โรคหู หรือ โรคของหู (Ear disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

โรคหู หรือ โรคของหู(Ear disease)คือ โรค/ภาวะผิดปกติที่เกิดกับเซลล์/เนื้อเยื่อหูซึ่งจะส่งให้หูทำงานลดลงหรือผิดปติ ซึ่งอาการจากโรคหูจะส่งผลให้การได้ยินลดลง โดยอาจเกิด เฉียบพลันชั่วคราว หรือ เกิดเรื้อรังต่อเนื่อง ทั้งสองกรณีสามารถนำไปสู่หูหนวกถาวรได้ นอกจากนั้นคือ ร่างกายสูญเสียการทรงตัวที่อาการหลักคือ บ้านหมุน, เดินเซ

อนึ่ง:

  • ชื่อภาษาอังกฤษอื่นๆของโรคหู คือ Ear disorder, Ear problem

โรคหู/โรคของหู พบบ่อย แต่ไม่มีรายงานอัตราเกิดในภาพรวมที่แน่นอน เพราะมักรายงานแยกเป็นอัตราเกิดเฉพาะของแต่ละโรคย่อยๆ โรคหู พบทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ ทุกวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิด ไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย พบเกิดได้ทั้ง 2 หู คือทั้งซ้ายและขวา หรือเกิดเพียงหูข้างเดียว (ซ้ายและขวา มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน)โดยขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูชนิดนั้นๆ

หู (Ear) เป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่ง เป็นอวัยวะที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหน้าที่หลัก คือ เพื่อการได้ยิน, การทรงตัวของร่างกาย, และในปัจจุบันหู/ใบหูยังเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามของใบหน้า และยังเป็นอวัยวะที่ช่วยระบุตัวตนของเราได้

หู แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • หูชั้นนอก: ประกอบด้วย ใบหู, ท่อรูหู, และแก้วหู ซึ่งหน้าที่หลักของหูชั้นนอก คือ เป็นตัวนำพาเสียงให้เข้าสู่หูชั้นกลาง
  • หูชั้นกลาง: ประกอบด้วย เนื้อเยื่อแก้วหูด้านใน, ห้องที่อยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นในซึ่งเป็นที่อยู่ของกระดูกหูชิ้นเล็กๆ3ชิ้น เนื้อเยื่อหูชั้นกลางที่รวมถึงกระดูกหูมีหน้าที่ขยายเสียงที่ส่งผ่านมาจากหูชั้นนอก และนำส่งเสี่ยงที่ขยายแล้วนี้เข้าสู่หูชั้นใน เข้าสู่ประสาทหู
  • หูชั้นใน: เป็นที่อยู่ของเส้นประสาทหู(เส้นประสาทสมองคู่ที่8) ซึ่งมีหน้าที่นำส่งสัญญาณจากหูเข้าสู่การแปลผลและการสั่งการทำงานในสมอง โดย
    • นำส่งสัญญาณเสียงผ่านทางเส้นประสาทหูเข้าสู่สมองส่วนที่เรียกว่า สมองกลีบขมับ
    • นำส่งสัญญาณเกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกายผ่านเส้นประสาทหูเข้าสู่สมองส่วนที่เรียกว่า ก้านสมอง

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘หู กายวิภาคหู’)

หูเป็นโรคอะไรได้บ้าง?มีสาเหตุจากอะไร?

โรคหูหรือโรคของหู

โรคหู/ โรคของหู หรือ ภาวะ/อาการผิดปกติของหู มีได้มากมายหลากหลายโรค ทั้งที่พบได้น้อยมาก, พบได้เรื่อยๆไม่บ่อยมาก, และที่พบบ่อย, ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรค/ภาวะ/อาการ ที่เป็นที่รู้จักบ่อย เช่น

ก. โรคสาเหตุจากพันธุกรรม: เป็นโรคที่พบได้เรื่อยๆ มักพบอาการได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยอาการหลักคือ หูได้ยินลดลง จนถึงขั้นหูหนวก โดยเด็กกลุ่มนี้มักมีประวัติคนในครอบครัวหูหนวก เช่น เด็กหูหนวกแต่กำเนิด

ข. สาเหตุจากสูงอายุ: ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เซลล์ของหูจะเสื่อมลงเช่นเดียวกับเซลล์ของทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะของหูชั้นกลาง และของ ประสาทหู ที่จะส่งผลให้การได้ยินลดลง จนถึงหูหนวก ซึ่งได้แก่ อาการหูตึงในผู้สูงอายุ

ค. มีสิ่งแปลกปลอมในหู : เป็นภาวะที่มักพบในเด็กเล็ก หรือในคนที่ชอบเอาสิ่งแปลกปลอมใส่เข้าไปในรูหู หรือแมลงเข้าหู ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล อย่าพยายามเอาสิ่งเหล่านั้นออกเอง เพราะอาจทำให้รูหูบาดเจ็บ หรือแก้วหูทะลุได้ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ภาวะเร่งด่วนทางหู’

ง. น้ำเข้าหู: เป็นภาวะพบบ่อย พบทุกอายุ ทุกเพศ ทั่วไป อาการมักหายเองภายใน 24 ชั่วโมงหลังการดูแลตนเอง แต่ถ้าอาการคงอยู่ตั้งแต่ 1-2 วันขึ้นไป หรืออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘น้ำเข้าหู’)

จ. ขี้หูอุดตัน: เป็นภาวะพบบ่อย พบทุกอายุ พบน้อยในเด็ก แต่พบสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งไม่มีอาการเฉพาะสำหรับภาวะนี้ อาการจะเหมือนกับโรคหูทั่วไป คือ หูอื้อ, รู้สึกแน่นในหู, มีเสียงในหู, และหูได้ยินเสียงลดลง, ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล อย่ารักษาตนเอง หรืออย่าใช้การแคะหู เพราะอาจส่งผลให้หูติดเชื้อ และ/หรือแก้วหูทะลุได้ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ขี้หูอุดตัน’

ฉ. โรคติดเชื้อ: หูทั้ง 3 ส่วนสามารถติดเชื้อได้เสมอใน ทุกอายุ ทุกเพศ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งจาก เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส , โรคเชื้อรา แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • หูติดเชื้อ
  • โรคหัด
  • โรคหัดเยอรมัน
  • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
  • ไข้หูดับ
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ช. โรคผิวหนัง: หูชั้นนอก เป็นเนื้อเยื่อในกลุ่มเดียวกับผิวหนัง ดังนั้นโรคของหูชั้นนอกจึงเกิดได้เช่นเดียวกับโรคผิวหนัง เช่น สิว, ตุ่มหนอง, แผลติดเชื้อ, อุบัติเหตุที่ทำให้ใบหูฉีกขาด, รวมถึงมะเร็งผิวหนัง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคผิวหนัง’)

ซ. แก้วหูทะลุ: เป็นภาวะพบได้เรื่อยๆ ในอดีตมักเกิดจากหูติดเชื้อเรื้อรัง แต่ปัจจุบันสาเหตุจากติดเชื้อพบลดลง เพราะการสาธารณสุขที่ดีขึ้น ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วขึ้น สาเหตุอื่นจึงพบบ่อยขึ้น เช่น จากการแคะหู, จากอุบัติเหตุต่อหู, เป็นต้น (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘แก้วหูทะลุ’

ฌ. อุบัติเหตุต่อหู: เป็นสิ่งที่พบได้เรื่อยๆในทุกอายุ ทุกเพศ จากการที่หูได้รับบาดเจ็บ หรือถูกกระแทกอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ การทะเลาะวิวาท การตกจากที่สูง และรวมถึงการได้ยินเสียงดังต่อเนื่อง เช่น ใช้หูฟัง, การงาน/อาชีพ, เสียงระเบิด

ญ. โรคเมนิแยร์(Meniere’s disease): เป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบได้เรื่อยๆ เป็นโรคของผู้ใหญ่ ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชาย อาการสำคัญคือ วิงเวียน/ บ้านหมุนเรื้อรัง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคเมนิแยร์’

ฎ. หินปูนในหู: เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบในผู้ใหญ่ อาการหลักคือ วิงเวียน บ้านหมุนเรื้อรัง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘หินปูนในหู โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด’

ฏ. หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน: เป็นภาวะที่พบบ่อยในการโดยสารเครื่องบิน พบได้ทุกอายุ และทุกเพศ ทั่วไปอาการมักดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน’

ฐ. เนื้องอกเส้นประสาทหู: เป็นโรคพบน้อย เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักเกิดกับหูข้างเดียว แต่ก็พบเกิดทั้ง2ข้างได้ ซึ่งไม่มีอาการเฉพาะเช่นกัน แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆของหู เช่น หูได้ยินลดลง, หูอื้อต่อเนื่องหรือเป็นๆหายๆ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘เนื้องอกเส้นประสาทหู’

ฑ. มะเร็งหู: เป็นโรคพบน้อยมาก มักพบเกิดที่หูชั้นนอก เป็นโรคของผู้ใหญ่ พบในทุกเพศ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งหู’

ฒ. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ซึ่งอาจทำให้หูตึงชั่วคราว หรืออาจถาวรได้ เช่น

    • ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่นยา Streptomycin, Gentamycin
    • ยาต้านมาลาเรียบางชนิด เช่นยา Chloroquine, Quinine
    • ยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่นยา Cisplatin
    • ยา Aspirin ในขนาดยาสูงๆ
    • ยาขับปัสสาวะบางชนิด เช่นยาในกลุ่ม Thiazide
    • ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่นยา Naproxin, Ibruprofen
    • ยารักษาโรคนกขาไม่ขัน เช่นยา Viagra (Sildenafil), PDE5 inhibitor

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหู?

ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหู/ โรคของหู ขึ้นกับสาเหตุ บางสาเหตุก็มีปัจจัยเสี่ยง บางสาเหตุไม่พบมีปัจจัยเสี่ยง ทั่วไป ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหู เช่น

  • พันธุกรรม: เพราะพบคนที่มีครอบครัวเป็นโรคหูบางชนิด โดยเฉพาะหูตึงแต่กำเนิด มักมีคนในครอบครัวมีหูหนวกแต่กำเนิดมาก่อน
  • อายุ: โรคหูหลายโรคพบเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ตามอายุ เช่น หูตึงในผู้สูงอายุ, โรคเนื้องอกประสาทหูก็เป็นโรคพบในวัยผู้ใหญ่ เป็นต้น
  • การติดเชื้อ: เช่น
    • ถ้าขณะตั้งครรภ์ มารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน ทารกในครรภ์มักมีโรคแต่กำเนิดของหูที่รวมถึงหูตึง
    • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/ หูน้ำหนวก
  • โรคประจำตัวเรื้อรังที่ส่งผลให้หลอดเลือดอักเสบตีบแคบที่รวมถึงหลอดเลือดของหู เซลล์/เนื้อเยื่อหูจึงขาดเลือดเรื้อรัง: เช่น โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหลอดเลือดแดงแข็ง, โรคความดันโลหิตสูง

ปัจจัยเสี่ยงเกิดหูตึง :

หูตึง เป็นภาวะพบบ่อย ส่วนใหญ่มีสาเหตุที่ป้องกันหรือชะลอการเกิดให้ช้าลงได้ด้วยการดูแลตนเอง/ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้หูตึงก่อนวัยอันควร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของหูตึงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงพบบ่อยได้แก่

  • ภาวะขาดสารอาหาร: เซลล์หู จะเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย ที่ต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน ดังนั้น การปรับพฤติกรรมการบริโภคจึงช่วยชะลอหูตึงตามวัยได้ โดย
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร หรือย่อย่างน้อยในทุกวัน
    • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ถ้ากำลังสูบอยู่ เพราะควันพิษของบุหรี่ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง/อักเสบ ตีบที่รวมถึงหลอดเลือดหู เซลล์หูจึงเสื่อมได้เร็วขึ้นจากขาดเลือด
    • ไม่ดื่มสุรา เลิกสุราถ้ากำลังดื่มอยู่ เพราะสุราเป็นสาเหตุสำคัญของ ภาวะขาดสารอาหาร และโรคตับแข็ง ที่ส่งผลถึงสุขภาพโดยรวมของทุกอวัยวะที่รวมถึงหู
  • การได้รับเสียงดังอย่างต่อเนื่อง: เช่น การเปิดฟังเพลง, การใช้หูฟังเพลง, และถ้างานอาชีพที่ต้องอยู่กับเสียงดังต่อเนื่อง ซึ่งการป้องกันประสาทหูเสื่อมจากสาเหตุนี้ คือ ปรับเสียงต่างๆให้เบาและใช้หูฟังเท่าที่จำเป็นจริงๆ และต้องใส่เครื่องป้องกันหูขณะทำงานเสมอเมื่อเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงประเภทต่างๆ
  • การติดเชื้อหัดเยอรมันของทารกในครรภ์: ซึ่งป้องกันได้โดย มารดาฉีดวัคซีนหัดเยอรมันตั้งแต่เมื่อเตรียมตัวจะตั้งครรภ์
  • หูน้ำหนวกที่เกิดจากหูชั้นกลางติดเชื้อแบคทีเรีย: ซึ่งป้องกันได้โดย ไม่ใช้ไม้แคะหู และเมื่อมีอาการผิดปกติทางหู และอาการเลวลง หรืออาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ประสาทหูเสื่อมเร็วที่เกิดจากเซลล์ประสาทหูเสื่อมจากขาดเลือดเรื้อรัง สืบเนื่องจากโรคหลอดเลือดตีบแคบที่มีสาเหตุจากกลุ่มโรคเอนซีดี/NCD (แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละโรคที่รวมถึงวิธีป้องกันได้จากเว็บ haamor.com) ได้แก่
    • โรคเบาหวาน
    • โรคไขมันในเลือดสูง
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง

โรคหูมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคหู/ โรคของหู(ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) อาจเกิดเพียงหูข้างเดียว หรือทั้ง2 ข้างของหู ได้แก่

  • ปวดหู
  • หูอื้อ
  • การได้ยินลดลง หรือไม่ได้ยินเลย(หูดับ) ซึ่งอาจเกิดหูดับเฉียบพลัน หรือการได้ยินค่อยๆลดลงเรื่อยๆ
  • อาการของโรคผิวหนังที่เกิดกับหูชั้นนอก เช่น ผื่น ตุ่มคัน สิว แผลที่อาจมีหนองหรือไม่ก็ได้
  • อาการจากหูติดเชื้อ เช่น หู/บริเวณหู บวม แดง ร้อน เจ็บ มีไข้ มีสารคัดหลั่งจากหู เช่น สารน้ำ หนอง เลือด
  • อาการ วิงเวียนศีรษะ/ บ้านหมุน กรณีมีโรคเกิดกับหูชั้นใน
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองลำคอ โต คลำได้ อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ พบในกรณี หูอักเสบติดเชื้อ หรือ มะเร็งหูระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • อาจมีก้อนเนื้อผิดปกติที่หู กรณีเป็นเนื้องอก หรือ มะเร็ง

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการทางหูที่ผิดปกติ เช่นที่กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3วันหลังดูแลตนเอง หรืออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคหูได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหู/ โรคของหูได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น อาการ การตั้งครรภ์/การฝากครรภ์(ในสตรี) ประวัติโรคต่างๆในครอบครัว โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจหูที่รวมถึงการตรวจดูในช่องหูด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตาม อาการผู้ป่วย, ชนิดโรคที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุ, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด เพื่อดูค่าต่างๆ เช่น CBC, สารภูมิต้านทาน, สารก่อภูมิต้านทาน, ค่าน้ำตาลในเลือด, ไขมันในเลือด, ค่าการทำงาน ของตับ ของไต
    • ปัสสสวะ:การตรวจปัสสาวะ
    • การเอกซเรย์ ภาพหู
    • การตรวจภาพหูด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ เพื่อดูพยาธิสภาพอย่างละเอียดของหู
    • การตรวจเชื่อ, การเพาะเชื้อ จากสารคัดหลั่งจากหู เช่น สารน้ำ, หนอง
    • การเจาะดูดเซลล์จากรอยโรคที่หู และ/หรือต่อมน้ำเหลือง เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่หู หรือจากต่อมน้ำเหลืองลำคอ เพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา
    • การตรวจเทคนิคเฉพาะทางหูกรณีผู้ป่วยมีปัญหาทางการได้ยิน

มีแนวทางรักษาโรคหูอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหู/ โรคของหู คือ การรักษาสาเหตุ, การชะลอเซลล์หูเสื่อม , และการรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะ กรณีสาเหตุเกิดจากหูติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การลดขนาดยา หรือ การปรับเปลี่ยนยานั้นๆ กรณีสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา
  • การรักษาอาการวิงเวียนศีรษะด้วยการใช้ยา กรณีเกิดอาการ วิงเวียศีรษะ/บ้านหมุน
  • การผ่าตัด, การฉายรังสีรักษา, และ/หรือ ยาเคมีบำบัด กรณีสาเหตุคือ มะเร็งหู

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงการรักษาและการพยากรณ์โรคได้จากเว็บ haamor.com

ข. การชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆของหู: ซึ่งได้แก่

  • การกินอาหารมีประโยชนฺห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร หรืออย่างน้อยในทุกๆวัน
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคใน กลุ่มโรคเอนซีดี/NCD ที่มีผลให้เกิดโรคหลอดเลือดให้ได้ดี ที่สำคัญคือ
    • โรคเบาหวาน
    • โรคไขมันในเลือดสูง
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังในการฟังเพลง การฟังเพลงเสียงดัง และรู้จักการใช้อุปกรณ์ป้องกันหูเมื่อมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการใช้เสียงดัง
  • รู้จักการดูแลรักษาสุขภาพหู (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู (Ear care)’

ค. การรักษาตามอาการ: เช่น

    • ยาแก้ปวด กรณีปวดหู
    • ยาลดไข้ กรณีมีไข้
    • ยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ
    • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

โรคหูรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคหู/โรคของหู ขึ้นกับ สาเหตุและการพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่จะเกิดหูดับถาวร อย่างไรก็ตาม ทั่วไป โรคหู เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์มักรักษาควบคุมได้ ไม่เป็นเหตุให้ตาย ยกเว้นมะเร็งหู แต่อย่างไรก็ตาม การได้ยินมักไม่กลับคืนเป็นปกติ และยังอาจสูญเสียการได้ยิน/หูหนวกอย่างถาวร

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหู/ โรคของหู ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รู้จักดูแลสุขภาพหูเพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์หู ดังได้กล่าวใน ‘ข้อข. ของหัวข้อ การรักษาฯ’
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือเกิดมีอาการใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมากขึ้นต่อเนื่อง คลื่นไส้-อาเจียนต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคหูไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจให้พบโรคหู/ โรคของหูตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการทางหู และอาการไม่ดีขึ้นภายใน2-3วันหลังดูแลตนเอง หรือเมื่ออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

ป้องกันโรคหูได้อย่างไร?

การป้องกันโรคหู/ โรคของหูให้เต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะบางสาเหตุป้องกันไม่ได้/ป้องกันยาก เช่น สาเหตุจากพันธุกรรม แต่ส่วนใหญ่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคหูโดยเฉพาะภาวะหูตึงได้ด้วย

  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ที่หลีกเลี่ยงได้)ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • รู้จักการดูแลตนเองเพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์หูก่อนวัยอันควร รวมถึงเพื่อป้องกันหูติดเชื้อ แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน
    • บทความนี้ ‘ข้อ ข. ของหัวข้อ การรักษาฯ’
    • และบทความเรื่อง ‘การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู’ ในเว็บ haamor.com

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/eardisorders.html [2020,Jan11]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ear [2020,Jan11]
  3. https://northhillsent.com/risk-factors [2020,Jan11]