โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Meningitis) คือโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ทั่วไปมักจากเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทั่วไป อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดหัว/ ปวดศีรษะ ซึ่งมักปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง กระสับกระส่าย

 

เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) เป็นเนื้อเยื่อบางๆแต่แข็งแรง เป็นเนื้อเยื่อที่หุ้มสมองทุกส่วน เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสมอง ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อนี้ จะทำให้เกิดเป็นโรคที่เรียกว่า ‘โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)’

 

อนึ่ง: เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจเกิดจากภาวะที่ไม่ติดเชื้อได้ เช่น

  • ในกรณีโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมายังเยื้อหุ้มสมอง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มอิมมิวโนโกลบูลิน(Immunoglobulin)
  • จากโรคออโตอิมมูน เช่น โรคเอสแอลอี(SLE)/ โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, โรคหลอดเลือดอักเสบ
  • โรคจากร่างกายเกิดการอักเสบขึ้นกับหลายๆอวัยวะโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่พบว่ามีการติดเชื้อ เช่น โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)

 

*ทั้งนี้ ในบทความนี้ จะกล่าวถึงโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ “เฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น”

 

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก โดยในประเทศตะวันตก พบโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 3 คนต่อประชากร 100,000 คน และจากติดเชื้อไวรัสประมาณ 10.9 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่โอกาสพบโรคจะสูงขึ้นมาก กว่านี้ในประเทศที่กำลังพัฒนาและในประเทศที่ด้อยพัฒนา ซึ่งโอกาสเกิดโรคเท่ากันทั้งในผู้ หญิงและในผู้ชาย และเป็นโรคพบได้ทุกอายุตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ

 

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดได้อย่างไร? ติดต่อได้ไหม?

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ จากเชื้อไวรัส, และที่รองลงไปคือ เชื้อแบคทีเรีย, ที่พบได้บ้างคือ จากเชื้อรา, และจากสัตว์เซลล์เดียว (โปรตัวซัว/ Protozoa)และพยาธิ , แต่บางครั้งแพทย์อาจตรวจไม่พบเชื้อได้

 

ก. เชื้อไวรัส: ที่เป็นสาเหตุให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่พบได้ เช่น

  • เชื้อเอนเทโรไวรัส (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก และไข้หวัดทั่วไป
  • เชื้อวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส
  • เชื้อไวรัสคางทูม (Mumps virus) ที่ทำให้เกิดโรคคางทูม

 

ข. เชื้อแบคทีเรีย: ที่เป็นสาเหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่พบได้ เช่น

  • เชื้อนัยซ์ซีเรีย เมนิงไจติดิส (Neisseria meningitidis)
  • เชื้อมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คุโลสิส (Mycobacterium tuberculosis) ที่ทำให้เกิดโรควัณโรค
  • เชื้อเลปโตสไปรา (Leptospira) ที่ทำให้เกิดโรคฉี่หนู

 

ค. เชื้อรา: ที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักเกิดในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ/ ต่ำ เช่น ในผู้ป่วยเอชไอวี หรือผู้กินยา/ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเชื้อราก่อโรคบ่อยมากในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ เชื้อ Cryptococcal neoformans

 

ง. การติดเชื้อพยาธิต่างๆหรือสัตว์เซลล์เดียว: เป็นโรคพบได้น้อย เชื้อที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ เช่น พยาธิตัวจี๊ด, พยาธิหอยโข่ง, โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis), พยาธิใบไม้เลือด

 

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากเชื้อโรคเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองโดยผ่านทางกระแสโลหิตซึ่งเป็นสาเหตุบ่อยที่สุด, นอกจากนั้นที่พบน้อยกว่ามากคือ จากเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงเยื่อหุ้มสมองมีการอักเสบติดเชื้อ แล้วเชื้อลุกลามเข้าเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วยเช่น จากมีการอักเสบติดเชื้อในหู, หรือในโพรงไซนัสต่างๆ, และจากการที่เยื่อหุ้มสมองได้รับเชื้อโดยตรงเช่น จากอุบัติเหตุทางสมองก่อบาดแผลและการติดเชื้อโดยตรงต่อเยื่อหุ้มสมอง

 

*โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยทาง

  • การหายใจ ไอ จาม
  • อุจจาระ
  • ปัสสาวะ และ
  • ตุ่มแผลที่มีเชื้อโรคเจือปน

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

  • ในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น
    • เด็ก โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 5 ปีลงมา
    • ผู้สูงอายุ โดย เฉพาะอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
    • ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคเอดส์
    • กินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
  • การอยู่กันอย่างแออัด เช่น ในชุมชนแออัด และในค่ายทหาร
  • ผู้ติดสุรา เพราะจะทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • ผู้ป่วยผ่าตัดม้าม เช่น ในการรักษาโรคธาลัสซีเมีย เพราะม้ามเป็นอวัยวะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • ผู้ป่วยผ่าตัดทางเดินน้ำไขสันหลัง เช่น ในผู้ป่วยทางเดินน้ำไขสันหลังอุดตันจากมะเร็ง จึงผ่าตัดระบายน้ำไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง เชื้อโรคจากช่องท้องจึงเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองและเข้าสู่สมองจากทางระบายนี้ได้ง่าย
  • ผู้ป่วยโรคหูติดเชื้อ หรือ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  • คนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

 

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด จะมีอาการเหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ

 

ก. ในเด็กแรกเกิดอายุไม่เกิน 1 เดือน: อาการที่พบบ่อย คือ

  • มีไข้ มักมีไข้สูง แต่อาจมีไข้ต่ำได้
  • เด็กกระสับกระส่าย ร้องโยเย ร้องไห้เสียงสูง
  • ไม่ดูดนม อาจมีอาเจียน
  • อาจชัก
  • บริเวณกระหม่อมโป่งนูนจากการเพิ่มความดันในสมอง

 

ข. ในเด็กวัยอื่นๆ และ คนทั่วไป: อาการที่พบบ่อยคือ

  • ไข้สูง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • คอแข็ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตากลัวแสง
  • อาจชัก
  • ซึม มึนงง
  • สับสน และ
  • อาจหมดสติ

 

ค. ในผู้สูงอายุ หรือ คนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ: อาการที่พบได้บ่อยคือ

  • ไม่ค่อยมีไข้
  • อาจมีเพียง สับสน มึนงง และง่วงซึม

 

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการติดเชื้อ อุบัติเหตุ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • แต่ที่สำคัญคือ
    • การเจาะหลัง ตรวจ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง และ
    • ตรวจเชื้อ และเพาะเชื้อ จากน้ำหล่อเลี้ยงสมองไขสันหลัง
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตาม อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์เช่น
    • การตรวจเลือด ซีบีซี การตรวจปัสสาวะ ดูลักษณะการติดเชื้อ
    • ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานต่างๆ เพื่อแยกชนิดของเชื้อไวรัส
    • การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน และ/หรือ เอมอาร์ไอ

 

รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ

 

ก. การรักษาสาเหตุ:

  • จากติดเชื้อแบคทีเรีย: เช่น การให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อ ร่วมกับ การรักษาประคับประคองตามอาการ /การรักษาตามอาการ
  • จากติดเชื้อไวรัส: ทั่วไป เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาที่ฆ่าไวรัสได้ แต่ถ้าเชื้อไวรัสชนิดใดมียาต้านไวรัส แพทย์ก็จะให้ยาต้านไวรัส
  • จากติดเชื้อรา: การรักษาคือการให้ยาต้านเชื้อรา ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ
  • จากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว หรือ พยาธิ : การรักษาคือ การให้ยาฆ่าพยาธิ/ ยาถ่ายพยาธิ นั้นๆ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

 

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือการรักษาตามอาการผู้ป่วย เช่น

  • ให้ยาลดไข้
  • ยาแก้ปวด
  • ยาป้องกันการชัก/ ยากันชัก
  • การให้น้ำเกลือเมื่อ อาเจียนมาก กินไม่ได้ เป็นต้น
  • การให้ออกซิเจน

 

มีผลข้างเคียงจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในระยะเฉียบพลัน คือ มีผลต่อการหายใจ หยุดหายใจ และถึงเสียชีวิตได้

 

นอกจากนั้นในระยะยาวตลอดชีวิต ผลข้างเคียงจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น

  • ชัก
  • หูหนวก
  • ตาบอด
  • เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต
  • พูดไม่ชัด
  • มีปัญหาทางด้านสมอง เช่น มีอารมณ์แปรปรวน ปัญหาด้านความคิดและความ จำ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเล็กเมื่อเติบโตขึ้นสติปัญญามักด้อยกว่าเกณฑ์

 

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรงไหม?

การพยากรณ์โรคของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจัดเป็นโรครุนแรง เป็นสาเหตุการตายได้ ทั้งนี้ความรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสมาก ซึ่งประมาณ 25 - 30% ของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียมักเสียชีวิต แต่ไม่ค่อยพบการเสียชีวิตจากติดเชื้อไวรัส

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หรือเป็นการฉุกเฉินทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เพื่อการวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาได้ทันท่วงที

 

หลังจากพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และแพทย์ได้ให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน การดูแลตนเองได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ถ้ามีการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู ต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอตาม แพทญ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือ มีอาการผิดไปจากเดิม เช่น ปวดศีรษะ/ ปวดหัวมากขึ้น แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น ชักถี่ขึ้น ซึมลงมาก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่สำคัญที่สุดคือ *การป้องกันการติดเชื้อซึ่งคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) นอกจากนั้น คือ

  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ และออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ ที่มีวัคซีนเมื่ออยู่ในถิ่นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่น วัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบบางชนิด, วัคซีนโรคคางทูม ,และวัคซีนโรคอีสุกอีใส เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. https://emedicine.medscape.com/article/232915-overview#showall [2019,Nov2]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Meningitis [2019,Nov2]