โรคดีสโทเนีย ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)

สารบัญ

บทนำ

การเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เรา ประโยชน์คือ เพื่อมีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการแสดงสีหน้า อารมณ์ แต่ถ้ากล้ามเนื้อของมนุษย์เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อเราอย่างมาก ภาวะเคลื่อนไหวที่ผิดปกตินั้นมีหลายรูปแบบ ส่ง ผลต่อร่างกายหรือคุณภาพชีวิตแตกต่างกัน

การเคลื่อนไหวผิดปกติแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ภาวะ/โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง หรือ “โรคดีสโทเนีย (Dystonia)” จะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร เกิดจากอะไร รักษาหายหรือไม่ อ่านได้จากบทความนี้ครับ

ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งคืออะไร?

โรคดีสโทเนีย

ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหวผิดปกติแบบเป็นขึ้นมาเอง ไม่สามารถควบคุมได้ (Involuntary) โดยมีการบิดเกร็งเป็นซ้ำๆ จนส่งผลให้อวัยวะของกล้าม เนื้อมัดนั้นๆผิดรูปไปได้

ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง เป็นภาวะที่พบได้น้อย พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เป็นทารกจนถึงผู้ สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการขาดออกซิเจนแรกคลอด ก็จะพบได้ตั้งแต่เป็นทา รก แต่ถ้าเกิดจากเนื้องอก ก็จะพบได้ในอายุที่สูงขึ้น หรือในผู้สูงอายุ และพบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน

ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร?

กลไกการเกิดภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง ยังไม่ทราบชัดเจน แต่จากการศึกษา สันนิษฐานว่า เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ โดปามีน (Dopamine, สารที่เกี่ยว ข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) และ อะซิติลโคลีน (Acetylcholine, สารอีกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) ผิดปกติไป จึงทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆของร่างกายผิดปกติ

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งคืออะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง ได้แก่

  • พันธุกรรม พบเป็นภาวะผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • เป็นโรคความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • การได้รับการกระทบกระเทือนที่สมองขณะคลอด
  • โรคอัมพาต
  • เนื้องอกสมอง
  • ภาวะสมองขาดออกซิเจน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด
  • ภาวะได้รับสารพิษ เช่น โลหะหนัก (ตะกั่ว หรือ ปรอท) หรือ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (Carbon monoxide)

อาการจากภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งเป็นอย่างไร?

อาการที่พบจากภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งมีได้หลายรูปแบบ ได้แก่

  • กล้ามเนื้อบิดเกร็ง ผิดรูปร่างเฉพาะที่ (Focal dystonia) เช่น เฉพาะนิ้วมือ นิ้วเท้า เปลือกตา
  • กล้ามเนื้อบิดเกร็ง ผิดรูปร่างเฉพาะส่วน (Segmental dystonia) เช่น กล้ามเนื้อใบหน้า ปาก ลำคอ บิดเกร็ง
  • กล้ามเนื้อบิดเกร็งทั่วทั้งร่างกาย (Generalized dystonia)
  • พบอาการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อร่วมกับอาการสั่น (Dystonic tremor)
  • อาการเสียงสั่น พูดแล้วเสียงจะค่อยๆหายไป (Spastic dysphonia) เนื่องจากมีอาการบิดเกร็งของสายเสียง (Vocal cords)
  • อาการปวด จากที่มีการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • อาการกัดฟัน กัดลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นแผล จากการกัดเกร็งตลอดของกล้ามเนื้อการเคี้ยว
  • ตาปิด ลืมตา ไม่ขึ้น
  • เขียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมต่างๆบางอย่างไม่ได้ เช่น เขียนหนังสือ เล่นเปียโน

อนึ่ง อาการเหล่านี้ที่พบส่วนใหญ่ จะเป็นตลอดเวลา จะไม่เป็นเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่น ช่วงที่นอนหลับ และความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันในแต่ละคน ซึ่งส่วนมากอาการและความรุนแรงจะถูกกระตุ้นด้วยความเครียด หรือเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ และ/หรือให้อาการรุนแรงขึ้น คือ ความเครียด กังวล ตื่นเต้น การทำกิจกรรมต่างๆ การออกแดด ภาวะเจ็บป่วยไม่สบาย อดนอน พักผ่อนน้อย

เมื่อใดควรพบแพทย์?

เมื่อเริ่มสังเกตว่าตนเองผิดปกติแล้ว อาการไม่หายเองใน 1-2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต และการตรวจร่างกายพบเห็นอาการผิดปกติของผู้ป่วย ซึ่งประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย จะช่วยวิ นิจฉัยว่า สาเหตุน่าเกิดจากอะไร แต่ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง เป็นต้น

ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง ประกอบด้วย การรักษาสาเหตุ และการรักษาเพื่อลดการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ โดย

  • การใช้ยาทาน ในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดการหดเกร็ง และเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
  • การใช้ยาโบทูไลนุ่มทอกซิน (Botulinum toxin, หรือที่เรียกว่า Botox/โบทอก) ฉีดเพื่อลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • การผ่าตัดสมอง ซึ่งจะใช้เมื่อการรักษาด้วยการกินยาและฉีดยาไม่ได้ผล และมักผ่าตัดได้เฉพาะในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • การฝั่งเครื่องกระตุ้นสมอง เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • การใช้กายอุปกรณ์ เพื่อช่วยในการปรับรูปร่างและการผิดรูปไปของอวัยวะ เช่น มือที่เกร็งผิดรูป อาจฉีดโบทูไลนุ่มทอกซิน ร่วมกับใส่เฝือกอ่อนเพื่อคงรูปของมือ
  • อาจพิจารณาทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • การฝังเข็ม ซึ่งอาจช่วยได้ในบางกรณีที่เป็นไม่มาก โดยช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และมักใช้รักษาร่วมกับการทานยา หรือฉีดยาโบทูไลนุ่ม ทอกซิน
  • การฝึกสมาธิ และ/หรือโยคะ ช่วยผ่อนคลายและควบคุมกล้ามเนื้อได้ระดับหนึ่งในผู้ ป่วยบางราย

ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง คือ เป็นภาวะที่รักษาไม่หาย แต่การรักษาจะช่วยให้อาการดีขึ้น

ส่วนผลข้างเคียงจากตัวอาการ คือ บุคลิกและภาพลักษณ์ที่เสียไปจากรูปลักษณะที่ผิด ปกติของอวัยวะต่างๆที่เกิดอาการ (เช่น ใบหน้า) และมีผลต่อการงาน อาชีพ นอกจากนั้น คือ อาการปวด ทรมาน กังวล กลัว และซึมเศร้า ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง ควรต้องเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของโรค จึงควรต้องมีจิตใจเข็มแข็ง ไม่ควรเครียด รู้จักผ่อนคลาย และหมั่นสังเกตว่า มีจุดหนึ่งจุดใดในอวัยวะส่วนที่ผิดปกติ/ที่เกิดอาการ ที่เมื่อกดลงไปแล้ว อาการกล้ามเนื้อบิดเกร็งดีขึ้น (Sensory trick) ซึ่งถ้าพบจุดนี้ ก็ควรกดจุดนี้ เวลามีอาการ

นอกจากนั้น คือการพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หรือที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ กิจกรรมต่างๆที่ทำแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการ (ต้องสังเกตตนเองเสมอว่า ปัจจัยอะไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น)

เมื่อมีอาการต่างๆเลวลง เช่น อาการปวดมากขึ้น อาการบิดเกร็งบ่อยขึ้น หรือมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ ก็ควรพบแพทย์ก่อนนัด

ทั้งนี้ ครอบครัวจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการให้กำลังใจ และคอยช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งทำได้ โดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการทานยาที่ไม่จำเป็น เพราะผลข้างเคียงของยาบางชนิด อาจก่อให้เกิดอาการดังกล่าวได้ เป็นต้น