ท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis) คือโรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว(โปรโทซัว)ซึ่งเป็นปรสิต(พยาธิ)ที่มีสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะแมวเป็นโฮสต์สำคัญ พยาธินี้ชื่อ Toxoplama gondii (ท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ) โดยเป็นการติดเชื้อผ่านทางปากจากคนกินพยาธินี้ใน มูลแมวที่ปนเปื้อนที่มือ/ในอาหาร/น้ำดื่ม, และ/หรือจากพยาธินี้ปนเปื้อนอาหารและน้ำดื่มด้วยสาเหตุอื่นๆ

ทั้งนี้ ผู้ติดพยาธินี้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ(ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลก) โรคนี้จะไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการในกลุ่มคนมีภูมิคุ้มกันฯต่ำหรือผิดปกติ

อาการของโรคท็อกโซพลาสโมสิส /ท็อกโซพลาสโมซิส จะคล้ายกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่) และเมื่ออาการรุนแรงจะมีการติดเชื้อพยาธินี้ที่ปอด(ปอดบวม/ปอดอักเสบ), ที่หัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ), และที่สมอง(สมองอักเสบ)ซึ่งเป็นเหตุให้ถึงตายได้

ท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส เป็น ‘โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis)’ พบบ่อยทั่วโลก มีรายงานประมาณ 15%-85%ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อนี้โดยอัตราติดเชื้อต่างกันแต่ละประเทศรวมถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(พบได้ 20%-60%ของประชากร) พบสูงในประเทศมีอากาศร้อนชื้น เพราะพยาธิก่อโรคนี้เจริญได้ดีในสภาพอากาศดังกล่าว โรคนี้พบทุกอายุตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสติดพยาธินี้ได้เท่ากัน

ท็อกโซพลาสโมสิสมีสาเหตุเกิดจากอะไร? เป็นโรคติดต่อไหม?

ท็อกโซพลาสโมสิส

โรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส เกิดจากร่างกายติดเชื้อปรสิต/พยาธิชนิดสัตว์เซลล์เดียว คือ ‘พยาธิ ที.กอนดิไอ’ (ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ วงจรการติดโรคฯ’)

*โดยทั่วไป ‘โรคท็อกโซพลาสโมสิส และ พยาธิ ที.กอนดิไอ’ ไม่ติดต่อจากคนสู่คน’ เช่นทาง การหายใจ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะ การสัมผัส การคลุกคลี ใช้ของใช้ร่วมกัน

วงจรการติดโรคท็อกโซพลาสโมสิสเป็นอย่างไร?

พยาธิท็อกโซพลาสมากอนดิไอ ย่อว่า ที.กอนดิไอ(T.gondii) เป็นพยาธิพบบ่อยทั่วโลก เป็นพยาธิก่อโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิสในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดรวมถึงคน โดยวงจรชีวิตมี 2 โฮสต์สำคัญ คือ

  • โฮสต์จำเพาะ(โฮสต์ที่พยาธิตัวแก่อยู่อาศัย เจริญเติบโตและสืบพันธ์ได้): คือ สัตว์ในวงศ์เสือและแมวโดยเฉพาะแมวบ้าน ซึ่งโฮสต์จำเพาะจะมีพยาธิฯนี้อยู่ในทางเดินอาหาร และอาจฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆนอกระบบทางเดินอาหารก็ได้ ซึ่งพยาธิฯในโฮสต์จำเพาะจะติดต่อสู่คนฯ จากพยาธิฯปนเปื้อนออกมากับมูล/อุจจาระของโฮสต์ฯ และมูลโฮสต์ฯปนเปื้อนอาหาร-น้ำดื่มที่คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบริโภค
  • และโฮสต์ตัวกลาง: คือ โฮสต์ที่พยาธิอาศัยเจริญเติบโตโดยไม่อาศัยเพศ/การสืบพันธ์ เช่น ‘คน, หนู, นก, หมู, แกะ, แพะ, กวาง, วัว, ควาย’ ซึ่งพยาธิที่อยู่ในโฮสต์ตัวกลางจะอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆนอกระบบทางเดินอาหาร ทั่วไปคือกล้ามเนื้อของโฮสต์(เนื้อสัตว์) ซึ่งพยาธิฯ ’ในเนื้อเยื่อเหล่านี้ ’จะติดต่อสู่คนจาก ’คนกินเนื้อสัตว์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ’ของสัตว์ที่มีพยาธิฯนี้ฝังตัวอยู่

วงจรการติดพยาธิท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ:

วงจรการติด ‘พยาธิ ที.กอนดิไอ’ ในคน เริ่มจากแมวเพราะเป็นโฮสต์จำเพาะสำคัญของการเกิดท็อกโซพลาสโมสิสในคน ซึ่งแมวติดพยาธิฯนี้จาก การจับกิน นก, หนู หรือเนื้อสัตว์เลือดอุ่นอื่นๆที่ติดพยาธิฯนี้, หรือจากกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนพยาธิฯนี้

เมื่อพยาธิฯเข้าสู่ลำไส้แมว ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ร่างกายแมวไปเจริญเติบโตฝังตัวในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของแมว, และอีกส่วนจะสืบพันธ์เจริญเติบโตในลำไส้และปนอยู่ในมูลแมว

ก. วงจรพยาธิ ที.กอนดิไอในโฮสต์จำเพาะ: คือ สัตว์ในวงศ์เสือซึ่งที่สำคัญต่อการเกิดโรคท็อกโซพลาสโมสิสในคน คือ ‘แมวบ้าน’

เริ่มจากเมื่อแมวถ่ายอุจจาระ มูล/อุจจาระแมวที่มีพยาธิฯจะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ทราย น้ำ พืช ผัก ผลไม้ และปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์ต่างๆจากกระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จนถึงผู้บริโภค แมวและคนฯจะได้รับพยาธินี้จากสิ่งแวดล้อมนี้ผ่านการบริโภคอาหาร/น้ำดื่มที่ปนเปื้อนมูลแมวฯ

ดังนั้น ในแมวที่เป็นโฮสต์จำเพาะ: พยาธิเมื่อผ่านเข้าลำไส้แมว พยาธิฯก็จะเริ่มวงจรชีวิตอีกครั้งด้วยการสืบพันธ์ เจริญเติบโตในลำไส้ ปนอยู่กับมูลแมว ซึ่งวงจรจะวนเวียนเช่นนี้ตลอดไป

ข. วงจรพยาธิ ที.กอนดิไอในโฮสต์ตัวกลาง: ส่วนของ’โฮส์ตัวกลาง คือ คนฯและสัตว์เลือดอุ่น’ เมื่อกินพยาธิฯนี้ พยาธิฯไม่สามารถเจริญสืบพันธ์ในลำไส้ได้ แต่จะผ่านจากลำไส้เข้ากระแสเลือดและไปฝังตัวในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่กล้ามเนื้อ สมอง ปอด ตา ซึ่งก็คือ ‘โรคท็อกโซพลาสโมสิส’ โดยพยาธิฯที่ฝังตัวอยู่นี้มักมีชีวิตอยู่ในคนได้นานตลอดชีวิตของคนๆนั้น แต่ถ้าคนๆนั้นมีภูมิคุ้มกันฯโรคปกติ พยาธิฯนี้ก็จะไม่ก่ออาการ ทั่วไปเกือบทั้งหมด พยาธิจะก่ออาการเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯผิดปกติ

ฆ่าพยาธิท็อกโซพลาสมา กอนดิไอได้อย่างไร?

‘พยาธิ ที.กอนดิไอ’ มีหลายระยะ ทั้ง ‘ระยะเป็นซีสต์’ ที่ทนต่อสิ่งแวดล้อม และ ‘ระยะไม่มีซีสต์’ ซึ่งระยะที่เป็นซีสต์สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชื้นได้นานประมาณ18เดือน, และเมื่ออยู่ในอุจจาระที่ชื้นจะอยู่ได้นานถึงประมาณ 334 วัน

ทั้งนี้ สามารถฆ่า‘พยาธิ ที.กอนดิไอ’ทั้งที่อยู่ใน ระยะ’เป็นซีสต์’ หรือ’ไม่สร้างซีสต์’ได้โดย

  • ฉายรังสีแกมมา ปริมาณรังสีอย่างน้อย 1.0 kGy
  • ฆ่าด้วยความร้อนสูงตั้งแต่ 67 องศาเซียลเซียส(๐C)ขึ้นไป นานอย่างน้อยประมาณ 3 นาที

คนติดเชื้อโรคท็อกโซพลาสโมสิสได้อย่างไร?

คนติดโรคท็อกโซพลาสโมสิส หรือ ติดพยาธิ T. gondii ได้ 4 วิธี คือ

ก. ได้รับพยาธิฯทางปาก:

  • จากการปนเปื้อนมูลแมวที่มีพยาธิฯนี้ใน อาหาร น้ำดื่ม เช่น
    • กินอาหารปรุงสุกไม่ทั่วถึง หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต่างๆที่ปนเปื้อนพยาธินี้จากมูลสัตว์ตระกูลเสือโดยเฉพาะแมวบ้านในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ ในกระบวนการฆ่า ขนส่ง และการปรุงเนื้อสัตว์เลือดอุ่น
    • กินพยาธิฯปนเปื้อนจากมูลแมว ติดที่มือจากการหยิบจับอาหารเพื่อการปรุง ที่รวมถึงพยาธิที่ติดอยู่ที่ มีด เขียง
    • พยาธิฯปนเปื้อนที่ภาชนะ เครื่องใช้ ในการรับประทาน เช่น เขียง มีด ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ
    • ดื่มนมสดที่ปนเปื้อนพยาธินี้ โดยเฉพาะนมที่กระบวนการรีดไม่สะอาด
    • กิน พืช ผัก ผลไม้ สด ที่ปนเปื้อนพยาธินี้และล้างไม่สะอาด
    • กินเนื้อสัตว์/อวัยวะสัตว์เลือดอุ่น(โฮสต์ตัวกลาง) โดยปรุงสด หรือ สุกไม่ทั่วถึงจากที่เนื้อสัตว์มีพยาธิฯฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ
  • ติดทางปากจากสัตว์ที่เป็นโฮสต์จำเพาะ(Zoonosis): วิธีนี้พบบ่อยเช่นกัน เช่น
    • จากมือสัมผัสมูลแมวที่ปนเปื้อนพยาธินี้ที่มักเป็นแมวเลี้ยง ขณะทำความสะอาดอุจจาระแมว หรือถังขยะที่ทิ้งอุจจาระแมว แล้วล้างมือไม่สะอาดพอ เชื้อจึงเข้าปากได้ง่าย
    • จากทำสวน และมือสัมผัสพยาธิฯนี้ในดินที่ปนเปื้อนอุจจาระแมวที่ติดพยาธินี้ และเข้าสู่ปากจากล้างมือไม่สะอาด
    • ได้รับพยาธิฯจาก น้ำกิน น้ำใช้ ที่ปนเปื้อนอุจจาระแมวที่ติดพยาธินี้

ข. จากแม่สู่ลูก: คือทารกในครรภ์ได้รับพยาธิฯนี้ผ่านทางเลือด/รกจากมารดาที่ติดพยาธิฯนี้ ที่เรียกว่า ‘ท็อกโซพลาสโมสิสแต่กำเนิด’

ค. วิธีอื่นๆที่พบน้อยมาก: เช่น

  • จากได้รับการให้เลือดโดยเป็นเลือดของผู้ติดพยาธิฯนี้ในเลือด
  • จากการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเป็นอวัยวะจากผู้บริจาคที่ติดพยาธิฯนี้
  • การติดพยาธินี้ของเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจากถูกเข็มแทง โดยเป็นเข็มที่ติดเลือดที่มีพยาธินี้อยู่
  • มีเพียงรายงาน: เช่น
    • บริโภคอาหาร/เครื่องดื่มที่ปนเปื้อนพยาธิที่ติดมากับขาของ แมลงสาบ หรือ ขาแมลงวันที่ตอมอุจจาระแมว
    • ได้รับพยาธิฯทางเพศสัมพันธ์
    • อาจได้รับพยาธิฯทางการหายใจ แต่การติดต่อวิธีนี้ยังไม่มีการยืนยัน

ท็อกโซพลาสโมสิสมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส ได้แก่

ก. ไม่มีอาการ: ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดพยาธินี้และมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ เกือบทั้งหมดจะไม่มีอาการ การวินิจฉัยโรคมักได้จากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการศึกษาวิจัยเรื่องโรคนี้

ข. กรณีมีอาการและมีภูมิคุ้มกันฯปกติ หรือ ไม่ผิดปกติมาก: อาการมักเกิดหลังได้กินพยาธิประมาณ 5-23 วัน

  • กลุ่มอาการไม่รุนแรง: อาการจะคล้ายอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่) และอาการมักเป็นอยู่ประมาณ4-6 สัปดาห์แล้วหายได้ด้วยการดูแลตนเองตามอาการ เช่น
    • มีไข้ มักไข้ไม่สูงมาก
    • อ่อนเพลีย
    • เจ็บคอ/ คออักเสบ
    • ปวดหัว
    • เจ็บปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว
    • อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองบวม/โต เช่น ต่อมน้ำเหลืองลำคอ(พบบ่อย), รักแร้, และ/หรือ ขาหนีบ อาจพบเพียงตำแหน่งเดียว หรือ หลายตำแหน่ง ทั่วไปต่อมน้ำเหลืองจะยุบเองภายใน 2-6 เดือน แต่บางรายส่วนน้อยอาจคงอยู่ตลอดไป
  • กลุ่มอาการรุนแรง: เกือบทั้งหมดพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันฯของร่างกายผิดปกติ แต่ก็มีรายงานสามารถเกิดในคนมีภูมิคุ้มกันปกติได้เพียงแต่พบน้อยมาก กลุ่มนี้ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์, ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการอักเสบที่เกิดจากพยาธิฯได้กับทุกอวัยวะในร่างกายที่พยาธิฯแพร่กระจายไปฝังตัวอยู่ พบบ่อยที่
    • สมอง: เกิดสมองอักเสบ: อาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะร้ายแรง ชัก สับสน โคม่า
    • ปอด: เกิดปอดบวม/ปอดอักเสบ เช่น มีไข้ ไอ หอบเหนื่อย/ หายใจลำบาก
    • ตา: มักมีผลกับจอตา เกิดจอตาอักเสบ เช่น ปวดตา เห็นคล้ายฝุ่นผงลอยในลูกตา และมองเห็นภาพไม่ชัด ซึ่งโรคอาจรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดถาวร
  • สตรีตั้งครรภ์: ถ้าติดพยาธิฯได้ไม่นานก่อนตั้งครรภ์ หรือ ติดระหว่างตั้งครรภ์โดยเป็นมารดาที่มีภูมิคุ้มกันฯปกติ มารดามักไม่มีอาการ แต่สามารถส่งผ่านพยาธิฯผ่านรกให้กับทารกในครรภ์จนทารกติดพยาธิ(ท็อกโซพลาสโมสิสแต่กำเนิด)
    • ส่วนใหญ่ประมาณ90%ของทารกแรกคลอดที่ติดโรคท็อกโซพลาสโมสิส จะไม่มีอาการ แต่จะแสดงอาการรุนแรงเมื่ออยู่ในวัยเด็กหรือเมื่อเป็นผู้ใหญ่
    • ประมาณ 10%จะมีอาการรุนแรงตั้งแต่แรกคลอด
    • อาการรุนแรงของกลุ่มโรคท็อกโซพลาสโมสิสแต่กำเนิด เช่น ตาบอด และ/หรือ มีปัญหาทางสมอง
  • ผลข้างเคียงต่อสตรีตั้งครรภ์ที่ติดพยาธินี้: เช่น
    • การแท้งบุตร
    • ทารกเสียชีวิตเมื่อคลอด หรือตั้งแต่มารดามีอายุครรภ์หลัง28สัปดาห์
    • ทารกคลอดก่อนกำหนด
    • ทารกพิการแต่กำเนิดที่เกิดกับอวัยวะใดก็ได้ พบบ่อยคือ สมอง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส คือ

  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือ ผิดปกติ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, โรคเอดส์, ผู้ได้รับยาเคมีบำบัด, ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ทารกที่เกิดจากมารดาติด ‘พยาธิ ที.กอนดิไอ’ก่อนตั้งครรภ์ไม่นานหรือระหว่างตั้งครรภ์

แพทย์วินิจฉัยท็อกโซพลาสโมสิสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น อาการ ถิ่นที่อยู่อาศัย ประเภทสัตว์เลี้ยง โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย การตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การวินิจฉัยแน่ชัดได้จาก
    • ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานสำหรับโรคนี้
    • ในสตรีตั้งครรภ์ อาจมีการตรวจสารภูมิต้านทาน หรือ ตรวจพันธุกรรมพยาธิฯจากน้ำคร่ำ
    • ในทารกแรกคลอดที่เกิดจากมารดาติดโรคท็อกโซพลาสโมซิส อาจมีการตรวจสารภูมิต้านทานโรคนี้จากเลือดจากสายสะดือ และ/หรือ ร่วมกับตรวจสารพันธุกรรมพยาธินี้จากรก เช่น วิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR=Polymerase chain reaction)

*ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ในมารดาและในทารกจะขึ้นกับอาการของมารดาและทารก และดุลพินิจของแพทย์

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เรื้อรัง ร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองบวมโต เป็นผู้ใกล้ชิดแมว และโดยเฉพาะอยู่ในกลุ่มมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

รักษาท็อกโซพลาสโมสิสอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส ได้แก่

  • ผู้ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก และมีภูมิคุ้มกันต้านทานร่างกายปกติ: ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ร่างกายเราจะควบคุมโรคได้ โดยโรคจะไม่ก่ออาการหรือผลข้างเคียงใดๆ
  • วิธีรักษาโรคนี้กรณีมีอาการ: คือ ให้ยากลุ่มที่ฆ่าพยาธิฯนี้ได้ เช่น ให้ยา Sulfadiazine ร่วมกับยา Pyrimethamine และยา Folinic acid
  • สตรีตั้งครรภ์, เด็กแรกเกิดถึง 1 ปีที่ติดโรคนี้ แพทย์มักให้การรักษาแม้ไม่มีอาการ ซึ่งการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ เช่น ที่ตา สมอง แพทย์จะรักษาทั้งตัวโรคท็อกโซพลาสโมสิส และอาการทางโรคจากอวัยวะนั้นๆ เช่น จอตาอักเสบ(โรคจอตา), สมองอักเสบ
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันฯผิดปกติ: แพทย์จะให้การรักษาร่วมกันทั้งรักษาโรคท็อกโซพลาสโมสิสและรักษาตัวโรคที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย

ท็อกโซพลาสโมสิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส:

ก. คนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ: เป็นกลุ่มผู้ป่วยมีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนน้อยที่มีอาการ อาการจะไม่รุนแรงแพทย์รักษาควยคุมโรคได้ดี

ข. กลุ่มทารกโรคท็อกโซพลาสโมสิสแต่กำเนิด: เป็นโรคพบน้อย

  • ในกลุ่ม’มีอาการ’: การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี มีโอกาสถึงตายได้
  • ส่วนกลุ่ม ’ไม่มีอาการ’: แพทย์จะให้การพยากรณ์โรคเป็นกรณีไปตามความแข็งแรงของทารกแต่ละราย

ค. กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ที่ติดโรคนี้: การพยากรณ์โรคจะเป็นกรณีๆไป แพทย์จะให้การดูแลเฉพาะแต่ละรายไป เพราะมีโอกาส แท้งบุตร, ทารกติดพยาธิฯ, ทารกคลอดก่อนกำหนด, หรือ ทารกพิการแต่กำเนิดได้

ง. กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันฯผิดปกติและติดโรคนี้: การพยากรณ์โรคไม่ดี

  • การรักษามักต้องใช้เวลานาน
  • จำเป็นต้องรักษาให้ภูมิคุ้มกันฯกลับมาปกติ
  • โรคมักแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น ปอด สมอง ตา
  • พยาธิฯมีโอกาสดื้อยาสูง และ
  • โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังรักษาควบคุมโรคได้

ป้องกันท็อกโซพลาสโมสิสอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มียา หรือ วัคซีนป้องกันโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่มีประสิทธิภาพ คือ

ก: ด้านทั่วๆไป: เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันที่ปกติ
  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ และใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันฯ เช่น เอชไอวี
  • เมื่อเลี้ยงแมว:
    • ดูแลเรื่องมูลแมว ต้องล้างมือให้สะอาดหลังทำความสะอาดมูลแมว
    • เมื่อมีภูมิคุ้มกันฯผิดปกติ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะแมว
    • เมื่อตั้งครรภ์ หรือ เตรียมตั้งครรภ์ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะแมว
  • สวมถุงมือยาง รองเท้ายาง เมื่อทำสวน หรือต้องคลุกคลีกับดิน และทำความสะอาดมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม

ข.ด้านอาหาร น้ำดื่ม: เช่น

  • กินอาหารที่ปรุงสุกทั่วถึงเสมอ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต่างๆที่รวมถึง หอย อุณหภูมิที่ใช้ปรุงควรสูงตั้งแต่ 67 องศาเซียลเซียส(๐C)ขึ้นไปนานอย่างน้อยประมาณ 3 นาทีขึ้นไป
  • ไม่กินอาหารปรุงสด หรือ สุกๆดิบๆ
  • ดื่มแต่น้ำที่สะอาด
  • ดื่มนมสดเฉพาะที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะนมแพะ เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ติดพยาธิฯนี้ได้สูง
  • รักษาความสะอาดเครื่องใช้ในการทำครัวทุกชนิด โดยเฉพาะ เขียง และมีด
  • ผัก ผลไม้ ก่อนบริโภคต้องล้างให้สะอาด
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคท็อกโซพลาสโมสิส/ท็อกโซพลาสโมซิส คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)อย่างเคร่งครัด
  • รักษาความสะอาดในเรื่องสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะมูลแมว
  • รักษาความสะอาดในเรื่อง อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ในทุกขั้นตอนดังกล่าวใน’หัวข้อการป้องกันฯ’ เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางปาก
  • พบแพทย์ มาโรงพยาบาล ตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดศีรษะร้ายแรง หรือ ปวดศีรษะเรื้อรัง ตาเห็นภาพไม่ชัด
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะ ท้องผูกหรือท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/toxoplasma-gondii-pathogen-safety-data-sheet.html [2021,Oct16]
  2. https://www.cdc.gov/parasites/toxoplasmosis/index.html [2021,Oct16]
  3. https://www.cdc.gov/parasites/toxoplasmosis/gen_info/faqs.html [2021,Oct16]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/229969-overview#showall [2021,Oct16]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Toxoplasmosis [2021,Oct16]
  6. https://www.cdc.gov/parasites/toxoplasmosis/biology.html [2021,Oct16]
  7. https://www.cdc.gov/parasites/toxoplasmosis/health_professionals/index.html#tx [2021,Oct16]