ซีสต์ที่ไต (Renal cyst)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซีสต์ที่/ในไต หรือถุงน้ำที่/ในไต (Renal cyst หรือ Kidney cyst) เป็นภาวะ/โรค ที่พบในทุกอายุ แต่พบบ่อยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีรายงานจากการตรวจศพผู้เสียชีวิตที่อายุ50ปีขึ้นไป พบประมาณ50% และพบจากการตรวจภาพช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอในผู้อายุสูงกว่า 40ปีประมาณ 1/3, พบในผู้อายุต่ำกว่า 40 ปีประมาณ 2.7%, และในเด็กประมาณ 0.2% ทั้งนี้พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า

ซีสต์ที่ไตมีกี่ชนิด? มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

ซีสต์ที่ไต

ทั่วไปซีสต์ที่ไต(ซีสต์ฯ)หรือถุงน้ำที่ไต จะหมายถึง โรคซีสต์/ถุงน้ำที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยโรคที่เกิดจากการผิดปกติทางพันธุกรรมจะเป็นพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ซึ่งพบได้น้อย เรียกว่า “โรคถุงน้ำหลายถุงในไต (Polycystic kidney disease ย่อว่า PKD/พีเคดี)” แต่ในบทความนี้จะไม่กล่าวถึง โรคถุงน้ำหลายถุงในไต/โรคพีเคดี

บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “ซีสต์ที่ไต(Renal cyst หรือ Kidney)” ซึ่งไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม เป็นโรคพบบ่อย ที่พบได้ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุ40-50ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มีซีสต์ฯเพียงซีสต์เดียว และแต่ละซีสต์ฯจะมีขนาดเล็ก มักเล็กกว่า3เซนติเมตร(ซม.) และไม่ก่ออาการ

อย่างไรก็ตาม สามารถพบซีสต์ที่ไตนี้ ได้หลายซีสต์ แต่มักไม่เกิน 2-3ซีสต์ และพบเกิดกับไตเพียงข้างเดียวหรือกับไต 2ข้างก็ได้ โดยไตซ้ายและไตขวามีโอกาสเกิดได้เท่ากัน

ทั่วไป ซีสต์ที่ไต(ซีสต์ฯ) เป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ก่ออาการ มักมีขนาดเล็ก อาจโตได้แต่โตช้ามาก มีรายงานโตได้ประมาณ 2ซม.ในช่วง10ปี มักไม่จำเป็นต้องมีการรักษา แต่บางครั้งที่ไม่บ่อยนัก ที่พบซีสต์ฯมีขนาดใหญ่จนเกิดอาการ หรือมีเลือดออกในซีสต์ฯ หรือมีการติดเชื้อในซีสต์ฯที่ทำให้ต้องมีการรักษา

สาเหตุของซีสต์ที่ไต แพทย์ยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีการศึกษาสนับสนุนว่า อาจเกิดจากท่อปัสสาวะขนาดเล็กมากๆ(Tubules)ที่กระจายทั่วไปในเนื้อเยื่อไต เกิดอุดตันเรื้อรังจึงส่งผลให้ท่อปัสสาวะขนาดเล็กมากเหล่านี้เกิดการคั่งของปัสสาวะจนค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นจนเกิดเป็นซีสต์ฯขึ้น หรืออาจเกิดจากผนังของท่อเหล่านี้ค่อยๆขยายโป่งพองจากที่ผนังไม่แข็งแรงจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากการเสื่อมของเซลล์ตามอายุ จนในที่สุดขยายออกเป็นซีสต์ฯเกิดขึ้น

ซีสต์ในไต แบ่งได้เป็น 4 แบบ/ชนิด/ประเภท(Classification หรือCategory หรือ Stage)เพื่อระบุโอกาสที่ซีสต์จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งไต ตามคำแนะนำของ นพ. Morton Bosniak แพทย์ทางรังสีวินิจฉัยชาวสหรัฐอเมริกา เมื่อค.ศ. 1986 ซึ่งแบ่งประภทของซีสต์ในไตตามลักษณะทางรังสีวิทยา เช่น ขนาดซีสต์ฯ ความหนาหรือบางของผนังซีสต์ฯ(Cyst wall) หรือของผนังกั้น(Septum)ในตัวซีสต์ฯ การเป็นก้อน/ตุ่มเนื้อที่ผนังซีสต์ฯและ/หรือที่ผนังกั้นห้องในซีสต์ฯ การที่ผนังซีสต์ฯมีหินปูนจับ ความใสหรือความขุ่นของน้ำในซีสต์ฯ เป็นต้น ดังนี้

  • CategoryI: เป็นซีสต์ฯชนิดพบบ่อยที่สุด และมีโอกาสเป็นมะเร็งไตน้อยมากๆ น้อยกว่า 1% ผู้ป่วยที่มีซีสต์ฯกลุ่มนี้ แพทย์มักให้คำแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามภาพไตทางรังสีวินิจฉัย(เช่น อัลตาซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) และไม่จำเป็นต้องมีการรักษาที่รวมถึงการผ่าตัด/เจาะ/ดูดน้ำในซีสต์ฯออก ซีสต์ฯในกลุ่มนี้ ผนังต่างๆจะบางมากมากไม่เกินเส้นผม ผนังเรียบ ไม่มีตุ่ม หรือก้อนเนื้อที่ผนัง ไม่มีหินปูนจับที่ผนัง น้ำในซีสต์ฯจะใสมาก ขนาดมักไม่เกิน 3 ซม. และถ้าตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ ผนังของซีสต์จะไม่จับสารทึบแสง ซึ่งซีสต์กลุ่มนี้ เรียกว่า”ซีสต์ที่ไตชนิดสามัญ(Simple renal cyst หรือ Simple kidney cyst หรือ Non-complex renal cyst)”
  • CategoryII: โอกาสที่ซีสต์ฯชนิดนี้ จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งไตน้อยกว่า3% ทั่วไป แพทย์มักแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามภาพไตทางรังสีวินิจฉัย และไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเช่นกัน คือ ผนังซีสต์จะหนาขึ้นกว่าใน CategoryI แต่หนาน้อยกว่า1มิลลิเมตร(มม.)และอาจมีหินปูนบางๆ ซีสต์ฯมีขนาดไม่เกิน3ซม. และการตรวจภาพไตผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอพบว่า ผนังของซีสต์ ไม่จับสารทึบแสง

    อย่างไรก็ตาม ซีสต์ในCategoryIIนี้ ยังแบ่งเป็นชนิดย่อย คือ ชนิด “CategoryIIF” โดยF ย่อมาจากคำว่า Follow-up/หมายถึง ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจติดตามภาพไตทางรังสีวินิจฉัย ซีสต์ฯกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งไตได้ 5-10% ทั้งนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซีสต์ฯมักมีขนาดใหญ่กว่า3ซม. และเมื่อตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ ผนังซีสต์จะจับสารทึบแสงได้ แต่ไม่ชัดเจน ซึ่งซีสต์ฯในกลุ่ม CategoryIIFนี้ แพทย์มักแนะนำให้มีการตรวจติดตามภาพไตเป็นระยะๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ทุก 2-6 เดือน เป็นต้น

  • CategoryIII: ซีสต์กลุ่มนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งไตได้ 40-60% ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดออกเพื่อการวินิจฉัยได้แน่นอนว่า เป็นมะเร็งไตหรือไม่ และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งซีสต์ฯในกลุ่มนี้จะมีผนังที่หนา ขรุขระ/เป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก รวมถึงมีหินปูนจับหนาและเป็นก้อน และถ้าตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ ผนังของซีสต์จะจับสารทึบแสงได้ชัดเจน
  • CategoryIV: กลุ่มนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งไตได้ มากกว่า 80% ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด อาจเป็นการผ่าตัดไตออก ซีสต์ในกลุ่มนี้ ผนังจะหนามาก มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อชัดเจน รวมถึงก้อนเนื้อจะจับสารทึบแสงได้ชัดเจนกรณีตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ

*อนึ่งซีสต์ในกลุ่ม CategoryII-CategoryIV เป็นซีสต์ที่มีโอกาสเกิดมะเร็งไตได้ จำเป็นต้องได้รับ การตรวจติดตามภาพไตเป็นระยะๆเพื่อการติดตามโรค หรือ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นมะเร็งไตหรือไม่ และเรียกซีสต์ฯกลุ่มนี้ว่า“ซีสต์ที่ไตแบบซับซ้อน(Complex renal cyst หรือ Complex kidney cyst)”

ซีสต์ที่ไตมีอาการอย่างไร?

ทั่วไปซีสต์ที่ไตทุกชนิด โดยเฉพาะซีสต์CategoryI /ซีสต์ชนิดสามัญ เป็นชนิดที่ไม่ก่ออาการ แพทย์มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพช่องท้องด้วยสาเหตุอื่น เช่น ในการวินิจฉัย โรคตับ โรคมะเร็งต่างๆ โรคไส้ติ่งอักเสบ

อย่างไรก็ตาม ซีสต์ฯเหล่านี้สามารถก่ออาการได้ ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก ทั่วไปมักเกิดในกรณี

  • ซีสต์มีขนาดใหญ่: มักใหญ่เกิน 5-10ซม. จะกดเบียดทับเนื้อเยื่อไตส่วนอื่น โดยเฉพาะกรวยไตและท่อไต ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง /ปวดเอวด้านมีซีสต์ และมีรายงานเป็นครั้งคราวว่า อาจมีไข้หาสาเหตุไม่ได้ และ/หรือความดันโลหิตสูงได้ในผู้ป่วยบางราย
  • ซีสต์ฯแตก: ซีสต์ฯขนาดใหญ่อาจเกิดซีสต์แตกได้ ซึ่งอาจเกิดตามหลังการมีอุบัติเหตุโดยเฉพาะที่ช่องท้อง โดยอาการคือ ปวดหลัง/ปวดเอวด้านมีซีสต์ อาจปวดท้องร่วมด้วยกรณีซีสต์ฯแตกเข้าช่องท้องด้วย ปัสสาวะเป็นเลือด/ปัสสาวะสีน้ำปลา
  • มีเลือดออกในซีสต์ฯ: ซึ่งมักเกิดตามหลังการได้รับอุบัติเหตุที่ไต หรือในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายในทุกอวัยวะที่รวมถึงในซีสต์ที่ไตด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการ คลำก้อนได้ในท้องด้านเดียวกับซีสต์ฯจาก ซีสต์ฯจะใหญ่ขึ้นจากเลือดคั่ง ปวดท้อง/ปวดเอว/ปวดหลังด้านที่มีซีสต์ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะสีเข็มเหมือนน้ำปลา
  • มีการติดเชื้อในซีสต์ฯ: โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแพทย์ยังไม่ทราบ ซึ่งอาการได้แก่
    • มีไข้
    • ปวดหลัง/ปวดเอวด้านมีซีสต์ฯ
    • ปัสสาวะบ่อย
    • อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะสีเหมือนน้ำปลา ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นรุนแรงผิดปกติ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการ” ควรรีบพบแพทย์/และมาโรงพยาบาลเสมอโดยเฉพาะกรณีทราบมาก่อนว่า ตนเองมีซีสต์ที่ไต

แพทย์วินิจฉัยซีสต์ที่ไตอย่างไร?

ทั่วไป กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการ แพทย์มักวินิจฉัยซีสต์ที่ไตได้จากการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพช่องท้องเพื่อตรวจโรคอื่นๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีอาการทางไต/อาการของโรคไต เช่น การตรวจวินิจฉัย โรคไส้ติ่งอักเสบ หรือโรคตับ เป็นต้น

แต่ในกรณีมีอาการดังได้กล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” แพทย์วินิจฉัยว่าอาการเกิดจากซีสต์ที่ไตได้จาก ประวัติอาการ ร่วมกับประวัติการเคยตรวจพบซีสต์ที่ไต การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไต และที่สำคัญคือ การตรวจภาพไตด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ

รักษาซีสต์ที่ไตอย่างไร?

แนวทางการรักษาซีสต์ที่ไต ได้แก่

  • กรณีเป็นซีสต์ Category I ที่ตรวจพบโดยบังเอิญและผู้ป่วยไม่มีอาการ: ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา และไม่จำเป็นต้องมีการนัดตรวจภาพไตเพื่อติดตามโรค
  • กรณีเป็นซีสต์ Category II: แพทย์อาจแนะนำหรือไม่แนะนำการตรวจติดตามขนาดและลักษณะภาพซีสต์ฯด้วย อัลตราชาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ถ้าแนะนำการตรวจติดตาม ระยะเวลาในการตรวจติดตามภาพซีสต์ฯ ไม่มีการแนะนำที่ชัดเจนแต่ ทั่วไป มักอยู่ในช่วง 2-6เดือน
  • กรณีเป็นซีสต์ Category IIF: แพทย์มักแนะนำตรวจติดตามขนาดและลักษณะของภาพซีสต์ฯด้วย อัลตราชาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยระยะเวลาในการตรวจติดตามผลไม่มีการแนะนำที่ชัดเจนแต่ให้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ทั่วไป มักอยู่ในช่วง 2-6เดือน หรือแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ผ่าตัดตัวซีสต์ฯออก
  • กรณีเป็นซีสต์ฯ Category III หรือIV: การรักษามักเป็นการผ่าตัดซีสต์ออก หรืออาจต้องตัดไตข้างนั้นออก โดยเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง หลังการผ่าตัดซีสต์ หรือผ่าตัดไต จะมีการตรวจก้อนเนื้อ/ก้อนซีสต์ฯที่ตัดออกมาโดยเป็นการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนว่า เป็นโรคใด เป็นมะเร็งไตหรือไม่ เพื่อแพทย์ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

  • กรณีซีสต์ CategoryI หรือ II ที่ซีสต์มีขนาดใหญ่: แพทย์อาจแนะนำการเจาะ/ดูดน้ำในซีสต์ออก แล้วใส่สารเคมีเข้าไปในซีสต์ เช่น แอลกอฮอล์เพื่อทำให้ถุงซีสต์ยุบเป็นพังผืดและไม่มีการสะสมน้ำในซีสต์ เรียกการรักษาวิธีนี้ว่า Percutaneous sclerotherapy
  • กรณีซีสต์ฯ CategoryI หรือ II แตก: กรณีอาการน้อย ซีสต์ที่แตกขนาดเล็ก แพทย์อาจรักษาโดยการรักษาประคับประคองตามอาการร่วมกับการเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วย; กรณีอาการผู้ป่วยรุนแรง หรือซีสต์ฯขนาดใหญ่ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเอาซีสต์ฯออกหรือบางครั้งอาจต้องเป็นการผ่าตัดไตข้างนั้นออก
  • กรณีซีสต์ฯ CategoryI หรือ II มีเลือดออก: การรักษาจะขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เลือดออก และความรุนแรงของการเลือดออก ดังนั้นการรักษาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป เช่น การรักษาเพียงเฝ้าติดตามอาการ กรณีอาการน้อยมาก และเลือดหยุดไหลแล้ว, หรือการหยุดยาที่เป็นสาเหตุ, หรือ การผ่าตัดซีสต์ฯ หรือ ผ่าตัดไต กรณีเลือดออกมาก และแพทย์หยุดอาการเลือดออกไม่ได้ด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ
  • กรณีซีสต์ CategoryI หรือ II ติดเชื้อ: การรักษาจะเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ อาจร่วมกับการดูด/เจาะหนองออก หรือ การผ่าตัดซีสต์ฯ หรือ ผ่าตัดไต ขึ้นกับความรุนแรงของการติดเชื้อ ร่วมกับดุลพินิจของแพทย์

ซีสต์ที่ไตมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากซีสต์ที่ไต เป็นสิ่งที่พบได้น้อยมาก โดยเฉพาะโรคใน CategoryI หรือ II ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ ได่แก่

  • ซีสต์ฯมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกดเบียดทับกรวยไตและ/หรือท่อไต จนก่อให้เกิดอาการปวดหลัง/ปวดเอว เรื้อรัง
  • ซีสต์ฯแตก
  • ซีสต์ฯเลือดออก
  • มีการติดเชื้อในซีสต์ฯ

ซีสต์ที่ไตมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป ดังได้กล่าวแล้วว่า ซีสต์ที่ไตเกือบทั้งหมดเป็นซีสต์ฯชนิดสามัญ(CategoryI) ซึ่งมีการพยากรณ์โรคที่ดีมากเหมือนคนปกติทั่วไป ส่วนซีสต์ฯ CategoryIIและIIF ก็ยังจัดว่ามีการพยากรณ์โรคที่ดี โดยมีโอกาสเป็นมะเร็งไตได้ 3-10% ส่วนซีสต์ฯ CategoryIII มีโอกาสเป็นมะเร็งไตได้ 40-60% และซีสต์ฯCategoryIVมีโอกาสเกิดมะเร็งไตได้มากกว่า 80% ซึ่งการพยากรณ์ของโรคมะเร็งไตจะขึ้นกับระยะโรคเป็นสำคัญ อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งไต

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เนื่องจากซีสต์ที่ไตมีหลายชนิด/Category การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ซึ่งทั่วไป คือ ดูแลตนเองตามปกติโดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด กรณี
    • มีอาการผิดปกติ ดังได้กล่าวในหัวข้อ”อาการฯ”
    • กังวลในโรค

ป้องกันเกิดซีสต์ที่ไตได้อย่างไร?

เนื่องจากซีสต์ที่ไต เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือ อายุที่มากขึ้น ดังนั้น โรคนี้จึงยังไม่มีการป้องกัน

บรรณานุกรม

  1. Garabed Eknoyan. J Am Soc Nephrol 2009;20:1874-1876
  2. Ozveren B. et al. Urol J. 2016;13(1):2569-75
  3. Simms RJ et al. Nephrol Dial Transplant. 2014 ;29 (Suppl 4): s106-s112
  4. Thomas F. Whelan. Can Urol Assoc J. 2010;4(2):98-99
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Renal_cyst [2018,July28]
  6. https://radiopaedia.org/articles/renal-cyst-1 [2018,July28]
  7. http://www.urologygroupvirginia.com/adult-patient-library-web-pages/renal-cysts/renal-cysts/ [2018,July28]
  8. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/simple-kidney-cysts [2018,July28]