากะปริบเป็นโรคที่พบไม่บ่อย ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบ 5 รายต่อประชากร 100,000 ราย จึงคาดว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 3,000 ราย ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อย พบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย พบในผู้ ป่วยโรคอัมพาต โรคพาร์กินสัน โรคจิตเภท (Schizophrenia) และในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าบุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ โรคตากะปริบเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้างเสมอ เพียงแต่ช่วงแรกในบางรายที่เริ่มต้นด้วยอาการเพียงข้างเดียว แต่ภายหลังก็จะเป็นสองตา/สองข้าง
อาการเริ่มต้นของโรคตากะปริบคืออะไร?
ผู้ป่วยโรคตากะปริบ อาจมีอาการอื่นๆทางตานำมาก่อน เช่น ตาอักเสบ ตากลัวแสง (มองแสงสว่างแล้วแสบตา น้ำตาไหล) ตาแห้ง เจ็บตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล รวมทั้งอาการซึม เศร้า ต่อมามีอาการกะพริบตาถี่ๆหรือบ่อยๆ เกินปกติ (ปกติประมาณ 12-20 ครั้ง/นาที) และถ้าเป็นรุนแรง เปลือกตาจะกะพริบบ่อยมากและหดเกร็ง จนเปลือกตาปิดตลอดเวลา มองไม่เห็นเหมือนคนตาบอด (Functional blindness) บางครั้งมีอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของใบหน้าด้วย เช่น ที่แก้ม หรือที่ขมับ
โรคตากะปริบมีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น?
สิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคตากะปริบ ที่พบบ่อย คือ แสงจ้า แสงแดด ดูทีวี อ่านหนังสือนานๆ ความเครียด การขับรถนานๆ และอาการจะดีขึ้นเมื่อนอนหลับ พักผ่อนเต็มที่ ผ่อนคลาย มีสมาธิ และมองลงด้านล่าง
โรคตากะปริบถ้าเป็นนานๆ จะลืมตาไม่ขึ้นหรือไม่?
โรคตากะปริบจะค่อยๆมีอาการเพิ่มขึ้น บางคนเป็นนานมากกว่า 7 ปี จึงมาพบแพทย์ เพราะการดำเนินโรค (ธรรมชาติของโรค) ค่อนข้างเป็นมากขึ้นอย่างช้ามาก โรคนี้ไม่หายเอง บางรายเริ่มมีอาการที่ตาเดียวก่อน แต่ส่วนใหญ่ภายใน 2 ปี จะเป็นทั้ง 2 ข้าง/2 ตา
เมื่อมีอาการ เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการที่รุนแรง เช่น มองไม่เห็น รำคาญมากและกังวลมาก
แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคตากะปริบ?
โรคตากะปริบ ไม่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ แพทย์จะดูจากอาการกะพริบตา ที่พบว่าถี่กว่าปกติหรือจากมีตาปิดสนิท บางรายจะพบมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า ปาก คอ ร่วมด้วย ในบางรายแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้นิ้วกดที่คิ้วและตาจะลืมขึ้นได้ (Sensory trick) ซึ่งเป็นลักษณะของโรคนี้
โรคนี้ต่างจากการกะพริบตาบ่อยๆอย่างไร?
โรคตากะปริบ จะกะพริบตาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่สามารถบังคับให้เป็นหรือหยุดเป็นได้ แต่การกะพริบตาเองบ่อยๆจนเป็นนิสัยนั้น เกิดจากความตั้งใจสั่งให้ทำ จึงสามารถหยุดหรือฝืนกะพริบตาได้
โรคตากะปริบทำให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง? ทำให้ตาบอดได้ไหม?
โรคตากะปริบ ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา รบกวนการมองเห็นและความมั่นใจในตน เอง เพราะมีการกะพริบตาบ่อยๆ บางรายที่มีอาการรุนแรง มีการกะพริบตาบ่อยๆและมีการเกร็งค้างร่วมด้วย ส่งผลให้มองไม่เห็น คล้ายกับตาบอดเพราะเปลือกตาปิดสนิท แต่ไม่ได้เป็นตาบอดจริงๆ เพราะไม่ได้เป็นโรคของลูกตาจริงๆ และนอกจากนั้น ไม่ทำให้เกิดอัมพาตของใบหน้า
อนึ่ง โรคตากะปริบไม่เกี่ยวข้องกับโรคอัมพาต เพราะเป็นเฉพาะการเคลื่อนไหวของกล้าม เนื้อบริเวณรอบดวงตาผิดปกติเท่านั้น และสามารถรักษาให้ดีเป็นปกติได้โดยพบแพทย์ผู้เชี่ยว ชาญ
โรคตากะปริบรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคตากะปริบ มีหลายวิธี แต่ที่นิยมกันมากๆ มี 2 วิธี คือ
- การรักษาด้วยการทานยา
- การรักษาด้วยการฉีดโบทูไลนุม ทอกซิน (Botulinum toxin)
ใครควรรักษาอย่างไร?
การจะรักษาด้วยวิธีใด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยเป็น และจากสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ ถ้าอาการไม่รุนแรง ยังไม่เคยรักษามาก่อนเลย แพทย์จะเริ่มให้ยาทานก่อน เช่น ยา อาร์เทน (Artane), ลีโวโดปาร์ (Levodopa), คลอนาซีแปม (Clonazepam) เป็นต้น ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 3 จะตอบสนองต่อการรักษา แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาชนิดนั้นต่อ เนื่องไปตลอด แต่ถ้าไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการฉีดยาโบทูไลนุม ทอกซิน
การรักษาด้วยการฉีดยาโบทูไลนุม ทอกซินได้ผลดีอย่างไร?
โรคตากะปริบ ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉีดโบทูไลนุม ทอกซิน ดีมาก คือ อาการจะลดลง ได้ผลมากกว่า 90% แต่ข้อจำกัดของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ ต้องมาฉีดยาดังกล่าวทุก 3 เดือน ค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง โดยไม่สามารถใช้สิทธิต่างๆเบิกค่ารักษา พยาบาลได้
ถ้าอาการไม่หายด้วยการรักษา 2 วิธีข้างต้นจะทำอย่างไร?
ถ้าอาการยังไม่หายด้วยการรักษา 2 วิธีข้างต้น แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดกล้ามเนื้อรอบๆดวงตา รวมทั้งการผ่าตัดเส้นประสาทใบหน้า แต่เป็นการรักษาที่ยากมาก ยังไม่นิยม เพราะผลที่ได้ยังไม่แน่นอน
ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาสม่ำเสมอนานเท่าไหร่?
โรคตากะปริบ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาอย่างสม่ำ เสมอทุกๆ 3 เดือน ตลอดไป แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง จะลองหยุดยาก็สามารถทำได้ ซึ่งควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาเป็นรายๆไป
ยาที่ใช้รักษาโรคตากะปริบ มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง?
ยาที่ใช้รักษาโรคตากะปริบ ชนิดทานนั้น มีข้อเสียที่พบบ่อยคือ ง่วง ปากแห้ง คอแห้ง ความจำไม่ค่อยดี ถ้ามีอาการดังกล่าวควรบอกให้แพทย์ทราบ ส่วนโบทูไลนุม ทอกซิน บางครั้งหลังการฉีดใหม่ๆ 1-2 สัปดาห์ อาจมีการมองเห็นภาพซ้อน น้ำตาไหลมากและหลับตาไม่สนิท ซึ่งอาการต่างๆจะหายได้เอง ถ้ามีอาการผิดปกติก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมในครั้งถัดไป
กรณีใดบ้างที่ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด?
โดยปกติแพทย์จะนัดทุกๆ 3 เดือน แต่ถ้ามีอาการผิดปกติไปจากเดิม มีผลแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) ของการรักษาจากยาที่เกิดขึ้น หรือมีความกังวลใจในอาการ ก็ควรต้องไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
สามารถไปรักษาที่คลินิกทั่วไปเพื่อฉีดโบทูไลนุม ทอกซินได้หรือไม่?
ปัจจุบันท่านจะพบเห็นการประชาสัมพันธ์ให้บริการฉีดโบทูไลนุม ทอกซิน ตามคลินิกเสริมความงามทั่วไป สำหรับการฉีดในโรคตากะปริบนั้น ไม่แนะนำให้ใช้บริการที่คลินิกเสริมความงาม เพราะโรคตากะปริบต้องพบแพทย์ เพื่อให้ตรวจประเมินให้ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้จริง ไม่มีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย และการฉีดก็ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการฝึกอบรมด้านนี้โดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันเป็นแพทย์ระบบประสาทและอายุรแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรม
ถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น?
โรคตากะปริบนี้ ถ้าไม่รักษา ผู้ป่วยก็มีอาการกระตุกเกร็งค้างและอาจทำให้มองไม่เห็นได้ เพราะมีการปิดของเปลือกตา/หนังตาตลอดเวลา
เมื่อเป็นโรคตากะปริบควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตากะปริบ คือ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สายตาเพ่งอย่างมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมทั้งการใช้สายตาในที่แสงสว่างไม่พอหรือแสงจ้าจัดมาก
ขณะตากำลังกะปริบควรดูแลตนเองอย่างไร?
ขณะตากำลังกะปริบ ควรพักใช้สายตา ผ่อนคลาย และนวดเบาๆบริเวณรอบๆตา
ป้องกันโรคตากะปริบได้ไหม?
การป้องกันโรคตากะปริบไม่สามารถทำได้ แต่สามารถลดอาการ ความรุนแรงได้โดยการคลายเครียด พักการใช้สายตาเป็นระยะๆ ไม่ใช้สายตาในที่แสงสว่างไม่เพียงพอหรือแสงสว่างจ้าเกินไป