logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยารักษาหูด หงอนไก่

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยารักษาหูด หงอนไก่

ยารักษาหูดหงอนไก่ หมายถึงยาที่ใช้ รักษา ป้องกัน และลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคหูดหงอนไก่/หูดอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (HPV)/โรคติดเชื้อเอชพีวี

ก. ยาที่แพทย์ต้องเป็นผู้ทายาให้ผู้ป่วย (Provider-administered therapies): เป็นยาที่ผู้ป่วยต้องมาทายาที่โรงพยาบาลโดยแพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ทายาให้ เพราะหากทายาผิดวิธีจะส่งผลให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยา หรือทำให้การรักษาไม่ได้ผล ยากลุ่มนี้ ได้แก่

1. ไตรคลอโรอะเซติคแอซิด (Trichloroacetic acid / TCA), ไบคลอโรอะเซติคแอซิด (Bichloroacetic acid / BCA)

2. โพโดฟิลลิน (Podophyllin)

ข. ยาที่ผู้ป่วยสามารถทาเองได้ (Patient-applied therapies): เป็นยาที่ให้ผู้ป่วยกลับไปทาเองที่บ้าน แล้วค่อยกลับมาตรวจติดตามการรักษาจากแพทย์ภายหลัง ยากลุ่มนี้ได้แก่

1. โพโดฟิลอก (Podofilox) หรืออีกชื่อคือ โพโดฟิโลทอกซิน (Podophyllotoxin)

2. อิมิควิโมด (Imiquimod)

3. ไซนีคาเทชิน (Sinecatechins)

ค. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (Human papillomavirus Vaccines / HPV Vaccines) ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6,11, 16 และ 18

ทั้งนี้ห้ามใช้ยา Trichloroacetic acid, Bichloroacetic acid และ Podophyllin บริเวณผิวหนังที่มีอาการระคายเคือง ติดเชื้อ แดง คัน บวม มีเลือดออก และผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติ เช่น ปาน ไฝ เพราะอาจเกิดแผลรุนแรงในบริเวณสัมผัสยา และห้ามใช้ยา Podophyllin ทาผิวหนังกว้างเกินกว่า 10 ตารางเซนติเมตร หรือปริมาณมากกว่า 0.5 มิลลิลิตรต่อวัน หรือทาบริเวณหูดที่มีเลือดออก เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับยานี้มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรงได้

1. ไม่ควรซื้อยารักษาหูดหงอนไก่มาทาเอง เนื่องจากโรคหูดและยารักษาโรคหูดมีหลายประเภท บางประเภทไม่เหมาะกับการรักษาหูดหงอนไก่ และอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง

2. ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่ควรไปพบแพทย์เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยเพศหญิงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น

3. ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ เพราะอาจทำให้เชื้อติดต่อไปยังคู่นอนได้

4. ก่อนทายารักษาโรคหูดหงอนไก่ทุกครั้ง ผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ ไม่ควรให้ยานี้โดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงหลังทายา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยานี้ลดลง

5. ไม่ควรใช้ยา Sinecatechins นานเกิน 16 สัปดาห์ และไม่ควรใช้ในผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)บกพร่อง หรือเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยานี้ในการรักษาโรคดังกล่าวมากเพียงพอ

6. การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ต้องฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน นั่นคือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก

ขึ้นกับชนิดของยาที่ใช้ แต่ส่วนใหญ่อาจทำให้เกิดอาการ ปวด แสบร้อนบริเวณผิวหนังที่ทายา ระคายเคืองผิวหนัง อาจเป็นแผลเลือดออก รอยด่าง หรือทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปกติที่สัมผัสยาได้