โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคอัมพาต(Stroke) หรือ อาการอัมพาต ในความหมายทั่วไปคือ แขนและ/หรือ ขาขยับเขยื้อนไม่ได้ ไม่มีแรง ใช้งานไม่ได้ โบราณเรียกว่า ’โรคลม‘

ส่วน ‘โรคอัมพฤกษ์(Paresis)’ หรือ อาการอัมพฤกษ์ หมายถึงแขนและ/หรือขาอ่อนแรงกว่าปกติแต่ยังพอใช้งานได้/ใช้ได้น้อยกว่าปกติ เช่น อาจชา หยิบจับของหนัก หรือหยิบจับดินสอเพื่อเขียนหนังสือตามปกติไม่ได้ ดังนั้นอัมพฤกษ์จึงมีความรุนแรงน้อยกว่าอัมพาต

โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ ที่จริงแล้วเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่ส่งผลให้สมองขาดเลือด จึงเกิดอาการแขนขาใช้งานไม่ได้หรืออ่อนแรง ซึ่งทั้งอัมพาตและอัมพฤกษ์มีสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และการดูแลรักษาเหมือนกัน ต่างกันเพียงความรุนแรงของโรคดังกล่าวแล้ว ในบทนี้ จึงกล่าวถึงโรคหรืออาการทั้งสองไปพร้อมๆกัน โดยขอเรียกว่า ’โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์’

โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ (Stroke) ทางแพทย์เรียกว่า โรคซีวีเอ (CVA ชื่อเต็มคือ Cerebrovascular accident) หรือศัพท์บัญญัติจากราชบัณฑิตยสถานคือ ‘โรคลมปัจจุบัน หรือโรคลมเหตุหลอดเลือดสมอง’ และนิยามโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ทางการแพทย์คือ อาการผิดปกติที่เกิดจากสมองขาดเลือดเกิดขึ้นนานเกิน 24 ชั่วโมง แต่เมื่ออาการที่ผิดปกติสามารถหายกลับเป็นปกติได้ภายใน 24 ชั่วโมงเรียกว่า เป็น ‘อาการอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ชั่วคราว’ หรือคือโรค/อาการทีไอเอ(TIA คำเต็มคือ Transient ischemic attack: สมองขาดเลือดชั่วคราว)

นอกจากใช้คำว่า Stroke แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) ซึ่งเป็นโรคเกิดจากอวัยวะหัวใจขาดเลือดเช่นกัน บางท่านจึงเรียกโรค/อาการอัมพาตว่า โรค/อาการ ‘Brain attack’ หรือ ‘Acute ischemic cerebrovascular syndrome’

โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ พบบ่อยทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว และรวมถึงในคนที่ใช้ชีวิตแบบคนตะวันตก โรคนี้พบทุกอายุรวมทั้งในเด็ก แต่ทั่วไป มักพบในอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป (95% ของผู้ป่วยทั้งหมด) โดยผู้ป่วย 2 ใน 3 มีอายุมากกว่า 65 ปี ทั้งนี้พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 25%

มีรายงานผู้ป่วยทั่วโลกในปี ค.ศ. 2011/ พ.ศ. 2554 มีประชากรตายด้วยโรคนี้ประมาณ 6.2 ล้านคน ซึ่งจัดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ส่วนในประเทศไทย สถิติปี พ.ศ. 2553 โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 (10%) รองจากโรคมะเร็ง (19%) และโรคหัวใจ (12%) ตามลำดับ

โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์เกิดจากอะไร?

อัมพาต

โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ มีสาเหตุเกิดจากสมองขาดเลือดทันทีภายในระยะเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมง ไม่ใช่ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ซึ่งเกิดได้จาก 2 สาเหตุสำคัญคือ หลอดเลือดแดงสมองอุดตันซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยกว่า, และหลอดเลือดแดงสมองแตก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก)

ก. หลอดเลือดแดงสมองอุดตัน: เช่น จากหลอดเลือดแดงสมองตีบตันจาก โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจาก

  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • สูบบุหรี่
  • มีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดสมอง
  • มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดนอกสมอง หลุดลอยเข้ากระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง เช่น
    • ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือ
    • ลิ่มเลือดจากโรคหัวใจเต้นรัว เอเอฟ (AF, atrial fibrillation)

ข. หลอดเลือดแดงสมองแตก: ที่พบได้บ่อยคือ ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และในโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm)

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตอัมพฤกษ์มีอะไรบ้าง?

จากการศึกษาของโครงการศึกษาระบาดวิทยาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตอัมพฤกษ์ของคนไทยกลุ่มศึกษา ได้แก่

  • อายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • เพศ: ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าผู้หญิง
  • อาชีพ: คนว่างงานหรือทำงานบ้านโอกาสเกิดสูงกว่า
  • ถิ่นที่พักอาศัย: คนกรุงเทพฯเกิดโรคสูงกว่าคนภาคอื่นๆ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไขมันในเลือดสูง

อนึ่ง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจัยเสี่ยงฯนอกจากโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, และโรคไขมันในเลือดสูงเช่นเดียวกับในคนไทยแล้ว ยังได้แก่

  • สูบบุหรี่
  • โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหัวใจเต้นรัว เอเอฟ
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  • เคยมีอาการอัมพาต อัมพฤกษ์ชั่วคราว(สมองขาดเลือดชั่วคราว)มาก่อน
  • อาจจากพันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้

โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์มีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ เป็นอาการที่เกิดทันที เป็นนาทีหรือชั่วโมง โดยอาการขึ้นกับตำแหน่งสมองส่วนที่ขาดเลือด ทั่วไปที่พบบ่อย ได้แก่

  • แขน ขา ด้านเดียวกันอ่อนแรงทันที
  • แขน ขาด้านเดียวกัน ใบหน้า ชา
  • สับสน พูดไม่ชัด หรือพูดไม่ได้
  • อาจมีตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพเพียงบางส่วน หรือเห็นภาพได้แคบลง
  • อาจหายใจเหนื่อยหอบ ติดขัด/หายใจลำบาก
  • มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้
  • ปวดศีรษะรุนแรง/ ปวดศีรษะร้ายแรงทันที
  • ถ้าเกิดจากมีเลือดออกในสมอง ความดันในสมองมักขึ้นสูง ส่งผลให้เกิดคลื่นไส้-อาเจียน
  • เมื่อมีอาการมาก อาจหมดสติ โคม่า และ ตาย ในที่สุด

*อนึ่ง อาการสำคัญที่สุดที่ช่วยแพทย์วินิจฉัย โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ ประกอบด้วย 4 อาการหลักที่เรียกว่า ฟาต (FAST) คือ

1. Facial weakness (ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว)

2. Arm weakness (แขนอ่อนแรง ไม่มีแรง)

3. Speech difficult (พูดไม่ชัด พูดไม่ได้) และ

4. Time to act (ทุกอาการดังกล่าว เกิดพร้อมกันทันที)

ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉิน โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินเบอร์เดียวทั่วประเทศไทยคือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความ อัมพาตฺ: 270 นาทีชีวิต

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

การพบแพทย์/ การไปโรงพยาบาล คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน/ทันที เพราะเมื่อได้รับการรักษาได้ทัน อาจรอดชีวิต และอาจรอดจากความพิการได้

แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ โรคประจำตัว
  • การตรวจวัดสัญญาณชีพ ที่สำคัญคือ ความดันโลหิต ชีพจร
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และ
  • วินิจฉัยหาสาเหตุอัมพาต อัมพฤกษ์ จาก
    • ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในปัจจุบันและในอดีต
    • ประวัติสูบบุหรี่
    • ตรวจเลือด ดูค่า น้ำตาล และไขมัน
    • ตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ /ซีทีสแกน หรือคลื่นแม่เหล็ก เอมอาร์ไอ
    • อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
      • ตรวจเลือดดู เม็ดเลือด /เกล็ดเลือด ซีบีซี/ CBC
      • ตรวจเลือดดู ค่าการทำงานของ ตับ ไต

รักษาโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์อย่างไร?

แนวทางการรักษา โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ คือ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • ผ่าตัดสมองเมื่อเกิดจากหลอดเลือดสมองแตก
  • ใส่สารอุดตันเข้าหลอดเลือดเมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  • ให้ยาละลายลิ่มเลือดเมื่อเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน

ข. ให้การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ: เช่น

  • ให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด เช่นยา แอสไพริน
  • ให้การรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่น
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคเบาหวาน
    • โรคไขมันในเลือดสูง

ค. ทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขน/ขาและ/หรือ การฝึกพูด ตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ

ง. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต:ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ซึ่งที่สำคัญ คือ

    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทกวัน ควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วน รวมถึงจำกัด อาหารแป้ง อาหารหวาน อาหารไขมัน/ทอดน้ำมัน อาหารเค็ม
    • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
    • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
    • การทำกายภาพฟื้นฟูตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ตลอดไป

มีผลข้างเคียงจากโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์อย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากโรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ คือ

  • คุณภาพชีวิตลดลง
  • ความพิการ
  • ความจำ ความคิด สติปัญญาด้อยลง
  • ปัญหาในการทำงาน รายได้ และค่ารักษาพยาบาล

ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างยิ่ง

โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์รุนแรงไหม?

โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ เป็นโรครุนแรง/มีการพยากรณ์โรคไม่ดี ส่งผลให้ตายได้ และยังเป็นโรคที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางสาธารณสุข สังคม และครอบครัว และเมื่อรอดชีวิตมักเกิด

  • ความพิการ ซึ่งส่งผลให้เคลื่อนไหวได้น้อย ช่วยตัวเองได้น้อย จึงมักมีคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง
  • มีโอกาสเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้สูง เช่น
    • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และ/หรือ
    • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็น โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • พยายามขยับร่างกาย/เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้เสมอ ไม่นอนติดเตียง
  • ทำกายภาพบำบัด/ กายภาพฟื้นฟู ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด สม่ำเสมอ อย่าหมดกำลังใจ เพราะอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นช้าๆ แต่โอกาสกลับเป็นปกติมีได้น้อย
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา เพื่อป้องกันโรคเกิดเป็นซ้ำ อย่าหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี
  • เข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ ยอมรับความจริง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพชีวิต เพื่อลดปัญหาต่อตนเองและต่อครอบครัว หาเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อการช่วยเหลือตนเอง
  • จัดบ้าน ห้องพัก และห้องน้ำ เพื่อช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระครอบครัว
  • ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือผิดไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น, เลือดออกตามอวัยวะต่างๆง่าย/เรื้อรัง เช่น จุดห้อเลือดตามผิวหนัง, ปวดท้องเรื้อรัง
    • มีไข้สูงเพราะเป็นอาการจากการติดเชื้อ ซึ่งควรต้องรีบรักษาเพราะดังกล่าวแล้วว่า มักเป็นการติดเชื้อรุนแรง และ
      • ต้องพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อไข้สูงร่วมกับท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ คือ การป้องกัน/หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ ’ ที่สำคัญคือ

  • ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ที่สำคัญ เช่น
    • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่
    • จำกัดอาหารไขมัน
  • ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน เช่น
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน ในปริมาณพอควรที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน
    • จำกัดอาหารไขมัน, อาหารแป้ง น้ำตาล,และ อาหารเค็ม/เกลือ, เพิ่มผักและผลไม้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน ในคนปกติประมาณ 30 นาทีต่อวัน
  • ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจ ความดันโลหิต, โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือด, โรคหัวใจ, โรคไต, โรคตับ เพื่อให้การรักษาควบคุมโรคเหล่านี้แต่เนิ่นๆ
  • กินยาเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดตามแพทย์แนะนำ

บรรณานุกรม

  1. Poungvarin, N. et al. (2011). Prevalence of stroke and stroke risk factors in Thailands: Thai Epidemiologic Stroke (TES) Study. J Med Assoc Thai. 94, 427-436.
  2. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  3. Lambert, M. (2011).AHA/ASA guidelines on prevention of recurrent stroke. Am Fam Physician. 83, 993-1001.
  4. http://www.cdc.gov/globalhealth/countries/thailand/ [2020,Feb1]
  5. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/the-top-10-causes-of-death [2020,Feb1]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Stroke [2020,Feb1]