การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ (Prevention of elderly constipation)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ/ทั่วไป

ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการสาธารณสุขทำให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น จากการสำรวจภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุไทยพบว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาท้องผูกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลงที่เป็นผลมาจากการเสื่อมไปตามวัย ร่วมกับการบดเคี้ยวอาหารได้น้อยจากปัญหาสุขภาพในช่องปาก มีฟันเหลือน้อยลง การดื่มน้ำลดลง และการออกกำลังกายน้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะท้องผูก

 ท้องผูก เป็นอาการที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุและมีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดความไม่สุขสบาย ท้องอืด   แน่นท้อง ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจเช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ท้องผูกเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นโรค(โรค-อาการ-ภาวะ) แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการท้องผูกเรื้อรังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้นการป้องกันท้องผูกจึงเป็นวิธีการในเชิงรุกที่สามารถช่วยให้ผู้สูง อายุที่เปรียบเสมือนหลักชัยของสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอการป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ (Prevention of elderly constipation) เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ

ท้องผูกหมายความว่าอย่างไร?

การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ

ท้องผูก (Constipation) หมายถึง ความยากลำบากในการขับถ่ายอุจจาระและมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง ซึ่งสิ่งบ่งชี้ที่แสดงถึงอาการท้องผูก เช่น

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ไม่ได้ถ่ายอุจจาระนานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
  • ร่วมกับ
    • อุจจาระแห้งและ/หรือแข็ง
    • ท้องอืดและปวดท้อง
    • ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมาก
    • เกิดความปวดเมื่อถ่ายอุจจาระ

    อนึ่ง: ถ้ายังคงมีอาการท้องผูกอยู่นานเกิน 3 เดือนขึ้นไปเรียกว่า “มีอาการท้อง ผูกเรื้อรัง (Chronic Constipation)”

อะไรเป็นสาเหตุทำให้ท้องผูกในผู้สูงอายุ?

 สาเหตุที่ทำให้เกิดท้องผูกในผู้สูงอายุมีหลากหลาย ที่พบบ่อย เช่น

  • อายุ: อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกระเพาะอาหารในการหลั่งกรดที่ช่วยในการย่อยอาหารลดลง, ลำไส้เล็กบีบตัวเคลื่อนไหวลดลง, และลำไส้ใหญ่มีการบีบตัวเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ, จึงส่งผลให้มีอุจจาระคั่งค้างในลำไส้ใหญ่มากขึ้น นอกจากนี้
  • การรับรสและการดมกลิ่นในผู้สูงอายุลดลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารน้อยลง ส่งผลต่อการขับถ่ายอุจจาระ
  • รวมทั้งความตึงตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้องลดลงและกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน(ท้องน้อย)หย่อน/ทำงานลดลงในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีแรงเบ่งอุจจาระตามธรรมชาติจึงทำให้เกิดท้องผูกตามมา
  • เพศ: มีความสัมพันธ์กับภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ จากการศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยพบว่า ผู้สูงอายุเพศหญิงมีปัญหาท้องผูกมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย
  • การกลั้นอุจจาระ: การกลั้นอุจจาระบ่อยๆ, การไม่ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา, ทำให้มีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน
  • อาหาร: รับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย ทำให้ไม่มีกากอาหารมากพอที่จะกระตุ้นการทางานของลำไส้ และที่ช่วยให้อุจจาระเป็นก้อน จึงเกิดภาวะท้องผูกได้
  • ดื่มน้ำน้อยกว่าวันละ 8 แก้ว: เมื่อร่างกายได้รับน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้มีการดูดซึมน้ำจากลำไส้เข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ในลำไส้จึงเหลือน้ำลดลง ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อนแข็งมากขึ้นจึงถ่ายอุจจาระยาก จึงเกิดปัญหาท้องผูก ซึ่งสาเหตุที่ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยลงหรือมีภาวะขาดน้ำง่าย เช่น
    • ศูนย์ที่กระตุ้นความรู้สึกหิวน้ำทำงานลดลง ผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยรู้สึกหิวน้ำ
    • และในผู้สูงอายุบางราย มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้จึงปรับตัวด้วยการดื่มน้ำน้อยลง   
  • การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอหรือไม่ได้ออกกำลังกายทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่ได้เคลื่อนไหว จึงทำให้แรงดันในลำไส้ใหญ่ลดลง ผู้สูงอายุจึงมีโอกาสเกิดท้องผูกได้ง่าย
  • ผลข้างเคียงจากยาจากโรคประจำตัว: ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาลดกรด  ยาต้านเศร้า   ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ   ยาขับปัสสาวะ  และ/หรือ การใช้ยาแก้ท้องผูก/ยาระบายต่อเนื่อง เป็นต้น
  • ด้านจิตใจ: ในผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้านั้นมักพบว่าการเคลื่อนไหวร่างกายที่รวมถึงระบบทางเดินอาหารลดลงตามไปด้วย อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะท้องผูกได้เนื่องจากมีผลลดการบีบตัวของลาไส้

ผลกระทบจากอาการท้องผูกในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง?

อาการท้องผูกจะส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุในหลายด้านดังนี้ เช่น

ก. ด้านร่างกาย: ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการต่างๆ เช่น

  • แน่นท้อง/อึดอัดท้อง ท้องอืด ปวดท้อง ไม่สุขสบายในท้อง
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว  วิงเวียน เนื่องจากมีความดันในลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น
  • ปากแตก ลิ้นแตก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น เนื่องจากมีการหมักหมมของอาหารที่ค้างในลำไส้
  • เกิดริดสีดวงทวาร: อุจจาระที่แห้งและแข็งจะไปกดหลอดเลือดดำรอบๆทวารหนัก ทำให้เลือดไหลเวียนกลับสู่ร่างกายไม่สะดวก จึงเกิดหลอดเลือดดำรอบทวารหนักโป่งพองจนเกิดเป็นริดสีดวงทวารขึ้น
  • อันตรายจากการเบ่งถ่ายอุจจาระจะทำให้เพิ่มแรงดันในทรวงอก ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และอาจดันให้ลิ่มเลือดในหลอดเลือดไหลไปอุดตันที่สมองได้ จึงเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ หรือในผู้สูงอายุที่มีการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว

ข. ด้านจิตใจ: ท้องผูกทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่สุขสบาย ทุกข์ทรมานจากอาการท้องผูก ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความกลัวและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุลดลง

 ค.  ด้านเศรษฐกิจ: ท้องผูกนอกเหนือจากส่งผลกระทบต่อด้านร่างกายและด้านจิตใจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาการท้องผูกในผู้สูงอายุและครอบครัวอีกด้วย

รักษาอาการท้องผูกในผู้สูงอายุอย่างไร?

การรักษาอาการท้องผูกในผู้สูงอายุมีหลายวิธี เช่น

ก. การรักษาโดยไม่ใช้ยา: วิธีการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยามีหลายวิธี เช่น การนวดเพื่อให้มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อ, การออกกำลังกาย

แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาที่ชัดเจนถึงผลของการนวดหน้าท้องเพียงอย่างเดียว หรือการใช้การนวดร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายในผู้ที่มีอาการท้องผูก

ข. การรักษาโดยการใช้สารที่ไม่ใช่ยาระบาย: มีการแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิดในการป้องกันภาวะท้องผูก เช่น ขนมปังจมูกข้าว, ว่านหางจระเข้, นํ้าแร่, และนํ้าผลไม้ เช่น นํ้าลูกพรุน

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของการป้องกันอาการท้องผูกของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่ได้รับการทดสอบโดยการศึกษาทางการแพทย์ ในทางปฏิบัติมีการผสมผลิตภัณฑ์ทั้งหลายนี้เข้าด้วยกัน เช่น การใช้ร่วมกันระหว่างนํ้าลูกพรุนเข้มข้นกับแยม และพุดดิ้งหรือขนมปัง

นอกจากนั้น ยังมีการแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของลูกพรุน, การดื่มน้ำมาก, ร่วมกับการรับ ประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง, ในการป้องกันอาการท้องผูก แต่เป็นเพียงคำแนะนำจากผู้เชี่ยว ชาญเท่านั้นยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยวิธีการวิจัยที่ชัดเจนมายืนยัน แต่ก็เป็นที่ยอมรับของแพทย์ทุกคนว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันท้องผูก

ค. การใช้ยาระบายหรือการสวนอุจจาระ: เป็นวิธีช่วยให้ขับอุจาระออกมาได้ดี อย่างไรก็ตามควรแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มีอาการท้องผูกควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอาการท้อง ผูกที่ถูกต้องมากกว่าการใช้ยาระบายหรือสวนอุจจาระเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ทั้งยังเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ไม่ดีที่ต้องพึ่งพิงการใช้ยาช่วยระบายซึ่งอาจไปขัดขวางการขับถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ

ป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุอย่างไร?

การป้องกันท้องผูกเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้ตาม ปกติ ผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติด้วยตนเองในการป้องกันท้องผูกได้ดังนี้ เช่น

  • ฝึกการถ่ายอุจจาระเป็นเวลา: ควรฝึกการถ่ายอุจจาระทุกวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารตอนเช้า (นั่งส้วมถึงแม้จะไม่ปวดอุจจาระควรใช้เวลาประมาณ 5 -15 นาที) เป็นการฝึกนิสัยให้ขับถ่ายเป็นประจำ นอกจากนั้นคือไม่กลั้นอุจจาระ เมื่อมีอาการปวดอุจจาระควรถ่ายอุจจาระทันที นอกจากนี้มีข้อแนะนำที่ช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้คล่องง่ายขึ้น เช่น
    • ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนถ่ายอุจาระจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่                                
    • ท่านั่งในการถ่ายอุจจาระ ควรโน้มตัวไปด้านหน้าจนหน้าท้องกดลงบนหน้าขาจะช่วยกดลำไส้ใหญ่ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น
    • ใช้มือข้างที่ถนัดมือซ้ายหรือมือขวานวดเบาๆบริเวณหน้าท้องวนตามเข็มนาฬิกา จะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ อุจจาระจะเคลื่อนออกมาได้สะดวกขึ้น
  • ปรับสิ่งแวดล้อม: สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่ส่งเสริมการถ่ายอุจจาระที่จะช่วยป้องกัน ภาวะท้องผูกได้  ที่สำคัญ เช่น                                                                                                           
    • มีความเป็นส่วนตัวในขณะขับถ่าย
    • ที่นั่งขับถ่ายควรมีความสูงเหมาะสม มีราวสำหรับจับที่ฝาผนังที่สะดวกขณะลุกยืนหรือขณะนั่งในห้องน้ำ
    • ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาในการเคลื่อนไหว ควรได้รับการช่วยเหลือในการถ่ายอุจจาระโดยมีอุปกรณ์เพื่อช่วยเรียกผู้ดูแลเมื่อต้องการความช่วยเหลือในการไปห้องน้ำ
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง: ใยอาหารจะช่วยเพิ่มน้ำหนัก/ความเป็นก้อนของอุจจาระจึงช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก ซึ่ง
    • ผู้ใหญ่ทั่วไปควรได้รับใยอาหารที่มีอยู่มากในผักและผลไม้ประมาณวันละ 20 - 35 กรัม แต่*ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาท้องผูกควรได้รับอาหารที่มีใยอาหารประมาณวันละ 25 - 60 กรัม
    • ผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว แตงโม สับปะรด มะ ละกอสุก ฝรั่งสุก ส้ม กล้วย มะม่วงสุก ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง งา และรำข้าว เป็นต้น
    • ผู้สูงอายุควรเลือกวิธีการปรุงอาหารที่ทำจากผักด้วยวิธีต้มให้เปื่อยนุ่มง่ายต่อการรับประทาน, และเลือกผลไม้ที่สุกเหมาะในการรับประทานมากกว่าผลไม้ที่ยังดิบ
  • การดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม:
    • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 -10 แก้ว แต่ถ้ามีอากาศร้อนมากเสียน้ำออกทางเหงื่อมาก ควรเพิ่มการดื่มน้ำวันละ 2,000-2,500 มิลลิลิตร ยกเว้นในบางคนเป็นโรคที่มีข้อห้ามการดื่มน้ำมากๆหรือตามแพทย์แนะนำ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไต เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางยี่ห้อ เครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อ เพราะสารคาเฟอีนจะมีฤทธิ์ขับน้ำ/ปัสสาวะมากขึ้น ร่างกายจึงเกิดภาวะขาดน้ำที่ทำให้ท้องผูก
  • การออกกำลังกาย:  การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ควรเลือกชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละรายด้วย ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยเรื่องป้องกันท้องผูกโดย
    • การเคลื่อนไหวร่างกายจะมีผลช่วยการบีบตัวของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ
    • การฝึกการหายใจ การแขม่วหน้าท้อง เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรง
    • การนอนหงายยกขาขึ้นแบบถีบจักรยานในอากาศ ก็อาจช่วยได้
    • อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ควรเลือกชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละรายด้วย
  • จิตใจ: ทำจิตใจให้สบาย คลายความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น สวดมนต์ ภาวนา การทำสมาธิ การฟังเพลง การทำสวน/ปลูกต้นไม้ ทำกิจกรรมที่ชอบยามว่าง การช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านที่เป็นงานเบาๆ(เช่น กวาดบ้าน กวาดใบไม้) จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย และมีจิตใจที่ผ่อนคลาย ส่งเสริมให้มีการขับถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ

สรุป:

ท้องผูกไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุที่มีอาการท้องผูกจะส่งผลกระทบ ดังนี้  

  • ด้านร่างกาย: เช่น ทำให้มีอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง/อึดอัด ไม่สุขสบาย
  • ด้านจิตใจ: ทำให้ หงุดหงิด มีอารมณ์แปรปรวน
  • ด้านเศรษฐกิจ: ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ช่วยแก้ไขอาการท้องผูก

การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สามารถทำได้ด้วยตนเอง อาการท้องผูกก็จะไม่เกิดกับผู้สูงอายุ อันจะมีส่วนช่วยให้เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตทีดี

การป้องกันท้องผูกในผู้สูงอายุ: ที่สำคัญคือ  

  • ต้องทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องผูก
  • ขจัดสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องผูก
  • ฝึกการขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารเพียงพอ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้ปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
  • เคลื่อนไหวร่างกาย/ออกกำลังกายสม่ำเสมอที่เหมาะสมกับวัย

บรรณานุกรม

1. วิไลวรรณ ทองเจริญ. (2554). ศาสตร์และศิลป์การพยาบาลผู้สูงอายุ.กรุงเทพฯ: งานบริการวิชาการ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

2. สุปราณี เสนาดิสัย และวรรณภา ประไพพานิช.(บรรณาธิการ).(2554).การพยาบาลพื้นฐาน:แนวคิดและการปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 13).กรุงเทพฯ: จุดทอง.

3. Eliopoulos,C.(2010). Gerontological Nursing. (7th ed). Philadelphia: Wolters Kluwer/Lippincott Williams &Wilkins.

4. Laune,S.C & Ladner,P.K.(2011). Fundamentals of Nursing: Standards & Practice. (4th ed) New York: Delmar Cengage Learning.

5. Perry, A.G; Potter ,P.A & Ostendorf,W.R. (2014). Clinical Nursing Skills & Techniques. (8th ed). St. Louis: Elsevier Mosby

6. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/constipation/symptoms-causes/syc-20354253 [2022,May28]

7. https://www.agingcare.com/articles/caring-for-a-loved-one-with-chronic-constipation-210009.htm [2022,May28]