ประจำเดือน (Menstruation)
- โดย แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
- 30 พฤษภาคม 2563
- Tweet
สารบัญ
- ประจำเดือนคืออะไร?
- ประจำเดือนปกติเริ่มอายุเท่าไร? หมดประจำเดือนอายุเท่าไร?
- ประจำเดือนปกติมีลักษณะอย่างไร?
- อาการพบร่วมกับประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
- ควรดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือนอย่างไร?
- ประจำเดือนผิดปกติคืออะไร?
- อะไรคือสาเหตุของประจำเดือนผิดปกติ?
- ภาวะแทรกซ้อนจากประจำเดือนผิดปกติมีอะไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
- รักษาประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- ประจำเดือนผิดปกติ (Menstrual disorder)
- ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon)
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency)
ประจำเดือนคืออะไร?
ประจำเดือน หรือ รอบเดือน หรือ ระดู (Menstruation หรือ Period หรือ Menses) คือ เลือดและเนื้อเยื่อต่างๆที่หลุดลอกออกจากเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเยื่อบุมดลูก โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่สัมพันธ์กับการตกไข่ ซึ่งการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดประมาณเดือนละครั้ง ภาวะที่เกิดขึ้นนี้จึงถูกเรียกว่า ‘ประจำเดือน’
ในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือนปกติ (รอบเดือนปกติจะประมาณ 28 วัน) เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญหนาตัวขึ้นจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ประมาณกึ่งกลางของรอบเดือน(ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน) จะมีการตกไข่จากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งเพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ(อสุจิ-น้ำกาม) จากนั้นไข่ที่ผสมแล้วหรือตัวอ่อนจะมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก
ในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน หลังตกไข่ จะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและต่อมต่างๆในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดจากรังไข่เช่นกัน ซึ่งสร้างมากขึ้นหลังตกไข่ คือ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนเพื่อเจริญเป็นการตั้งครรภ์
แต่ในรอบเดือนที่ไม่มีการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนจากรังไข่จะลดระดับลง ส่งผลให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก (ประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือน) กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ประจำเดือน’
หลังจากมีประจำเดือนแล้ว รังไข่จะเริ่มสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เริ่มต้นวงจรของการเกิดประจำเดือนใหม่ เกิดเป็นรอบเดือน หรือ ประจำเดือน หรือ ระดู วนเวียนไปเรื่อยๆตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งคือ วัยที่รังไข่ยังสร้างฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวได้ แต่เมื่อสูงวัยขึ้น เซลล์รังไข่จะเสื่อมสภาพจนหยุดการสร้างฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด หรือ สร้างได้น้อยมาก จึงส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน หรือ ภาวะหมดประจำเดือนถาวร (Menopause) ที่นิยมเรียกว่า วัยทอง/ วัยหมดประจำเดือน นั่นเอง
ประจำเดือนปกติเริ่มอายุเท่าไร? หมดประจำเดือนอายุเท่าไร?
การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยอายุที่เริ่มมีประจำเดือนปกติอยู่ระหว่างประมาณ 8-16ปี (ประมาณ 2ปี หลังมีการเจริญของเต้านม) ในเด็กไทยเฉลี่ยที่อายุ 11-12 ปี
ในช่วง 1-2 ปีแรกของการมีประจำเดือน อาจมีรอบประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นผลจากการควบคุมของระดับฮอร์โมนเพศยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งพบได้เป็นปกติ
โดยทั่วไป ภาวะหมดประจำเดือน จะอยู่ในช่วงอายุ 45-55 ปี เฉลี่ยประมาณ 51-52 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับ พันธุกรรม, สุขภาพร่างกาย, โรคต่างๆที่การรักษาส่งผลถึงการทำงานของรังไข่ เช่น โรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ที่ต้องตัดรังไข่ ได้ยาเคมีบำบัด และ/หรือ ได้รับรังสีรักษาในบริเวณท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน), ซึ่งวัยช่วงมีประจำเดือน ทางแพทย์มักเรียกว่า ‘วัยเจริญพันธุ์’
ประจำเดือนปกติมีลักษณะอย่างไร?
ประจำเดือนปกติมีลักษณะดังนี้ คือ
- ปริมาณและระยะห่างของรอบประจำเดือนมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
- หนึ่งรอบของประจำเดือนปกติมีระยะเวลา 21-35 วัน
- การนับระยะห่างของรอบเดือน โดยนับวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นวันที่หนึ่งของรอบเดือนจนถึงวันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือนรอบใหม่
- ระยะเวลาของการมีประจำเดือน (มีเลือดออก) ปกติ คือ 3-7 วัน
- เลือดประจำเดือนที่ออกในแต่ละรอบมีปริมาณ 20-80 มิลลิลิตร เฉลี่ยประมาณ 35 มิลลิลิตร
- โดยระหว่างแต่ละรอบเดือนไม่ควรมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด(เลือดออกทางช่องคลอด)
อนึ่ง การจดบันทึกประจำเดือนทุกๆครั้ง ทำให้สามารถทราบค่าเฉลี่ยของระยะห่างของรอบเดือน จำนวนวันที่มีประจำเดือน ทำให้เราสามารถค้นพบความผิดปกติของรอบเดือนได้ง่ายและเร็วขึ้น ทั้งยังสามารถคาดคะเนวันที่จะเริ่มมีประจำเดือนรอบต่อไป และการคาดคะเนวันที่ไข่ตกได้
อาการพบร่วมกับประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
ผู้หญิงประมาณ 8-10% มีอาการต่างๆช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เรียกอาการเหล่านี้ว่า “กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิงทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวแล้วที่เปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน
อาการต่างๆก่อนมีประจำเดือนที่พบได้ ได้แก่
- อาการเต้านมคัดตึงทั้งสองข้าง
- ปวดหัว
- อ่อนเพลีย
- หงุดหงิดง่าย
- ซึมเศร้า
- นอนไม่หลับ
- ปวดหน่วงในท้องน้อย, ปวดหลัง, ปวดเอว
- อยากรับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- อาจถ่ายเหลว
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- บวมตัว หน้า มือ เท้า แขน ขา
ควรดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือนอย่างไร?
การดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือน ได้แก่
- ระหว่างมีประจำเดือน สามารถใช้ผ้าอนามัยในการรองรับเลือดประจำเดือน ในปัจจุบันมีทั้งชนิดแผ่น มีทั้งแบบแผ่นบาง แผ่นหนา มีขนาดมาตรฐานและยาวพิเศษ และชนิดสอด(ผ้าอนามัยแบบสอด) โดยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ ขนาดรูปร่าง ปริมาณประจำเดือน ความสบาย ไม่ระคายเคือง ควรพยายามหลีกเลี่ยงผ้าอนามัยชนิดมีน้ำหอม เพื่อลดอาการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อผ้าอนามัยชุ่มแผ่น เพื่อลดการระคายเคือง และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์
- ช่วงที่มีประจำเดือนควรรับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หลีกเลี่ยง กาแฟ บุหรี่ สุรา เพื่อลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
- ควรมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหม เนื่องจากช่วงมีประจำเดือนมีการเสียเลือดและเกลือแร่/แร่ธาตุบางชนิดออกจากร่างกาย อาจทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และรู้สึกล้ามากกว่าปกติ
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ช่วงมีประจำเดือนไม่เป็นข้อห้ามของการออกกำลังกาย เนื่องจากระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการหลั่งสารแห่งความสุข (เอนดอร์ฟิน/ Endorphin) ช่วยผ่อนคลายความเครียด และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
- การว่ายน้ำในช่วงมีประจำเดือนสามารถทำได้ โดยอาจเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อลดการเปรอะเปื้อน โดยต้องเลือกสระว่ายน้ำที่สะอาด มีมาตรฐาน เพื่อลดการติดเชื้อ
- ช่วงมีประจำเดือนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ควรระมัดระวังเรื่องของความสะอาด เนื่องจากเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิด และเลือดประจำเดือนเป็นอาหารที่ดีของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ประจำเดือนผิดปกติคืออะไร?
ประจำเดือนผิดปกติพบได้ประมาณ 30% ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น
- ประจำเดือนมามาก และ มีลิ่มเลือด (Hypermenorrhea)
- ประจำเดือนมามาก มานานกว่า 7 วัน หรือระยะห่างของรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน (Menorrhagia)
- ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ (Hypomenorrhea)
- ระยะห่างของรอบประจำเดือนนานมากกว่า 35 วัน (Oligomenorrhea)
- ประจำเดือนมามาก มานานกว่า 7 วัน ระยะห่างของรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ (Menometrorhagia)
- ประจำเดือนมาปริมาณปกติ แต่ระยะเวลาอาจมากกว่า 7 วัน และระยะห่างของรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia)
- ประจำเดือนหายไปมากกว่า 3-6 รอบเดือน (Amenorrhea)
- เลือดออกจากช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal bleeding)
อะไรคือสาเหตุของประจำเดือนผิดปกติ?
สาเหตุของประจำเดือนผิดปกติมีมากมาย ตั้งแต่ภาวะระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติจนถึงมีพยาธิสภาพที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของประจำเดือน เช่น
- ความเครียด ความวิตกกังวล เช่น ในช่วงใกล้สอบ ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติ มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุน้อยกว่า 35 ปี
- อาหาร: การอดอาหาร น้ำหนักที่เพิ่ม หรือลดเร็วผิดปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ
- การคุมกำเนิด: ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฉีดคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด(ยาคุมกำเนิดชนิดแปะ), มีผลเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย, กดการทำงานของรังไข่
- เนื้องอกมดลูก หรือ ไมโอมา (Myoma uteri) ซึ่งเป็นพยาธิสภาพ/ความผิดปกติที่กล้ามเนื้อมดลูก มีผลต่อการบีบตัวของมดลูก ทำให้ประจำเดือนมามาก มานาน มีเลือดออกกะปริดกะปรอย(เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ) ปวดหน่วงท้องได้
- ติ่งเนื้อโพรงมดลูก มักทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ รบกวนระดับของฮอร์โมนเพศในร่างกาย
- กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่(โรคพีซีโอเอส) พบได้ประมาณ 5-10% ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเป็นภาวะที่เกิดจากมีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินปกติ (แอนโดรเจน/Androgen ผู้หญิงปกติทุกคน ในร่างกายมีทั้งฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิง แต่มีปริมาณฮอร์โมนเพศชายน้อยมาก) ผู้ป่วยมักมีอาการขนดก ผิวมัน มีสิวมาก มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล เกิดภาวะไม่ตกไข่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จึงเกิดภาวะขาดประจำเดือน
- ภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร(รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด) เป็นความผิดปกติของการทำงานของรังไข่ ทำให้ไม่มีการตกไข่ จึงไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้ ทำให้ไม่มีประจำเดือน
- สาเหตุอื่นๆ เช่น
- โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (มะเร็งเยื่อบุมดลูก) ส่วนใหญ่พบในสตรีอายุ 60 ปี โดยมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน
- โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากในหญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 40-50 ปี อาการที่พบมาก คือ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด พบได้ทั้งมี เลือดออกกะปริดกะปรอย, เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์, หรือ เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
- ผลข้างเคียงจากยาต่างๆ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือสมุนไพรบางชนิด
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น ต่อมใต้สมองผิดปกติ, โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง, หรือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งบุตร และท้องนอกมดลูก
ภาวะแทรกซ้อนจากประจำเดือนผิดปกติมีอะไรบ้าง?
ประจำเดือนผิดปกติ มีจากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ตามมา เช่น
- ภาวะซีด จากการเสียเลือดจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- ภาวะมีบุตรยาก
- ท้องนอกมดลูก
- การมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
ผู้หญิงที่มีภาวะประจำเดือนผิดปกติ ควรมีการจดบันทึกประจำเดือน วันแรกของรอบเดือนจนถึงวันแรกของรอบเดือนครั้งถัดไป ปริมาณเลือดประจำ เดือนที่ออก ซึ่งอาจนับจากจำนวนผ้าอนามัยที่ต้องใช้ในแต่ละวัน จำนวนวันที่มีประจำเดือน อาการที่พบระหว่างมีประจำเดือน และระหว่างรอบเดือน ภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย เพื่อเป็นข้อมูลที่ช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุของประจำเดือนผิดปกติ
เมื่อสงสัยภาวะประจำเดือนผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะ
- ทำการซักประวัติทั่วไป ประวัติมีประจำเดือน ประวัติการใช้ยาชนิดต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภายใน และการตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก
- จากนั้นจึงมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) เพื่อหาภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และภาวะติดเชื้อ
- การตรวจชิ้นเนื้อในเยื่อบุมดลูก โดยอาจทำการดูดสุ่ม หรือการขูดมดลูก เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาของเยื่อบุมดลูก สามารถช่วยวินิจฉัย โรค\มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก หรือภาวะไม่ตกไข่ได้
- ตรวจการแข็งตัวของเลือด เพื่อดูการทำงานของการแข็งตัวของเลือด
- ตรวจระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการสงสัยความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ อาจพบได้ทั้งจากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) หรือจากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง(ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
- ตรวจอัลตราซาวด์ภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อดูพยาธิสภาพของมดลูก, โพรงมดลูก, และรังไข่ เช่น เนื้องอกมดลูก, ติ่งเนื้อโพรงมดลูก, และเนื้องอกรังไข่
- ส่องกล้องตรวจดูโพรงมดลูก เพื่อดูพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอก, ติ่งเนื้อ, พังผืดในโพรงมดลูก, หรือ ภาวะท่อนำไข่ตัน
รักษาประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
การรักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติ ขึ้นกับสาเหตุของประจำเดือนผิดปกติ, อายุ, ความต้องการมีบุตร, และโรคประจำตัวของผู้ป่วย, โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้
- การสังเกตอาการโดยไม่มีการรักษาใดๆ เพียงการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เช่น ในผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะ 1-2 ปีแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งมักเป็นไปตามธรรมชาติที่ประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอจากรังไข่ยังทำงานไม่เต็มที่
- การใช้ยา: เช่น
- ยาแก้ปวดในกลุ่มไม่ใช่สเตรียรอยด์ หรือ เอ็นเสด(NSAIDs) มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือน และลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก
- ยาฮอร์โมน เช่นในผู้หญิงอายุน้อย ที่มีปัญหาการไม่ตกไข่
- การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่เป็น เนื้องอกมดลูก, ติ่งเนื้อโพรงมดลูก, หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์เมื่อ
- มีประจำเดือนก่อนอายุ 7-8 ปี
- อายุ 16 ปีแล้วยังไม่มีประจำเดือน
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ เช่น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2-3 ชม. หรือ มีลิ่มเลือดปนมากต่อเนื่อง
- ระยะเวลาของประจำเดือนมานานผิดปกติ
- ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากกว่า 35 วันต่อเนื่อง
- มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน
- มีอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างรุนแรง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
- เมื่อกังวลในอาการ หรือ ในเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน
บรรณานุกรม
- Brar MK, et al. Dysfunctional uterine bleeding. In: Ferri FF. Ferri's Clinical Advisor 2011: Instant Diagnosis and Treatment. Philadelphia, Pa.: Mosby Elsevier; 2011.
- Lobo RA. Abnormal uterine bleeding: Ovulatory and anovulatory dysfunctional uterine bleeding, management of acute and chronic excessive bleeding. In: Katz VL, et al. Comprehensive Gynecology. 5th ed. Philadelphia, Pa.: Mosby Elsevier; 2007.
- Pitkin J; Dysfunctional uterine bleeding. BMJ. 2007 May 26;334(7603):1110-1.
- https://www.acog.org/patient-resources/faqs/gynecologic-problems/abnormal-uterine-bleeding [2020,May30]
- https://www.acog.org/clinical/clinical-guidance/committee-opinion/articles/2015/12/menstruation-in-girls-and-adolescents-using-the-menstrual-cycle-as-a-vital-sign [2020,May30]