สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 20: โทษของรังสียูวีต่อตา

รังสียูวี (UV หรือ Ultraviolet light) เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นขนาด 400 – 100 นานอมิเตอร์ แบ่งเป็นยูวีเอ(UV-A) มีขนาด 400 – 320 นานอมิเตอร์ ยูวี บี (UV-B) มีขนาด 320 – 290 และยูวีซี (UV-C) ขนาด 290 – 200 นานอมิเตอร์ พลังแสงจากดวงอาทิตย์มีรังสียูวี ประมาณ 5% โดยเป็นยูวีเอ 90% และยูวีบี 10% ส่วนรังสียูวีซีถูกกันจากชั้นโอโซนของบรรยากาศหมดไป ไม่มีถึงโลกเรา ยูวีซีที่มีอยู่ในโลกจึงเป็นยูวี ซีที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

ผู้ที่มีโอกาสหรือมีภยันตรายจากแสงยูวี ได้แก่

  1. ผู้ที่ทำงานที่ถูกแสงอาทิตย์มาก เช่น ทำงานกลางแจ้ง นักตกปลา นักบิน นักเล่นสกี (รังสียูวีสะท้อนผิวหิมะเข้าตาได้มากที่สุด เพราะสามารถสะท้อนได้ถึง 60 – 80 %)
  2. ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อการได้รับแสงยูวีจากมนุษย์ทำขึ้น ได้แก่ เครื่องฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล ตะเกียงปรอท หลอดไฟที่มีไส้ประเภทใช้สารเรืองแสง ประเภทแสงที่เกิดจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านไอของแก๊สหรือโลหะ และช่างเชื่อมและหลอมโลหะต่างๆ
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรค xerodermapigmentosumที่เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมาก โรคจอตาเสื่อมบางชนิด(retinitis pigmentosa)ที่เซลล์รับรู้การเห็นในจอตาเสื่อมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าโดนรังสียูวี
  4. ยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคทางกาย อาจทำให้ร่างกายตอบสนองต่อแสงยูวีมากกว่าคนปกติ รวมถึงสารเคมีบางตัวในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ยา psoralen , allupurinol, phenothiagine , chloroquins ยาคุมกำเนิดบางตัว และยา retinoid เป็นต้น

ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ควรมีมาตรการป้องกันรังสียูวีอย่างเคร่งครัดทั้งนี้ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นแก่ตาจากแสงยูวี ได้แก่

  1. ต้อลมหรือ ต้อเนื้อ เป็นความเสื่อมของเยื่อบุตา ที่ถูกแดด ลม ฝุ่น สิ่งระคายเคือง ความแห้ง ที่พบบ่อยและมีการศึกษายืนยัน คือ แสงยูวี ทำให้มีความเสื่อมเป็นตุ่มอยู่ชิดขอบตาดำ ที่เรียกต้อลม หากเป็นมากจะลามเข้าตาดำ มีลักษณะคล้ายเนื้อแลบเข้าสู่ตาดำอันเป็นที่มาของชื่อที่ว่า ต้อเนื้อหรือต้อลิ้นหมา
  2. ความผิดปกติของกระจกตา (ตาดำ) โดยเกิดมีแผลเป็นจุดเล็กๆ กระจายทั่วตาดำ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในบ้านเราในช่างเชื่อมโลหะที่ไม่ใช้แว่นป้องกัน ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามาก มักเป็นหลังได้รับรังสีหลายชั่วโมง ในต่างประเทศที่มีหิมะ นัก เล่นสกีโดยไม่ใช้แว่นป้องกัน จะเกิดภาวะที่เรียกว่า snow blindness

    ความผิดปกติอีกชนิดที่เกิดกับกระจกตา คือ กระจกตาเป็นฝ้าสีขาวอมเหลือง ที่เรียก climate droplet keratopathy (CDK) ซึ่งพบว่ามีสารโปรตีนที่เสื่อมแทรกอยู่ในเซลล์ชั้น strumaของกระจกตา ซึ่งถ้าความผิดปกตินี้ลามไปมากขึ้น จะทำให้ตามัวลงได้ในที่สุด

  3. ต้อกระจก จริงอยู่ต้อกระจกเป็นภาวะความเสื่อมตามอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่รังสียูวีเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดต้อกระจก ในคนทั่วไปที่อายุยังน้อย พบว่าทั้งยูวีเอและบีส่วนใหญ่ถูกดูดซับไว้ด้วยน้ำตา ตาดำและสารน้ำในลูกตา (aqueous) มีอยู่บ้างที่เล็ดลอดผ่านไปถึงแก้วตา เกิดปฏิกิริยาในเนื้อแก้วตา ทำให้เกิดอนุมูลอิสระทำลายเซลล์แก้วตา ซึ่งหากร่างกายขจัดและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายไม่ทันจะเกิดต้อกระจกตามมา
  4. ความผิดปกติที่จอตา ที่เรียกว่า ภาวะ eclipse burn หรือ solar retinopathy ในคนที่ดูสุริยคราส หรือผู้ที่บูชาแสงอาทิตย์ตามศาสนา จ้องดวงอาทิตย์ โดยไม่มีการป้องกัน เกิดจากทั้งแสงยูวีและแสงอื่นๆชนิดที่เห็นด้วยตาที่แรงเกินไป แม้แต่โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ที่เรียกกันว่าโรค AMD (age related macular degeneration) ก็เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งเป็นโทษจากรังสียูวีนี่เอง