สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 7: น้ำตาเทียม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 28 กุมภาพันธ์ 2556
- Tweet
น้ำตาเทียม (Artificial tear) ถือเป็นยาหยอดตาชนิดหนึ่งที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา และในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของผิวตา (Ocular surface)
น้ำตาเทียมที่ดี ควรจะมีส่วนประกอบใกล้เคียงกับน้ำตาปกติที่สุด เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับตา และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรมีคุณสมบัติในการรักษาแผลที่ผิวตา ให้หายเร็วขึ้น อันจะทำให้ตากลับมาเหมือนเดิมมากที่สุดและเร็วที่สุด
น้ำตาเทียมที่ดี ควรมีลักษณะ ดังนี้
- มีค่าความเป็น กรด – ด่าง (pH, power of hydrogen) ใกล้เคียงกับน้ำตา คือ 6.5 – 7.6 เพื่อให้หยอดแล้วสบายตา ไม่แสบตา โดยทั่วไปการควบคุม pH ทำโดยใช้สารที่ทำให้เป็นกลาง (buffer) เช่น bicarbonate , borate เป็นต้น
- ควรมีความตึงตัวต่ำ (hypotonicity) อยู่ที่ 150 – 170 mOsm / L
- ความหนืด (viscosity) ถ้าสูงจะช่วยให้น้ำตาเทียมอยู่ได้นานขึ้น
- สารกันบูด (preservative) ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคซึ่งอาจพลัดหลงเข้าไปในขวดยาเวลาเปิดใช้แต่ละครั้งในน้ำตาเทียมชนิดขวดที่ใช้หลายๆครั้ง อย่างไรก็ตามตัวยานี้หากหยอดเข้าตาจำนวนมาก (หลายครั้ง) กลับเป็นโทษ อาจทำลายผิวกระจกตาได้
- เกลือแร่ (electrolyte) เช่น sodium , potassium calcium , magnesium ซึ่งเชื่อว่าสามารถเพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างน้ำตาบางชนิด (goblet cell) และ ลดการอักเสบของผิวตาได้ดีกว่าน้ำตาเทียมที่ไม่มี electrolyte
รูปแบบของน้ำตาเทียม
- ชนิดอยู่ในขวด ใช้ได้หลายครั้ง มีสารกันบูด ควรใช้วันละไม่เกิน 4 -6 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของสารกันบูด
- ชนิดเป็นกระเปาะเล็กๆ ใช้วันต่อวัน ไม่มีสารกันบูด จึงใช้ได้วันละหลายๆ ครั้ง ตามความจำเป็น กล่าวคือ ผู้มีอาการตาแห้งมาก โดยจากเยื่อบุตาถูกทำลายมาก อาจจำเป็นต้องใช้ยานี้เกือบทุกชั่วโมงในตอนแรกของการรักษา
- เป็นรูปเจล หรือขี้ผึ้ง (gel หรือ ointment) ซึ่งทำให้ตัวยาอยู่ในตาได้นาน นิยมใช้ก่อนนอน เพราะมีความหนืด แต่จะทำให้ตาพร่ามัวในตอนแรกที่ใช้
- อยู่ในรูปการสอดใส่ (insert) เป็นหลอดเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าว โดยใช้สอดอยู่ในร่องของเยื่อบุตา และเมล็ดนี้จะค่อยๆปล่อยน้ำตาเทียมออกมา บ้านเรายังไม่เห็นมีใช้