ไวรัสตับอักเสบ อี (Hepatitis E)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 มิถุนายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ไวรัสตับอักเสบ-อีเกิดได้อย่างไร?
- ไวรัสตับอักเสบ-อีติดต่อได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไวรัสตับอักเสบ-อี?
- ไวรัสตับอักเสบ-อีมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ-อีได้อย่างไร?
- รักษาไวรัสตับอักเสบ-อีอย่างไร?
- ไวรัสตับอักเสบ-อีรุนแรงไหม? ทีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันไวรัสตับอักเสบ-อีอย่างไร? มีวัคซีนไหม?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- มะเร็งตับ (Liver cancer)
- ดีซ่าน (Jaundice)
- ตัวเหลือง ตาเหลือง (Jaundice)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ไวรัสตับอักเสบ-อี หรือ ตับอักเสบอี (Hepatitis E หรือ Viral hepatitis E)คือโรคไวรัสตับอักเสบอีกชนิดที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ ‘ไวรัสตับอักเสบ อี (Hepatitis E virus เรียกย่อว่า เอชอีวี/ HEV)’ เป็นโรคติดต่อทางปากผ่านการบริโภคอาหาร/น้ำดื่มที่ ปนเปื้อนอุจจาระคนและ/หรือสัตว์ที่มีโรคนี้(Fecal-oral route : การติดต่อจากอุจจาระสู่ปาก)โดยเฉพาะจากน้ำดื่มเป็นหลัก ทั่วไปมีอาการและธรรมชาติของโรคคล้ายกับโรคไวรัสตับอักเสบเอ
ไวรัสตับอักเสบ-อี พบทั่วโลก แต่พบบ่อยกว่ามากในประเทศกำลังพัฒนา เช่น แถบเอเชียโดยเฉพาะในประเทศจีน และประเทศแถบศูนย์สูตร สถิติทั่วโลกพบโรคนี้ได้ประมาณ 20 ล้านคนต่อปี โรคมักพบได้สูงขึ้นในช่วงฤดูฝนในภาวะมีน้ำท่วม และในชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างแออัด เช่น ค่ายอพยพ
ไวรัสตับอักเสบ-อี พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ อายุที่พบโรคได้บ่อยอยู่ในช่วง 15 - 40 ปี ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน
ไวรัสตับอักเสบ-อีเกิดได้อย่างไร?
ไวรัสตับอักเสบ-อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-อี (HEV, Hepatitis E virus) โดย
- การดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไวรัสนี้ ที่เรียกว่า ‘การติดต่อทางอุจจาระสู่ปาก (Fecal-oral route)’ เช่น จากน้ำบ่อ น้ำตามแหล่งธรรมชาติต่างๆ รวมทั้งจากน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งสาเหตุนี้พบได้บ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุของการระบาดที่สำคัญ)
- การปนเปื้อนอุจจาระในอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือสุกๆดิบๆ เช่น ผักสด ผลไม้ไม่ปอกเปลือก หอย ปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ (เช่น เนื้อหมู) ซึ่งสาเหตุนี้พบเป็นสาเหตุรองลงมาจากสาเหตุแรก
- การให้เลือดเมื่ออยู่ในช่วงที่เชื้อไวรัสยังอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งวิธีนี้พบได้น้อย มักเป็นเพียงการรายงานผู้ป่วย
- จากมารดาสู่ทารกในขณะคลอด ซึ่งวิธีนี้พบได้น้อยมากๆ มีเพียงจากรายงานผู้ป่วยเช่น กัน
โดยเมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้ทางน้ำดื่มและอาหาร เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตและเข้าสู่ตับและก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับตามมาในที่สุด แต่ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้อาจไม่มีอาการได้โดย เฉพาะในเด็ก แต่สามารถเป็นผู้แพร่เชื้อผ่านทางอุจจาระได้เสมอ
ไวรัสตับอักเสบ-อี มีมนุษย์เป็นรังโรคโดยเชื้อไวรัสอาศัยอยู่ในลำไส้ นอกจากนั้นรังโรคของไวรัสชนิดนี้ยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น ลิง หมู สุนัข แมว แพะ แกะ ม้า และสัตว์เลี้ยงต่างๆรวมทั้ง เป็ด ไก่ ห่าน ซึ่งสัตว์เหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อมายังคนได้ (Zoonosis) คนก็อาจแพร่เชื้อไปยังสัตว์ หรือแพร่เชื้อในระหว่างสัตว์ด้วยกันได้ จากการปนเปื้อนเชื้อในอุจจาระ และอุจจาระปนเปื้อนในน้ำดื่มและในอาหาร แต่การติดต่อระหว่างคนและสัตว์พบเกิดได้น้อยและมักเกิดโดยเชื้อไวรัสนี้สายพันธุ์ย่อย HEV3
ไวรัสตับอักเสบ-อีมีหลายสายพันธุ์ย่อย (Genotype) คือ
- สายพันธุ์ HEV1: พบก่อโรคบ่อยที่สุด มักพบในเอเชีย และมักพบทำให้เกิดการระบาดได้สูง การก่อโรคไม่รุนแรง มักก่อการติดเชื้อเป็นแบบเฉียบพลัน และไม่เปลี่ยนเป็นแบบเรื้อรัง
- สายพันธุ์ HEV2: พบก่อโรคบ่อยในอาฟริกาและเม็กซิโก เป็นสายพันธุ์ก่อเชื่อแบบเฉียบพลัน ไม่เปลี่ยนเป็นโรคแบบเรื้อรัง
- สายพันธุ์ HEV3: พบก่อโรคได้น้อย ก่อโรคได้ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและในประ เทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่ง HEV3 เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง ติดต่อได้ทางอาหาร คนสามารถติดต่อเชื้อสายพันธุ์นี้จากสัตว์ได้ และมีการพัฒนาของโรคจากโรคเฉียบพลันไปเป็นโรคเรื้อรังได้ โดย เฉพาะในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำผิดปกติ เช่น ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกันฯ
- สายพันธุ์ HEV4: พบก่อโรคได้น้อย ก่อโรคได้ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักติดต่อผ่านทางอาหารและติดต่อมาจากสัตว์ได้ แต่ยังไม่มีรายงานการพัฒนา จากโรคเฉียบพลันไปเป็นโรคเรื้อรัง
ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบ-อี มักเป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน และไม่ค่อยพบเปลี่ยนเป็นการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะตับแข็งและพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับได้) จึงไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งตับ ยกเว้นสายพันธุ์ HEV3 ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบ-อี สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระตั้งแต่ได้รับเชื้อโดยยังไม่เกิดอาการไปจนถึงประมาณ 30 วันหลังเกิดอาการตัวเหลือง-ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) แต่อาจพบได้นานเป็นหลายเดือนหลังเกิดตัวตาเหลืองก็ได้เช่นกัน(พบน้อยกว่า) นอกจากนี้เชื้อนี้สามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือนในอุจจาระถึงแม้จะอยู่นอกร่างกายมนุษย์และสัตว์ก็ตาม
น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดมีสารไอโอดีน หรือพวกไฮโปคลอไรท์ (Hypochlorites) หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) สามารถใช้กำจัดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ นอกจากนั้น สามารถทำให้เชื้อนี้หมดประสิทธิภาพในการก่อโรคได้ด้วยความร้อนในน้ำต้มตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียส (Celsius) ขึ้นไปและในระยะเวลาตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไป
ไวรัสตับอักเสบ-อีติดต่อได้อย่างไร?
ไวรัสตับอักเสบ-อี ติดต่อได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ-เอคือ ติดต่อทางน้ำดื่มและทางอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ-อีที่เรียกว่า’การติดต่อทางอุจจาระสู่ปาก (Fecal -oral transmission)’ ส่วนน้อยมากๆมีรายงานติดต่อจากการให้เลือด หรือ จากการคลอด ดังนั้นการติดต่อการระบาดจึงมักพบในแหล่งที่ขาดสุขอนามัยโดยเฉพาะในเรื่องของน้ำดื่มทั้งของคนและของสัตว์เลี้ยง และในถิ่นที่อยู่กันอย่างแออัด
อนึ่ง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ-อี สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสนี้ได้ในอุจจาระผู้ป่วยตั้ง แต่ได้รับเชื้อ (ส่วนใหญ่ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเกิดอาการ) และตรวจพบได้นานไปจนถึงประ มาณ 30 วันหลังเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองแล้ว
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไวรัสตับอักเสบ-อี?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-อี ได้แก่
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่ไม่มีสุขอนามัยพื้นฐานหรืออาศัยในแหล่งแออัด
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ-อี
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ-อีเป็นเชื้อประจำถิ่น เช่น ประเทศจีน เป็นต้น
- ชอบกินอาหารดิบหรือปรุงสุกๆดิบๆ
- ผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยวในแหล่งที่มีการสาธารณสุขยังไม่ดีหรือในประเทศที่มีเชื้อนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น
ไวรัสตับอักเสบ- อีมีอาการอย่างไร?
ในผู้ป่วยเด็กหรือในผู้ป่วยบางรายเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-อีอาจไม่มีอาการได้ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เรียกว่าเป็น’พาหะโรค’
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่มีอาการ อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ-อีจะเช่นเดียวกับอาการของไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆโดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบเอ แยกกันไม่ออกจากอาการ แต่โดยทั่วไปเป็นอาการไม่รุนแรง ยกเว้นเมื่อเกิดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ที่การอักเสบของตับมักรุนแรง (Fulminant hepatitis) จนผู้ป่วยอาจเกิดภาวะตับวายและตายได้
อาการของไวรัสตับอักเสบ-อีจะเกิดภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 3 - 8 สัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 40 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) และโรคมักหายได้เองภายในระยะเวลา 2 - 3 สัปดาห์นับจากมีอาการ โดยไม่มีการอักเสบยืดเยื้อต่อไปเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง ยกเว้นเมื่อเป็นการติดเชื้อของผู้ป่วยซึ่งผ่าตัดปลูกถ่ายตับที่มักเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย HEV3
อาการที่พบได้บ่อยของไวรัสตับอักเสบ-อี คือ
- มีอาการในระยะแรกของโรคคล้ายอาการของโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่กล่าวคือ มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ (พบได้มากกว่า), ปวดเมื่อยเนื้อตัว, อ่อนเพลีย (อ่อนเพลียกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่มาก), เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้- อาเจียน
- ปวดท้องด้านขวาตอนบน (ตำแหน่งของตับ) อาจตรวจคลำช่องท้อง พบตับโตได้ (ปกติจะตรวจคลำตับไม่ได้)
- ระยะต่อมาคือ มีตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน), ปัสสาวะสีเข็ม, อุจจาระอาจมีสีซีดกว่าปกติ
- หลังจากนั้น อาการของผู้ป่วยจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ จนกลับเป็นปกติในระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 2 - 4 สัปดาห์นับจากเริ่มมีอาการ
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ-อีได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ-อีได้จาก
- ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติการเจ็บป่วยของคนในบ้านและในชุมชน ประวัติการดื่มน้ำและการบริโภคอาหาร ประวัติการเดินทางและท่องเที่ยว
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน (Antibody) ของไวรัสชนิดนี้
- นอกจากนั้น ในการศึกษาวิจัย ยังสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้นในระดับโมเลกุล โดยตรวจเชื้อได้จากเลือดในระยะแรกที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อ และจากอุจจาระในช่วงระยะเวลาต่อมาเมื่อมีอาการแล้ว
รักษาไวรัสตับอักเสบ- อีอย่างไร?
โรคไวรัสตับอักเสบ-อี เป็นโรคที่หายได้เอง ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะเจาะจง ไม่มียาเฉพาะโรคหรือยาต้านไวรัส ดังนั้นแพทย์หลายคนจึงกล่าวว่า วิธีรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-อีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการเกิดโรค
อย่างไรก็ตามการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-อีคือ การรักษาตามอาการของผู้ป่วยซึ่งที่สำคัญที่สุดคือ
- พักผ่อนให้เต็มที่เพื่อลดการทำงานของตับซึ่งจะช่วยให้เซลล์ตับฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้ปริมาณมากๆเพิ่มกว่าปกติโดยให้ได้ประมาณวันละอย่างน้อย 8 -10 แก้วเพื่อช่วยลดอาการตัวเหลือง-ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันโดยลดอาหารที่จะเพิ่มการทำงานของตับคือ โปรตีนและไขมัน, เพิ่มอาหารแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ผักและผลไม้ เพื่อชดเชยพลังงานที่ขาดไปจากอาหารโปรตีนและอาหารไขมัน
ไวรัสตับอักเสบอีรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
โดยทั่วไปโรคไวรัสตับอักเสบ-อีเป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคมักเกิดเป็นอาการเฉียบพลันและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเป็นไวรัสตับอักเสบ-อีเรื้อรังที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคตับแข็งและภาวะตับวายหรือมะเร็งตับ
อย่างไรก็ตาม โรคในระยะเฉียบพลันนี้อาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตับวายและผู้ป่วยตายได้ ซึ่งพบได้ประมาณ 0.5 - 4% ซึ่งมักเป็นในผู้ป่วยเด็กเล็ก (นิยามคำว่าเด็ก), ในผู้ป่วยตั้งครรภ์ (พบอัตราเสียชีวิตได้สูงถึงประมาณ 20%), ในผู้ป่วยที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ, หรือในผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคตับแข็ง เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ-อีคือ การเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคตับแข็งที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งตับได้ซึ่งมักพบเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะร่วมด้วย เช่น การปลูกถ่ายตับ เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ การรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ
ภายหลังการพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอักเสบ-อีแล้ว การดูแลตนเองที่บ้านและการพบแพทย์ก่อนนัดได้แก่
- พักผ่อนให้เต็มที่ หยุดเรียน หยุดงานจนกว่าร่างกายจะหายอ่อนเพลีย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เซลล์ตับจะได้ฟื้นตัวได้ดีและลดโอกาสแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น
- แยกเครื่องใช้ในการบริโภคโดยเฉพาะช้อนและแก้วน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนโดยจำกัดอาหารที่เพิ่มการทำงานของตับคือ โปรตีนและไขมัน เพิ่มอาหารแป้ง ผักและผลไม้
- ระมัดระวังการกินยาต่างๆ ควรกินยาเฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรเท่านั้น
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น อ่อนเพลียมากขึ้น หรือตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) มากขึ้น
- มีอาการใหม่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาเจียนเป็นเลือด
- อาการที่รักษาหายแล้วกลับมามีอาการอีกเช่น มีไข้ เจ็บที่ตับ หรือเมื่อกังวลในอาการ
- กังวลในอาการ
ป้องกันไวรัสตับอักเสบอีอย่างไร? มีวัคซีนไหม?
ปัจจุบันวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ-อีมีการนำมาใช้เฉพาะในประเทศจีน โดยประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับ แต่ในสหรัฐอเมริกาการศึกษาเรื่องวัคซีนไวรัสตับอักเสบ-อีกำลังดำเนินการอยู่
ส่วนการป้องกันไวรัสตับอักเสบ-อีในปัจจุบัน ได้แก่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ระมัดระวังเรื่องน้ำดื่มและอาหารเสมอโดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางในถิ่นที่มีการสาธารณ สุขไม่ดี
- ดื่มแต่น้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
- ระวังการกินน้ำแข็ง
- กินแต่อาการที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งชิ้นอาหาร
- ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค
- จัดให้มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
บรรณานุกรม
- Hughes, J. et al. (2010). The two faces of hepatitis E virus. Clin Infect Dis. 51, 328-334.
- Kamar, N. et al. (2012). Hepatitis E. Lancet. 379, 2477-2488.
- Kwonchit samransurp. Et al. (2009). The prevalence of anti-hepatitis E in occupational risk group. J Med Assoc Thai.92 (Suppl), S38-S42.
- Hughes, J. et al. (2010). The two faces of hepatitis E virus. Clin Infect Dis. 51, 328-334.
- Kamar, N. et al. (2012). Hepatitis E. Lancet. 379, 2477-2488.
- Kwonchit samransurp. Et al. (2009). The prevalence of anti-hepatitis E in occupational risk group. J Med Assoc Thai.92 (Suppl), S38-S42.
- Wedemeyer, H. (2012). Pathogenesis and treatment of hepatitis E virus infection. Gastroenterology.142, 1388-1397
- https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-e [2020,June13]
- https://www.cdc.gov/hepatitis/hev/hevfaq.htm [2020,June13]
- https://emedicine.medscape.com/article/178140-overview#showall [2020,June13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hepatitis_E [2020,June13]