สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน Vision 2020 = The right to sight
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 31 มกราคม 2556
- Tweet
สโลแกนอันนี้เป็นขององค์การอนามัยโลก ที่ตั้งเป้าไว้ว่า ประชากรทุกคนในโลกในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ควรมีสายตาเป็น 20/20 (ค่าของสายตาปกติ)
จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกประมาณว่า เมื่อปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ในโลกมีประชากรตาบอด 45 ล้านคน มีสายตาเลือนราง 145 คน ร้อยละ 90 ของประชากรตาบอดอยู่ในกลุ่มด้อยพัฒนา คาดกันว่าจะมีประชากรตาบอดในโลกเพิ่มปีละประมาณ 7 ล้านคน หรือนัยหนึ่งทุกๆ 5 วินาที จะมีคนๆหนึ่งตาบอด ในเด็กอาจจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่ โดยพบเด็กตาบอดได้ทุกนาที สโลแกนที่ว่านี้จึงคิดขึ้นมาเพื่อช่วยกันลดหรือป้องกันมิให้มีคนที่จะตาบอดเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020 นั่นเอง
เพื่อให้ได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว ประเทศไทยเราก็มีโครงการป้องกันตาบอดและควบคุมสายตาพิการ โดยการให้บริการรักษาโรคทางตากระจายไปให้ทั่วประเทศ โดยอาศัยหลักของสาธารณสุขมูลฐานและให้บริการสุขภาพตาเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 เป็นการปฏิบัติงานของแพทย์ทั่วไปที่มิได้รับการอบรมเฉพาะทางจักษุวิทยา ให้บริการรักษาโรคตาง่ายๆ เช่น ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ ให้การดูแลรักษาเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉินทางตาได้ และส่งต่อระดับที่ 2 ถ้าจำเป็น
ระดับที่ 2 เป็นการทำงานของจักษุแพทย์ซึ่งผ่านการอบรมเป็นจักษุแพทย์ มีกระจายอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ให้การรักษาโรคตาที่ยุ่งยากยิ่งขึ้น ตลอดจนการผ่าตัดรักษาโรคตาที่สำคัญ คือ การผ่าตัดต้อหิน ต้อกระจก ต้อเนื้อ (ต้อลม) ตลอดจนการรักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยแสงเลเซอร์
มาปีนี้ จะมีการรณรงค์ผ่าตัดต้อกระจกที่เป็นโรคสำคัญทำให้ประชากรไทยตาบอดมากที่สุด ไม่ให้ผู้ป่วยโรคนี้อยู่ในโลกมืด ให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้เข้าถึงบริการได้ทุกคน มีการฝังแก้วตาเทียมให้โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า จักษุแพทย์ไทย เป็นการรวมกลุ่มของจักษุแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ช่วยกันวางแผนเชิงรุก ให้การตรวจผู้สูงอายุทั่วราชอาณาจักร โดยทีมแพทย์แบ่งเป็นเขต มีหน่วยออกไปตรวจคัดกรองตาผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจก และถ้ามารับการผ่าตัดตามศูนย์บริการต่างๆ โดยให้จักษุแพทย์แต่ละจังหวัดรวมกันเป็นเขต 12 เขต และให้บริการเชิงรุกไปหาผู้ป่วยด้วยทีมงานจักษุแพทย์ ด้วยปฏิบัติการแบบนี้ เชื่อว่าคนไทยที่เป็นต้อกระจกและปล่อยจนตาบอด น่าจะหมดไป ทั้งนี้ด้วยการทำงานของคุณหมออัจฉรา นิธิภิญญาสกุล กับคณะ โดยมีการบริหารจัดการโดย
- การเข้าถึงการบริการเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยต้อกระจกที่ตกค้างอยู่โดยยังไม่ได้รับการรักษา
- ควบคุมคุณภาพของการบริการ
- ทำงานโดยเชิงรุกเข้าไปหาผู้ป่วย โดยให้ประชาชนเข้าถึงบริการ อย่างน้อย 1347 คนต่อแสนประชากรที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป
- ลดเวลาการรอคิวผ่าตัดต้อกระจกลง ในปัจจุบันโดยเฉลี่ยผู้ป่วยต้องรอคิวเฉลี่ย 59 วันกว่าจะได้ผ่าตัด
ระดับที่ 3 เป็นการทำงานของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ (จังหวัดใหญ่ๆ) โรงพยาบาลในส่วนกลางที่มีเครื่องมือและบุคลากรที่ได้รับการอบรมเฉพาะโรคตาที่ยุ่งยาก เช่น โรคของน้ำวุ้นตา (วุ้นตาเสื่อม) โรคของเบ้าตา โรคจอประสาทตา (โรคของจอตา) ที่ซับซ้อน รวมทั้งการธนาคารดวงตา (eye bank) เป็นต้น
นอกจากนี้ โรงพยาบาลในระดับที่ 3 นี้ จะมีการสอนฝึกอบรม เพื่อสร้างจักษุแพทย์ให้มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งมีการวิจัยหาวิธีตรวจรักษาผู้ป่วยโรคตาที่ยุ่งยากให้ได้รับการบริการที่ดีขึ้นตามลำดับ