ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (Diarrhea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามว่า ท้องเสีย (Diarrhea) หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายฯเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน โดยอาจถ่ายฯเป็นน้ำ หรือถ่ายฯเป็นมูกเลือดที่เรียกได้อีกชื่อว่า ‘โรคบิดหรือเป็นบิด’ และ

  • เมื่อท้องเสียหายได้ภายใน 2 สัปดาห์เรียกว่า ‘ท้องเสียเฉียบพลัน(Acute diarrhea)’
  • เมื่อท้องเสียนาน 2 - 4 สัปดาห์เรียกว่า ‘ท้องเสียต่อเนื่อง (Persistent diarrhea)’ และ
  • เมื่อท้องเสียนานมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไปเรียกว่า ‘ท้องเสียเรื้อรัง(Chronic diarrhea)’

ท้องเสีย อาจเรียก ท้องร่วง หรือ อุจจาระร่วง หรือ ท้องเดิน เป็นโรคที่พบบ่อยมากโรคหนึ่ง โดยมักพบในประเทศกำลังพัฒนาและในประเทศที่ยังไม่พัฒนารวมทั้งประเทศไทย โดย เฉพาะมักเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นปัญหาสาธารณสุขจากการขาดสุขอนามัยพื้นฐานในการดูแลตนเอง การดูแลตนเอง และของชุมชน รวมทั้งขาดแหล่งน้ำสะอาด

นอกจากนั้น ท้องเสียที่พบได้บ่อยอีกชนิดคือ ท้องเสียจากการท่องเที่ยว (Traveler’s diarrhea) ซึ่งมักเกิดจากการกินอาหารและดื่มน้ำไม่สะอาดในการเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งที่ขาดสุขอนามัยพื้นฐานเช่นเดียวกัน

ท้องเสียมีสาเหตุจากอะไร?

ท้องเสีย

ท้องเสีย โดยทั่วไปมักเกิดจากการกินอาหารและดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรค หรือจากมือ ไม่สะอาด อุจจาระ/เชื้อโรคที่ปนเปื้อนจากมือจึงก่อให้เกิดการติดเชื้อได้จากมือสู่ปากโดยตรง หรือในการปรุงอาหารในการสัมผัสอาหาร/น้ำดื่มในขั้นตอนต่างๆ และรวมทั้งในขั้นตอนของการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปท้องเสียจากการติดเชื้อมักเป็น’ท้องเสียเฉียบพลัน’

เชื้อพบบ่อยที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียคือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และอาจพบเชื้อบิด และจากพยาธิได้

ก. แบคทีเรีย: เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียมีได้หลายชนิด เช่น อีโคไล (E. coli) ซึ่งเป็นเชื้อพบบ่อยที่สุด นอกนั้นเช่น เชื้อไทฟอยด์ (Salmonella) เชื้อบิดชนิดชิเกลลา (Shigella) และเชื้ออหิวา (Cholera จากเชื้อ Vibrio cholerae)

ข. เชื้อไวรัส: ที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียที่พบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในเด็กเล็กคือ โรตาไวรัส (Rotavirus) และจากไวรัสอื่นๆเช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ

ค. เชื้อโรคชนิดอื่นๆ: เช่น

  • ติดเชื้อบิด (บิดมีตัว) จากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว (โปรตัวซัว/Protozoa) ที่มีชื่อว่า อะมีบา (Amoeba) ที่เรียกว่า โรคบิดมีตัว หรือ
  • ติดเชื้อพยาธิ เช่น พยาธิเข็มหมุด (Pinworm) ซึ่งบางคนเรียกว่า พยาธิเส้นด้าย (Threadworm), พยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloides)

    นอกจากการติดเชื้อแล้ว ท้องเสียยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีก เพียงแต่พบน้อยกว่าจากการติดเชื้อมากเช่น

  • ท้องเสียจากโรคกลุ่มอาการดูดซึมอาหารได้น้อย (Malabsorption syndrome) ซึ่งมักเป็นท้องเสียแบบต่อเนื่องหรือแบบเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุได้หลายสาเหตุเช่น
    • จากความผิดปกติของลำไส้แต่กำเนิด
    • จากเป็นโรคพยาธิ
    • จากการแพ้นมวัวในเด็ก
    • หรือในโรคมีภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง เช่น โรคเอดส์
    • จากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังต่างๆ
    • หรือโรคขาดน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อน เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
  • ท้องเสียจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด ซึ่งมักเป็นท้องเสียแบบเฉียบพลันหรือแบบ ต่อเนื่อง เมื่อหยุดยา อาการท้องเสียจะหายไป เช่น
    • จากยาบางชนิดในกลุ่มยาแก้ปวดเอ็นเสดส์ ยาปฏิชีวนะ ยาโรคเกาต์บางชนิด และยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
  • ท้องเสียจากผลข้างเคียงจากฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งของบริเวณช่องท้องและช่องท้องน้อย ซึ่งมักเป็นท้องเสียแบบต่อเนื่อง แต่อาการท้องเสียจะหายไปภายหลังหยุดฉายรังสีฯประมาณ 4 - 8 สัปดาห์ เช่นในการรักษา โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งไส้ตรง

ท้องเสียมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญจากท้องเสีย คือ ‘การถ่ายอุจจาระตั้งแต่วันละ 3 ครั้งขึ้นไป’ ส่วนอาการอื่นๆที่อาจพบ ร่วมด้วย เช่น

  • ปวดท้อง ปวดมวนท้อง ปวดท้องแบบปวดเบ่ง
  • อ่อนเพลีย
  • นอกจากนั้นขึ้นกับสาเหตุ เช่น
    • มีไข้ ปวดเมื่อยตัว เมื่อเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส
    • หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เมื่อเกิดจากติดเชื้อบิด

ทั้งนี้อาการสำคัญที่สุดและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้รวดเร็วคือ อาการจาก ‘ร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) และสูญเสียเกลือแร่ (Electrolyte)’ ที่ออกร่วมมาในอุจจาระ

ก. อาการสำคัญของการขาดน้ำในผู้ใหญ่ ที่สำคัญคือ

  • กระหายน้ำมาก
  • ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเหลืองเข็มจัด
  • ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง เมื่อเป็นมากตาจะลึกโหล เพราะเนื้อเยื่อรอบๆตาขาดน้ำไปด้วย
  • เมื่อขาดน้ำมากรุนแรงจะ วิงเวียน มึนงง กระสับกระส่าย และช็อกในที่สุด

ข. อาการขาดน้ำในเด็ก: ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ ยกเว้นในเด็กอ่อนซึ่งมักไม่มีปัสสาวะเลย กระหม่อมจะบุ๋มลึก และไม่มีน้ำตาเมื่อร้องโยเยหรือร้องไห้

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุท้องเสียได้จากอะไร?

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุท้องเสียได้จาก

  • การสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญ เช่น อาการ การกินอาหาร โรคประจำตัวต่างๆ การกินยา และการไปท่องเที่ยว จำนวนครั้งของการอุจจาระ ลักษณะอุจจาระรวมทั้งกลิ่นและสี
  • การตรวจร่างกาย
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจอุจจาระ
    • การตรวจเชื้อ การเพาะเชื้อ
    • การตรวจเลือดดูค่า เกลือแร่ในเลือด
    • หรือการตรวจเลือดดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

รักษาท้องเสียได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาท้องเสีย ที่สำคัญ คือ

  • การรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยดื่มไม่ได้ หรือท้องเสียรุนแรง อาจเป็นการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้ายังกิน/ดื่มได้ การรักษา คือ การดื่มน้ำหรือดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งเป็นยาผงละลายน้ำที่ทั่วไปเรียกว่า ยาโออาร์เอส (ORS, Oral rehydration salts)

นอกจากนั้นคือ

  • การรักษาตามสาเหตุ เช่น
    • อาจให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
    • ยาบรรเทาปวดท้อง/ยาแก้ปวดท้อง
    • หรือยาลดไข้
    • การให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ/ให้น้ำเกลือ กรณีท้องเสียมาก
  • โดยทั่วไป แพทย์มักไม่แนะนำการกินยาหยุดท้องเสีย เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้กำจัดเชื้อโรคและ/หรือสารพิษจากเชื้อโรคออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ขึ้น กับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

มีผลข้างเคียงจากท้องเสียไหม?

ผลข้างเคียงสำคัญของอาการท้องเสียคือ

  • ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่
  • และถ้าเป็นท้องเสียแบบต่อเนื่อง หรือเรื้อรัง คือ ภาวะร่างกายขาดสารอาหาร และภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะต่ำลง ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

ท้องเสียรุนแรงไหม?

ความรุนแรงของท้องเสียขึ้นกับ

  • สาเหตุ
  • ปริมาณเชื้อโรคที่ร่างกายได้รับ
  • ภาวะร่างกายขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
  • และสุขภาพ หรือภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วย

โดยทั่วไปมักรักษาควบคุมโรคได้ ยกเว้นในผู้ป่วยมี ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และ/หรือพบแพทย์ล่าช้า

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์เมื่อท้องเสีย คือ

  • พักผ่อน หยุดงาน หรือหยุดเรียน
  • ดื่มน้ำมากๆ ดื่มน้ำผงละลายเกลือแร่ /ORS เมื่อถ่ายเป็นน้ำหรือรู้สึกปากแห้ง
  • กินอาหารอ่อน อาหารเหลว หรืออาหารรสจืด
  • ยังไม่ควรกินยาหยุดท้องเสียด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว อาจกิน ยาลดไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง/ยาแก้ปวดท้อง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
  • เมื่อท้องเสีย ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
    • มีอาการร่างกายขาดน้ำ ดังได้กล่าวในหัวข้อ ‘อาการฯ’
    • อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน (ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ควรพบแพทย์เมื่ออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน)
    • ปวดท้องมาก และ/หรือ คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ตัว/ตาเหลือง
    • มีไข้สูง
    • อุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด หรือมีสีดำและเหนียวเหมือนยางมะตอย (อาการของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในทางเดินอาหาร)

ป้องกันท้องเสียได้อย่างไร?

วิธีป้องกันโรคท้องเสียคือ การป้องกันสาเหตุซึ่งที่สำคัญคือ การป้องกันการติดเชื้อทาง อาหาร น้ำดื่ม และทางมือ ซึ่งที่สำคัญคือ

  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รวมทั้งในการเดินทางท่องเที่ยว
  • กินอาหารสุกและปรุงใหม่เสมอ ดื่มน้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง และดื่มนมสดเฉพาะที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ไม่ใช้ ช้อน ซ่อม แก้วน้ำ ร่วมกับคนอื่น
  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำในการบริโภคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ’ โดยเฉพาะ การล้างมือก่อนการบริโภค และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุที่มีวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์/กระทรวงสาธารณสุข

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill
  2. Yates, J. (2005). Travel’s diarrhea. Am Fam Physician. 71, 2095-2100.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Diarrhe [2019,March30]
  4. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/diarrhoeal-disease [2019,March30]
  5. https://medlineplus.gov/diarrhea.html [2019,March30]