สาระน่ารู้จากหมอตา : ตอนที่ 1 บุคลากรเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคตา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 17 มกราคม 2556
- Tweet
สวัสดีคะ ตาเป็นอวัยวะที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด เราเห็นตาอยู่ทุกวัน แต่เราดูไม่ค่อยคุ้นกับหมอตา หรือเรียกเป็นทางการว่าจักษุแพทย์เลย ดิฉัน เป็นหมอตา เลยคิดว่า การนำเรื่องราวต่างๆทางตาที่เป็นสาระน่ารู้ โดยที่หมอตาเป็นคนคุยให้ฟัง น่าจะช่วยให้ผู้อ่านคุ้นกับหมอตามากขึ้น และจะช่วยให้เข้าใจและดูแลตาของเราได้ดีขึ้น และเมื่อต้องพบกับหมอตา ก็จะได้รู้สึกคุ้นเคย ไม่กลัวหมอตาคะ เรื่อง เหล่านี้ ก็จะไม่มีรูปแบบ สบายๆคะทั้งผู้เล่าและผู้อ่านคะ
ตอนที่1 บุคลากรเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคตา
โรคตา ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันให้การดูแลรักษาโดยบุคลากรต่างๆ ดังนี้ คือ
- จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) หรือเรียกง่ายๆ ว่า หมอตา เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมทางจักษุวิทยา หลังจากได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต (พ.บ.) หมายถึง ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ผ่านการปฏิบัติงานจนได้รับใบประกอบโรคศิลปะจากแพทยสภาแล้ว มารับการอบรมเฉพาะโรคทางจักษุวิทยาจากสถาบันที่รับเอาการฝึกอบรมจากแพทยสภา ใช้เวลาฝึกอบรม 3 ปี ผ่านการสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคตาต่างๆ เป็นผู้ที่สามารถให้การรักษาโรคตาด้วยยา ด้วยวิธีผ่าตัดรวมทั้งการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (laser) ที่เกี่ยวข้องกับตา ตลอดจนการวัดสายตาประกอบแว่นตาและเลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์/ contact lens) ได้ ปัจจุบันมีจักษุแพทย์ประมาณ 1,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในจำนวนจักษุแพทย์เหล่านี้นอกจากจะให้การรักษาโรคตาทั่วไป แต่ละท่านอาจสนใจและชำนาญในแต่ละโรคย่อยลงไปอีกเป็นสาขาย่อยๆ ได้แก่ สาขา โรคจอประสาทตา โรคของกระจกตา โรคตาของเด็ก โรคต้อหิน สาขากล้ามเนื้อตาเกี่ยวกับ ตาเข/ตาเหล่ การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลสิค (Lasik) เป็นต้น
- นักทัศนมาตร (optometrist) เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขสายตาผิดปกติทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาผู้สูงอายุ ด้วยแว่นตาและคอนแทคเลนส์ (Contact lens) สามารถตรวจวัดสายตา แนะนำและออกใบสั่งขนาดแว่นตาและคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสม เป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขา ทัศนมาตร ปัจจุบันมีการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยรังสิต ขณะนี้นักทัศนมาตรยังมีจำนวนไม่มาก แต่กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากจักษุแพทย์มีไม่เพียงพอที่จะมาทำสาขานี้ นักทัศนมาตรจะช่วยให้ผู้มีสายตาผิดปกติได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม
- Optician (ช่างประกอบแว่น) เป็นผู้มีความสามารถฝนเลนส์เข้ากับกรอบแว่นที่เหมาะสม ให้ขนาดกำลังเลนส์อยู่ในกรอบแว่นตาที่ถูกต้องตามใบสั่ง จัดฝนเลนส์ให้อยู่ในกรอบเพื่อให้แนวเอียงตามมุม (องศา) ที่ถูกต้อง
- Orthoptist ผู้ทำให้ตาตรง ไม่ทราบคำแปลที่เป็นภาษาไทย ในปัจจุบันยังมีจำนวนน้อย มีในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงเรียนแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมวิธีวัดกล้ามเนื้อตาโดยเฉพาะ หรือนัยหนึ่งชำนาญการตรวจวัดขนาดของภาวะตาเข ตรวจการทำงานของตาอย่างละเอียด ในความสามารถการทำงานของตา 2 ข้างร่วมกัน (binocular function) กล่าวคือ เมื่อตาทั้ง 2 ข้าง ต่างก็ทำงานได้ดีแล้วยังไม่เพียงพอ ตาทั้ง 2 ข้างจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด ถูกต้องที่สุด ในบางคนตาแต่ละข้างทำงานได้ดีแต่ 2 ข้างไม่ทำงานร่วมกัน ต่างตาต่างทำ ก่อให้เห็นภาพเดียวเป็น 2 ภาพ (diplopia) หรือคุณภาพของการมองเห็นไม่ดีไม่เห็นเป็นภาพ 3 มิติ เป็นต้น นอกจากนี้บุคลากรกลุ่มนี้ยังช่วยฝึกกล้ามเนื้อตาด้วยเครื่อง แนะนำการฝึกกล้ามเนื้อตาด้วยตนเอง ฝึกกล้ามเนื้อตาในผู้ที่มีตาเขเล็กน้อย ตลอดจนผู้มีตาเขซ่อนเร้นให้กล้ามเนื้อตาแข็งแรง ทำงานได้เต็มที่ บุคลากรกลุ่มนี้รับการฝึกฝนจากสถาบันต่างๆ โดยมักจะเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ที่ทำงานร่วมกับจักษุแพทย์มารับการอบรมกับจักษุแพทย์ ฝึกวิธีใช้เครื่องมือกระตุ้นสายตาตลอดจนฝึกกล้ามเนื้อตาด้วย