คอเลสทีอะโทมา (Cholesteatoma)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ:  โรคอะไร? มีกี่ชนิด? พบบ่อยไหม?

คอเลสทีอะโทมา (Cholesteatoma) คือ โรคของหูชั้นกลางจากมีเซลล์หูชั้นนอกชนิดสร้างสารเคอราตินเข้าไปพอกเจริญอยู่ผิดที่ในหูชั้นกลาง  จนเกิดการเจริญและการตายหมักหมมต่อเนื่องจนเกิดเป็นก้อนเนื้อ, และ/หรือเป็นถุงน้ำที่ค่อยๆโตขึ้นเรื่อยๆ,  ซึ่งเซลล์ที่สะสมเป็นก้อนเนื้อนี้ นอกจากจะกดทับ/เบียดทำลายเซลล์เนื้อเยื่อหูชั้นกลาง ยังทำให้เกิดน้ำย่อย/สารเคมีหลายชนิดที่ทำลายทั้งเนื้อเยื่อหูชั้นกลางและเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียง,และยังก่อให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรังทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและโรคเชื้อราในหูชั้นกลาง, ซึ่งภาวะดังกล่าวทั้งหมดจะค่อยๆลุกลามทำลายเนื้อเยื่อหูชั้นกลางและเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง จนเกิด

  • หูน้ำหนวก:  หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง,  มีสารคัดหลั่งหรือหนองไหลออกจากรูหู ร่วมกับการได้ยินที่ค่อยๆลดลง  
  • และอาจลุกลามต่อเนื่องทำลาย กระดูกกกหู,  กระดูกฐานสมอง, จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงที่อาจทำให้ถึงตายได้จาก  
    • ติดเชื้อที่สมอง/ สมองอักเสบ
    • และ/หรือ ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง/ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อนึ่ง: อีกชื่อของคอเลสทีอะโทมา คือ  คอเลสทีอะโทมาของหู (Middle ear cholesteatoma)

คอเลสทีอะโทมา  พบทั่วโลก แต่พบน้อย ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกอายุ พบสูงในช่วงอายุ 20-30 ปี เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีพบ 1รายต่อประชากร 10,000 คน

ชนิดของคอเลสทีอะโทมาและสถิติเกิด:

คอเลสที่อะโทมามี2ชนิดหลัก ได้แก่

ก. ชนิดเป็นโรคแต่กำเนิด: เป็นชนิดพบในเด็กที่มักเป็นเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก) พบมีอาการได้ตั้งแต่เกิด  แต่พบบ่อยช่วงอายุ 6เดือนถึง 5ปี  เด็กหญิงและเด็กชาย  พบโรคใกล้เคียงกัน  โรคนี้ไม่มีสถิติเกิดที่ชัดเจนเพราะพบน้อยมาก ทั่วไปมักเกิดโรคข้างเดียว ซ้ายหรือขวาใกล้เคียงกัน  พบเกิด2ข้างได้น้อยมากเพียงประมาณ 1.8% และยังไม่พบปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมที่ชัดเจน

ข. ชนิดเกิดโรคในภายหลัง(Acquired cholesteatoma): เป็นชนิดพบเป็นส่วนใหญ่ของคอเลสทิอะโตมาทั้งหมด พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(มักเป็นเด็กโต)ไปจนถึงผู้สูงอายุ  พบสูงสุดในช่วงอายุ 20-30ปี  พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง

คอเลสทีอะโทมาชนิดเกิดภายหลัง อาจเกิดกับหูเพียงข้างเดียว หรือทั้ง2ข้างก็ได้ ขึ้นกับพยาธิสภาพของแก้วหู และ/หรือของท่อยูสเตเชียน  ซึ่งโรคกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ

  • คอเลสทีอะโตมาที่โรคเกิดในภายหลังชนิดปฐมภูมิ(Primary acquired cholesteatoma): เป็นโรคเกิดจากความผิดปกติของท่อที่เชื่อมต่อระหว่างช่องคอส่วน โพรงหลังจมูกและหูชั้นกลาง(ท่อยูสเตเชียน) ท่อนี้มีหน้าที่ปรับความดันอากาศในหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันอากาศภายนอก เมื่อท่อนี้ทำงานผิดปกติ ระบายปรับอากาศไม่ได้ เช่น ตีบแคบที่มักเกิดจากการ บวม อักเสบ ของท่อนี้ จะส่งผลให้เกิดสุญญากาศในช่องหูชั้นกลาง ส่งผลต่อเนื่องให้แก้วหูเกิดหดรั้งจนเกิดเป็นหลุม/เป็นถุง ดันเข้าไปอยู่ในหูชั้นกลาง และหลุม/ถุงนี้จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นที่สะสมของเซลล์แก้วหูที่เป็นเซลล์ชนิดเดียวกับหูชั้นนอก และในที่สุดเกิดเป็นก้อนเนื้อ(ดังกล่าวในตอนต้น)ที่ค่อยๆทำลายเนื้อเยื่อหูชั้นกลางที่รวมถึง กระดูกหูชั้นกลางซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน,  กระดูกฐานสมอง, เส้นประสาทใบหน้า/เส้นประสาทสมองเส้นที่5, และอาจลุกลามเข้าสมอง/เยื่อหุ้มสมองได้
  • คอเลสทีอะโตมาที่โรคเกิดภายหลังชนิดทุติยภูมิ(Secondary acquired cholesteatoma): เป็นชนิดเกิดจากแก้วหูทะลุ ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์แก้วหู(เป็นเซลล์ชนิดเดียวกับเซลล์ผิวหนังชั้นนอก)หลุดเข้าไปเจริญในหูชั้นกลาง  และต่อจากนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับในชนิดปฐมภูมิ คือมีการสะสมของเซลล์แก้วหูเรื้อรังจนเป็นก้อนเนื้อ/ถุงน้ำที่ทำลายหูชั้นกลางรวมถึง กระดูก, เส้นประสาทฯ,   สมอง,  เยื่อหุ้มสมอง

ซึ่งสาเหตุแก้วหูทะลุที่พบบ่อย เช่น

  • จากอุบัติเหตุที่หู เช่น ได้รับเสียงดังมากทันที เช่น เสียงระเบิดรุนแรง, เสียงประทัด
  • การแคะหู/แคะขี้หู                          
  • หูติดเชื้อ
  • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง  
  • การผ่าตัดหูรักษาโรคของหู

 อนึ่ง สาเหตุอื่นที่มีทฤษฎีว่า อาจทำให้เกิดโรคคอเลสทีอะโทมาชนิดเกิดโรคในภายหลัง  แต่เป็นทฤษฎีที่ทางการแพทย์ยอมรับกันน้อย คือ

  • การอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อหูชั้นกลาง ส่งผลให้เซลล์หูชั้นกลาง(ซึ่งเป็นเชลล์ชนิดเนื้อเยื่อเมือก)กลายพันธ์ไปเป็นเซลล์ชนิดเดียวกับเซลล์ผิวหนังชั้นนอก ที่จะก่อการเจริญและการตายสะสมในหูชั้นกลาง จนเกิดเป็นก้อน/ถุงน้ำคอเลสทีอะโทมา
  • เซลล์แก้วหูเกิดการเจริญผิดปกติ จนลุกลามเข้าไปในหูชั้นกลาง จนเกิดสะสมเป็นก้อนเนื้อ/ถุงโคเลสทีอะโทมา

(อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง‘กายวิภาคและสรีรวิทยาของหู’)

คอเลสทีอะโทมา มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดคอเลสทีอะโทมาที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษา แพทย์เชื่อว่าน่าเกิดจาก     

ก. ชนิดโรคแต่กำเนิด: สาเหตุเกิดจาก ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจมีขั้นตอนที่ผิดปกติตามธรรมชาติของเด็กคนนั้นๆ ส่งผลให้ในหูชั้นกลางยังมีเซลล์ของหูชั้นนอกตกค้างอยู่ จนสะสมเกิดและตายสะสมต่อเนื่องเป็น ‘คอเลสทีอะโทมา’

ข. ชนิดเกิดโรคในภายหลังชนิดปฐมภูมิ: สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของท่อหู/ท่อยูสเตเชียน ที่ทำให้ท่อหูนี้อุดตันหรือตีบแคบ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงพบบ่อย คือ คออักเสบเรื้อรังจากโรคต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น

  • โรคหวัด
  • โรคภูมิแพ้
  • โรคภูมิแพ้หูคอจมูก
  • ไซนัสอักเสบ
  • เยื่อจมูกอักเสบ

ค. ชนิดเกิดโรคในภายหลังชนิดทุติยภูมิ: สาเหตุเกิดจากแก้วหูทะลุ ซึ่งมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงพบบ่อย เช่น

  • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
  • อุบัติเหตุจากใช้ไม้แคะหู
  • อุบัติเหตุรุนแรงต่อหูและ/หรือต่อแก้วหู
  • การผ่าตัดรักษาโรคต่างๆของหู

 

คอเลสทีอะโทมา มีอาการอย่างไร?

อาการของคอเลสทีอะโตมา ไม่ว่าสาเหตุจากอะไรจะเหมือนกัน โดยอาการเริ่มต้นจะเป็นอาการไม่รุนแรง แต่จะเป็นอาการเกิดต่อเนื่อง หรือกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ  นอกจากนั้นอาการต่างๆจะค่อยๆทวีความรุนแรง/แย่ลงเรื่อยๆตลอดเวลา ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อที่ค่อยๆขยายทำลายเนื้อเยื่อหูชั้นกลางและเนื้อเยื่ออวัยวะข้างเคียง

         ก. อาการต่างๆของคอเลสทีอะโทมา: ที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีสารคัดหลั่งออกจากรูหู อาจเป็น ของเหลว หรือ หนอง มีกลิ่นเหม็น
  • แน่นในหูเมื่อก้อนเนื้อโตจนเบียดดันหูชั้นกลาง
  • ปวดหู และ/หรือปวดกกหู
  • การได้ยินของหูด้านนั้นลดลงเรื่อยๆ

ข. อาการของคอเลสทีอะโทมาที่พบน้อย: แต่มักเป็นอาการบอกว่าโรครุนแรง  โดยมีรายงานพบประมาณ 15%ของผู้ป่วย    เช่น

  • อาการเซ หรือ เดินเซ เมื่อโรคลุกลามทำลายเนื้อเยื่อหูชั้นในส่วนที่ควบคุมสมดุลของการ ลุกขึ้น ยืน เดิน
  • วิงเวียนศีรษะ แบบบ้านหมุน
  • หูอื้อเรื้อรัง
  • ปวดศีรษะเรื้อรังด้านหูที่เกิดโรค
  • มีเลือดออกจากรูหู
  • ใบหน้าเบี้ยว/ปากเบี้ยว ด้านเกิดโรค เมื่อโรคลุกลามเข้าเส้นประสาทใบหน้า(เส้นประสาทสมองคู่ที่7)
  • อาการรุนแรงมากทีพบได้น้อยในปัจจุบัน ที่อาจเป็นเหตุการตายได้(แนะนำอ่านรายละเอียดโรค/ภาวะ/อาการเหล่านี้ได้ในเว็บ haamor.com) ได้แก่
    • สมองอักเสบ
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
    • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะเลือดเป็นพิษ

 

คอเลสทีอะโทมา ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

คอเลสทีอะโตมาทุกชนิดก่อผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งที่สำคัญและอาจเป็นเหตุให้ถึงตาย คือ ภาวะติดเชื้อรุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิด

  • การติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) และ/หรือ
  • การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) และ/หรือ
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

อย่างไรก็ตาม ด้วยการแพทย์/การสาธารณสุขปัจจุบันที่ก้าวหน้ามาก  สะดวกขึ้น   ผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเร็วขึ้,  มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น, มีกองทุนประกันสุขภาพโดยเฉพาะบัตรทอง,  ส่งผลให้ผลข้างเคียงดังกล่าวพบลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ถึงแม้จะยังคงพบอยู่บ้างก็ตาม

 

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’

 

แพทย์วินิจฉัย คอเลสทีอะโทมา ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยคอเลสทีอะโทมาทุกชนิดจาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น  อาการ  นิสัยชอบแคะหู การงาน  อาชีพ  การเล่นกีฬา  การได้ยิน  การเป็นโรคต่างๆของหู  การผ่าตัดรักษาโรคหู
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางหูคอจมูกที่เป็นการตรวจพื้นฐาน
  • การตรวจหูด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง
  • ตรวจการได้ยินของหู
  • ตรวจภาพหูด้วย เอกซเรย์  และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) 
  • การสืบค้นเพิ่มเติมอื่นๆตาม อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพหูด้วยเอมอาร์ไอ กรณีผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาท
    • การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/จากรอยโรคเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยากรณีสงสัยมะเร็งหู

 

มีแนวทางรักษาคอเลสทีอะโทมาอย่างไร?

แนวทางการรักษาคอเลสทีอะโทมาทุกชนิดจะเช่นเดียวกัน คือ  ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าตัด,  และการรักษาตามอาการ

ก.การใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าตัด:  

  • การใช้ยาปฏืชีวนะ และ/หรือยาต้านเชื้อรา ขึ้นกับสาเหตุของการติดเชื้อ ซึ่งเป็นได้ทั้ง ยากิน ยาฉีด และ/หรือ ยาหยอดหู  ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์
  • การผ่าตัดหู: มีหลายวิธี ขึ้นกับ ขนาด, ตำแหน่ง ของก้อนเนื้อ, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข.การรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ: เป็นการรักษาที่ขึ้นกับอาการของแต่ละผู้ป่วย เช่น

  • ยาแก้ปวด กรณีปวดหู
  • ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน กรณีมีอาการดังกล่าว

 

คอเลสทีอะโทมารุนแรงไหม? 

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของคอเลสทีอะโทมา จัดเป็นโรคที่ ถ้าไม่ได้รับการรักษาแต่ต้นๆ โรคจะรุนแรง ก่อผลข้างเคียงที่อันตรายจนอาจถึงตาย  รวมทั้งผู้ป่วยมักสูญเสียการได้ยินเสมอในระดับตั้งแต่ยังพอได้ยินบ้าง ไปจนถึงหูหนวกถาวร  ซึ่งการสูญเสียการได้ยินไม่ว่าในระดับใดจะเป็นการสูญเสียถาวรเสมอ  

อย่างไรก็ตาม  จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ปัจจุบันที่รวมถึงประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของยาปฎิชีวนะ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้นมากจนลดอัตราเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและอัตราตายลงได้เป็นอย่างมาก   

แต่อัตราการสูญเสียการได้ยินขึ้นกับ  การได้ยินของผู้ป่วยที่เมื่อมาพบแพทย์เป็นอย่างไร, ขนาด, และตำแหน่งของก้อนเนื้อคอเลสทีอะโทมา

*อีกประการ โรคนี้มีอัตราเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำค่อนข้างสูงหลังผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ อาจหลายครั้ง อย่างน้อยประมาณ  2 ครั้ง ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ

 

ดูแลตนเองอย่างไร?   พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นคอเลสทีอะโทมา ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ดูแลรักษาสุขอนามัยของหู ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ (แนะนำอ่านรายละเอียด ในเว็บ com บทความเรื่อง  ‘การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู’)
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • พบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น ปวดหูมากขึ้น, มีเลือดออกจากหูโดยเฉพาะเมื่อออกต่อเนื่อง  
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น  วิงเวียนศีรษะ
    • กังวลในอาการ

 

มีการตรวจคัดกรองคอเลสทีอะโทมาไหม

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดเกรองให้พบคอเลสทีอะโทมาทุกชนิดตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ

ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆต่อเนื่องโดยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเอง  หรือเป็นๆหายๆบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวใน ’หัวข้ออาการฯ และหัวข้อ สาเหตุ-ปัจจัยเสี่ยงฯ’)

 

ป้องกันคอเลสทีอะโทมาได้อย่างไร?

การป้องกันคอเลสทีอะโทมา ได้แก่

ก. คอเลสทีอะโตมาชนิดโรคแต่กำเนิด :  โรคชนิดนี้  ไม่สามารถป้องกันได้

ข. คอเลสทีอะโตมาชนิดเกิดในภายหลังทั้ง2ชนิดย่อย: ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย แต่สามารถลดโอกาสเกิดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ โดยเฉพาะ

  • ป้องกันเกิด หูติดเชื้อ และ  หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
  • ป้องกันอุบัติที่หู เช่น การใช้เครื่องป้องกันหูในการงานอาชีพ หรือการกีฬาที่ เกี่ยวข้องกับเสียงดังเกินปกติ
  • รู้จักการดูแลรักษาสุขอนามัยของหู(แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องนี้ในเว็บ com)
  • ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ/โรคที่เป็นสาเหตุเกิดคอเลสทีอะโตมาโดย  รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cholesteatoma  [2021,Dec4]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/860080-overview#showall  [2021,Dec4]
  3. https://www.enthealth.org/conditions/cholesteatoma/  [2021,Dec4]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK448108/  [2021,Dec4]