สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 19: ที่มาของการเห็นหยากไย่
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 23 พฤษภาคม 2556
- Tweet
ในบางครั้ง บางท่าน อาจมีการมองเห็นคล้ายหยากไย่ หรือ หยักไย่ หรืออาจบรรยายว่าเห็นเหมือนแมลงบินอยู่ข้างหน้า บางท่านบอกว่ามีตะกอนคล้ายๆลูกน้ำเคลื่อนไหวอยู่ข้างหน้า ที่พบบ่อยจะบอกว่ามีหยากไย่ ขยับไปมาอยู่ข้างหน้า
ทั้งหมดนี้เป็นอาการที่เกิดจากมีความผิดปกติในน้ำวุ้นตา(vitreous) ตัวน้ำวุ้นมี ปริมาณถึง 4 ใน 5 ของปริมาตรของตาคนเรา มีลักษณะเป็นวุ้น หรือ เจล (Gel) คล้ายไข่ขาว เป็นของเหลวที่อยู่ด้านหลังของแก้วตาและหน้าต่อจอตาประกอบด้วยน้ำ 99% ที่เหลือเป็นสารประเภท mucopoly saccharide, hyaluronic acid (hyaluronan) จึงทำให้น้ำวุ้นมีความหนืดกว่าน้ำ 2 เท่า นอกจากนี้ ในน้ำวุ้นยังประกอบด้วย collagen fibril เป็นเส้นๆ และมีเซลล์ที่เรียกกันว่า hyalocyteตัวน้ำวุ้นนี้จะยึดค่อนข้างแน่นกับจอตาทางด้านหน้าในบริเวณสิ้นสุดของจอตาที่เรียกว่า oraserrata และด้านหลังยึดแน่นในบริเวณขั้วประสาทตาหรือจานประสาทตา(optic disc) ตลอดจนบริเวณรอบๆจุดมองเห็นภาพชัดบนจอตา (macula) และบริเวณหลอดเลือดของจอตา
ตัวน้ำวุ้นจะใส ให้แสงผ่านเพื่อการมองเห็นขณะเดียวกันทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในตา ได้แก่ แก้วตา จอตา และ ciliary body (เนื้อเยื่อที่ช่วยเปลี่ยนความโค้งของแก้วตา)ตลอดจนมีส่วนทำให้ลูกตาคงรูปอยู่ได้
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น น้ำวุ้นที่มีลักษณะเป็นเจลจะกลายเป็นน้ำ มีความหนืดลดลง กล่าวกันว่าถ้าอายุ 80 ปี ขึ้นไป มากกว่าครึ่งของน้ำวุ้นจะกลายเป็นน้ำใส ยิ่งผู้มีสายตาสั้นจะเกิดภาวะนี้ได้เร็วกว่าคนสายตาปกติ เมื่อมีส่วนที่กลายเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นเจล ที่เป็นใย(fibril) ที่มีลักษณะเป็นเส้นๆบางๆขนาด 12 – 15 นานอมิเตอร์ ปนอยู่ เส้นนี้จะรวมตัวกันหนาขึ้น จึงทำให้เจ้าตัวเห็นเหมือนมีอะไรลอยไปมา ในขณะเดียวกัน บริเวณที่น้ำวุ้นติดกับจอตาจะอ่อนตัวลงแยกจากจอตา โดยเป็นที่ด้านหลังและหลุดจากจอตาออกมา ที่เรียกกันว่า จอตาลอก ชนิด posterior vitreous detachment (PVD) เป็นวงหลุดออกมา ตัวน้ำวุ้นที่ยังเป็นเจลอยู่จะเลื่อนมาข้างหน้า ระหว่างนี้อาจทำให้มีจอตาบางแห่งฉีกขาด ทำให้จอตาหลุดลอกในเวลาต่อมา หรือแม้แต่เกิดหลอดเลือดจอตาฉีกขาดทำให้ตามัวลงได้ คนส่วนใหญ่จะมีเพียง PVD ทำให้เห็นเป็นหยากไย่เคลื่อนไปมา เป็นวงกลมๆ
ในคนที่สายตาสั้นประเภทที่ลูกตายาวมากกว่า 26 มม. พบว่ามีสารcollagen และ hyaluronanน้อยกว่าคนปกติ 20 – 30 % อาจเป็นเหตุให้เกิดการสลายเป็นน้ำ ได้ง่ายขึ้น จึงพบอาการดังกล่าวในอายุที่น้อยกว่าคนทั่วไปได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรไปพบหมอตา/จักษุแพทย์ ตรวจน้ำวุ้นตาอย่างละเอียดว่า เกิดจากภาวะดังกล่าวหรือไม่ หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกในจอตา หรือมีรูขาดในจอตาเกิดขึ้นซึ่งควรจะได้รับการรักษาอุดรูจอที่ขาด โดยทั่วไปหากเมื่อตรวจแล้วพบแต่ตะกอนหยากไย่ โดยไม่มีรูขาดของจอตาก็ควรคอยสังเกตอาการ หากพบว่าหยากไย่เป็นมากขึ้น ร่วมกับมีแสงแว๊บๆเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ หรือมีคล้ายๆมีม่านมาบังตา ควรรีบพบหมอตาเพื่อตรวจละเอียดซ้ำอีกที เพราะอาการดังกล่าวบ่งว่าน่าจะมีความผิดปกติที่จอตาเกิดขึ้นแล้ว