สไปรามัยซิน (Spiramycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- สไปรามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- สไปรามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สไปรามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สไปรามัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- สไปรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร??
- มีข้อควรระวังการใช้สไปรามัยซินอย่างไร?
- สไปรามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสไปรามัยซินอย่างไร?
- สไปรามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
- ไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- โรคดีสโทเนีย ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
บทนำ: คือยาอะไร?
สไปรามัยซิน (Spiramycin) คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolide ใช้บำบัดรักษาโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)/อาการป่วยด้วยการติดเชื้อโปรโตซัว/โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวที่มีชื่อว่า Protozoan toxoplasma gondii รวมถึงการติดเชื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
ยานี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) และมีการเตรียมสูตรตำรับเป็นยารับประ ทานชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือ “Rovamycine” โดยมีการกระจายยาในแถบยุโรปและแคนาดา ภายในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ได้มีการพัฒนาสูตรตำรับขึ้นมาเป็นยาฉีด กลไกการออกฤทธิ์จะเป็นการยับ ยั้งการสังเคราะห์โปรตีนที่ผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย โดยยานี้จะรักษาครอบคลุมกลุ่มแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบที่รวมถึงเชื้อ Legionellae, Mycoplasmas, Chlamydiae, Toxoplasma gondii, Cryptosporidium sp., Enterobacteria และ Pseudomonads
จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาสไปรามัยซินในร่างกายมนุษย์พบว่า การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารมีเพียงระดับหนึ่งและไม่สมบูรณ์ ตัวยาที่เข้าสู่กระแสเลือดจะกระจายไปตามเนื้อ เยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย โดยจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 10 - 25% และสามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้ ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาสไปรามัยซินอย่างต่อเนื่องและร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 8 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาสไปรามัยซินอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
สไปรามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาสไปรามัยซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาการติดเชื้อบริเวณหู-คอ-จมูก, การติดเชื้อที่หลอดลม(หลอดลมอักเสบ), การติดเชื้อที่ผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ), การติดเชื้อในช่องปาก
- รักษาอาการโรค ท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis) ในสตรี
- ป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
- รักษาโรคไข้รูมาติก
- รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อโกโนเรีย/หนองใน
สไปรามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาสไปรามัยซินคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อโรคโดยจะเข้าจับหน่วยพันธุกรรมที่เรียกว่า ไรโบโซม (Ribosome, เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ) ทำให้เชื้อโรคดังกล่าวไม่สามารถแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
สไปรามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาสไปรามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1.5 และ 3 ล้านยูนิต/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 0.375 ล้านยูนิต/5 มิลลิลิตร
สไปรามัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาสไปรามัยซินมีขนาดรับประทานสำหรับอาการโรค Toxoplasmosis และการติดเชื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆที่ตอบสนองต่อยานี้ดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยา 6 - 9 ล้านยูนิต/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 - 3 ครั้ง กรณีติดเชื้อรุนแรง แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 15 ล้านยูนิต/วัน
- เด็ก และเด็กทารก: คำนวณการให้ยาเป็น 75,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 ครั้ง
อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสไปรามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสไปรามัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาสไปรามัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
สไปรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสไปรามัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
*อนึ่ง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียนมาก และท้องเสียมาก หากพบอาการ ดังกล่าว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้สไปรามัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาสไปรามัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมน้ำผลไม้ประเภท Grave fruit juice เพราะจะเกิดอันตรกิริยาระหว่างกันส่งผลให้เพิ่มผลข้างเคียงจากยาสไปรามัยซิน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ขณะใช้ยานี้แพทย์จะคอยควบคุมการทำงานของตับให้เป็นปกติอยู่เสมอ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆต้องระวังการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ หรือโรคเชื้อรา สอดแทรกเข้ามา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสไปรามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
สไปรามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาสไปรามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาสไปรามัยซิน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาสไปรามัยซิน ร่วมกับยา Astemizole, Cisapride และ Terfenadine/ยาแก้แพ้ อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาสไปรามัยซิน ร่วมกับยา Carbidopa/ยาโรคพาร์กินสัน และ Levodopa จะทำให้การดูดซึมและระดับยาดังกล่าวในกระแสเลือดลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
การใช้ยาสไปรามัยซิน ร่วมกับยา Fluphenazine อาจเกิดความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาสไปรามัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาสไปรามัยซิน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
สไปรามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาสไปรามัยซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ROVAMYCINE (โรวามัยซิน) | Sanofi Aventis |
ROVAMYCIN-RTU (โรวามัยซิน-อาร์ทียู) | AHPL |
ROVAMYCIN FORTE (โรวามัยซิน ฟอร์ท) | AHPL |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Spiramycin [2021, Nov13]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Rovamycine/?type=brief [2021, Nov13]
- https://www.mims.com/India/drug/info/spiramycin/?type=full&mtype=generic#Dosage [2021, Nov13]
- http://www.uniprix.com/en/drug-lexicon/977/rovamycine#drug_section_precautions [2021, Nov13]
- https://www.medicinenet.com/spiramycin-oral_capsule/article.htm [2021, Nov13]
- https://www.mims.com/India/drug/info/ROVAMYCIN-RTU/ROVAMYCIN-RTU%20oral%20susp [2021, Nov13]
- https://www.mims.com/India/drug/info/ROVAMYCIN%20FORTE/ROVAMYCIN%20FORTE%20film-coated%20tab [2021, Nov13]