มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวรุนแรงไหม?
- รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
- มีการตรวจคัดกรองและป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute Lymphoblastic Leukemia: ALL)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล หรือ เอเอ็นแอลแอล (Acute Myelogenous Leukemia : AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia : ANLL)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia:CML)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- สเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease)
- ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Transplant rejection)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งเม็ดเลือดขาว/ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemia/ ลูคีเมีย) คือ โรคมะเร็งของไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อในระบบโรคเลือด จัดเป็นมะเร็งในกลุ่ม ‘ลิ้มโฟมาและลูคีเมีย(Lymphoma and Leukemia)’ โดยเกิดจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวในปริมาณผิดปกติ โดยทั่วไปจะสร้างในปริมาณสูงขึ้นมาก แต่ผู้ป่วยบางรายปริมาณเม็ดเลือดขาวอาจปกติ หรือ ต่ำกว่าปกติมาก
นอกจากความผิดปกติในปริมาณแล้ว การทำงานของเม็ดเลือดขาวยังผิดปกติด้วย นอกจากนั้น ยังส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดของไขกระดูกลดต่ำลงผิดปกติไปด้วย ซึ่งอาการหลักของมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ ติดเชื้อง่าย, ซีด/ โรคซีด, เลือดออกง่าย/มีจ้ำห้อเลือดง่ายทั่วตัว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว ยังจัดเป็นมะเร็งในกลุ่มมะเร็งระบบโรคเลือด /มะเร็งระบบโลหิตวิทยา(Hematologic malignancy หรือ Non solid tumor) พบบ่อยทั้งใน เด็ก ผู้ใหญ่ และในผู้สูงอายุ ทั้งในทั่วโลกและในประเทศไทย และ จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ซึ่งทั่วโลกมีรายงาน พ.ศ. 2543 พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทั้งหมด 256,000 ราย ในจำนวนนี้ตายด้วยโรคนี้ 209,000 ราย ส่วนในประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2553-2555 พบโรคนี้อยู่ใน 10 ลำดับโรคมะเร็งพบบ่อยทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีหลากหลายชนิดย่อย แต่แบ่งได้เป็น 2 ชนิด/กลุ่มหลัก คือ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ‘ลิมโฟซิติก (Lymphocytic leukemia)’ ที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte และ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ‘มัยอีโลจีนัส (Myelogenous leukemia)’ ที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่ไม่ใช่ Lymphocyte ที่เรียกรวมว่า Myeloid เช่น Granulocyte และ Monocyte
และมะเร็งฯทั้งสองชนิดดังกล่าว ยังแบ่งย่อยเป็นชนิดเฉียบพลัน (Acute) และชนิดเรื้อรัง (Chronic)
ก. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมีความรุนแรงสูง มีอาการรุนแรง และต้องการรักษาโดยรีบด่วน เนื่องจากเซลล์ไขกระดูก สร้างเซลล์เม็ดเลือดโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดปกติลดลงอย่างมากมาย
ข. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มีความรุนแรงน้อยกว่าชนิดเฉียบพลัน ธรรมชาติของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป ไขกระดูกยังพอสร้างเม็ดเลือดปกติได้แต่ลดน้อยลง แต่ในโรคระยะสุดท้ายของชนิดเรื้อรัง มีโอกาสที่โรคจะเปลี่ยนเป็นชนิดเฉียบพลันได้สูง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงมาก จนมักเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต อนึ่ง มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดพบบ่อย คือ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (ALL; Acute Lymphoblastic Leukemia) ซึ่งเป็นมะเร็งพบบ่อยที่สุดของเด็กไทยและเด็กทั่วโลก พบน้อยในผู้ใหญ่ เป็นมะเร็งชนิดเฉียบพลัน โดยเป็นมะเร็งของเซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (AML, Acute Myelocytic Leukemia หรือ Acute Myelogenous Leukemia หรือ Acute Myeloid Leukemia หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia/ANLL/เอเอ็นแอลแอล) เป็นมะเร็งชนิดเฉียบพลันเช่นกัน พบน้อยกว่าชนิด ALL มาก โดยเป็นมะเร็งของเม็ดเลือดขาวชนิด Myeloid
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (CML, Chronic Myelogenous Leukemia) เป็นมะเร็งชนิดเรื้อรังของเม็ดเลือดขาวชนิด Myeloid
ซึ่งทั้งสองชนิดหลัง พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก และเป็นชนิดที่พบได้เรื่อยๆไม่บ่อยเท่าชนิด เอแอลแอลในเด็ก
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่การศึกษาระบุว่า น่าจะมาจากหลายสาเหตุร่วมกันโดยเฉพาะการมีปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีต่างๆในสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยกับพันธุกรรมของผู้ป่วย ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยง เช่น
- พันธุกรรมผิดปกติหลายชนิดร่วมกัน เช่น ผู้ป่วยกลุ่มดาวน์ซินโรม(Down syndrome) หรือ มีความผิดปกติของโครโมโซมที่ชื่อ Philadelphia chromosom อีกชื่อคือ Philadelphia translocation ย่อว่า ‘Ph’
- อาจจากได้รับรังสีชนิดต่างๆปริมาณสูง เช่น จากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าปรมาณูจากรังสีเอกซ์ (X-ray)
- บางการศึกษาพบว่า อาจจากติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเฮชทีแอลวี (Human T-lymphotropic virus Type I หรือเรียกย่อว่า HTLV-1)
- บางการศึกษารายงานว่า อาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมีบางชนิดในปริมาณสูงเรื้อรังจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการได้รับตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ หรือเมื่อเป็นเด็กเล็ก เช่น Gasoline, ยาฆ่าแมลงบางชนิด
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอาการอย่างไร?
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากไขกระดูกปกติทำงานลดลง ที่พบบ่อยคือ
- เมื่อมีเม็ดเลือดขาวปกติลดลง/ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจึงติดเชื้อได้ง่าย มักมีไข้สูง เป็นๆหายๆบ่อยกว่าคนทั่วไป เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันป้องกันโรค
- เมื่อมีเม็ดเลือดแดงลดลง จึงเกิด ภาวะ/โรคซีด อาการ/โรคซีดทำให้เหนื่อยง่าย อาจบวมหน้า หรือ เท้า และ เมื่อซีดมากอาจเกิดโรคหรือ ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- เมื่อมีเกล็ดเลือดลดลง จึงมีเลือดออกง่าย เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยป้องกันเลือดออกและช่วยให้เลือดหยุดได้ง่ายเมื่อมีเลือดออก เช่น เลือดออกบ่อยขณะแปรงฟัน, มีเลือดกำเดาบ่อยผิดปกติ, และมีห้อเลือดง่าย, และ มีจุดเลือดออกกระจายตามตัวเล็กๆแดงๆคล้ายจุดที่เกิดในไข้เลือดออก
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญที่สุดคือ อาการ
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด ซีบีซี(CBC)
- ที่วินิจฉัยได้แน่นอน คือ
- การตรวจไขกระดูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตรวจทางพยาธิวิทยา
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และ ดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือดดูความผิดปกติของโครโมโซม/ จีน
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีกี่ระยะ?
ไม่มีการจัดระยะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเหมือนในโรคมะเร็งอื่นๆ เพราะเป็นโรคเกิดในไขกระดูก(มะเร็งระบบโรคเลือด หรือ Non solid tumor) เมื่อตรวจพบ โรคจะแพร่กระจายในไขกระดูกทั่วตัวอยู่แล้ว(ความหมายเหมือนมะเร็งระยะที่4) ดังนั้น แพทย์จึงแบ่งโรคตามความรุนแรง เช่น
ก. แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคปานกลาง (Average risk group) และ
- กลุ่มโรคมีความรุนแรง (Risk group) ซึ่งบางสถาบัน ยังแบ่งผู้ป่วยกลุ่มรุนแรงนี้เป็น2กลุ่มย่อย คือ
- กลุ่มมีความรุนแรงสูง (High risk group) และ
- กลุ่มมีความรุนแรงสูงมาก (Very high risk group)
ข. แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มที่มีความรุนแรงน้อย (Favorable risk)
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคปานกลาง (Intermediate risk)
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคสูง (Adverse risk)
*อนึ่ง การแบ่งกลุ่มความรุนแรงของโรค ประเมินจากปัจจัยต่างๆ เช่น
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง: ชนิดเอเอ็มแอลความรุนแรงสูงกว่าชนิดเอแอลแอล
- อายุ: เด็กอ่อน และผู้สูงอายุ ความรุนแรงโรคสูง
- ปริมาณ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ที่ตรวจในครั้งแรกจากตรวจเลือด ซีบีซี/CBC เมื่อผิดปกติมาก ความรุนแรงโรคสูง และ
- การมีโรคแพร่กระจายเข้าเนื้อเยื่ออื่นๆนอกเหนือจากไขกระดูก เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม สมอง(ความรุนแรงโรคสูง)
- ชนิดของโครโมโซม/จีนที่ผิดปกติ: ผู้มี Philadelphia chromosom มีความรุนแรงโรคสูง
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวรุนแรงไหม?
มะเร็งเม็ดเลือดขาว จัดเป็นมะเร็งมีความรุนแรงสูง อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, จำนวนเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดที่ตรวจครั้งแรก, และการมีโรคแพร่กระจายเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ ไขกระดูก ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ระยะโรค’
ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิดรวมกันมีอัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 60% แต่ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี อัตรารอดฯสูงกว่าประมาณ 60-85%ขึ้นกับชนิดย่อยของมะเร็งฯ และปัจจัยต่างๆดังกล่าวในตอนต้น
รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างไร?
การรักษาหลักในมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด: ซึ่งใช้ยาฯหลายชนิดร่วมกัน โดยตัวยาฯและระยะเวลาในการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ซึ่ง แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเอง
- การใช้รังสีรักษา/ การฉายรังสีรักษา : มักจำกัดอยู่ในโรครุนแรงบางโรค เช่น การฉายรังสีบริเวณสมองในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล และการฉายรังสีบริเวณม้ามในมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และข้อกำหนดในวิธีรักษาโรคของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งอาจแตกต่างกัน
- การปลูกถ่ายไขกระดูก: ซึ่งใช้ได้ผลในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดในโรคกลุ่มรุนแรง, โรคดื้อต่อยาเคมีบำบัด, หรือเมื่อมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ, เช่น ในโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลชนิดย้อนกลับเป็นซ้ำ
- การผ่าตัด: เนื่องจากเป็นโรคของไขกระดูก ซึ่งเป็นทั่วทั้งตัว ดังนั้นจึงไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ จึงไม่มีการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ยารักษาตรงเป้า (ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง): ปัจจุบันยารักษาตรงเป้าบางชนิด สามารถรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดได้ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ให้
คำแนะนำกับผู้ป่วยได้ดีที่สุดถึงความเหมาะสมในการใช้ยากลุ่มนี้ แต่ยากลุ่มนี้ยังมีราคาแพงมากจนเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีร่วมกัน
- ในเด็กทารก ในผู้สูงอายุ
- ในคนที่มีสุขภาพไม่ดี มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง /โรคออโตอิมมูน
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
*ทั้งนี้ ผลข้างเคียงตามวิธีรักษา ได้แก่
ก. ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น อาการ คลื่นไส้-อาเจียน ผมร่วง ภาวะ/โรคซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
ข. รังสีรักษา: ผลขางเคียงที่พบได้ เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสี และต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี ซึ่งในโรคนี้มักเป็นการฉายรังสีในบริเวณสมองเพื่อป้องกันการเกิดโรคแพร่กระจายสู่สมอง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา’ และเรื่อง ‘ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง’)
ค. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้
ง. การปลูกถ่ายไขกระดูก: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อที่รุนแรง, การที่ร่างกายปฏิเสธไขกระดูกผู้อื่น/ปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่ (ปลูกถ่ายแล้ว ไขกระดูกไม่ติด ร่างกายไม่ยอมรับไขกระดูกใหม่ หรือ Graft rejection หรือ Transplant rejection), ไขกระดูกผู้ให้ปฏิเสธร่างกายผู้รับ/สเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย(Graft versus host disease ย่อว่า GVHD) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ และการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ตับ และปอด
มีการตรวจคัดกรองและป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่ยังไม่มีอาการ และยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ชัดเจน
อนึ่ง เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยง มารดาในช่วงตั้งครรภ์และเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีชนิดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดอีกประการ คือ การสังเกตตนเองเสมอ รวมทั้งการสังเกตบุตรหลาน และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อพบอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคแต่เนิ่นๆ
ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะคล้ายๆกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com ในบทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
- มะเร็งในเด็ก
บรรณานุกรม
- AJCC cancer staging manual, 8th ed.
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
- Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- http://en.wikipedia.org/wiki/Leukemia[2020,Jan4]
- https://www.cancer.org/cancer/leukemia.html[2020,Jan4]