คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : วัณโรค
วัณโรค (Tuberculosis / TB) เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แม้ว่าส่วนใหญ่การอักเสบจากเชื้อวัณโรคจะเกิดในปอดที่เรียกว่า ‘วัณโรคปอด/Pulmonary TB’ แต่ก็สามารถเกิดโรคที่อวัยวะอื่นได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกายเช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ และหากเชื้อวัณโรคอยู่ในตัวผู้ป่วยโดยไม่มีอาการได้นานๆ จะเรียกว่า ‘วัณโรคระยะแฝง (Latent TB infection/ LTBI)
วัณโรคเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนทางการหายใจ โดยเชื้อวัณโรคจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอดไปสู่ผู้อื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็กๆ ซึ่งออกมาจากการ ไอ จาม หรือพูด ละอองเสมหะเหล่านี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง และเมื่อสูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอดแล้วเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อถุงลมได้ ทั้งนี้ ในการไอ 1 ครั้งอาจพบมีละอองเสมหะออกมาถึง 3,000 ละอองเสมหะ อย่างไรก็ดีวัณโรคจะไม่ติดต่อทางการกิน การดื่ม และการสัมผัส และผู้ป่วยจะไม่มีการแพร่เชื้อกรณีที่ได้รับยาวัณโรคเกิน 2 อาทิตย์ไปแล้ว
ในระยะแรกหลังจากเชื้อวัณโรคเข้าในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการและไม่สามารถตรวจพบได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ จนถึงประมาณหลังจาก 4 อาทิตย์ ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกริยาต่อเชื้อวัณโรค โดยส่วนใหญ่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในคนปกติจะสามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบนิ่งอยู่ เรียกว่าอยู่ในระยะแฝง/วัณโรคระยะแฝง ซึ่งจะไม่มีอาการของโรคและไม่แพร่เชื้อ
แต่ในผู้ป่วยเด็กเล็กหรือผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS)/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจไม่สามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบได้ จึงเกิดโรควัณโรคปฐมภูมิ (เป็นวัณโรคที่แสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดเชื้อ โดยไม่มีการอยู่ในระยะแฝง) เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มปอด หรือวัณโรคต่อมน้ำเหลืองได้ ทั้งนี้ เชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝงจะสงบอยู่จนมีปัจจัยที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอจึงเกิดโรควัณโรคปอดขึ้น
อาการสำคัญของวัณโรคปอดคือ ไอเรื้อรังโดยเฉพาะอาการไอที่เกิดขึ้นนานกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะเริ่มจากไอแห้งๆ ต่อมาจะมีเสมหะจนอาจมีไอเป็นเลือดได้ ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อย คือ มีไข้ (มักเป็นไข้ต่ำๆ) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเหงื่อออกกลางคืน
1. กินยาวัณโรคตามที่แพทย์แนะนำจนครบตามกำหนดอย่างเคร่งครัด (ประมาณ 6 - 12 เดือน) เพื่อป้องกันการดื้อยา
2. ในช่วงแรกของการรักษาโดยเฉพาะ 2 อาทิตย์แรกถือเป็นระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรอยู่แต่ในบ้าน แยกห้องนอน นอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกและแสงแดดส่องถึง ไม่ออกไปในที่ที่มีผู้คนแออัด ต้องปิดปากจมูกเวลาไอหรือจาม และใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ชุมชน
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้านควรดูแลให้ทำตามข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยวัณโรค และฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ให้ทารกแรกเกิดทุกรายเพื่อป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงในเด็กเล็ก อย่างไรก็ดีผู้ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้