สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว (Protozoan infection) คือ การที่ร่างกายได้รับเชื้อสัตว์เซลล์เดียว แล้วก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่นเดียวกับอาการจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา

สัตว์เซลล์เดียว หรือ โปรโทซัว หรือ โปรโตซัว (Protozoa หรือ Protozoan) เป็นสิ่งมีชี วิตชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปมีขนาดเล็กประมาณ 10-52 ไมโครเมตร ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์จึงจะมองเห็นได้ แต่บางชนิดมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มักอาศัยอยู่ในที่ๆต้องมีความชื้น สัตว์เซลล์เดียวบางชนิดจะมีคุณสมบัติคล้ายพืช คือ สังเคราะห์แสงได้เอง แต่บางชนิดมีคุณสมบัติคล้ายสัตว์ คือ เคลื่อนที่ได้

สัตว์เซลล์เดียวเจริญเติบโตได้โดยการแบ่งตัวเองจาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ แล้วแบ่งตัวในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งในภาวะที่มันมีการแบ่งตัว จะเรียกว่า Trophozoite

สัตว์เซลล์เดียวบางชนิด สามารถสร้างเกราะขึ้นมาหุ้มตัวเองได้ เรียกว่า ซีสต์ (Cyst) ซึ่งจะช่วยให้มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นภายนอกสัตว์ที่เป็นรังโรค หรือ เป็นพาหะโรคเมื่อมันอยู่ในภาวะที่เป็นซีสต์นี้

เช่นเดียวกับเชื้อโรคชนิดอื่นๆ สัตว์เซลล์เดียวมีได้หลายชนิด หลายสายพันธุ์ บางชนิดไม่ก่อโรค แต่หลายชนิดก่อโรคทั้งในคนและในสัตว์ โรคที่พบบ่อยในคนจากการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว ได้แก่ โรคมาลาเรียโรคจากการติดเชื้อทริโคโมนาส โรคบิดมีตัว (โรคบิดอะมีบา) โรคฝีบิดในตับ (โรคฝีตับ) เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆ โรคที่เกิดจากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวพบได้น้อยกว่ามาก และมักพบในประเทศที่ด้อยพัฒนา ดังนั้นสถิติในการเกิดโรคจึงไม่มีรายงานอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการติดเชื้อชนิดอื่นๆ การติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และทั้งสองเพศมีโอกาสติดเชื้อได้ใกล้เคียงกัน

 

ติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวได้อย่างไร?

สัตว์เซลล์เดียว

คนติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวได้หลายทางเช่นเดียวกับการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ (แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา) โดยที่พบบ่อย คือ

  • ทางเลือดจากถูกยุงที่มีเชื้อกัด เช่น ในโรคมาลาเรีย
  • จากการมีเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) เช่น การติดเชื้อทริโคโมนาส
  • และจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำ หรือจากมือสู่ปาก ที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน เช่น โรคบิดมีตัว

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว คือ ผู้ที่อยู่อาศัย หรือผู้ที่เดินทาง ท่องเที่ยว ในถิ่นที่มีเชื้อเหล่านี้เป็นเชื้อประจำถิ่น

 

โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวมีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว จะแตกต่างกันขึ้นกับแต่ละโรค แต่อาการนำจะคล้ายคลึงกัน และคล้ายคลึงกับการติดเชื้ออื่นๆ (เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา) คือ อาการไข้ อาจมีไข้ต่ำ หรือ ไข้สูงขึ้นกับแต่ละชนิดของเชื้อ อาการปวดเมื่อยเนื้อตัว และอาการอ่อนเพลีย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ ซึ่งจะเหมือนกับการติดเชื้อทุกชนิดทั่วไปนั่นเอง

 

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวอย่างไร?

แพทย์มีวิธีวินิจฉัยโรคจากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวได้เช่นเดียวกับในการวินิจฉัยโรคจากการติดเชื้อต่างๆ (แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา) ได้แก่ จากประวัติอาการ ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย การเดินทาง ท่องเที่ยว การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) การตรวจอุจจาระ การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน (Antibody) หรือดูสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen ) ต่อเชื้อนั้นๆ การตรวจเชื้อจากเลือดหรือสารคัดหลั่งด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจย้อมเชื้อ หรือการเพาะเชื้อ จากเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และ/หรือจากสารคัดหลั่ง และอาจมีการตรวจอื่น ๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพอวัยวะที่เกิดโรคด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ การส่องกล้อง และ/หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากบริเวณที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่นเดียวกับการรักษาการติดเชื้อชนิดต่างๆ (แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา) คือการให้ยาฆ่าเชื้อสัตว์เซลล์เดียว และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ยาฆ่าเชื้อสัตว์เซลล์เดียว (ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ยาปฏิชีวนะบางชนิดสามารถฆ่าสัตว์เซลล์เดียวบางชนิดได้) จะแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของสัตว์เซลล์เดียว เช่น

  • ยา Quinine และยา Chloroquine ในการรักษาโรคมาลาเรีย
  • ยา Metronidazole ในการรักษาโรคบิดมีตัว โรคฝีบิดตับ (โรคฝีตับ) และจากการติดเชื้อทริโคโมนาส เป็นต้น

การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้/ยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Pa racetamol) การให้สารน้ำทางหลอดเลือดเมื่อกินอาหารได้น้อย และการให้เลือดเมื่อมีภาวะซีด เป็นต้น

 

โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว มักเป็นโรครักษาได้หาย มักไม่รุนแรงเมื่อสามารถตรวจพบโรคและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกติดเชื้อ แต่เป็นโรคที่ก่อปัญหาทางสาธารณสุขสำหรับประชาชนในท้องถิ่นที่มีโรคเป็นโรคประจำถิ่น เพราะจะมีโรคเป็นๆหายๆตลอดชีวิต เช่น โรคมาลาเรีย เป็นต้น และยังสามารถเป็นโรคติดต่อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งวิธีติดต่อจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของการติดเชื้อ เช่น โรคมาลาเรีย จะติดต่อผ่านยุงกัด โรคจากการติดเชื้อทริโคโมนาสจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) และโรคบิดจะติดต่อผ่านทางปากจากการปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อโรคทาง น้ำดื่ม น้ำใช้ อาหาร และมือ เป็นต้น รวมทั้งผลข้าง เคียงจากโรค ก็จะขึ้นกับชนิดของแต่ละโรคเช่นกัน

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการ และอาการไม่ดีขึ้นภาย ใน 2-3 วันหลังดูแลตนเอง ควรพบแพทย์เสมอ ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวแล้ว การดูแลตนเอง และการพบแพทย์ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
  • ป้องกันยุงกัด
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะเช่นเดียวกับการป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคทุกชนิด (แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา) ซึ่งได้แก่ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ทั้งนี้รวมถึงเมื่อต้องเดินทาง หรือในการท่องเที่ยวด้วย

 

บรรณานุกรม

  1. http://www.phsource.us/PH/HELM/protozoa.html [2018,June23]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Protozoa [2018,June23]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Protozoan_infection [2018,June23]
  4. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK8043/ [2018,June23]
Updated 2018,June23