สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 10: โรคตาทางพันธุกรรม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 21 มีนาคม 2556
- Tweet
โรคทางพันธุกรรมถูกควบคุมด้วยยีน/จีน (Gene) ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครโมโซมที่อยู่ในเซลล์ต่างๆของร่างกายเรา โรคทางพันธุกรรมถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานด้วยวิธีต่างๆออกเป็น
- ถ่ายทอดแบบยีนส์เดี่ยว (monogenetic) ซึ่งแบ่งเป็นการถ่ายทอดทาง โครโมโซมเพศ (Sex chromosome) โครโมโซมหลัก (Autosomal chromosome) ซึ่งแบ่งได้เป็นถ่ายทอดแบบเด่น (Autosomal dominant) และแบบด้อย (Autosomal recessive)
- ความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosome aberration) โดยอาจเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือที่น้อยลง ตลอดจนอาจขาดหายบางส่วน
- จากหลายเหตุ (Multifactorial) หรือ เรียกกันว่า polygenetic มีหลายยีนส์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมเข้ามาเสริม
- การกลายพันธุ์ (Mutation) เป็นการผิดปกติจากที่ควรโดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมีสิ่งเหนี่ยวนำซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งของวิวัฒนาการ อาจทำให้ดีขึ้นหรือเลวลงทำให้เพิ่มภูมิต้านทานหรือเกิดโรคก็ได้
โรคตาทางพันธุกรรมมีหลายอย่างด้วยกัน เมื่อมีคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเป็น จะต้องตรวจและสอบถามเพื่อการพบโรคในผู้อื่นได้เร็วขึ้น ที่สำคัญและพบบ่อย ได้แก่
- ต้อหินชนิดมุมเปิด เรียกอีกชื่อว่า ต้อหินเรื้อรัง หากพบตั้งแต่เริ่มเป็น ทำให้การรักษาได้ผลดีกว่า เชื่อกันว่า ถ่ายทอดแบบ polygenetic หากครอบครัวใดมีปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้อหิน จึงควรระวังคอยตรวจตาแต่เนิ่นๆ และทุกปี
- ต้อกระจกในเด็ก (Congenital cataract) แม้ว่าจะพบในเด็กที่แม่เป็นหัดเยอรมัน เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือมีปัญหาระหว่างคลอด แต่ก็พบได้ที่เป็นกันหลายคนในครอบครัวที่สามารถตรวจสอบแล้วมีการถ่ายทอดทั้งแบบปมเด่น (ส่วนมาก) ปมด้อย หรือแม้แต่โครโมโซมเพศหญิง (X Chromosome) ตลอดจน chromosome aberration ได้
- สายตาสั้น เป็นที่ทราบกันดี ถ้าพ่อแม่คนใดคนหนึ่งสายตาสั้น โอกาสลูกจะมีสายตาสั้นมีมากกว่าคนปกติ ถ้าทั้งพ่อแม่สายตาสั้นทั้งคู่ ลูกมีโอกาสสายตาสั้นมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะสายตาสั้นน่าจะเป็น multifactorial มีทั้งกรรมพันธุ์รวมกับพฤติกรรมการใช้สายตา
- ตาบอดสีที่เป็นกรรมพันธุ์ จะเป็นบอด แดง – เขียว ถ่ายทอดทางโครโมโซม X โดยมีแม่เป็นพาหะโรค พบได้ในผู้ชาย 6 -8 % ในขณะที่หญิงพบเพียง 0.5%
- จอตาเสื่อม (retinal dystrophy) มีหลายชนิดที่พบบ่อยเรียกกันว่า โรค RP (retinitis pigmentosa) มีอาการที่เรียกว่า ตาบอดกลางคืน (night blindness) นำมา ภาวะนี้มีรายงานว่า ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ทุกแบบ
- กระจกตาเสื่อม (corneal dystrophy) มีหลายชนิด ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบต่างๆกัน รายที่เป็นมากต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
- แก้วตาเคลื่อนที่ (lens dislocation) แม้ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ แต่มีที่เป็นเองและมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคี่เรียกว่า Masfan’ s syndrome หรือ Marchesani syndrome
- โรคมะเร็งจอตา เป็นเนื้องอกในตาเด็กที่ร้ายแรงที่สุด มีกำเนิดจากเซลล์ในจอตาเจริญเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง มักทำให้เด็กสูญเสียสายตาและบางรายถึงแก่ชีวิตตั้งแต่เด็ก หากรักษาช้า เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบปมเด่น โอกาสที่ลูกของผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงถึงร้อยละ 50