แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 25 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- แบคทีเรียคืออะไร?
- แบคทีเรียมีรูปร่างอย่างไร?
- แบคทีเรียมีกี่ชนิด? แต่ละชนิดมีผลต่อการเกิดโรค อาการ ความรุนแรง การใช้ยาอย่างไร?
- แบคทีเรียก่อโรคได้อย่างไร?
- โรคจากแบคทีเรียติดต่อได้ไหม? ติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?
- โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียมีอะไรบ้าง?
- เมื่อติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการอย่างไร?
- แพทย์มีวิธีวินิจฉัยโรคจากติดเชื้อแบคทีเรียอย่างไร?
- รักษาโรคจากติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?
- โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงไหม?
- เมื่อสงสัยติดเชื้อแบคทีเรียควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- ป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- เชื้อโปรโตซัว
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ไข้ อาการไข้
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- วัคซีน
แบคทีเรียคืออะไร?
แบคทีเรีย (Bacteria) เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (Microorganism) มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม แบคทีเรียบางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ ในขณะเดียวกันก็มีแบคทีเรียบางชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง แบคทีเรียส่วนใหญ่สามารถอยู่เป็นอิสระนอกร่างกายมนุษย์ได้ มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของมนุษย์เพื่อการดำรงชีวิต
แบคทีเรียมีรูปร่างอย่างไร?
การจะมองเห็นตัวแบคทีเรียนั้นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงอย่างน้อย 400 ถึง 1,000 เท่า รูปร่างของแบคทีเรียที่มองเห็นได้นั้นมีหลายรูปแบบเช่น รูปร่างกลมซึ่งเรียกว่า คอคคัส (Coccus) และ รูปร่างเป็นแท่งเรียกว่า บาซิลลัส (Bacillus) มีได้ทั้งเป็นแท่งสั้นและเป็นแท่งยาว อยู่รวมเป็นกลุ่ม อยู่เดี่ยวๆ หรือเรียงตัวต่อกันเป็นสายคล้ายสายสร้อย เป็นต้น ซึ่งรูปร่างของแบคทีเรียเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช้บอกชนิดของแบคทีเรียเบื้องต้นได้ นอกจากนั้น การที่จะมองเห็นตัวเชื้อแบคทีเรียได้ยังจำเป็นต้องย้อมสีแบคทีเรียเสียก่อน
วิธีย้อมสีแบคทีเรีย ทางการแพทย์เรียกว่า ‘การย้อมสีแกรม (Gram stain)’ ซึ่งเชื้อแบคที เรียแต่ละชนิดจะติดสีแกรมแตกต่างกันไป
- ถ้าติดสีน้ำเงินเรียกว่า ติดสีแกรมบวก หรือ ‘ชนิดแกรมบวก (Gram positive)’
- ถ้าย้อมแล้วแบคทีเรียติดสีแดง เรียกว่าติดสีแกรมลบ หรือ ‘ชนิดแกรมลบ (Gram negative)’
ทั้งนี้ การติดสีแกรมที่แตกต่างกันนี้ สามารถนำมาใช้บอกชนิดของแบคทีเรียเบื้องต้นได้เช่นกัน
แบคทีเรียมีกี่ชนิด? แต่ละชนิดมีผลต่อการเกิดโรค อาการ ความรุนแรง การใช้ยาอย่าง ไร?
ก. ชนิดของแบคทีเรีย: การแบ่งชนิดของแบคทีเรียสามารถแบ่งได้หลายแบบ เช่น
- แบ่งตามการติดสีย้อมแกรม (Gram stain): ได้แก่
- ถ้าแบคทีเรียย้อมสีแกรมทางห้องปฏิบัติการติดสีน้ำเงิน เรียกว่า แบคทีเรียชนิด แกรมบวก (Gram positive bacteria)
- ถ้าย้อมฯติดสีแดง เรียกว่า แบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram negative bacteria) ดังได้กล่าวแล้ว
- แบ่งตามรูปร่างของแบคทีเรีย: เช่น
- แบคทีเรียรูปร่างกลม เรียกว่าคอคคัส (Coccus)
- แบคทีเรียรูปร่างเป็นแท่ง เรียกว่า บาซิลลัส (Bacillus)
- แบ่งตามการใช้ออกซิเจนของแบคทีเรีย:
- แบคทีเรียที่ต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต เรียกว่า แอโรบิคแบคทีเรีย (Aerobic bacteria)
- แบคทีเรียที่ ไม่ต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต เรียกว่า แอนแอโรบิคแบคทีเรีย (Anaerobic bacteria)
ข. ชนิดต่างๆของแบคทีเรีย ทำให้มีความแตกต่างในด้านต่างๆ เช่น
- การเกิดโรค:
- แบคทีเรียชนิดแกรมบวก มักทำให้เกิดโรคแบบติดเชื้อเป็นหนองที่ผิวหนัง ทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและลำคอ) และปอดบวม
- แบคทีเรียชนิดแกรมลบ มักทำให้เกิดโรคที่ระบบทางเดินอาหาร, ระบบทางเดินปัสสาวะ, และถุงน้ำดี
- แบคทีเรียชนิดแอโรบิค มักทำให้เกิดโรคในอวัยวะที่มีออกซิเจนพอเพียงเช่น ผิว หนัง ช่องปาก ปอด ทางเดินหายใจ กระเพาะปัสสาวะ
- แอนแอโรบิคแบคทีเรีย มักทำให้เกิดโรคในบริเวณที่มีออกซิเจนน้อยเช่น เชื้อบาดทะยัก (โรคบาดทะยัก) ซึ่งเป็นแอนแอโรบิคแบคทีเรียชนิดหนึ่งทำให้เกิดโรคในแผลลึกๆที่ถูกตะปูตำหรือการติดเชื้อในช่องท้องที่เกิดจากการทะลุของลำไส้ เป็นต้น
- ความรุนแรงของโรค:
- แบคทีเรียชนิดแกรมบวกที่รูปร่างเป็นคอคคัสมักทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองที่ผิวหนัง ต่อมทอนซิล ทางเดินหายใจ ปอด อาการมักจะไม่รุนแรง และรักษาได้ผลดีด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin)
- แบคทีเรียชนิดแกรมลบที่รูปร่างเป็นบาซิลลัสมักทำให้เกิดโรคในทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ไต ถุงน้ำดี ไส้ติ่ง (โรคไส้ติ่งอักเสบ) การรักษายากกว่าเพราะมักดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (เชื้อดื้อยา) และมีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ไปในกระแสเลือด (โลหิต, ภาวะพิษติดเชื้อ) เกิดภาวะช็อกตามมาได้
- แบคทีเรียชนิดแอโรบิคมักทำให้เกิดโรคที่ผิวหนัง ช่องปาก ทางเดินหายใจ ปอด อาการมักไม่รุนแรง และรักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้อยู่ทั่วไป
- แบคทีเรียชนิดแอนแอโรบิคทำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงเช่น โรคบาดทะยัก เพราะมีการสร้างสารพิษออกมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มีผลต่อระบบประสาท (Neurotoxin) สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแอนแอโรบิคในช่องท้องมักจะดื้อต่อยาปฏิชีวนะทั่วไป และต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดพิเศษที่เฉพาะเจาะจงต่อแบคทีเรียชนิดนี้ทำให้การรักษาไม่ค่อยได้ผล
- การใช้ยาปฏิชีวนะ:
- แบคทีเรียชนิดแกรมบวกรูปร่างคอคคัส ส่วนใหญ่ใช้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ในกลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin)
- แบคทีเรียชนิดแกรมลบรูปร่างบาซิลลัส จะใช้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ในกลุ่มซัลฟา (Sulfonamide), เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin), อมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycoside) เป็นต้น
- แบคทีเรียชนิดแอโรบิค รักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายกลุ่ม เช่น เพนิซิลลิน ซัลฟา อมิโนกลัยโคไซด์
- แอนแอโรบิคแบคทีเรีย มักต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่ม เช่น Carbapenem เป็นต้น
แบคทีเรียก่อโรคได้อย่างไร?
แบคทีเรียก่อโรค หรืออาจเรียกว่า การติดเชื้อ หรือการอักเสบติดเชื้อ (Infection) ให้แก่มนุษย์ได้ด้วยวิธีการหลายอย่าง เช่น
- สร้างสารพิษ (Toxin) ออกมาจากตัวแบคทีเรีย และสารพิษนั้นจะทำลายเซลล์ของมนุษย์หรือทำให้เซลล์ของมนุษย์ทำหน้าที่ผิดไปเช่น เชื้อสแตฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) จะสร้างสารโคแอกูเลส (Coagulase) คอยขัดขวางการแข็งตัวของเลือด หรือเชิ้ออีโคไล (E. coli หรือ Escherichia coli) สร้างสารพิษเอ็นโดท็อกซิน (Endotoxin) ทำให้เกิดภาวะช็อก
- กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองด้วยการอักเสบ เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่มีการติดเชื้อ และผลของการอักเสบส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ใกล้เคียง และเกิดอาการไข้ตัวร้อน
- แบคทีเรียบางชนิดจะเข้าไปอยู่ภายในเซลล์ของมนุษย์ แย่งอาหารของเซลล์ และทำให้เกิดการตายของเซลล์
*อนึ่ง แบคทีเรียจะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณในร่างกายมนุษย์และแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ โดยไปทางหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือด เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (เลือด) หรือ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia) ก่อให้เกิดการอักเสบและการทำลายอวัยวะอื่นๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อ (Septic shock) และเสียชีวิตได้
โรคจากแบคทีเรียติดต่อได้ไหม? ติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?
โรคจากแบคทีเรียเป็นโรคติดต่อ ทั้งนี้เราสามารถติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายวิธี โดยวิธีที่พบบ่อย ได้แก่
- ทางการหายใจ: โดยหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียในอากาศเข้าไปในทางเดินหายใจและปอดของเรา เช่น การติดเชื้อวัณโรค เป็นต้น การอยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ ไอ จาม หรือจูบปาก สามารถนำไปสู่การติดเชื้อได้
- ทางการกินอาหารและดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน: เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคท้องร่วง (ท้องเสีย) โรคไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค เป็นต้น
- ทางการสัมผัสผิวหนังของคนที่เป็นโรค: เช่น โรคเรื้อน
- ทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน: เช่น โรคหนองใน และโรคแผลริมอ่อน
- ทางการเป็นแผลที่สัมผัสกับดิน: มีดบาดโดยมีดสกปรก แบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมเข้าทางบาดแผลที่ผิวหนังเกิดการอักเสบเป็นหนองตามมา
- ทางฟันผุ: ฟันที่ผุเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อแบคทีเรียได้ดี และอาจเข้าสู่กระแสเลือดทางฟันที่ผุนั้น จากนั้นแบคทีเรียจะไปเกาะติดที่ลิ้นหัวใจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจได้ (Infective endocarditis)
- จากการทำแท้งที่ไม่สะอาด: การทำแท้งโดยขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่สกปรกมีเชื้อแบคทีเรียปะปน สามารถเกิดการติดเชื้อรุนแรงในโพรงมดลูกได้และมักรุนแรงถึงต้องตัดมดลูก หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
- จากการสักผิวหนัง แกะสิว เจาะหู แคะหู ตัดเล็บ ทำเล็บโดยใช้เครื่องมือไม่สะอาด: มีเชื้อแบคทีเรียปะปน เกิดการอักเสบเป็นหนองตามตำแหน่งเหล่านั้นได้
- จากการใช้เข็มฉีดยาสกปรก: ฉีดเข้าหลอดเลือด เช่น ฉีดยาเสพติด เชื้อแบคทีเรียที่เข้าหลอดเลือดนั้นสามารถไปเกาะที่ลิ้นหัวใจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้
- จากเชื้อไชเข้าทางผิวหนังโดยตรง: เช่น โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ซึ่งมักอยู่ตามพื้น ดินในนาข้าว สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ถ้าเดินในนาโดยไม่สวมใส่รองเท้า
โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียมีอะไรบ้าง?
โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียมีเป็นจำนวนมากมาย ที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่
- อหิวาตกโรค
- โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ
- โรคไอกรน
- โรคบาดทะยัก
- โรคฉี่หนู
- โรคไทฟอยด์
- วัณโรค
- โรคต่อมทอนซิลอักเสบ
- โรคหูส่วนกลางอักเสบเป็นหนอง เช่น หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
- โรคไส้ติ่งอักเสบ
- โรคหนองใน
เมื่อติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยจากติดเชื้อแบคทีเรียได้แก่
1. ไข้ (Fever): เป็นอาการสำคัญที่สุดที่มักจะเกิดขึ้นในการติดเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิด ลักษณะการเกิดไข้จะแตกต่างกันไปในแต่ละโรคและแต่ละชนิดของเชื้อแบคทีเรีย
2. หนอง (Pus): มักเกิดในการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ลักษณะของหนองอาจเกิดที่แผลมีหนองไหลออกมา หรือเป็นฝี หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะสีเขียวข้นหรือเหลือง ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแล้วทั้งสิ้น ตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้แก่ สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) และ สแตฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) เป็นต้น
3. อาการปวดเจ็บ (Pain): ในบริเวณที่มีการติดเชื้อเช่น ปวดท้องน้อยด้านขวาในโรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
4. อาการบวม (Edema): จากการติดเชื้อเกิดได้ทั้งอวัยวะภายนอกเช่น ผิวหนังบวมและปวด หรืออวัยวะภายในบวมเช่น ปอดที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะบวมใหญ่เรียกว่าโรคปอดบวม (Pneumonia) เป็นต้น
แพทย์มีวิธีวินิจฉัยโรคจากติดเชื้อแบคทีเรียอย่างไร?
การวินิจฉัยของแพทย์ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียใช้วิธีต่างๆ ดังนี้ เช่น
1.การซักประวัติอาการของการเจ็บป่วย
2.การตรวจร่างกาย
3.การตรวจเลือด เช่น
- การตรวจซีบีซี (CBC) เพื่อดูจำนวนของเม็ดเลือดขาวในเลือด ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมาก หรือ
- การตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิต้านทาน หรือ ภูมิคุ้มกันต้านทาน (Antibody) ต่อเชื้อแบคทีเรียที่สงสัยว่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่ก็ช่วยในการวินิจฉัยได้ เป็นต้น
4.การเพาะเชื้อแบคทีเรีย: วิธีนี้ใช้สิ่งที่คาดว่าน่าจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่งไปเพาะเชื้อที่ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา เช่น หนอง เสมหะ เลือด และ/หรือเนื้อเยื่อที่ตัดออกมาจากผู้ป่วยตรงที่มีการติดเชื้อ การเพาะเชื้อนี้เป็นวิธีมีประโยชน์มากที่สุดในการบอกชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค และยังสามารถนำเชื้อที่เพาะนั้นไปทดสอบต่อได้อีกว่า ดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดไหน หรือสามารถถูกทำลายโดยยาปฏิชีวนะ
5.การตรวจทางเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ (MRI): เป็นวิธีที่ทำให้เห็นภาพของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะภายในที่มีการติดเชื้อได้ เช่น โรคปอดบวมจากติดเชื้อแบคทีเรีย (Pneumonia) จะพบเงาสีขาวเป็นจุดๆในเนื้อปอดเมื่อดูจากฟิล์มเอกซเรย์ เป็นต้น
6.การตรวจพิเศษเฉพาะโรคบางชนิด: เช่น การตรวจทูเบอร์คูลินเพื่อวินิจฉัยวัณโรค เป็นต้น
รักษาโรคจากติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?
วิธีรักษาโรคจากติดเชื้อแบคทีเรียมี 4 วิธีได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะ, การผ่าตัด, การรักษาโดยการให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค, และการรักษาประคับประคองตามอาการ
- ยาปฏิชีวนะ : การรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าทำลายเชื้อโรคเป็นวิธีสำคัญที่สุด โดยต้องดูชนิดของยาฯที่จะใช้ว่าตรงกับชนิดของแบคทีเรียหรือไม่ การเพาะเชื้อแบคทีเรียจากเลือดหรือจากหนองหรือจากสารคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการ นอกจากจะทราบชนิดของแบคทีเรียแล้ว ยังมีการทดสอบแบคทีเรียที่เพาะขึ้นว่า สามารถถูกทำลายหรือยับยั้งด้วยยาชนิดใด ซึ่งเรียกการตรวจวิธีนี้ว่า ‘Drug sensitivity test’ ทั้งนี้ แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้ ใช้เพื่อเลือกยาปฏิชีวนะให้ตรงกับชนิดยาที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อในผู้ป่วยแต่ละคนได้
- การรักษาโดยการผ่าตัด: เช่น กรณีเกิดฝี (Abscess) การรักษาจำเป็นต้องผ่าฝีด้วย
- การรักษาโดยการให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น โรคบาดทะยัก เมื่อผู้ป่วยเป็นบาดทะยักแล้วการให้น้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานที่เรียกว่าเซรุ่ม (Serum) ซึ่งอาจผลิตจากสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนั้นๆหรือโดยวิธีทางการเพาะเลี้ยงเซลล์ จะสามารถยับยั้งพิษของเชื้อโรคบาดทะยักต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้ รวมทั้งการฉึดวัคซีน บาดทะยัก ที่เรียก ว่า ‘Tetanus toxoid’ ก็เป็นวิธีกระตุ้นให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่เรียกว่า สารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody) ต่อเชื้อบาดทะยักได้ด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง
- การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น รักษาอาการไข้ด้วยยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกินได้น้อย เป็นต้น
โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงไหม?
การพยากรณ์โรคของโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือโรคจากแบคทีเรียถือว่าเป็นโรครุนแรง เพราะมีความสามารถที่จะแพร่กระจายทางหลอดน้ำเหลืองและทางหลอดเลือดไปในอวัยวะอื่นๆหรือทั่วร่างกายได้ จนเมื่อรุนแรงที่สุดสามารถทำให้เสียชีวิตได้
สิ่งที่จะกำหนดความรุนแรงในการติดเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.ชนิดของเชื้อแบคทีเรียว่าเป็นชนิดใด มีความสามารถในการสร้างสารพิษหรือไม่ ถ้าเป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษได้โรคจะรุนแรงมากกว่า อีกกรณีหนึ่งถ้าเชื้อพัฒนาตนเองจนสามารถทนต่อยาปฎิชีวนะได้หรือที่เรียกว่า เชื้อดื้อยา จะรักษายากกว่าเชื้อที่ไม่ดื้อยา โรคจะลุก ลามรุนแรงได้
2.ติดเชื้อที่อวัยวะใด ถ้าเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสำคัญเช่น สมอง ลิ้นหัวใจ ปอด ไต ตับ ตา และ/หรือกระดูก โรคมักจะรุนแรงและทำให้เกิดความเสียหายหรือความพิการของอวัยวะนั้น ๆมากกว่าอวัยวะอื่นๆ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ฟัน ช่องปาก ต่อมทอนซิล อาการจะไม่รุน แรงมากและสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า
3.การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Immune system) ของผู้ ป่วยเป็นอย่างไร ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อนั้นอยู่แล้วจะทำให้ทำลายเชื้อโรคได้เร็วขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานไม่ดีหรือบกพร่องเช่น เป็นโรคเบา หวาน โรคติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานเช่น ยาพวกสเตีย รอยด์ ยาสารเคมีรักษาโรคมะเร็ง ในเด็กอ่อน หรือในผู้สูงอายุ เหล่านี้จะทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานหรือต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดี โรคจึงรุนแรงมากกว่าคนปกติ
เมื่อสงสัยติดเชื้อแบคทีเรียควรดูแลตัวเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อใด?
เมื่อสงสัยติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แผลที่มีหนองไหล น้ำมูก หรือเสมหะมีสีเขียวข้น มีไข้ตัวร้อน ต่อมทอนซิลเจ็บ บวมโตและมีหนองปกคลุม มีอาการอักเสบบวมแดงตามผิวหนัง ตาอัก เสบมีขี้ตาสีเขียว มีหนองไหลออกมาจากรูหู ฟันผุ เหงือกบวมปวด ปัสสาวะแสบขัด สีขุ่นหรือมีเลือดปนกับปัสสาวะ ท้องเสียหรืออุจจาระมีมูกเลือดปน ต่อมน้ำเหลืองบวมโตอักเสบร่วมกับมีไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่น่าสงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เราอาจดูแลตนเองเบื้องต้นได้เช่น
- ถ้ามีแผลที่ติดเชื้อ เราอาจจะทำแผลด้วยตัวเองได้โดยใช้น้ำยาทำแผลน้ำเกลือจะสามารถลดการติดเชื้อได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอเพราะการติดเชื้อแบคทีเรียมักจะมีอาการไข้ร่วมด้วย ซึ่งทำให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ (ภาวะขาดน้ำ) การดื่มน้ำให้เพียงพอจะทำให้ไข้ลดลง ปัสสาวะมากขึ้น ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การดื่มน้ำเพียงพอจะช่วยขับเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะให้ออกไปจากร่างกายพร้อมกับน้ำปัสสาวะได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 2 - 3 วันเมื่ออาการผิดปกติต่างๆไม่หายไปหรืออาการรุนแรงมากขึ้น เช่น
- ไข้สูงขึ้น
- แผลลุกลามมาก
- ปวดบวมมากขึ้น
- ไอมากขึ้น
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น
- อาการหอบเหนื่อย
- ซึมลง
- ถ่ายเหลวไม่หยุด
- มีอาการหน้ามืด
- ชัก และ/หรือ
- อาการแขนขาอ่อนแรง
ป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างไร?
ป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียได้โดย
1.รักษาความสะอาดส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง จะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดจากมือที่สกปรกเข้าทางปากได้ ล้างมือหลังอุจจาระและปัสสาวะทุกครั้ง อาบน้ำให้ร่างกายสะอาดทุกวัน เลือกดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกแล้ว เพราะอา หารที่ปรุงไม่สุกอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียปะปนมาได้ (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน หรือ สุขบัญญัติแห่งชาติ)
2.รู้จักป้องกันตนเองจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเช่น ใช้หน้ากากอนามัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
3.รักษาสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นที่สะสมและเพาะเชื้อแบคทีเรียได้
4.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่น ไม่กลั้นปัสสาวะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ไม่กินยากดภูมิต้านทานโดยไม่จำเป็นเช่น ยาพวกสเตียรอยด์ที่ผสมในยาชุดหรือยาลูกกลอน เป็นต้น ถ้ามีโรคประจำตัวที่ทำให้ติดเชื้อง่ายเช่น โรคเบาหวาน ก็ควรทานยาควบคุมน้ำตาล/ยาเบาหวานอย่าให้ขาดเพราะการมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มีวัคซีนป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และกระ ทรวงสาธารณสุข เช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรน, และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เป็นต้น (เมื่อสนใจในเรื่องวัคซีนควรสอบถามจากแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขในสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน)