ไข้รูมาติก (Rheumatic fever)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไข้รูมาติก (Rheumatic fever) คือ โรคที่เนื้อเยื่อหลายชนิดในร่างกาย เช่น  หัวใจ  ข้อต่างๆ  ผิวหนัง  สมอง เกิดอักเสบจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่มีต่อร่างกาย  ไม่ใช่อักเสบจากติดเชื้อ, โดยไข้รูมาติกมักเกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด ‘สเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A beta-hemolytic streptococcus, ย่อว่า จีเอบีเอชเอส/GABHS)’ ที่ทำให้เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ/ โรคสเตรปโธรท (Strept throat) หรือ เป็นโรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

ทั้งนี้ ผู้เป็นโรคไข้รูมาติกแล้วครั้งหนึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำๆได้อีก ความสำคัญ คือ หากหัวใจเกิดอักเสบรุนแรงอาจทำให้ถึงตายได้ หรือหากหัวใจเกิดอักเสบซ้ำๆ อาจทำให้กลายเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการซึ่งเรียกว่า 'โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease)'

สมัยก่อน โรคไข้รูมาติกเป็นสาเหตุการตายของเด็กวัยเรียนเป็นอันดับต้นๆ และเป็น สาเหตุสำคัญของโรคลิ้นหัวใจพิการในวัยผู้ใหญ่  แต่หลังจากที่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียและได้นำมาใช้ในปี พ.ศ. 2483 นั้น จำนวนผู้ป่วยโรคไข้รูมาติกก็ลดลงไปมากโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังคงพบมากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา  

โรคไข้รูมาติกพบทั่วโลก พบน้อยในประเทศที่เจริญแล้ว พบทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่ พบในช่วงวัย 5 -17 ปี เพศชายและเพศหญิงพบใกล้เคียงกัน โดยอัตราเกิดประมาณ 3% ของผู้ป่วย 'โรคสเตรปโธรท' ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแต่จะพบน้อยมากๆในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้รูมาติก?

ไข้รูมาติก

 

การติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Group A beta-hemolytic streptococcus (GABHS) หรือก็คือ เชื้อที่ชื่อว่า ‘Streptococcus pyogenes’ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคได้หลายอย่าง ตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ หรือป่วยเป็นโรคไม่รุนแรง เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ/ โรคสเตรปโธรท  โรคไข้อีดำอีแดง และโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง/โรคพุพอง (Impetigo) จนกระทั่งเป็นโรครุนแรง เช่น เป็นโรคที่มีผิวหนังและเนื้อเยื่ออักเสบเน่าตาย(Necrotizing fasciitis) หรือเชื้อโรคลุกลามเข้ากระแสเลือดจนเกิดภาวะช็อก ที่เรียกว่า ‘Streptococcal toxic shock syndrome’  *แต่เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบและโรคไข้อีดำอีแดงเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดโรคไข้รูมาติกตามมาในภายหลังโดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

เชื้อโรคไข้รูมาติกมีวิธีก่อโรคอย่างไร?

หลังจากที่ติดเชื้อแบคทีเรียและเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ หรือ ไข้อีดำอีแดงแล้ว ร่างกาย จะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี้/Antibody) ขึ้นมาเพื่อทำลายเชื้อโรค โดยแอนติบอดี้จะไปเกาะกับผนังเซลล์ (Cell wall)ของเซลล์แบคทีเรียฯ และส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาทำ ลายแบคทีเรียฯ แต่เนื่องจากผนังเซลล์แบคทีเรียGroup A beta-hemolytic streptococcus (GABHS) จะมีองค์ประกอบที่เรียกว่า 'M protein' ซึ่งโปรตีนชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ใน หัวใจ, ข้อต่อ, ผิวหนัง, เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, และของสมอง, จึงทำให้แอนติบอดี้ที่สร้างขึ้น จะไปเกาะกับเซลล์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน และส่งสัญญาณเรียกเม็ดเลือดขาวเข้ามาทำให้อวัยวะเหล่านี้เกิดการอักเสบและมีอาการต่างๆตามมานั่นเอง

โรคไข้รูมาติกมีอาการอย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียชนิด GABHS และ

  • เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบจะมีอาการ คือ มีไข้ เจ็บคอ มีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตและ/หรือกดเจ็บ ทั่วไปอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 7-10 วัน
  • ส่วนผู้ที่ติดเชื้อและเป็นโรคไข้อีดำอีแดง อาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 6 - 8 วัน จะมีอาการไข้และเจ็บคอเหมือนกัน
    • แต่จะมีผื่นขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย โดยจะเห็นผื่นเกิดหลังมีไข้ได้ประมาณ 12 - 48 ชั่วโมง
    • ลักษณะของผื่นคือเป็นจุดนูนขนาดเล็กๆ เมื่อลูบไปตามผิวจะรู้สึกหยาบสากๆ
    • พบผื่นได้ตามลำตัว แขน ขา ข้อพับต่างๆ และหลังใบหู
    • แต่จะไม่พบผื่นตามใบหน้า มือ และเท้า
    • นอกจากนี้ลิ้นจะแดงขึ้นกว่าปกติ และมีจุดแดงๆดูคล้ายผลสตรอเบอร์รี่ เรียกว่า Straw berry tongue

ประมาณ 3% ของผู้ที่เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบหรือไข้อีดำอีแดงและไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ รักษาเมื่อผ่านไป 1 - 5 สัปดาห์หรือโดยเฉลี่ย 20 วัน ก็จะเกิดเป็น 'ไข้รูมาติก' ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย GABHS แล้วครั้งหนึ่งมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้อีกเรื่อยๆ

อาการของไข้รูมาติกนั้นมีได้หลายอย่าง Dr. T.Duckett Jones แพทย์ชาวสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรกที่ได้คิดเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคไข้รูมาติกขึ้นมาเรียกว่า ‘Jones criteria’ ซึ่งต่อมาได้ถูกปรับปรุงโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอีกหลายครั้งกลายเป็น ‘Modified Jones criteria’ โดยผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้รูมาติกเมื่อมีอาการซึ่งเรียกว่า’อาการหลัก(Major criteria)’ ตั้งแต่2ข้อขึ้นไป

อาการหลัก (Major criteria): ได้แก่

  • อาการของหัวใจอักเสบ(Carditis): พบได้ประมาณ 40 - 60% ของผู้ป่วยที่เป็นไข้รูมาติก โดยการอักเสบเกิดกับเนื้อเยื่อทุกชั้นของหัวใจตั้งแต่ เยื่อหุ้มหัวใจ, กล้ามเนื้อหัวใจ, และเยื่อบุช่องต่างๆของหัวใจ, รวมทั้งลิ้นหัวใจด้วย, ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นกับความรุนแรงของการอักเสบ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ฟังเสียงหัวใจได้ยินเสียงดังผิดปกติเรียกว่าเสียง ‘Murmur’ ซึ่งเกิดจากลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท (Valve regurgitation) หรือมีเสียงที่เกิดจากเยื่อหุ้มหัวใจที่อักเสบถูกันไปมาเรียกเสียงนี้ว่า ‘Pericardial friction rub’ ผู้ป่วยอาจมีหัวใจโต และ มีอาการของหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น  เหนื่อยง่าย ขาบวม นอนราบไม่ได้
  • อาการของข้ออักเสบ (Migratory polyarthritis): พบได้ประมาณ 75% ของผู้ป่วย การอักเสบจะเกิดขึ้นกับข้อหลายๆข้อ แต่จะไม่ได้เกิดพร้อมกันทุกข้อ โดยอาจจะเกิด ขึ้นเพียงข้อเดียวหรือ 2 - 3 ข้อ และจะเป็นอยู่เพียง 2 - 6 วันแล้วอาการก็จะหายไป หลังจากนั้นจะไปเกิดกับข้ออื่นๆอีกต่อไป ข้อที่อักเสบมักจะเป็นกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อ ศอก โดยแทบจะไม่พบใน ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า หรือข้อสะโพก อาการคือ ข้อจะบวม แดง ร้อน และปวด
  • อาการทางสมอง (Sydenham’s chorea หรือ St Vitus dance): พบได้น้อยกว่า 10% ของผู้ป่วยอาการทางสมองนี้จะปรากฏช้ากว่าอาการอื่นๆโดยจะเกิดตามหลังจากที่มีการติดเชื้อนานประมาณ 1 - 6 เดือน ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ โดย ใบหน้า มือ แขน หรือเท้า จะเกิดการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วคล้ายกระตุกไร้ทิศทาง และจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวนี้ได้ แต่เมื่อนอนหลับอาการจะดีขึ้น
  • อาการของปุ่มเนื้อในชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง(Subcutaneous nodule): พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีปุ่มนูนแข็งที่ไม่เจ็บอยู่ในชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง มีขนาด ตั้งแต่ 2 ถึง 2 เซนติเมตร และมีจำนวนได้ตั้งแต่ 1 ปุ่มจนถึงหลายสิบปุ่ม โดยจะพบตาม ข้อศอก ข้อมือ และข้อเข่า ปุ่มเนื้อนี้ประกอบไปด้วยเส้นใยคอลลาเจนเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เป็นไข้รูมาติกในครั้งหลังๆและมักพบร่วมกับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจอักเสบ
  • อาการผื่นบนผิวหนัง (Erythema marginatum): พบประมาณ 5% ของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีผื่นแบนราบสีแดง รูปวงแหวนขนาด 1 - 3 เซนติเมตร และไม่มีอาการคัน โดยจะพบตามลำตัวและแขน ขา แต่จะไม่พบที่ใบหน้าผื่นนี้จะเห็นได้ชัดหากผิวหนังมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น  อาบน้ำอุ่น/น้ำร้อน หรือ  ตากแดด

*ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมี ‘อาการหลักเพียง 1 ข้อ’ จะต้องมีอาการที่เรียกว่า อาการรอง (Minor criteria) เพิ่มอีกตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปจึงจะช่วยวินิจฉัยโรคได้  

อาการรอง (Minor criteria): ได้แก่

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดตามข้อ โดยข้อที่ปวดจะต้อง 'ไม่มีอาการบวมแดง' ร่วมด้วย เพราะหากมีอาการบวมแดงจะถือเป็นอาการหลักดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
  • ตรวจเลือด พบค่าการตกตะกอนของเลือด (อีเอสอาร์/ESR) ขึ้นสูง หรือมีค่าโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (C-reactive protein)ขึ้นสูง
  • ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูเม็ดเลือดขาว พบเม็ดเลือดขาวขึ้นสูงผิดปกติ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี พบความผิดปกติ
  • เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้รูมาติกมาก่อน

*อนึ่ง: ผู้ที่มีอาการมากกว่า 2 ข้อของ Major criteria หรือมี 1 ข้อของ Major criteria ร่วมกับ Minor criteria ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปแล้ว  ยังต้องมีหลักฐานว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย Group A beta-hemolytic streptococcus ด้วย ซึ่งต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การป้ายสารคัดหลั่งภายในลำคอและนำไปเพาะเชื้อ หรือการตรวจเลือดพบแอนติบอดี้ต่อเชื้อได้แก่ Anti-streptolysin O หรือ Anti-deoxyribonuclease หรือ Anti-hyaluronidase

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้รูมาติกอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคไข้รูมาติกอาศัย:

  • อาการผู้ป่วย (ดังกล่าวข้างต้น)
  • การตรวจร่างกายพบความผิดปกติ(ดังกล่าวข้างต้น)
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ดังที่กล่าวข้างต้น)
  • แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การไม่พลาดในการวินิจฉัยโรคต่อมทอนซิลอักเสบและโรค ไข้อีดำอีแดง เนื่องจากหากให้ยาปฏิชีวนะรักษาตั้งแต่ต้น ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดโรคไข้รูมาติกได้น้อยมาก  

อนึ่ง:

ก. โรคต่อมทอนซิลอักเสบ มีสาเหตุจากการติดเชื้อได้หลายอย่างทั้งจาก โรคติดเชื้อไวรัส, แบคทีเรียชนิดต่างๆ รวมทั้งแบคทีเรียชนิดGABHS  แต่เฉพาะที่เกิดจาก GABHS เท่านั้นที่ทำให้เกิดโรคไข้รูมาติก ดังนั้นการวินิจฉัยว่าโรคต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อชนิดนี้จะอาศัยเกณฑ์ที่เรียกว่า 'Centor criteria’ มาช่วยในการวินิจฉัย เช่น

  • มีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล
  • กดเจ็บต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอด้านหน้า
  • มีไข้และ
  • ไม่มีอาการไอ

โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อย 3 ข้อใน 4 ข้อจากที่กล่าวมา โอกาสที่จะมีสาเหตุมาจากเชื้อ GABHS คือประมาณ 40 - 60% ซึ่งการให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะช่วยป้องกันโรคไข้รูมาติกได้

แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่า เกณฑ์ดังกล่าวนี้อาจไม่มีความไวเพียงพอในการวินิจ ฉัย และทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา และอาจกลายเป็นไข้รูมาติกตามมาได้ หรือในทางกลับกัน ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น จึงแนะนำว่าการจะวินิจฉัยโรคต่อมทอนซิลอักเสบที่เกิดจาก GABHS ต้องอาศัยการเพาะเชื้อจากลำคอหรือการใช้ชุดทดสอบตรวจหาเชื้อชนิดนี้ (Rapid antigen test)

ข. ส่วนการวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดง อาศัยอาการที่ประกอบด้วย ไข้ เจ็บคอ ตามด้วยผื่นที่เป็นลักษณะเฉพาะดังกล่าวแล้ว ก็เพียงพอที่จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะรักษา

โรคไข้รูมาติกมีผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคอย่างไร?

โรคไข้รูมาติกมีผลข้างเคียงและความรุนแรงโรค ดังนี้

  • ประมาณ 90% ของผู้ป่วยที่เป็นไข้รูมาติกอาการต่างๆจะหายภายใน 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยประมาณประมาณ 5% จะมีอาการยาวนานมากกว่า 6 เดือน
  • ป่วยที่เคยเป็นไข้รูมาติกมาแล้วและไม่ได้ยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อไปเมื่อติดเชื้อเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบหรือไข้อีดำอีแดงอีกครั้งและก็ยังไม่ได้ยารักษาอีก จะมีโอกาสเกิดไข้รูมาติกซ้ำได้มากถึง 50%
  • ผู้ป่วยโรคไข้รูมาติกที่มีอาการของหัวใจอักเสบเมื่อป่วยเป็นโรคไข้รูมาติกซ้ำอีกครั้ง มักเกิดหัวใจอักเสบซ้ำอีก ซึ่งการอักเสบซ้ำๆนี่เองที่ทำให้เกิดลิ้นหัวใจพิการเรียกว่าโรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease) และมีโอกาสถึงตายได้
    อนึ่ง:
    • ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย (มีชื่อว่า Mitral valve) เป็นลิ้นหัวใจที่พบความพิการได้บ่อยที่สุด ลิ้นหัวใจที่พิการนี้เกิดจากการอักเสบซึ่งเมื่อหายแล้วทำให้เกิดเป็นพังผืดมีหินปูนมาเกาะ และทำให้ลิ้นหัวใจเสียรูปทรงเดิม ไม่สามารถเคลื่อนไหวปิดได้สนิทเหมือนปกติ
    • ดังนั้นระหว่างหัวใจบีบตัว เมื่อลิ้นปิดไม่สนิท จึงทำให้เลือดเกิดการรั่วไหลระหว่างห้องหัวใจทั้ง 2 ห้อง เมื่อผ่านไปหลายๆปี ห้องหัวใจของผู้ป่วยก็จะค่อยๆโตขึ้นและมีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด ซึ่งหากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาลิ้นหัวใจก็จะถึงตายได้ในที่สุด
    • นอกจากนี้ ลิ้นหัวใจที่พิการนี้มีโอกาสที่แบคทีเรียต่างๆที่อยู่ในกระแสเลือดจะมาเกาะและแบ่งตัว เจริญเติบโตได้มากกว่าลิ้นหัวใจที่ปกติ ทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ (Infective endocarditis) จากแบคทีเรียเหล่านั้น และทำให้มีโอกาสถึงตายได้เช่นกัน
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้รูมาติกครั้งแรก และไม่มีอาการของหัวใจอักเสบ เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำ และเป็นไข้รูมาติกอีกครั้งจะมีโอกาสน้อยที่จะเกิดอาการหัวใจอักเสบ

รักษาโรคไข้รูมาติกอย่างไร?

แบ่งการรักษาโรคไข้รูมาติกออกได้เป็น

ก. การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบและโรคไข้อีดำอีแดง ทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะซึ่งมีอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ ที่รู้จักกันดีคือ ยากลุ่มเพนนิซิลิน เช่น Amoxicillin การให้ยาอาจให้ในรูปแบบกินซึ่งจะต้องกินยานานประมาณ 10 - 14 วันเพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไป หรืออาจให้ยาในรูปแบบฉีดก็ได้

การรักษาอื่นๆนอกจากนี้เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้, ยาลดอักเสบกลุ่ม, เอ็นเสด (NSAID) หรือกลุ่มสเตียรอยด์

ข. การรักษาอาการไข้รูมาติก แบ่งออกได้เป็น

  • การให้ยาปฏิชีวนะทั้งนี้เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียให้หมดไป ยาที่ใช้จะเหมือนกับที่ใช้รักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบโดยจะต้องกินยานาน 10 - 14 วันเช่นกัน
  • การรักษาตามอาการของไข้รูมาติก เช่น การให้ยาลดไข้  ยาแก้ปวดข้อ การให้ยาลดอักเสบกลุ่ม NSAID หรือกลุ่มสเตียรอยด์ 
  • หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจอักเสบรุนแรงจนเกิดหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลวก็ต้องให้ยาที่ไปช่วยกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ ให้ออกซิเจน ให้ยาขับปัสสาวะ เป็นต้
  • หากผู้ ป่วยมีอาการ Sydenham’s chorea อาจให้ยากันชัก  เช่น ยา Phenobarbital, หรือยารักษาทางจิตเวช เช่น Haloperidol ช่วยควบคุมอาการ
  • การป้องกันการเกิดไข้รูมาติกซ้ำ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นไข้รูมาติกแล้วจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันการติดเชื้อ GABHS ต่อไปตลอดชีวิต เรียกว่าเป็น Secondary prevention โดยให้ใช้ยาฉีดชื่อ Benzathine penicillin G ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 4 สัปดาห์ หรืออาจใช้ยากินชื่อ Penicillin V หรือ Sulfadiazine หรือ Erythromycin กินทุกวัน เนื่องจากโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำอีกครั้งจะพบได้บ่อยในช่วง 5 ปีแรกหลังจากที่ป่วยเป็นไข้รูมาติกครั้งแรก ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงแนะนำว่าอาจให้ยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันเพียง 5 ปี หลังจากนั้นค่อยพิจารณาว่าผู้ ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเกิดเป็นไข้รูมาติกซ้ำมากน้อยเพียงใด เช่น หากยังอยู่ในวัยเรียน เป็นคุณครูสอนนักเรียน ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล เป็นทหาร หรือเป็นไข้รูมาติกที่มีหัวใจอักเสบ ก็ต้องให้ยาป้องกันต่อไป เป็นต้น

ค. การรักษาผลข้างเคียงจากการเป็นไข้รูมาติกที่เป็นปัญหาสำคัญคือ ลิ้นหัวใจพิการ การรักษาหลัก คือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

ป้องกันโรคไข้รูมาติกอย่างไร?

ป้องกันโรคไข้รูมาติกได้ เช่น

  • การป้องกันเกิดไข้รูมาติกที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแบคทีเรีย Group A beta-hemolytic streptococcus  เช่น
    • หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด
    • รู้จักใช้ผ้าปิดปากและจมูก /หน้ากากอนามัย
    • ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่โดยเฉพาะก่อนปรุงอาหารและก่อนรับประทานอาหาร
    • ดูแลรักษาความสะอาดช่องปากและฟันเพื่อป้องกันเกิดโรคปริทันต์ที่จะเป็นต้นกำเนิดของแบคทีเรียนี้ และพบทันตแพทย์เสมอทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือตามทันตแพทย์แนะนำ
  • แต่หากติดเชื้อแบคทีเรียนี้และ/หรือเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบหรือโรคไข้อีดำอีแดง ต้องพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดไข้รูมาติก
  • สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้รูมาติกแล้ว หรือ ผู้ที่มีโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคลิ้นหัวใจ หรือใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือมีโรคหัวใจแต่กำเนิด ต้องป้องกันการติดเชื้อฯ Group A beta-hemolytic streptococcus โดยปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะป้องกัน

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการไข้ เจ็บคอ โดยที่ ไม่ค่อยมีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโดยเฉพาะวัยเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากผู้ที่อยู่ในวัยนี้มีโอกาสติดเชื้อ Group A beta-hemolytic streptococcus ได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่

บรรณานุกรม

  1. Edward L. Kaplan, Rheumatic fever, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://www.uptodate.com/contents/acute-rheumatic-fever-epidemiology-and-pathogenesis [2023,Jan14]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Rheumatic_fever [2023,Jan14]