ปวดท้อง (Abdominal pain)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- ปวดท้องมีสาเหตุจากอะไร?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปวดท้องได้อย่างไร?
- รักษาอาการปวดท้องได้อย่างไร?
- อาการปวดท้องรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อไหร่?
- ป้องกันอาการปวดท้องได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- รังไข่บิดขั้ว (Ovarian torsion)
บทนำ
ปวดท้อง (Abdominal pain หรือ Stomach pain หรือ Stomach ache) ได้แก่ อาการปวดที่เกิดขึ้นในบริเวณช่องท้องส่วนใดก็ได้ เป็นอาการพบบ่อยมากอาการหนึ่ง พบบ่อยในทุกอายุ และทุกเพศ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดเท่าๆกัน โดยทั่วไปเป็นอาการไม่รุนแรง มักดูแลรักษาตนเองได้ และ ‘ปวดท้อง เป็นอาการ ใช่โรค’
ในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง คิดเป็นประมาณ 3% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และเป็นประมาณ 18% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ที่หน่วยฉุกเฉิน
อนึ่ง ช่องท้อง เป็นที่อยู่ของอวัยวะมากมายหลากหลายอวัยวะ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการปวดท้อง ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยมักเกิดจาก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หลอดเลือด และอวัยวะเพศ เช่น มดลูก และรังไข่
ปวดท้องมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของอาการปวดท้องอาจเกิดได้ทั้งจากโรคของอวัยวะต่างๆในช่องท้อง หรือ โรคของอวัยวะนอกช่องท้อง
ก. ปวดท้องสาเหตุจากอวัยวะในช่องท้อง ที่พบบ่อย คือ
- อาหารไม่ย่อย หรือ มีก๊าซ/แก๊ส/ลม ในกระเพาะอาหาร และลำไส้
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- โรคกรดไหลย้อน (โรคกรดไหลกลับ)
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- การอักเสบ ทั้งชนิดติดเชื้อและชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น จากไส้ติ่งอักเสบ หรือ ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- โรคนิ่ว เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือ นิ่วในไต หรือ นิ่วในท่อไต
- ตับอักเสบ เช่น จาก โรคไวรัสตับอักเสบ
- ตับอ่อนอักเสบ
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้อุดตัน
- ท่อเลือดแดงใหญ่ส่วนช่องท้องโป่งพอง (Abdominal aorta aneurysm)
- ปวดประจำเดือน หรือ มดลูกอักเสบ หรือ ปีกมดลูกอักเสบ หรือ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- โรคมะเร็งของอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งปากมดลูก
- บ่อยครั้งไม่ทราบสาเหตุ เพราะมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยจึงดูแลรักษาตนเองที่บ้าน ไม่ได้มาโรงพยาบาลจึงไม่ทราบสาเหตุ หรือ เมื่อมาโรงพยาบาลแพทย์เพียงให้ยาบรรเทาตามอาการ อาการปวดท้องก็ดีขึ้น จึงไม่มีการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ
ข. ปวดท้องสาเหตุจากอวัยวะนอกช่องท้อง เรียกว่า อาการปวดที่ปวดร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ (Referred pain) ที่พบบ่อย คือ
- จากโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ จากโรคปอดบวม ซึ่งส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งบางคนอาจมีปวดเจ็บ แน่นท้อง ร่วมด้วย
- หรือจากโรคกล้ามเนื้อของผนังช่องท้อง เช่น จากหน้าท้องถูกกระแทก
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปวดท้องได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดท้องได้จาก
- การสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติลักษณะอาการปวด, ตำแหน่งที่เกิดอาการ, อาการร่วมอื่นๆ ร่วมกับ
- การตรวจร่างกาย
- และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือดซีบีซี(CBC) เพื่อดูการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย
- การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรือ อัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- การส่องกล้องตรวจอวัยวะในช่องท้อง
- และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ก. วินิจฉัยจากลักษณะอาการปวดท้อง: เช่น
- เมื่อปวดแบบปวดบิด เป็นพักๆ มักเกิดจากโรคของอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ลำไส้ หรือ ท่อไต
- เมื่อปวดเป็นพักๆ ปวดแน่น อาการหายไปเมื่อผายลม หรือ เรอ หรืออาการปวดเคลื่อนที่ได้ มักเกิดจากการมีก๊าซในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ลำไส้
- เมื่อปวดแสบ ใต้ลิ้นปี่ และอาการปวดดีขึ้นเมื่อกินอาหาร หรือ อาการปวดสัมพันธ์กับการกินอาหาร มักเกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- อาการปวดร้าว เช่น ปวดร้าวขึ้นอก หรือ ขึ้นในบริเวณกระดูกกราม แพทย์มักนึกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เมื่อปวดเฉพาะจุด หรือ กดเจ็บเฉพาะจุด มักเกิดจากการอักเสบของอวัยวะในตำแหน่งนั้น เช่น โรคตับอักเสบหรือ โรคไส้ติ่งอักเสบ
- เมื่อปวดท้องเหนือกระดูกหัวหน่าว ปวดเบ่งปัสสาวะ หรือปวดแสบเมื่อสุดปัสสาวะ มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- เมื่อปวดเบ่งอุจจาระ มักเกิดจากโรคของลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือ ท้องเสีย
ข. วินิจฉัยจากตำแหน่งที่ปวดท้อง:
โดยทั่วไปมักแบ่งตำแหน่งของช่องท้องได้เป็น 7 ส่วน คือ
- เมื่อใช้สะดือเป็นจุดศูนย์กลาง จะแบ่งช่องท้องเป็น
- ช่องท้องส่วนบน(ส่วนอยู่เหนือสะดือ)
- และช่องท้องส่วนล่าง (ส่วนอยู่ต่ำกว่าสะดือ)
- ซึ่งเมื่อร่วมกับการแบ่งช่องท้องตามยาว จากเส้นสมมุติกลางลำตัว ที่จะแบ่งช่องท้อง เป็น
- ซีกซ้าย
- และซีกขวา
ดังนั้นเมื่อร่วมการแบ่งด้วย สะดือ และเส้นแบ่งกลางลำตัวเข้าด้วยกัน ช่องท้องจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
- ส่วนด้านซ้ายตอนบน
- ส่วนด้านซ้ายตอนล่าง
- ส่วนด้านขวาตอนบน
- และส่วนด้านขวาตอนล่าง
และแบ่งเพิ่มอีก 3 ส่วน (รวมเป็น7ส่วน) คือ
- ส่วน หรือ บริเวณ ใต้ลิ้นปี่ หรือ ยอดอก (Epigastrium)
- บริเวณรอบสะดือ
- และบริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว (กระดูกตรงกลางด้านหน้า และอยู่ล่างสุดชองช่องท้อง)
ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดท้องในตำแหน่งเหล่านี้ มักเป็นตัวชี้นำว่า น่ามีโรคของอวัยวะต่างๆที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้
- เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนบน (อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ กระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ ตับอ่อน และไตซ้าย) โรคที่เป็นสาเหตุ อาจเป็น
- กระเพาะอาหาร
- ม้าม
- ลำไส้ที่อยู่ในส่วนด้านซ้ายตอนบน
- ตับอ่อน (ซึ่งอาการปวดมักร้าวไปด้านหลัง เพราะตับอ่อนอยู่ติดทางด้านหลัง)
- และไตซ้าย
- ตัวอย่างโรคที่มักพบเกิดจากปวดท้องด้านซ้ายตอนบน คือ
- กระเพาะอาหารอักเสบ
- การบาดเจ็บของม้ามจากถูกกระแทก
- ตับอ่อนอักเสบ
- ลำไส้อักเสบ
- ไตอักเสบ หรือ
- นิ่วในไต ข้างซ้าย
- เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง (อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ ลำไส้ และในผู้หญิง จะมีปีกมดลูกซ้าย และรังไข่ซ้าย) โรคที่เป็นสาเหตุ อาจเกิดจากโรคของ
- ลำไส้ในส่วนด้านซ้ายตอนล่าง
- ปีกมดลูก และรังไข่ซ้าย
- ตัวอย่างโรคที่มักมีอาการปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง เช่น
- ลำไส้อักเสบ
- ปีกมดลูก หรือ รังไข่ ด้านซ้ายอักเสบ
- เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนบน โรคอาจเกิดจาก
- ตับ เช่น ตับอักเสบ
- ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ
- ลำไส้ส่วนที่อยู่ในช่องท้องด้านขวาตอนบน เช่น ลำไส้อักเสบ
- และไตขวา เช่น นิ่วในไตขวา
- เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนล่าง โรคอาจเกิดจาก
- ไส้ติ่ง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ
- ลำไส้ส่วนด้านขวาตอนล่าง เช่น ลำไส้อักเสบ
- ปีกมดลูกขวา เช่น ปีกมดลูกอักเสบด้านขวา
- หรือ รังไข่ขวา เช่น รังไข่บิดขั้วข้างขวา
- เมื่อปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเกิดจากโรคกระเพาะอาหาร เช่น แผลเปบติค
- เมื่อปวดรอบๆสะดือ มักเกิดจากโรคของไส้ติ่ง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ
- เมื่อปวดบริเวณเหนือ หัวหน่าว มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) หรือ ของมดลูก(เช่น เยื่อบุมดลูกอักเสบ)
- *เมื่อปวดท้องแบบกระจายทั่วท้อง ตำแหน่งปวดเคลื่อนที่ได้ ไม่มีจุด/ตำแหน่งปวดเฉพาะที่แน่นอน/ชัดเจน
- กรณีอาการปวดไม่รุนแรง และไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย อาการมักเกิดจากการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและลำไส้จากสิ่งที่เราบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยา หรือ จากการบีบตัวของกระเพาะอาหาร/ลำไส้ เช่น ในการขับแก๊สที่เกิดในทางเดินอาหาร อาการมักหายได้เอง
- กรณีอาการปวดรุนแรง และ/หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย(ดังจะกล่าวต่อไปในข้อ ค.) ถ้าดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน2-3วัน หรืออาการเลวลง หรืออาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรก ควรรีบไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอเวลา
ค. วินิจฉัยจากอาการร่วมอื่นๆ: อาการปวดท้องอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆได้ ที่พบบ่อย คือ
- คลื่นไส้ อาเจียน มักเกิดจากโรคของ ลำไส้ หรือ ตับ หรือ ลำไส้อุดตัน
- อาการไข้ มักเกิดจากมีการอักเสบ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ
- อาเจียนเป็นเลือด มักเกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ไม่ผายลม มักเกิดจากลำไส้อุดตัน เช่น จากท้องผูกมาก หรือ มีก้อนเนื้ออุดตันในลำไส้
- อุจจาระเป็นเลือด มักเกิดจากโรคของลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายล่าง เช่น มีแผล อักเสบ
- อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย มักเกิดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- การคลำได้ก้อนเนื้อ มักเกิดจากโรคมะเร็ง หรือโรคเนื้องอกรังไข่
- ร่วมกับมีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเบ่งปัสสาวะ มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือไตหรือ ต่อมลูกหมาก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ หรือ นิ่วในไต
- เมื่อปวดร้าวไปด้านหลัง อาจเป็นโรคของ ตับอ่อน หรือ ไต หรือ ท่อไต เช่น ตับอ่อนอักเสบ นิ่วในไต หรือ นิ่วในท่อไต
- ตัว ตาเหลือง อาจเป็นโรคของ ตับ ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคถุงน้ำดีอักเสบ
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือ ตกขาว มักเกิดจากโรคของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น โรคของ ช่องคลอด ปากมดลูก ปีกมดลูก และมดลูก เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ หรือ มะเร็งปากมดลูก
รักษาอาการปวดท้องได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการปวดท้อง ได้แก่
ก. รักษาตามสาเหตุ: ซึ่งมีได้ตั้งแต่ ไม่ต้องกินยาใดๆ เพียงพักผ่อน อาการก็หายเองได้ หรือเป็นไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น
- การใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
- การผ่าตัด เช่น กรณี ไส้ติ่งอักเสบ หรือ นิ่วในถุงน้ำดี
- หรือ การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด เมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง
ข. และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
- กินอาหารอ่อน หรือ อาหารเหลว/อาหารน้ำช่วงมีอาการ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- ยาแก้ปวดท้อง
- ยาเคลือบกระเพาะอาหาร
- ยาลดกรด
- ยาขับลม
อาการปวดท้องรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการปวดท้องขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- ไม่รุนแรงเมื่อเกิดจาก อาการท้องผูก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- แต่โรครุนแรงเมื่อเกิดจาก ไส้ติ่งอักเสบ หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของอาการปวดท้อง เป็นอาการไม่รุนแรง ดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ และโดยทั่วไป มักมีสาเหตุจากโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาได้หาย
*อนึ่ง ในส่วนผลข้างเคียงจากอาการปวดท้อง จะเป็นผลข้างเคียงจากสาเหตุที่ทำให้ปวดท้อง ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในแต่ละโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุในเว็บ haamor.com
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดท้อง และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล คือ
- พักผ่อน
- ลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง กินเฉพาะอาหารอ่อน หรือ อาหารเหลว อาหารน้ำ รสจืด (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- เมื่ออาการปวดท้องสัมพันธ์กับอาหาร อาจกินยาลดกรด หรือ ยาเคลือบกระเพาะ
- กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโปรเฟน(Ibuprofen) เพราะเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงก่อการอักเสบของเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร จึงอาจยิ่งเพิ่มอาการปวดท้อง
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อปวดท้องร่วมกับ
- แน่นอึดอัดท้อง ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ และผอมลง
- มีภาวะซีดร่วมด้วย เพราะอาจจากมีเลือดออกครั้งละน้อยๆจนสังเกตไม่เห็น จากมีแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหารหรือ ในลำไส้
- ปวดท้องต่อเนื่อง อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
- คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ/ท้องผูก
- ท้องเสีย ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังดูแลตนเอง
- มีไข้ร่วมด้วย และอาการไข้ และอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
- ปัสสาวะมีเลือดปน (อ่านเพิ่มเติมใน ปัสสาวะเป็นเลือด) หรือ แสบขัด หรือ มีคล้ายเม็ดทราย หลุดปนมาด้วย
- อุจจาระมีเลือดปนบ่อย (อ่านเพิ่มเติมใน อุจจาระเป็นเลือด)
- ปวดประจำเดือนมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- เมื่ออาการปวดท้องไม่ดีขึ้น หรือ อาการปวดท้องเลวลงหลังดูแลตนเอง
- เมื่อกังวลในอาการปวดท้อง
- ควรพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อปวดท้องร่วมกับ
- เพิ่งได้รับอุบัติเหตุที่ช่องท้อง
- มีไข้ (ได้ทั้งไข้ต่ำ หรือ ไข้สูง)โดยเฉพาะเมื่อปวด/เจ็บท้องเพียงจุดเดียว อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
- คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับ ไม่ผายลม และ/หรือ ท้องผูก
- อาเจียนเป็นเลือด
- อุจจาระเป็นเลือด
- ปวดท้องมากไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง
- มีท้องแข็ง กดเจ็บมาก อาจเพียงตำแหน่งเดียว หรือ ทั่วทั้งช่องท้อง
- ปวดแน่นหน้าอก ร้าวไปแขน และ/หรือ กระดูกกราม ซึ่งมักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
ป้องกันอาการปวดท้องได้อย่างไร?
วิธีป้องกันอาการปวดท้อง คือ
- หลีกเลี่ยง หรือ ป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ ที่ทำให้เกิดอาการ ดังกล่าวแล้วใน ’หัวข้อ สาเหตุฯ’ เช่น ป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ท้องผูก ท้องเสีย
- ป้องกัน ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆของทางระบบเดินอาหาร/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ย่อยยาก อาหารไขมันสูง เครื่องดื่มต่างๆที่เพิ่มก๊าซ/แก๊ส/ลมในกระเพาะอาหาร และลำไส้
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุเพิ่ม กรดในกระเพาะอาหาร
- เลิก หรือ จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- รักษา และควบคุมโรคที่อาจเป็นสาเหตุ
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Cartwright, S., and Knudson, M. (2008). Evaluation of acute abdominal pain in adults. Am Fam Physician. 77, 971-978.
- Wallander.,M. et al. (2007). Unspecified Abdominal Pain in Primary Care: The Role of Gastrointestinal Morbidity. Int J Clin Pract. 61,1663-1670.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Abdominal_pain [2019,April6]